Skip to main content

‘นายยืนยง’

20080409 1

ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑
บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิ
เจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด

ฅ คน นับเป็นนิตยสารรายเดือนที่รวบรวมหลากหลายแง่มุมของชีวิต ผู้คนและเนื้อหาของคนในสังคม  เป็นเสียงบอกเล่าผ่านมุมมองของนักเขียนสารคดี ว่าด้วยเรื่องกึ่งชีวประวัติ หากอ่านเอาเรื่องก็ได้คติแง่คิด ขณะเดียวกันเราจะพบว่าลีลาของนักเขียนบทความ สารคดี ล้วนเขียนด้วยสำนวนอย่างงานวรรณกรรม ซึ่งนับเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับก้าวย่างของงานเขียนประเภทนี้
        
ปัจจุบันงานเขียนสารคดีได้ปรับกระบวนอย่างชัดเจนมากขึ้น นอกจากพื้นฐานที่ต้องเขียนบนหลักการ ข้อเท็จจริงแล้ว นักเขียนสารคดีต่างแต้มสำนวน ลีลาให้ออกรสออกชาติ ด้วยวิธีการนำเสนอแบบอาศัยโครงสร้างอย่างเรื่องสั้น หรือนิยาย ทำให้งานเขียนประเภทนี้มีแรงเร้า ชวนอ่าน และโดดเด่นมากขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธ

กล่าวได้ว่านักเขียนสารคดีในปัจจุบัน สามารถก้าวผ่านข้อเขียนที่ละเลงข้อมูล- ข้อเท็จจริงเพื่อให้เข้ากรอบของงานไปได้ไกลแล้ว การก้าวพ้นกรอบเกณฑ์ปลีกย่อยนี้ต้องยกย่องนักเขียนสารคดีอย่างจริงจังอีกด้วย ทั้งนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเอารางวัลใดมาเทียบเคียง ยกยอปอปั้นกันให้เอิกเกริก เพราะงานเขียนสารคดีที่ดีเข้าขั้นสามารถก้าวเข้ามานั่งในใจนักอ่านได้ไม่ยากเย็น ทั้งยังได้เกร็ดความรู้ประเทืองสมองพ่วงท้ายมาด้วย     

นอกเหนือจากในนิตยสารรายเดือนต่าง ๆ เช่น  สารคดี หรือ  ฅ คน แล้ว อีกเล่มที่น่าอ่านจนถึงขั้นไม่ควรพลาด ทั้งด้วยฝีมือการเขียน กับเรื่องราวที่ที่ถูกสื่อกระแสหลักปิดบังมานาน และเรา (ประชาชน) ต้องร่วมรับรู้ คือ โศกนาฏกรรมคนชายขอบ

โศกนาฏกรรมคนชายขอบ ประกอบด้วยสารคดีว่าด้วยวิถีชีวิตของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย อธิบายถึงความเป็นมาแต่ดั้งเดิม บอกเล่าถึงชะตากรรมอันเข้มข้นของพวกเขาซึ่งถูกรุกราน ทำลายล้างด้วยอำนาจของภาครัฐภายใต้แผนนโยบายพัฒนาฟื้นฟูอันสวยหรู  รวมทั้งได้สะท้อนภาพปัญหาอย่างชัดเจน และไม่ละเลยที่จะชี้แจงทางออก วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นธรรมในน้ำเสียงของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง

ถ่ายทอดผ่านนักเขียนสารคดี ๕ คน คือ สุมาตร  ภูลายยาว, อานุภาพ  นุ่นสง,  แพร  จารุ,  ภู  เชียงดาว, จิตติมา  ผลเสวก  โดยบรรณาธิการ  สุริยันต์  ทองหนูเอียด

ว่าไปแล้วโศกนาฏกรรมคนชายขอบ หรืองานเขียนสารคดีที่มุ่งเสนอแง่มุมชีวิตของกลุ่มคนที่เสมือนไร้ตัวตน หรือถูกรัฐหรือสื่อกระทำให้ไร้ตัวตนไปจากช่องทางการรับรู้ของสังคมกระแสหลัก กำลังขยับขยายให้มี “หอกระจาย” ข่าวสารซึ่งอาจเรียกกันว่า ทางเลือกใหม่ (ส่วนหนึ่งมาจากความเบื่อหน่ายของสื่อกระแสหลัก) ปรากฎการณ์นี้ก่อร่างสร้างพลัง ผลักดัน ต่อสู้กันมาเป็นเวลายาวนาน จากหลากหลายกลุ่ม หลายองค์กร ซึ่งแน่นอนว่า ชื่อของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือในนามของ ส.ศิวรักษ์  ก็เป็นผู้หนึ่งที่ยืนหยัดแสวงหาแนวทางกระจ่างฝ่ายุคอึมครึม ด้วยแนวทางความคิดอ่าน ด้วยวิถีการดำเนินชีวิต และบุคลิกเฉพาะตัว เราจึงไม่อาจปฏิเสธว่า ส.ศิวรักษ์ เป็นดั่งอาจารย์ของเรา ทุกครั้งที่อาจารย์พูด ลูกศิษย์อย่างเรามีหรือจะไม่สดับตรับฟัง

20080409 2
ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/2005/12/03/images/picweb_copy685.jpg

จากบทสัมภาษณ์  สุลักษณ์ ศิวรักษ์ 75 ปี บนเส้นทางแสวงหาสัจจะ ในนิตยสาร  ฅ คน เดือนมีนาคม ๒๕๕๑ นั้น มีคำถามเกี่ยวกับชัยชนะของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่น่าสนใจ ในหน้า ๖๙  ขอยกมาให้อ่านกัน

(ถาม) เข้าใจว่าชัยชนะที่อาจารย์พูดถึง มิใช่การพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินของคนเล็ก ๆ ในการผลักดันเรื่องต่าง ๆ ในสังคม

(ตอบ) คือเราไม่ได้เห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรู อันนี้สำคัญมาก ศาสนาพุทธสอนไว้อย่างนี้  ถ้าเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรู เราจะเป็นเหมือนเขาเลย ในภาษาอังกฤษบอกว่า ถ้าคุณสู้กับมังกร คุณจะกลายเป็นมังกร ศาสนาพุทธบอกว่า ถ้าคุณสู้กับมาร คุณก็กลายเป็นมาร ถ้าคุณเกลียดไอ้พวกคอร์รัป แล้วคุณก็จะคอร์รัปเหมือนเขา  พระไพศาล วิสาโล พูดไว้ดีมากว่า มดสู้มาตลอด แต่มดไม่เคยเห็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นศัตรู ไม่เห็นว่ากองทัพเป็นศัตรูเพราะฉะนั้นมดเขาก็ไม่เปลี่ยนไปในทางเลวร้าย ศาสนาพุทธใช้วิธีนี้นะครับ ศาสนาพุทธมันอยู่กับผี ไม่ได้ฟันผีให้ล้มไป แต่ทำผีให้เชื่อง อยู่กับไสยศาสตร์ ทำให้ไสยศาสตร์เชื่อง ตอนนี้เราอยู่กับทุนนิยม บริโภคนิยมก็ต้องทำให้ทุนนิยม บริโภคนิยมเชื่อง ต้องทำอย่างนี้ อย่าไปเห็นว่าต้องฆ่าไอ้หมักทิ้ง ฆ่าทักษิณทิ้ง ไม่ใช่หวังว่าเขาจะดีขึ้นในวันหนึ่ง ผมก็เชื่อว่าเขาจะดีขึ้นได้อาจจะช้าหน่อย ไม่ใช่เขา คนอื่นก็คงจะดีขึ้นได้

การกล่าวถึง มด (ชื่อเล่นของ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์)  พระไพศาล วิสาโล หรืออ้างถึงศาสนาพุทธ ล้วนถือเป็นศิลปะแห่งวาทะที่เราจะพบได้เป็นจังหวะ ๆ ขณะให้สัมภาษณ์ นี้ทำให้นึกถึงประโยคอมตะที่ว่า ศิลปะส่องทางให้กัน แต่การณ์นี้กลับยิ่งกว่า เพราะการที่ “คนอย่าง” สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวยกย่องถึง “คนอย่าง” มด วนิดา กล่าวยกย่อง “คนอย่าง” พระไพศาล วิสาโล เท่ากับเป็นการต่อคบไฟแห่งความหวังให้ผู้คนและสังคม  แม้จะไม่ใช่ศิลปะการประพันธ์ แต่นี่เป็นศิลปะแห่งชีวิต

ครั้นมาดูคำถามนี้บ้าง

(ถาม) ส. ศิวรักษ์ มาเข้าใจคนจน ก็เพราะเจ้า แต่ ส. ศิวรักษ์ ก็เป็นคนที่วิพากษ์เจ้ามากที่สุด

(ตอบ) ผมไม่ได้รังเกียจเจ้านะครับ  แต่ถ้าเจ้าทำตัวเป็นคนมากเท่าไหร่ ก็จะน่ารักมากขึ้นเท่านั้น  แต่ถ้าเจ้าทำตัวเป็นเทวดา เป็นอภิสิทธิ์ชนเท่าไหร่ ก็จะยิ่งน่าเกลียดขึ้นเท่านั้น เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากหรอก

การพูดถึงเจ้า คนแต่ก่อนนี้เขาพูดนะครับ รัชกาลที่ ๗ ท่านรับสั่งเลยว่า ท่านจะทำอะไรใหม่ ๆ แล้วมีคนถามว่า ไม่กลัวคนวิพากษ์วิจารณ์หรือ ท่านบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินทำอะไรคนก็วิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว

สมัยก่อนนี้ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล คนก็ด่าพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ ๗ ท่านเข้าใจ คุณเป็นเบอร์หนึ่ง เบอร์หนึ่งก็ต้องถูกด่าสิครับ แต่ตอนนี้เราจะให้ชมอย่างเดียวหรือไง คนแต่ก่อนนี้เขาวิพากษ์วิจารณ์ครับ

คำตอบของ ส. ศิวรักษ์  แสดงออกถึงความเป็นปราชญ์ ถึงความรู้และประสบการณ์ และที่สำคัญความกล้าพูดความจริง กล้าคิดต่าง ซึ่งถือเป็นจุดหนึ่งที่หลอมรวมเป็นตัวตนของ ส. ศิวรักษ์ในปัจจุบัน  

การกล้าคิดต่าง เป็นข้อสำคัญประการใหญ่ทีเดียว และ ส.ศิวรักษ์ ก็ถือเป็นบุคคลหนึ่งในสังคมที่อาจหาญชาญชัย หากใครสนใจกระบวนการกล้าจะคิดต่าง สามารถหาอ่านเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ชีวิตได้จาก หนังสือ แหวกแนวคิด ของ ส.ศิวรักษ์  ซึ่งสำนักพิมพ์ ๒๒๒ เป็นผู้จัดพิมพ์ จากการลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ ฐานสัปดาห์วิจารณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ ในวาระที่  ส. ศิวรักษ์ เดินทางไปรับรางวัล Alternative Nobel  หรือรางวัลสัมมาอาชีวะ (Right Livelihood Award) ประกาศให้ ปัญญาชนสยามผู้อื้อฉาว – ส.ศิวรักษ์ เป็นหนึ่งในสี่ปัจเจกบุคคลและองค์กรที่สมควรได้รับรางวัลในฐานะ “ ผู้ปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ปี ๒๕๓๘ (Honour Defenders of Democracy and Human Rights)
        
ความกล้าคิดแหวกแนว กล้าพูดความจริง กล้าวิพากษ์วิจารณ์ของ ส. ศิวรักษ์ ไม่ใช่สักแต่ “วิจารณ์” คนอื่น ไม่หันดูตัว  ดังที่หลายคนเป็นๆ อยู่ หากแต่ ส. ศิวรักษ์ยังกล้าพูดถึงด้านลบของตัวเองอย่างจริงใจด้วย  ดังเช่นในหน้า ๗๖

(ถาม) ในชีวิตอาจารย์  มีอะไรที่คิดว่าเป็นความล้มเหลวบ้างไหม
        
(ตอบ)  (เงียบ...)  ขอเวลาคิดหน่อย  เพราะคนเรามักจะปิดบังความล้มเหลว (หัวเราะเสียงดัง)  ...ความล้มเหลวที่หนึ่ง  ผมเทศน์มากเกินไป ผมทำในสิ่งที่ผมเทศน์น้อยเกินไป เทศน์มากกว่าลงมือทำ  ความล้มเหลวข้อที่สอง  จนป่านนี้อายุเจ็ดสิบห้าแล้วยังอยากมีกิ๊กอยู่...ให้ตายห่าสิ  

ความล้มเหลวที่สำคัญที่สุด  ที่ผมเทศน์ให้คนเขาลืมผม  เพราะลึก ๆ แล้วผมก็อยากเป็นอมตะ  ลึก ๆ ไม่อยากให้เขาลืม (หัวเราะ) นี่ถือเป็นความล้มเหลว... เพราะคนที่ถือพุทธจริงๆ จังๆ ชาติหน้าผมก็ไม่ใช่ ส. ศิวรักษ์ แล้ว  ไปติดยึดอะไรกับชื่อ ต้องทำใจในเรื่องนี้ให้ได้  ถ้าละตรงนี้ได้ก็คือดวงตาเห็นธรรม  ... ฯลฯ ...

หรือในคำถามนี้
(ถาม)  ในฐานะที่เป็นผู้ที่แสวงหาความจริง  และชีวิตที่ดำเนินมาได้ผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยจากเผด็จการ  มาถึงยุคทุนนิยม บอกได้ไหมว่าอะไรคือสิ่งที่น่าชังที่สุดในสังคมไทย

(ตอบ)  สิ่งที่น่าชังที่สุด  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐  เป็นต้นมา  สังคมไทยเป็นสังคมซึ่งปฏิเสธความจริง  และเอาความจริงระคนเท็จมามอมเมาคนโดยตลอด  จนกระทั่งคนไม่เห็นผิดที่จะไม่พูดความจริง   ...ด้วยความเคารพ  แม้กระทั่งสื่อทั้งหมดทำตัวเหมือนปศุสัตว์เลย  เราไม่ยืนหยัดฝ่ายความจริงที่จะต่อต้านเลย  ... ฯลฯ ...

บทความนี้ แม้ได้วางแง่มุมของการวิจารณ์วรรณกรรมที่คุ้นเคยลงอย่างทื่อ ๆ   
แต่ก็หวังว่าเรา ๆ ท่านจะไม่ถือสา  เพราะเราต่างรู้สึกได้ว่า แม้วรรณกรรมจะเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของภาษา วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิต  แต่ขณะเดียว พื้นใจของเราย่อมเปิดรับทัศนคติจากบทสัมภาษณ์ ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการกรองคำ กรองความเป็นรูปแบบของงานเขียน ดังเช่น บทสัมภาษณ์ของ ส. ศิวรักษ์ ที่ยกมานี้ เพราะสำหรับบางคนแล้ว การเชี่ยวชาญในด้านหนึ่ง ก็อาจให้ผลเทียบเคียงกับผู้ที่เชี่ยวชาญในอีกด้านได้เช่นกัน

นอกจากกระตุ้นให้เราขุกจิตคิดขึ้นได้ทันทีแล้ว ยังจุดเพลิงพลังใจและสานต่อให้ได้อยากเรียนรู้ ศึกษา เมื่อเรามองเห็นชีวิตของคนอื่น นอกจากจะมองเห็นเฉพาะตัวเอง.
                



        

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ ผู้เขียน : องอาจ เดชา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา พ.ศ.2548 ได้อ่านงานเขียนสารคดีที่เป็นบทบันทึกช่วงชีวิตของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ที่กลั่นร้อยจากความมุ่งมั่นขององอาจ เดชา นักเขียนสารคดีหนุ่มมือเอกแล้ว มีหลายความรู้สึกที่อยากเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งทำให้อยากลุกมาเขียนจดหมายถึงคนต้นเรื่องคนนั้นด้วย กล่าวถึงงานเขียนสารคดีสักครู่หนึ่งเถอะ... สารคดีเป็นงานเขียนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทุกรายละเอียดล้วนเคารพต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันงานเขียนสารคดีเล่ม ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ นี้ เป็นลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ม่านดอกไม้ ผู้เขียน : ร. จันทพิมพะ ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2541 ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวังเก่าที่เมืองโคราช เจ้าของบ้านเป็นครูสาวเกษียณราชการแล้ว คนวัยนี้แล้วยังจะเรียก “สาว” ได้อีกหรือ.. ได้แน่นอนเพราะเธอยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งน้ำเสียงกังวานและแววตาที่มีความฝันเปี่ยมอยู่ในนั้น วังเก่าหลังนั้นอยู่ใกล้หลักเมือง วางตัวสงบเย็นอยู่ใจกลางแถวของอาคารร้านค้า ลมลอดช่องตึกทำให้อากาศโล่ง เย็นชื่น พวกไม้ดอกประดับแย้มใบเขียวสดรับละอองฝน…
สวนหนังสือ
นายยืนยง      ชื่อหนังสือ     : ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ผู้เขียน          : สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร จัดพิมพ์โดย   : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา พิมพ์ครั้งแรก  : 27 มีนาคม พ.ศ.2508 ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯ เริ่มชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เสียงจากสถานีเอเอสทีวีก็กังวานไปทั่วบริเวณบ้านที่เช่าเขาอยู่ มันเป็นบ้านที่มีบ้านบริเวณกว้างขวาง และมีบ้านหลายหลังปลูกใกล้ ๆ กัน ใครเปิดทีวีช่องอะไรเป็นได้ยินกันทั่ว คนที่ไม่ได้เปิดก็เลยฟังไม่ได้สรรพ…
สวนหนังสือ
 นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : มาตุภูมิเดียวกัน ผู้เขียน : วิน วนาดร ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2550   ปี 2551 นี้รางวัลซีไรต์เป็นรอบของเรื่องสั้น สำรวจดูจากรายชื่อหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ดูจากชื่อนักเขียนก็พอจะมองเห็นความหลากหลายชัดเจน ทั้งนักเขียนที่ส่งมากันครบทุกรุ่นวัย แนวทางของเรื่องยิ่งชวนให้เกิดบรรยากาศคึกคัก มีสีสันหากว่ามีการวิจารณ์หนังสือกันที่ส่งเข้าประกวดอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกค่าย ไม่เลือกว่าเป็นพรรคพวกของตัว อย่างที่เขาว่ากันว่า เด็กใครก็ปั้นก็เชียร์กันตามกำลัง นั่นไม่เป็นผลดีต่อผู้อ่านนักหรอก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นกชีวิต ประเภท : กวีนิพนธ์ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2550 ผู้เขียน : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เคยสังเกตไหมว่าบางครั้งบทกวีก็สนทนากันเอง ระหว่างบทกวีกับบทกวี ราวกับกวีสนทนากับกวีด้วยกัน ซึ่งนั่นหาได้สำคัญไม่ เพราะความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างผู้สร้างสรรค์ (กวี) กับผู้เสพอย่างเรา ๆ แต่หมายถึงบรรยากาศแห่งการดื่มด่ำกวีนิพนธ์ เป็นการสื่อสารจากใจสู่ใจ กระนั้นก็ตาม ยังมีบางทัศนคติที่พยายามจะแบ่งแยกกวีนิพนธ์ออกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นกวีฉันทลักษณ์ เป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์…
สวนหนังสือ
นายยืนยงประเภท          :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย      :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2530)ผู้ประพันธ์     :    Bhabani Bhattacharyaผู้แปล         :    จิตร ภูมิศักดิ์
สวนหนังสือ
นายยืนยง"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง(หมายเหตุ ภาพนี้เป็นภาพปก ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๓๒ เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑)ภาพจาก : http://burabhawayu.multiply.com/reviews/item/16 ชื่อนิตยสาร : ปาจารยสาร ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๘ เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕จัดพิมพ์โดย : บริษัท ส่องศยาม
สวนหนังสือ
นายยืนยงบทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์    :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล         :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ      :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์      :     โครงการจัดพิมพ์คบไฟ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541
สวนหนังสือ
นายยืนยง  บทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์            :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล                 :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ         :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์        …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓