นายยืนยง
ชื่อหนังสือ : รายงานจากหมู่บ้าน
ประเภท : กวีนิพนธ์
ผู้เขียน : กานติ ณ ศรัทธา
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิ
พิมพ์ครั้งแรก : มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เขียนบทวิจารณ์ : นายยืนยง
ขณะกระแสบริโภคนิยมตกเป็นจำเลยสำคัญของสังคมปัจจุบันในสายตาของหลายกลุ่มคนโดยเฉพาะกับเหล่ากวีนักเขียน และกระแสวิถีพอเพียงประกบติดหน้าจอโทรทัศน์ในเม็ดเงินซื้อค่าโฆษณาอย่างแพง... และขณะลมหายใจแปรสภาพเป็นต้นทุนชีวิตในค่าเช่าบ้าน และ..และ หลายชีวิตนิยมทุนตกเป็นต้นทุนให้สินค้าแทบทุกชนิดโดยเผลอลืมไปเสียสนิท
กระแสบริโภคนิยมเป็นผู้ร้ายจริงหรือ??
แต่...กวีนิพนธ์ รายงานจากหมู่บ้าน เล่มใหม่เอี่ยมของ กานติ ณ ศรัทธาได้เกริ่นกับเราไว้ว่า ความงามและความอัปลักษณ์แห่งวิถีมนุษย์ในกระแสบริโภคนิยมไปแล้ว นั่นย่อมทำให้นิ่งนอนใจได้ว่า กวีนิพนธ์ในนามของกานติกำลังจะถอนคำสาปส่งทุนนิยมไปครึ่งหนึ่ง แต่จะเป็นเช่นคำโฆษณาบนหน้าปกหนังสือเล่มนี้หรือไม่... เชิญอ่านคำแนะนำข้างกล่องต่อไป...
ไม่ต้องสังเกตเลยก็จะพบได้ว่า ปัจจุบันแทบทุกสิ่งมีราคาขาย หากไม่ประทับให้เห็นกันชัด ๆ อยู่ก็ซ่อนไว้ในห้องนอนของเรา เช่นค่าเช่าบ้าน เป็นต้น และในกวีนิพนธ์ชื่อเล่มรายงานจากหมู่บ้านบอกเราว่า แม้นกระทั่งผู้คนในหมู่บ้านพร้าญี่ปุ่นอันเป็นฉากหน้าของเล่มนี้ ยังรู้จักสร้างอรรถประโยชน์ให้กับทรัพยากรในท้องถิ่นได้อย่างดีเยี่ยม โดยกานติบอกเราผ่านน้ำเสียงหวงแหนและโหยหาอยู่ในบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่ชื่อว่า เงาะโบราณ(น.๕๙) โดยบรรยายความเป็นมาของเงาะต้นนี้ ว่าเป็นดั่งจิตวิญญาณของบรรพบุรุษ ทั้งหยาดเหงื่อที่หลั่งไหลอยู่ในนั้น ลักษณะการบอกเล่าเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างอรรถประโยชน์ให้แก่ต้นเงาะโบราณเพื่อให้ในการแข่งขันในตลาดบริโภคได้ด้วย เนื่องว่าหนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้ก็มีราคาขาย
ครั้นแล้ว ลองแกะกล่องสำรวจดูทีว่าผลิตภัณฑ์กวีนิพนธ์เล่มนี้มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
ประการแรกสำคัญตรงที่ความโดดเด่นในฝีมือการเขียนภายใต้รูปกรอบของฉันทลักษณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลอนสุภาพ ขณะโคลงสี่สุภาพในบทไหว้ครู บิดามารดานั้น ชั้นเชิงก็สมค่ากับประสบการณ์ที่สั่งสมเคี่ยวกรำอย่างยาวนานกว่ายี่สิบปี ดังบท แม่(น.๑๖)
(๑) คือแสงสวรรค์สาดส่องฟ้า อำไพ
คือเด่นดาวพราวใส สุดซึ้ง
คือเมฆแต่งเรืองไร เริงร่าย
คือหยดหวานดังผึ้ง เก็บน้ำเกสร ฯลฯ
เป็นความรู้สึกเรียบง่ายแต่ล้ำลึกด้วยการเลือกใช้คำธรรมดาทั่วไป แต่เปรียบเทียบได้บริสุทธิ์ ล้ำลึก และหมดจด
เมื่อบวกเข้ากับชั้นเชิงการใช้อุปมาโวหารเพื่อเชื่อมโยงทัศนคติระหว่างกวีกับผู้อ่าน ให้สื่อสารได้ชัดเจนเต็มความรู้สึก กานติยิ่งเขียนได้โดดเด่นในคุณลักษณะข้อนี้ โดยเฉพาะจากบทที่ชื่อ อาหารของเด็ก ๆ (น.๓๔)
นานมาแล้วชมพู่คู่เด็กน้อย
เหมือนเมฆลอยเริงร่าคู่ฟ้าใส
ไม่ทันสุกเก็บสิ้นแย่งกินไป
นี่สุกแล้วเหตุไรไม่เหลียวมอง
ไม่เพียงชมพู่เขียวเปล่าเปลี่ยวนัก
ยัง “ลูกหว้า”ว่ารักไม่สาดส่อง
“ลูกขบ”ขบปัญหาน้ำตานอง
“ลูกไฟ”ร้องว่าไฟไหม้โลกแล้ว ...
ซึ่งบทลักษณะเดียวกันนี้มีอยู่หลายบททีเดียว และเปรียบเทียบได้ภาพพจน์ชัดเจนอีกด้วย อีกทั้งการเลือกใช้สัญลักษณ์ให้เหมาะสมกับสภาวะอารมณ์ร่วมสมัย กานติก็เป็นกวีผู้สามารถในข้อพิจารณานี้ ขณะเดียวกันทำนองการเขียนที่ตรงไปตรงมา กระชับแต่ชัดถ้อยชัดคำที่ปรากฏในแทบทุกบทตอน ยังเอื้อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงเนื้อสาระ อารมณ์ ทัศนคติของกวีได้อย่างง่ายดาย
รวมถึงน้ำเสียงอย่างประชด เหน็บแนม ในแนวถนัดของเขาก็มีให้อ่านแบบเจ็บคันนิด ๆ จากบทชื่อ นครศรีธรรมราช ๒ ขัตตุคาม-รามเทพ, หอกระจายข่าว, ยุคเปลือย, บ่อนไก่, งานศพ ฯลฯ เรียกว่ามีให้แสบใจเล่น ๆ จนเพียบแปล้
ทั้งนี้ หากผู้อ่านต้องการจะขบคิดหรือชอบสนุกในการตีความจากกวีนิพนธ์ อาจรำพึงว่า นี่เป็นกวีนิพนธ์สำหรับเยาวชนหรือกระไรกัน ! ในทางตรงข้าม สิ่งที่จะติดตรึงไปกับใจผู้อ่านก็คือเนื้อสาระ ซึ่งเป็นข้อพิจารณาประการที่สอง
ลักษณะการบอกเล่าเนื้อสาระผ่านกวีนิพนธ์ของกานติที่พยายามสร้างแรงกระทบใจต่อผู้อ่านเป็นฉากแรกนั้น ได้อาศัยกลวิธีการวางโครงเรื่องอย่างเรื่องสั้น โดยเน้นไปในแนวโศกนาฎกรรม หรือแบบขันขื่น เช่นบท พร้าญี่ปุ่น(น.๔๘) ที่อาศัยอุปลักษณ์โวหารทำให้สะดุดใจแต่แรกสัมผัส
คำเรียกเครื่องตัดหญ้า “พร้าญี่ปุ่น”
แบบมีดหมุนเหมือนจักรนารายณ์ผัน
สะพายเครื่องเดินตัดมหัศจรรย์
สรรพสิ่งขาดสะบั้นหั่นกระจุย
เจอะขวดแก้วแตกเปรี้ยงเหมือนเสียงประทัด
แก้วกระจายเกินขจัดวิบัติลุ่ย
เจอะก้อนหินบินผางเป็นทางกรุย
หรือมีดหักหมุนคุ้ยขึ้นเสียบคน
ฯลฯ
พร้าญี่ปุ่นเกรียงไกรในงานหนัก
ถางสวนยางไม่กี่พักก็เสร็จทั่ว
พร้าโบราณเหนื่อยพรั่นเนื้อสั่นรัว
ถางจนกลัวงอกใหม่ไล่หลังมา
จึงทุกสวนล้วนมีพร้าญี่ปุ่น
เป็นจักรคุ้นพระนารายณ์ให้คุณค่า
สวนเรียบเหมือนสนามกอล์ฟสวยรอบตา
แม้บางรายจักรกล้าปาดขาพลัน ฯลฯ
ถือเป็นบทที่ครบครัน ครบรส ทั้งอารมณ์ขัน-ขื่น กระทบใจ ให้แง่คิด แม้จะเชยเร่อร่าไปบ้างแต่ถือได้ว่าข้อดีอื่นได้กลบไปหมด ขณะเดียวกันก็มีข้อขัดข้องนิดหนึ่งตรงที่กานติใจร้อนจะใส่คำตำหนิติเตียนถึงข้อเสียของการเข้ามาของพร้าญี่ปุ่นด้วยอารมณ์เคร่งเครียดดุดัน โดยให้ภาพของผืนดินทำกินที่เสื่อมสภาพของธรรมชาติดั้งเดิมไปแล้ว อย่างพยายามจะสรุปจบด้วยวิธีหักมุม ซึ่งก็ไม่ได้เปิดทางออกของปัญหาไว้ นอกจากปิดประตูตีหัวใจผู้คนที่ตกเป็นจำเลยและผู้ถูกกระทำจากกระแสบริโภคนิยมอย่างกล้ำกลืนฝืนทน ดังเช่นในบทดังกล่าว (น.๔๙-๕๐)
ผลไม้ป่า-กะทกรก, พร้าวนกคุ่ม
ทั้งเล็บเหยี่ยวเกาะกลุ่มกันสูญหาย
นานาพืชขาดพันธุ์ขั้นล้มละลาย
นานาสัตว์กระจัดกระจายละลายล้ม
เหลือเพียงสัตว์พันธุ์ใหม่ในสวนหรู
คือ “ทาก”ชูตัวส่ายคล้ายขู่ข่ม
เกิดเพราะหญ้าเป็นใหญ่สมัยนิยม
ตัดยางก้มปลดทากยุ่งยากนัก
ต้องฉีดยาฆ่าทากยุ่งยากใหญ่
ปัญหาอยู่ที่ใดใครประจักษ์
ที่เครื่องมือเครื่องไม้อันไร้รัก
หรือที่ใจเป็นหลักอันไร้รู้
พร้าญี่ปุ่นเหมือนเลื่อยโซ่โผล่แทนขวาน
ไม้ใหญ่ล้มแหลกลาญเห็นกันอยู่
นี่ไม้ย่อยย่อยยับเกินนับดู
หรือประตูพัฒนาจะปิดตาย.
หากพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นถึงความตั้งใจของกานติที่พยายามจัดวางทัศนคติของตัวเองไว้ต่อผู้อ่าน โดยแสดงภาพความงามและอัปลักษณ์ไว้ ซึ่งสัดสวนนั้นจะหนักไปทางความอัปลักษณ์เสียมากกว่า ขณะเดียวกันก็ได้วางบทที่อาจจะเรียกว่า ทางสายกลาง ไว้ในเล่ม ซึ่งก็เป็นส่วนกลาง ๆ ของเล่มเสียด้วย ในกลอนสุภาพชื่อ ในวิถีของข้าพเจ้า (น.๕๔)
จะเห็นได้ชัดเจนว่ากานติพยายามอย่างยิ่งเพื่อจะแสดงให้ผู้อ่านร่วมรับรู้ไปกับวิถีกลาง ๆ ของเขาว่าช่างงามจับใจเพียงใด เขาเคารพธรรมชาติอย่างเต็มเปี่ยม ตั้งแต่ แดดฉาย, น้ำค้างฉาน หรือ ต้องหิ้วน้ำเดินฝ่าหญ้าบริสุทธิ์และ ขอโทษไม้ขอโทษหญ้าก่อนฆ่าฟัน แต่น่าสังเกตว่ากานติไม่อาจขจัดอารมณ์ฉุนเฉียวได้แม้ในบทที่เน้นน้ำหนักเนื้อสาระไปในแนวทางปฏิบัติภาวนา โดยใช้หลักธรรมเยียวยาสภาวะใจให้ดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติดั้งเดิมได้อย่างสงบ ดังเช่น (น.๕๕)
อาหารเช้ามีสิ่งใดก็ใส่ท้อง
ปลอบประคองชีวิตจ๋าอย่าร้องไห้
กินเพื่อเกิดเหมือนต้นไม้ทุกลายใบ
ใช่เกิดเพื่อกินไปเหมือนคนโกง
อาจบางเช้าภาวนาสมาธิ
นั่งตรองตริ “อนิจจัง”หวังจิตโล่ง
โลกภายนอก, ภายใจไหลเชื่อมโยง
เห็นฟ้าโปร่งว่าไร้ฟ้าทุกคราคราว
ฯลฯ
ซึ่งอารมณ์กระทบที่โดดออกมาในลักษณะเดียวกันนี้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งในใจผู้อ่านทันที และมีให้เห็นอยู่อย่างชัดเจน จริงจังในหลายบทพอสมควร
ถ้าหากจะเรียก รายงานจากหมู่บ้านว่าเป็นกวีนิพนธ์เพื่อวิพากษ์สังคมทุนนิยมและการก้าวล่วงเข้าสู่วิถีชีวิตผู้คนในหมู่บ้านของกระแสบริโภคนิยมคงไม่ผิด แต่หากจะผิดก็คงเพราะสภาวะสังคมทุกวันนี้ซับซ้อน ละเอียดอ่อนมากเหลือเกิน ทั้งในแง่หลักการและห้วงจิตใจของมนุษย์ ทางเลือกของกานติที่เสมือนได้บอกกล่าวแก่ผู้อ่านนั้นก็คือทางสายกลางของพระพุทธเจ้าที่เราเรียกรู้กันมาแสนนานแล้วนั่นเอง
ต่อประเด็นที่เกี่ยวเนื่องนั้น จะเห็นได้ว่า ลักษณะการวางบทบาทระหว่างตัวกวีกับผู้อ่านนั้น จะอยู่ในรูปแบบของการเทศนา เสมือนหนึ่งกวีได้นั่งอยู่บนตั่งสูงกว่าผู้อ่าน และทอดสายตาแห่งแสงธรรมลงมา ซ้ำระยะห่างนั้นก็ไม่ได้เหลื่อมล้ำกันมาก ก็เพราะว่ากานติพยายามจะบอกผู้อ่านว่า เขาได้เทศนาในสิ่งที่เขาดำรงอยู่ในโลกทุนนิยม ท่ามกลางกระแสบริโภคเต็มขั้น โดยมีวิถีชีวิตอันสงบ ปลดปลงแล้ว แต่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือในน้ำเสียงปลดปลงนั้น เป็นความขัดแย้งอย่างร้ายแรงที่บรรยายผ่านกวีนิพนธ์หลายต่อบทในเล่มนี้
แม้นความขัดแย้งจะปรากฏเป็นจุดกระจายอยู่ทั้งเล่ม ก็ถือเป็นคุณต่อผู้อ่านได้เช่นกัน เพราะในเมื่อกานติมีวิถีของเขาเอง เรา ”ผู้อ่าน”ก็ย่อมมีวิถีของเรา ... ติดเพียงว่า ใครจะเลือกใช้คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์กวีนิพนธ์ “รายงานจากหมู่บ้าน”หรือไม่เท่านั้น หากใครปรารถนาถึงชั้นเชิงทางฉันทลักษณ์ โคลงกลอน กานติได้รายงานคุณภาพให้เต็มกล่อง แต่หากต้องการเนื้อสาระที่แปลกใหม่อาจผิดหวังสักหน่อยแล้ว
ทั้งนี้แม้นกวีนิพนธ์จะมีติดราคาขาย มีต้นทุน และต้องอาศัยแผนการตลาดเพื่อให้หนังสือถึงมือผู้อ่านดังเช่นสินค้าประเภทอื่น แต่กวีนิพนธ์มีคุณค่าสำคัญอยู่ตรงมิตรภาพทางใจและความรับผิดชอบในอารมณ์ร่วมกันระหว่างกวีและผู้อ่าน ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่ปราศจากข้อจำกัดทั้งจากราคาหน้าปกและดัชนีชี้วัดความเติบโตทางเศรษฐกิจ.