Skip to main content

‘นายยืนยง’

20080409 1

ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑
บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิ
เจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด

ฅ คน นับเป็นนิตยสารรายเดือนที่รวบรวมหลากหลายแง่มุมของชีวิต ผู้คนและเนื้อหาของคนในสังคม  เป็นเสียงบอกเล่าผ่านมุมมองของนักเขียนสารคดี ว่าด้วยเรื่องกึ่งชีวประวัติ หากอ่านเอาเรื่องก็ได้คติแง่คิด ขณะเดียวกันเราจะพบว่าลีลาของนักเขียนบทความ สารคดี ล้วนเขียนด้วยสำนวนอย่างงานวรรณกรรม ซึ่งนับเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับก้าวย่างของงานเขียนประเภทนี้
        
ปัจจุบันงานเขียนสารคดีได้ปรับกระบวนอย่างชัดเจนมากขึ้น นอกจากพื้นฐานที่ต้องเขียนบนหลักการ ข้อเท็จจริงแล้ว นักเขียนสารคดีต่างแต้มสำนวน ลีลาให้ออกรสออกชาติ ด้วยวิธีการนำเสนอแบบอาศัยโครงสร้างอย่างเรื่องสั้น หรือนิยาย ทำให้งานเขียนประเภทนี้มีแรงเร้า ชวนอ่าน และโดดเด่นมากขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธ

กล่าวได้ว่านักเขียนสารคดีในปัจจุบัน สามารถก้าวผ่านข้อเขียนที่ละเลงข้อมูล- ข้อเท็จจริงเพื่อให้เข้ากรอบของงานไปได้ไกลแล้ว การก้าวพ้นกรอบเกณฑ์ปลีกย่อยนี้ต้องยกย่องนักเขียนสารคดีอย่างจริงจังอีกด้วย ทั้งนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเอารางวัลใดมาเทียบเคียง ยกยอปอปั้นกันให้เอิกเกริก เพราะงานเขียนสารคดีที่ดีเข้าขั้นสามารถก้าวเข้ามานั่งในใจนักอ่านได้ไม่ยากเย็น ทั้งยังได้เกร็ดความรู้ประเทืองสมองพ่วงท้ายมาด้วย     

นอกเหนือจากในนิตยสารรายเดือนต่าง ๆ เช่น  สารคดี หรือ  ฅ คน แล้ว อีกเล่มที่น่าอ่านจนถึงขั้นไม่ควรพลาด ทั้งด้วยฝีมือการเขียน กับเรื่องราวที่ที่ถูกสื่อกระแสหลักปิดบังมานาน และเรา (ประชาชน) ต้องร่วมรับรู้ คือ โศกนาฏกรรมคนชายขอบ

โศกนาฏกรรมคนชายขอบ ประกอบด้วยสารคดีว่าด้วยวิถีชีวิตของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย อธิบายถึงความเป็นมาแต่ดั้งเดิม บอกเล่าถึงชะตากรรมอันเข้มข้นของพวกเขาซึ่งถูกรุกราน ทำลายล้างด้วยอำนาจของภาครัฐภายใต้แผนนโยบายพัฒนาฟื้นฟูอันสวยหรู  รวมทั้งได้สะท้อนภาพปัญหาอย่างชัดเจน และไม่ละเลยที่จะชี้แจงทางออก วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นธรรมในน้ำเสียงของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง

ถ่ายทอดผ่านนักเขียนสารคดี ๕ คน คือ สุมาตร  ภูลายยาว, อานุภาพ  นุ่นสง,  แพร  จารุ,  ภู  เชียงดาว, จิตติมา  ผลเสวก  โดยบรรณาธิการ  สุริยันต์  ทองหนูเอียด

ว่าไปแล้วโศกนาฏกรรมคนชายขอบ หรืองานเขียนสารคดีที่มุ่งเสนอแง่มุมชีวิตของกลุ่มคนที่เสมือนไร้ตัวตน หรือถูกรัฐหรือสื่อกระทำให้ไร้ตัวตนไปจากช่องทางการรับรู้ของสังคมกระแสหลัก กำลังขยับขยายให้มี “หอกระจาย” ข่าวสารซึ่งอาจเรียกกันว่า ทางเลือกใหม่ (ส่วนหนึ่งมาจากความเบื่อหน่ายของสื่อกระแสหลัก) ปรากฎการณ์นี้ก่อร่างสร้างพลัง ผลักดัน ต่อสู้กันมาเป็นเวลายาวนาน จากหลากหลายกลุ่ม หลายองค์กร ซึ่งแน่นอนว่า ชื่อของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือในนามของ ส.ศิวรักษ์  ก็เป็นผู้หนึ่งที่ยืนหยัดแสวงหาแนวทางกระจ่างฝ่ายุคอึมครึม ด้วยแนวทางความคิดอ่าน ด้วยวิถีการดำเนินชีวิต และบุคลิกเฉพาะตัว เราจึงไม่อาจปฏิเสธว่า ส.ศิวรักษ์ เป็นดั่งอาจารย์ของเรา ทุกครั้งที่อาจารย์พูด ลูกศิษย์อย่างเรามีหรือจะไม่สดับตรับฟัง

20080409 2
ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/2005/12/03/images/picweb_copy685.jpg

จากบทสัมภาษณ์  สุลักษณ์ ศิวรักษ์ 75 ปี บนเส้นทางแสวงหาสัจจะ ในนิตยสาร  ฅ คน เดือนมีนาคม ๒๕๕๑ นั้น มีคำถามเกี่ยวกับชัยชนะของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่น่าสนใจ ในหน้า ๖๙  ขอยกมาให้อ่านกัน

(ถาม) เข้าใจว่าชัยชนะที่อาจารย์พูดถึง มิใช่การพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินของคนเล็ก ๆ ในการผลักดันเรื่องต่าง ๆ ในสังคม

(ตอบ) คือเราไม่ได้เห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรู อันนี้สำคัญมาก ศาสนาพุทธสอนไว้อย่างนี้  ถ้าเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรู เราจะเป็นเหมือนเขาเลย ในภาษาอังกฤษบอกว่า ถ้าคุณสู้กับมังกร คุณจะกลายเป็นมังกร ศาสนาพุทธบอกว่า ถ้าคุณสู้กับมาร คุณก็กลายเป็นมาร ถ้าคุณเกลียดไอ้พวกคอร์รัป แล้วคุณก็จะคอร์รัปเหมือนเขา  พระไพศาล วิสาโล พูดไว้ดีมากว่า มดสู้มาตลอด แต่มดไม่เคยเห็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นศัตรู ไม่เห็นว่ากองทัพเป็นศัตรูเพราะฉะนั้นมดเขาก็ไม่เปลี่ยนไปในทางเลวร้าย ศาสนาพุทธใช้วิธีนี้นะครับ ศาสนาพุทธมันอยู่กับผี ไม่ได้ฟันผีให้ล้มไป แต่ทำผีให้เชื่อง อยู่กับไสยศาสตร์ ทำให้ไสยศาสตร์เชื่อง ตอนนี้เราอยู่กับทุนนิยม บริโภคนิยมก็ต้องทำให้ทุนนิยม บริโภคนิยมเชื่อง ต้องทำอย่างนี้ อย่าไปเห็นว่าต้องฆ่าไอ้หมักทิ้ง ฆ่าทักษิณทิ้ง ไม่ใช่หวังว่าเขาจะดีขึ้นในวันหนึ่ง ผมก็เชื่อว่าเขาจะดีขึ้นได้อาจจะช้าหน่อย ไม่ใช่เขา คนอื่นก็คงจะดีขึ้นได้

การกล่าวถึง มด (ชื่อเล่นของ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์)  พระไพศาล วิสาโล หรืออ้างถึงศาสนาพุทธ ล้วนถือเป็นศิลปะแห่งวาทะที่เราจะพบได้เป็นจังหวะ ๆ ขณะให้สัมภาษณ์ นี้ทำให้นึกถึงประโยคอมตะที่ว่า ศิลปะส่องทางให้กัน แต่การณ์นี้กลับยิ่งกว่า เพราะการที่ “คนอย่าง” สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวยกย่องถึง “คนอย่าง” มด วนิดา กล่าวยกย่อง “คนอย่าง” พระไพศาล วิสาโล เท่ากับเป็นการต่อคบไฟแห่งความหวังให้ผู้คนและสังคม  แม้จะไม่ใช่ศิลปะการประพันธ์ แต่นี่เป็นศิลปะแห่งชีวิต

ครั้นมาดูคำถามนี้บ้าง

(ถาม) ส. ศิวรักษ์ มาเข้าใจคนจน ก็เพราะเจ้า แต่ ส. ศิวรักษ์ ก็เป็นคนที่วิพากษ์เจ้ามากที่สุด

(ตอบ) ผมไม่ได้รังเกียจเจ้านะครับ  แต่ถ้าเจ้าทำตัวเป็นคนมากเท่าไหร่ ก็จะน่ารักมากขึ้นเท่านั้น  แต่ถ้าเจ้าทำตัวเป็นเทวดา เป็นอภิสิทธิ์ชนเท่าไหร่ ก็จะยิ่งน่าเกลียดขึ้นเท่านั้น เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากหรอก

การพูดถึงเจ้า คนแต่ก่อนนี้เขาพูดนะครับ รัชกาลที่ ๗ ท่านรับสั่งเลยว่า ท่านจะทำอะไรใหม่ ๆ แล้วมีคนถามว่า ไม่กลัวคนวิพากษ์วิจารณ์หรือ ท่านบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินทำอะไรคนก็วิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว

สมัยก่อนนี้ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล คนก็ด่าพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ ๗ ท่านเข้าใจ คุณเป็นเบอร์หนึ่ง เบอร์หนึ่งก็ต้องถูกด่าสิครับ แต่ตอนนี้เราจะให้ชมอย่างเดียวหรือไง คนแต่ก่อนนี้เขาวิพากษ์วิจารณ์ครับ

คำตอบของ ส. ศิวรักษ์  แสดงออกถึงความเป็นปราชญ์ ถึงความรู้และประสบการณ์ และที่สำคัญความกล้าพูดความจริง กล้าคิดต่าง ซึ่งถือเป็นจุดหนึ่งที่หลอมรวมเป็นตัวตนของ ส. ศิวรักษ์ในปัจจุบัน  

การกล้าคิดต่าง เป็นข้อสำคัญประการใหญ่ทีเดียว และ ส.ศิวรักษ์ ก็ถือเป็นบุคคลหนึ่งในสังคมที่อาจหาญชาญชัย หากใครสนใจกระบวนการกล้าจะคิดต่าง สามารถหาอ่านเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ชีวิตได้จาก หนังสือ แหวกแนวคิด ของ ส.ศิวรักษ์  ซึ่งสำนักพิมพ์ ๒๒๒ เป็นผู้จัดพิมพ์ จากการลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ ฐานสัปดาห์วิจารณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ ในวาระที่  ส. ศิวรักษ์ เดินทางไปรับรางวัล Alternative Nobel  หรือรางวัลสัมมาอาชีวะ (Right Livelihood Award) ประกาศให้ ปัญญาชนสยามผู้อื้อฉาว – ส.ศิวรักษ์ เป็นหนึ่งในสี่ปัจเจกบุคคลและองค์กรที่สมควรได้รับรางวัลในฐานะ “ ผู้ปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ปี ๒๕๓๘ (Honour Defenders of Democracy and Human Rights)
        
ความกล้าคิดแหวกแนว กล้าพูดความจริง กล้าวิพากษ์วิจารณ์ของ ส. ศิวรักษ์ ไม่ใช่สักแต่ “วิจารณ์” คนอื่น ไม่หันดูตัว  ดังที่หลายคนเป็นๆ อยู่ หากแต่ ส. ศิวรักษ์ยังกล้าพูดถึงด้านลบของตัวเองอย่างจริงใจด้วย  ดังเช่นในหน้า ๗๖

(ถาม) ในชีวิตอาจารย์  มีอะไรที่คิดว่าเป็นความล้มเหลวบ้างไหม
        
(ตอบ)  (เงียบ...)  ขอเวลาคิดหน่อย  เพราะคนเรามักจะปิดบังความล้มเหลว (หัวเราะเสียงดัง)  ...ความล้มเหลวที่หนึ่ง  ผมเทศน์มากเกินไป ผมทำในสิ่งที่ผมเทศน์น้อยเกินไป เทศน์มากกว่าลงมือทำ  ความล้มเหลวข้อที่สอง  จนป่านนี้อายุเจ็ดสิบห้าแล้วยังอยากมีกิ๊กอยู่...ให้ตายห่าสิ  

ความล้มเหลวที่สำคัญที่สุด  ที่ผมเทศน์ให้คนเขาลืมผม  เพราะลึก ๆ แล้วผมก็อยากเป็นอมตะ  ลึก ๆ ไม่อยากให้เขาลืม (หัวเราะ) นี่ถือเป็นความล้มเหลว... เพราะคนที่ถือพุทธจริงๆ จังๆ ชาติหน้าผมก็ไม่ใช่ ส. ศิวรักษ์ แล้ว  ไปติดยึดอะไรกับชื่อ ต้องทำใจในเรื่องนี้ให้ได้  ถ้าละตรงนี้ได้ก็คือดวงตาเห็นธรรม  ... ฯลฯ ...

หรือในคำถามนี้
(ถาม)  ในฐานะที่เป็นผู้ที่แสวงหาความจริง  และชีวิตที่ดำเนินมาได้ผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยจากเผด็จการ  มาถึงยุคทุนนิยม บอกได้ไหมว่าอะไรคือสิ่งที่น่าชังที่สุดในสังคมไทย

(ตอบ)  สิ่งที่น่าชังที่สุด  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐  เป็นต้นมา  สังคมไทยเป็นสังคมซึ่งปฏิเสธความจริง  และเอาความจริงระคนเท็จมามอมเมาคนโดยตลอด  จนกระทั่งคนไม่เห็นผิดที่จะไม่พูดความจริง   ...ด้วยความเคารพ  แม้กระทั่งสื่อทั้งหมดทำตัวเหมือนปศุสัตว์เลย  เราไม่ยืนหยัดฝ่ายความจริงที่จะต่อต้านเลย  ... ฯลฯ ...

บทความนี้ แม้ได้วางแง่มุมของการวิจารณ์วรรณกรรมที่คุ้นเคยลงอย่างทื่อ ๆ   
แต่ก็หวังว่าเรา ๆ ท่านจะไม่ถือสา  เพราะเราต่างรู้สึกได้ว่า แม้วรรณกรรมจะเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของภาษา วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิต  แต่ขณะเดียว พื้นใจของเราย่อมเปิดรับทัศนคติจากบทสัมภาษณ์ ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการกรองคำ กรองความเป็นรูปแบบของงานเขียน ดังเช่น บทสัมภาษณ์ของ ส. ศิวรักษ์ ที่ยกมานี้ เพราะสำหรับบางคนแล้ว การเชี่ยวชาญในด้านหนึ่ง ก็อาจให้ผลเทียบเคียงกับผู้ที่เชี่ยวชาญในอีกด้านได้เช่นกัน

นอกจากกระตุ้นให้เราขุกจิตคิดขึ้นได้ทันทีแล้ว ยังจุดเพลิงพลังใจและสานต่อให้ได้อยากเรียนรู้ ศึกษา เมื่อเรามองเห็นชีวิตของคนอื่น นอกจากจะมองเห็นเฉพาะตัวเอง.
                



        

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ถอดรหัสอ่านเร็ว HI-SPEED READING ผู้แต่ง : ลุงไอน์สไตน์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : สำนักพิมพ์บิสคิต ตุลาคม 2551
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           824ผู้เขียน               :           งามพรรณ เวชชาชีวะประเภท              :           นวนิยาย  พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย        :      …
สวนหนังสือ
ป่านนี้แล้ว (พ.ศ. 2552) ใครไม่เคยได้ยินเสียงขู่ หรือคำร้องขอเชิงคุกคามให้ร่วมชุบชูจิตวิญญาณสีเขียว ให้ร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ให้ตระหนักในปัญหาวิกฤตอาหารถาวร โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ฉันว่าคุณคงมัวปลีกวิเวกนานเกินไปแล้ว
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ.ศ.2528   เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย   เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้…
สวนหนังสือ
  เรียน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ช่อการะเกด ที่นับถือฉันผู้ใช้นามแฝงว่า นายยืนยง คนเขียนคอลัมน์ สวนหนังสือ ในเว็บไซต์ประชาไท ที่มีบทความชื่อ ช่อการะเกด 45 เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? อยู่ในรายการของบทความทั้งหมด ได้อ่าน กถาบรรณาธิการ ใน ช่อการะเกด 47 ฉบับวางแผงปัจจุบันแล้ว ทราบว่าคุณสุชาติ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นช่อการะเกดได้ให้ความสนใจต่อบทความนี้ ฉันในนามของนายยืนยงจึงเขียนจดหมายแล้วจัดพิมพ์ส่งตู้ ป.ณ. 1143 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาคร่าว ๆ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ :       เดอะซีเคร็ต ผู้เขียน :            รอนดา เบิร์นผู้แปล :             จิระนันท์ พิตรปรีชาพิมพ์ครั้งที่ 54 :  มีนาคม 2551จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์อมรินทร์
สวนหนังสือ
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ
สวนหนังสือ
นายยืนยง   นิตยสารรายเดือน             :           ควน ป่า นา เล  4 เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงวันนี้ 9 เมษายน ฉันอาศัยทีวีและหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก คือ ข่าวการเมือง เหมือนกับทุกครั้งที่อุณหภูมิการเมืองเดือดขึ้น ฉันดูข่าวเกินพิกัด อ่านหนังสือพิมพ์จนแว่นมัวหมอง ตื่นระทึกไปกับทุกจังหวะก้าวย่างของมวลชนเสื้อแดง มีอารมณ์ร่วมกับภาคการเมืองส่วนกลางในฐานะผู้เสพข่าวสารเท่านั้นเองจริง ๆ เท่านั้นเองไม่มากกว่านั้น …
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน! วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 6 จัดพิมพ์โดย : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2551 ก่อนอื่นขอแจ้งข่าว เรื่องวรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2552 นี้ สักเล็กน้อย งานนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 8 เปิดรับผลงานวรรณกรรมการเมือง 2 ประเภท คือ เรื่องสั้น และ บทกวี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : เด็กเก็บว่าว The Kite Runner ผู้เขียน : ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ผู้แปล : วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2548 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ The One Publishing เด็กเก็บว่าว นวนิยายสัญชาติอเมริกัน-อัฟกัน ขนาดสี่ร้อยกว่าหน้า ที่โปรยปก มหัศจรรย์แห่งนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของอะไรหรือ ทำไมผู้คนจึงให้ความสนใจกับมันมากมายนัก ฉันถามตัวเองก่อนจะหยิบมันมาอ่าน
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง ผู้เขียน : ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ประเภท : วรรณกรรมวิจารณ์ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2545 จัดพิมพ์โดย : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ การตีความนัยยะศัพท์แสงทางวรรณกรรมจะว่าเป็นศิลปะแห่งการเข้าข้างตัวเอง ก็ถูกส่วนหนึ่ง ความนี้น่าจะเชื่อมโยงกับเรื่อง “รสนิยมส่วนตัว” หรือ อัตวิสัย หากมองในแง่ดี เราจะถือเป็นบ่อเกิดของกระบวนการสร้างสรรค์ได้ด้วย มิใช่หรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยงเมื่อการอ่านประวัติศาสตร์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ฉันว่าควรมีการเขียนหนังสือแนะนำ (How to) เป็นขั้นเป็นตอนเลยจะดีกว่าไหม เพราะมันนอกจากจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้แต่งแต่ละท่านแล้ว (ผู้แต่งบางท่านก็ชี้ชัดลงไปเลย เจตนาจะเข้าข้างฝ่ายไหน แต่บางท่านเน้นวิเคราะห์วิจารณ์ โดยที่หากผู้อ่านมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์น้อยกว่าหางอึ่งอย่างฉัน ต้องกลับไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้อีกหลายเล่ม) ยังทำให้ใช้เวลาอย่างมหาศาลไปกับหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเล่ม ไม่เป็นไร ๆ เราไม่ได้อ่านเพื่อพิพากษาใครเป็นถูกเป็นผิดมิใช่หรือ อ่านเพื่อได้อ่าน แบบกำปั้นทุบดินก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา…