Skip to main content

นายยืนยง

 

 

 4_07_01

 

 

ชื่อหนังสือ     : ชีวิตและงานกวีเอกของไทย

ผู้เขียน          : สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร

จัดพิมพ์โดย   : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา

พิมพ์ครั้งแรก  : 27 มีนาคม พ..2508


ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯ เริ่มชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เสียงจากสถานีเอเอสทีวีก็กังวานไปทั่วบริเวณบ้านที่เช่าเขาอยู่ มันเป็นบ้านที่มีบ้านบริเวณกว้างขวาง และมีบ้านหลายหลังปลูกใกล้ ๆ กัน ใครเปิดทีวีช่องอะไรเป็นได้ยินกันทั่ว คนที่ไม่ได้เปิดก็เลยฟังไม่ได้สรรพ ต้องเดินเข้าบ้านเปิดทีวีของตัวเองดูจะได้มีเสียงส่วนตัว เพราะทุกบ้านเล่นยุทธวิธีเร่งวอลุ่มกันขนาดหนักจนฟังเอะอะไปหมด ที่สำคัญบ้านที่มีเอเอสทีวียังคอยกวักมือเรียกให้ไปดูด้วยกันอยู่นั่น ไอ้เราก็อยากอยู่นะ ไม่ใช่ไม่อยากดู แต่อย่างว่านั่นแหละ เราอยากมีเสียงส่วนตัวบ้าง อีกอย่างหนึ่งก็เพราะชอบอ่านหนังสือพิมพ์มากกว่าก็มัน “มัน” ดีนั่นเอง อยากพักตาตอนไหนก็พับเก็บไว้ก่อน ไม่ต้องขืนตัวเองนั่งจ้องหน้าจอ


ตั้งแต่พันธมิตรฯ เริ่มเคลื่อนไหว ยิ่งจำนวนผู้ชุมนุมหนาตามากเท่าไร คนที่อยู่นอกเหตุการณ์ต่างพากันวิตกจนหน้าหมองไปหมด บ้างก็ว่า กลียุคแท้ ๆ คนไทยจะฆ่ากันเอง บ้างก็ว่าต้องมี “ใคร” ออกมาทำอะไรสักอย่างให้การชุมนุมยุติลงเสียที ไอ้อะไรที่มันร้าย ๆ เหมือนถูกขุดออกมาจากความทรงจำ ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 16 ตุลาคม 2519 และพฤษภาทมิฬเหมือนฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนไปทุกยุคทุกสมัย ทั้งที่การชุมนุมประท้วงเป็นปกติของระบอบประชาธิปไตย แต่ทำไมทุกครั้งที่มีการชุมนุม อาการหวั่นวิตกว่าจะเกิดเหตุนองเลือดมันจะกำเริบทุกทีด้วยก็ไม่ทราบ เรารักและหวงแหนความสงบสุขกันมากถึงเพียงนี้หรือ? หรือ “กระเหี้ยนกระหือรือ” อยากให้เรื่องมันจบลงซักที (ไม่ว่าจะจบอย่างไร) เหมือนอย่างใน เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา จากหนังสือเก่าเล่มที่นำมากล่าวถึงก็เข้าทำนองเดียวกัน แต่ในเพลงยาวฯ คล้ายจะมีความรู้สึกหวงแหน อาลัยอาวรณ์เคล้าอยู่ด้วย ลองอ่านดูดีไหมว่า บรรพบุรุษกวีสมัยพ..2199 ..2231 เขารู้สึกนึกคิดอย่างไรกับบ้านเมือง จะเป็นเหมือนกวีรุ่นลูกหลานเหลนสมัยนี้ไหม? ขออนุญาตยกมาให้อ่าน ณ ที่นี้ จากหนังสือ ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ที่พิมพ์เมื่อพ..2507 เก่าขนาดพร้อมพลีกายอำลาโลกเลยทีเดียว

ช่างเปราะบางเสียนี่กระไรหนังสือหนอ...


เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา


จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา

เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนา       มหาดิเรกอันเลิศล้น

เป็นที่ปรากฏรจนา                   สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน

ทุกบุรีสีมามณฑล                   จบสกลลูกค้าวานิช

ทุกประเทศสิบสองภาษา          ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคคนิษฐ์

ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิศม์ ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์

ฝ่ายองค์พระบรมราชา             ครองขันธสีมาเป็นสุข

ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก           จึงอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดี

เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์ในใต้หล้า เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี

ทุกนิกรนรชนมนตรี                คหบดีพราหมณพฤฒา

ประดุจดั่งศาลาอาศัย              ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันสาขา

ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา       เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาร

ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ       อาจปราบไพรีทุกทิศาน

ทุกประเทศเขตขันธบันดาล      แต่งเครื่องบรรณาการมานอบนบ

กรุงศรีอยุธยานั้นสมบูรณ์         เพิ่มพูนด้วยพระเกียรติยศขจรจบ

อุดมบรมสุขทั้งแผ่นภพ           จนคำรบศักราชได้สองพัน

คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย         จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น

ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม์ จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ


คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพท     อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน

มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล      เกิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง

พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง

ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง             ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร

พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี         พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้

พระธรณีจะตีอกไห้                 อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม

ในลักษณะทำนายไว้บ่อห่อนผิด เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม

มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม      มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ

ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด      เกิดวิบัตินานาทั่วสากล

เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา        จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล

สัปรุษจะแพ้แก่ทรชน              มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก

ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว              คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์

ลูกศิษย์จะสู้ครูนัก                  จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย

ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ             นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย

กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย            น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม

ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า                เพราะจัณฑาลมันเข้ามาเสพสม

ผู้มีศิลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์        เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา

พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา

อาสัจจะเลื่องลือชา                 พระธรรมาจะตกลึกลับ

ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ              จะสาบสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ

ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์           สัปรุษจะอับซึ่งน้ำใจ

ทั้งอยุศฆ์จะถอยเคลื่อนจากเดือนปี ประเวณีจะแปรปรวนตามวิสัย

ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป           ผลหมากรากไม้จะถอยรส

ทั้งแพทย์พรรณว่านยาก็อาเพด   เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด

จวงจันทร์พรรณไม้อันหอมรส     จะถอยถดไปตามประเพณี

ทั้งเข้าก็จะยากหมากจะแพง       สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่

จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี           ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน

กรุงประเทศราชธานี                 จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน

จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล         จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย

จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์    จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย

จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย            ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ

ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก         เวียงวังจะรกเป็นป่าเสือ

แต่สิงห์สาระสัตว์เนื้อเบื้อ           นั้นจะหลงเหลือในแผ่นดิน

ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย       จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น

ด้วยพระกาลจะมาผลาญแผ่นดิน จะสูญสิ้นการณรงค์สงคราม

กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว           จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม

ไปจบคำรบปีเดือนคืนยาม         จะสิ้นนามศักราชห้าพัน

กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข             แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์

จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์        นับวันจะเสื่อมสูญ เอย


เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เป็นวรรณคดีสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (..๒๑๙๙-๒๒๓๑) พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เชี่ยวชาญในวรรณคดีมาก ยุคนี้วรรณคดีจึงฟูเฟื่องมากที่สุด ถือเป็นยุคทองของวรรณคดีไทย มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตเกิดเป็นคู่ใต้พระบุญบารมีหลายท่าน เช่น พระมหาราชครู พระโหราธิบดี พระศรีมโหสถ ขุนเทพกวี ศรีปราชญ์ จนกล่าวกันทั่วไปว่าในสมัยของพระองค์ ข้าราชสำนักและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินส่วนมากหายใจกันเป็นโคลงกลอนไปหมดทีเดียว นอกจากนั้นยังมีการดัดแปลงแต่งวรรณคดีประเภทใหม่ ๆ ขึ้นอีกหลายประเภทเช่น กาพย์ห่อโคลง และกาพย์ขับไม้


สำหรับเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยานี้ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ากวีผู้ใดประพันธ์ แต่มีการกล่าวถึงในยุคหลังจากนั้น ขอยกบทวิจารณ์ที่น่าสนใจมาให้อ่านควบคู่กันไปด้วย


นั่นคือ “วิจารณ์เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยูธยา” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ไว้อย่างมีเหตุผลดียิ่งดังนี้คือ


พิจารณาเนื้อความที่กล่าวในเพลงยาวบทนี้ มีคำพยากรณ์มาแต่ก่อน ว่ากรุงศรีอยุธยาจะสมบูรณ์พูลสุขเป็นอย่างเลิศล้นจนศักราชได้ ๒,๐๐๐ ปี พ้นนั้นไปจะ “เกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์ ๑๖ ประการ” “เหตุด้วยพระมหากษัตริย์ไม่ทรงทศพิธราชธรรม” บ้านเมืองก็จะมีเภทภัยต่าง ๆ ที่สุดถึงฆ่าฟันกันตาย จนกรุงศรีอยุธยาสูญไปตลอดอายุพระพุทธศานา ๕,๐๐๐ ปี ว่ามีคำพยากรณ์อยู่แล้วดังกล่าวมานี้ มาในสมัยหนึ่งเมื่อกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีอยู่นั้น ผู้แต่งเพลงยาวบทนี้สังเกตเห็นวิปริตต่าง ๆ ตาม
ในลักษณะทำนายไว้บ่อห่อนผิด เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม” เกรงว่าจะเข้ายุคเข็ญตามคำพยากรณ์ จึงแต่งเพลงยาวบทนี้ด้วยความอาลัยกรุงศรีอยุธยาลงท้ายว่า

กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์ จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์นับวันแต่จะเสื่อมสูญเอย”


ตามความในเพลงยาวพึงเห็นได้ ว่าผู้แต่งเพลงยาวบทนี้ เป็นแต่อ้างตามคำพยากรณ์ที่มีอยู่แล้ว หาได้เป็นผู้พยากรณ์ไม่ จึงเกิดปัญหาเป็นข้อต้น ว่าใครเป็นผู้พยากรณ์.... แต่ในคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาอ้างว่าจะเกิดยุคเข็ญ เมื่อศักราชได้ ๒,๐๐๐ ปี จึงเป็นปัญหาเกิดขึ้นอีกข้อ ๑ ว่า ศักราชอันใด ถ้าหมายว่า พุทธศักราช กรุงศรีอยุธยาสร้างเมื่อ พ.. ๑๘๙๓ ครบ ๒,๐๐๐ ปีในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ กรุงศรีอยุธยาก็จะสมบูรณ์พูลสุขอยู่เพียง ๑๐๗ ปี แล้วก็เข้ายุคเข็ญมาก่อนแต่งเพลงยาวบทนี้ตั้ง ๑๐๐ ปีแล้ว ที่ผู้แต่งเพลงยาวเพิ่งหวั่นหวาดว่าจะถึงยุคเข็ญ ก็ส่อให้เห็นว่ามิใช่พุทธศักราชหรือจะหมายว่ามหาศักราช ซึ่งตั้งภายหลังพุทธศักราช ๖๒๑ ปี ถ้าเช่นนั้นเมื่อคำนวณดูในพ..๒๔๗๙ (ปีที่เขียนคำวิจารณ์) นี้มหาศักราชได้ ๑,๘๕๘ ปี ยังอีก ๑๔๒ ปี จึงจะครบ ๒,๐๐๐ เข้าเขตยุคเข็ญที่พยากรณ์ ถ้าหมายความว่าจุลศักราชยังยิ่งช้าออกไปอีกมาก เพราะจุลศักราชตั้งภายหลังพุทธศักราชถึง ๑,๑๘๑ ปี ต่ออีก ๗๐๒ ปี (..๓๑๘๑) จุลศักราชจึงจะครบ ๒,๐๐๐ ศักราช ๒,๐๐๐ ที่บอกไว้ดูไม่เข้ากับเรื่องที่กล่าวในเพลงยาวทีเดียว ชวนให้สงสัยต่อไปถึงข้อที่อ้างว่ามีคำพยากรณ์อยู่แต่ก่อน ที่จริงน่าจะเป็นด้วยคนชอบเอาพุทธพยากรณ์ในมหาสุบินชาดกมาเปรียบในเวลาเมื่อเห็นอะไรวิปริตผิดนิยม เกิดเป็นภาษิตก่อนแล้วจึงเลยเลือนไปเข้าใจกันว่าเป็นคำพยากรณ์ สำหรับพระนครศรีอยุธยาผู้แต่งเพลงยาวนี้ จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ตามหรือมิใช่พระเจ้าแผ่นดินก็ตามน่าจะปรารภความวิปริตอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยนั้น จึงแต่งเพลงยาวบทนี้ด้วยความกลุ้มใจ บางทีจะเอาศักราช ๒,๐๐๐ อันตั้งใจว่าจุลศักราชเขียนลงเพื่อจะมิให้คนทั้งหลายตกใจว่าถึงยุคเข็ญแล้ว เมื่อเวลาแต่งเพลงยาวนั้น เห็นจะมิใคร่มีใครถือว่าสลักสำคัญมาจนเมื่อเสียพระนครศรีอยุธยา จึงเกิดเห็นสมดังพยากรณ์เพลงยาวบทนี้ก็เลยศักดิ์สิทธิ์ขึ้น...


เมื่อได้อ่านเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาแล้ว มีใครนึกสนุกจะถอดรหัสลับ หรือถอดสัญลักษณ์ว่าอะไรเป็นอะไร เทียบเคียงได้กับใครในยุคข่าวสารสมัยนี้ บางทีเรื่องสนุกแก้เซ็งธรรมดา อาจเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้ แต่ที่แน่ ๆ คือ คนไทยเราล้วนมีอาการวิตกกังวล ห่วงใยชาติบ้านเมืองกันอย่างแน่นแฟ้นทีเดียว บางทีอาจเป็นเพราะนิสัยที่สืบมาแต่บรรพบุรุษก็เป็นได้ ใครจะไปรู้.


 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์ ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ           :           ชะบน ผู้เขียน               :           ธีระยุทธ  ดาวจันทึก ประเภท              :           นวนิยาย   พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537 จัดพิมพ์โดย        :    …
สวนหนังสือ
นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า ผู้แต่ง : เจน ไรซ์ ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน   “หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)
สวนหนังสือ
นายยืนยง  เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า
สวนหนังสือ
นายยืนยง ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552
สวนหนังสือ
  และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ           :           นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย ผู้แต่ง                 :           วิสุทธิ์ ขาวเนียม ประเภท              :           กวีนิพนธ์รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 จัดพิมพ์โดย        : …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอยผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูลประเภท : นวนิยายจัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552
สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรืองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า…