Skip to main content

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
พุทธศาสน์ของราษฎร



ตอนที่ 1 เป็นการทำให้เห็นถึงเรื่องต้องห้ามอย่างเรื่องเพศที่ระบุไว้ในไตรปิฎก และผู้เขียนได้ทิ้งท้ายไว้ถึงความเป็นชายที่เลื่อนไหลในร่มกาสาวพัสตร์ ความน่าสนใจก็คือ เรื่องเพศในพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากคราวที่แล้ว ดังที่เราทราบกันดีว่า จุดศูนย์กลางของพุทธศาสนานั้นให้ความสำคัญอย่างมากกับสถานภาพที่ “ชาย” เป็นใหญ่ แม้ว่าโดยปรมัตถธรรมแล้วจะประกาศอย่างชัดเจนถึง อนัตตา ความไม่ยึดมั่นในตัวตนก็ตาม การเลือกปฏิบัติระหว่างเพศที่เกิดขึ้นในภายหลังได้รับการแก้ต่างไปว่า นั่นคือ เรื่องเปลือกเป็นสิ่งสมมติเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็สามารถที่จะบรรลุธรรมะได้เท่าเทียมกัน

เรื่องความเป็นหญิงและการถูกกีดกันเราอาจเคยได้ยินการถกเถียงกันมาพอสมควรแล้ว ตั้งแต่ประเด็นการห้ามผู้หญิงขึ้นพระธาตุ, การห้ามผู้หญิงบวช ที่ถกเถียงกันถึงประเด็นความเสมอภาค และบริบททางวัฒนธรรม 

ปัจจุบันประเด็นทางเพศหนึ่งที่ยังไม่ได้มีการถกเถียงกันจริงจังก็คือ เพศที่สามของพระภิกษุสงฆ์ การกลายเพศพระสงฆ์ไปสู่เพศที่สามถูกค้นพบอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่เป็นข่าว และไม่เป็นข่าว ทั้งในประสบการณ์ตรง หรือผ่านภาพถ่ายใน Social Network และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วที่สังคมชนชั้นกลางไทยจะ “ทนไม่ไหว” ต่อความอ่อนไหวนี้ การออกมาประณามก่นด่าในพฤติกรรมที่ผิดมาตรฐาน ตราบใดที่จำเลยอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายของตนจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะกับเสื้อสีไหน บทความนี้เราจะเข้าไปดูเรื่องเพศที่ 3 ในไตรปิฎกกัน ว่าเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว เพศที่ 3 ดำรงอยู่ด้วยสถานะอย่างไรผ่านวรรณกรรมที่ชื่อไตรปิฎก

สู่คำอธิบายนอกตะกร้าทั้งสาม

หากยกการจัดประเภทสรรพสิ่งทั้งสาม จากบทความที่แล้ว ก็จะจำแนกได้เป็น มนุษย์ อมนุษย์ และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งแบ่งเป็นเพศทั้ง 4 ได้แก่ เพศหญิง เพศชาย กระเทย (บัณเฑาะก์) และผู้ที่มีสองเพศในร่างเดียว (อุภโตพยัญชนก) จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เพศที่ 3 มีอยู่จริงในไตรปิฎก เพศที่ 3 ในที่นี้หมายถึงพระมีร่างกายเป็นชาย และมีพฤติกรรมและจิตใจออกทางเพศหญิง หรือกระทั่งมีอวัยวะเพศหญิงอยู่ร่วมด้วยกัน ดังนั้นเราอาจแบ่งเพศที่ 3 หยาบๆ เป็นกระเทย และคนสองเครื่องเพศด้วยความด้อยสามารถของผู้เขียน จึงไม่สามารถค้นหาจากไตรปิฎกเรื่องการนิยามเพศที่ 3 ได้ชัดเจนกว่านี้อีกแล้ว แต่มีการอ้างอิงคำอธิบายเพิ่มเติมผ่านคัมภีร์อรรถกถาซึ่งผู้เขียนก็ไปพบจากบล็อกเกอร์ท่านหนึ่งได้พยายามอธิบายไว้เช่นกันโดยเฉพาะในส่วนของกระเทยหรือบัณเฑาะก์ จึงขอสรุปความมาดังนี้ [1]

คำว่า บัณเฑาะก์ (ในที่นี้หมายถึงกระเทย และไม่นับคนสองเครื่องเพศ) มาจาก ภาษาบาลีว่า ปณฺฑก ดังวจนัตถะว่า ผู้ที่มีเครื่องหมายแห่งบุรุษและสตรีขาดตกบกพร่องไป (ปฑติ ลิงฺคเวกลฺลภาวํ คจฺฉตีติ ปณฺฑโก) ได้แก่บัณเฑาะก์ 5 จำพวกได้แก่ 

1) อาสิตตบัณเฑาะก์ ได้แก่ ชายที่มีกิจกรรมทางเพศกับชาย
2) อุสุยยบัณเฑาะก์ ได้แก่ ชายที่ไม่ถึงกับมีกิจกรรมแต่พอใจที่จะดูกิจกรรมทางเพศ โดยตัวเป็นชายแต่ก็ไปชอบใจในชายที่ดูอยู่นั้น
3) โอปักกมิยบัณเฑาะก์ ได้แก่ บุคคลผู้ที่ถูกตอนไปแล้ว เช่นขันที 
4) ปักขบัณเฑาะก์ ได้แก่ บุคคลบางคนข้างแรมเกิดความกำหนัด ยินดีกระวนกระวายด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรม เมื่อถึงข้างขึ้นความกระวนกระวายนั้นก็หายไป 
5) นปุงสกับบัณเฑาะก์ ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีเพศหญิงเพศชายไม่ปรากฏทั้ง 2 เพศ มีแต่ช่องที่สำหรับถ่ายปัสสาวะเท่านั้น พวกนี้ถือว่า นปุงสกบัณเฑาะก์ เป็นการแสดงโดยตรง (มุขยัตถนัย) ขณะที่บัณเฑาะก์ที่เหลือ 4 พวก เป็นการแสดงโดยอ้อม (สทิสูปจารัตถนัย)

เพศที่สาม เพศต้องห้ามจริงหรือ?

ในพระวินัยกล่าวถึงคนเหล่านี้ไว้อย่างเด่นชัดในฐานบุคคลต้องห้ามสำหรับการอุปสมบท ดังนี้ [2]


เรื่องห้ามบัณเฑาะก์มิให้อุปสมบท

[๑๒๕] ก็โดยสมัยนั้นแล บัณเฑาะก์คนหนึ่งบวชในสำนักภิกษุ. เธอเข้าไปหาภิกษุหนุ่มๆ แล้วพูดชวนอย่างนี้ว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย จงประทุษร้ายข้าพเจ้า. ภิกษุทั้งหลายพูดรุกรานว่า เจ้าบัณเฑาะก์จงฉิบหาย เจ้าบัณเฑาะก์จงพินาศ จะประโยชน์อะไรด้วยเจ้า. เธอถูกพวกภิกษุพูดรุกราน จึงเข้าไปหาพวกสามเณรโค่งผู้มีร่างล่ำสัน แล้วพูดชวนอย่างนี้ว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย จงประทุษร้ายข้าพเจ้า. พวกสามเณรพูดรุกรานว่า เจ้าบัณเฑาะก์จงฉิบหาย เจ้าบัณเฑาะก์จงพินาศ จะประโยชน์อะไรด้วยเจ้า. เธอถูกพวกสามเณรพูดรุกราน จึงเข้าไปหาพวกคนเลี้ยงช้างคนเลี้ยงม้า แล้วพูดอย่างนี้ว่า มาเถิด ท่านทั้งหลาย จงประทุษร้ายข้าพเจ้า. พวกคนเลี้ยงช้างพวกคนเลี้ยงม้า ประทุษร้ายแล้วจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เป็นบัณเฑาะก์ บรรดาพวกสมณะเหล่านี้ แม้พวกใดที่มิใช่บัณเฑาะก์ แม้พวกนั้นก็ประทุษร้ายบัณเฑาะก์ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสมณะเหล่านี้ก็ล้วนแต่ไม่ใช่เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์. ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกคนเลี้ยงช้าง พวกคนเลี้ยงม้า พากันเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ บัณเฑาะก์ ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย.


จะเห็นได้ว่าในบริบทนี้ ไตรปิฎกเขียนว่า กระเทย(บัณเฑาะก์)คนหนึ่งได้บวชเป็นภิกษุแล้วทำตัวระรานเพศชายด้วยกัน โดยใช้คำว่า “จงประทุษร้ายข้าพเจ้า” นอกจากจะทำตัวรุงรังกับพระด้วยกันแล้ว ยังไปยุ่งกับ “สามเณรโค่งล่ำสัน” และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเพ่นพ่านไปนอกอารามยังกวนใจชายเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า เรื่องนี้เป็นขี้ปากชาวบ้านจนมีคนเอาไปฟ้องพุทธะ เรื่องดังกล่าวกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่จนถึงที่สุด พุทธจับสึกแล้วประกาศไม่ให้ภิกษุมีพฤติกรรมกรุ้มกริ่มกับหนุ่มๆเยี่ยงนี้อีก ขณะที่อีกเรื่องเป็นเรื่องของคนสองเครื่องเพศ

เรื่องห้ามอุปสมบทอุภโตพยัญชนก

[๑๓๒] ก็โดยสมัยนั้นแล อุภโตพยัญชนกคนหนึ่งได้บวชในสำนักภิกษุ. เธอเสพเมถุนธรรมในสตรีทั้งหลาย ด้วยปุริสนิมิตของตนบ้าง ให้บุรุษอื่นเสพเมถุนธรรมในอิตถีนิมิตของตนบ้าง. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ อุภโตพยัญชนก ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบทที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย.


นี่คือ กรณีของคนสองเครื่องเพศที่ได้รับการบวชแล้ว แต่มีเรื่องว่าได้ร่วมเพศกับผู้หญิงด้วยเครื่องเพศชายที่ตนมี และร่วมเพศกับผู้ชายด้วยเครื่องเพศหญิงที่ตนมีเช่นกัน พอภิกษุสายตายาวเห็นจึงอดรนทนไม่ไหวไปฟ้องพุทธะ และตามระเบียบเรื่องร้ายแรงเช่นนี้ก็ทำให้ชายสองเครื่องเพศถูกจับสึก และเรื่องนี้ก็ถูกบัญญัติไว้เป็นข้อห้าม สองกรณีนี้ปรากฏชัดในไตรปิฎก 

แต่ในอรรถกถาพบการตีความที่พิสดารกว่านัก นั่นคือ [1]  อาสิตตบัณเฑาะก์ (ชายมีอะไรกับชาย) และอุสุยยบัณเฑาะก์(ชายชอบดูชายมีอะไรกับชาย) ไม่ห้ามบรรพชา, โอปักกมิยบัณเฑาะก์ (บุคคลผู้ถูกตอนไปแล้ว) นปุงสกับบัณเฑาะก์ (ไม่ปรากฏอวัยวะเพศชัดเจนมีแต่รูปัสสาวะ) ห้ามบรรพชา ส่วน ปักขบัณเฑาะก์ (บุคคลข้างแรมกำหนัด ข้างขึ้นกลายเป็นปกติ) ห้ามบรรพชาแก่เขาเฉพาะปักข์ที่เป็นบัณเฑาะก์ซึ่งน่าจะหมายถึงว่า ห้ามเฉพาะตอนที่ผิดปกติ และบัณเฑาะก์ สองประเภทที่ว่าบวชได้นั้น หมายถึงว่า แม้จะเป็นบัณเฑาะก์เมื่อก่อนบวช แต่เมื่อมาบวชแล้วต้องรักษาวินัย และต้องสละความประพฤติเบี่ยงเบนนั้นออกให้หมด

สำหรับการอธิบายถึงคนสองเครื่องเพศ นั้นแบ่งเป็นอิตถีอุภโตพยัญชนก และปุริสอุภโตพยัญชนก 

1) อิตถีอุภโตพยัญชนก (คนสองเพศหญิงเด่น) จะมีรูปร่าง อาการเป็นหญิงรวมถึงอวัยวะเพศ แต่เมื่อเวลาพอใจในหญิงอื่นๆเกิดขึ้นแล้ว จิตใจที่เป็นอยู่ก่อนนั้นก็หายไป เปลี่ยนสภาพเป็นจิตใจของผู้ชายขึ้นมาแทน ในเวลาเดียวกันนั้นอวัยวะเพศชายก็เกิดขึ้น อวัยวเพศหญิงก็หายไปสามารถสมสู่ร่วมกับหญิงนั้นได้
2) ปุริสอุภโตพยัญชนก (คนสองเพศชายเด่น) จะมีรูปร่าง อาการเป็นชายอวัยวะเพศก็เป็นชาย ต่อเมื่อเวลาที่แลเห็นผู้ชายมีความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น จิตใจที่เป็นชายอยู่ก่อนก็หายไป เปลี่ยนสภาพเป็นจิตใจของหญิงขึ้นแทน และในเวลาเดียวกันนั้นอวัยวะเพศหญิงก็ปรากฏขึ้น อวัยวะเพศชายก็หายไปสามารถสมสู่ร่วมกับชายนั้นได้

โดยที่ความแตกต่างกัน คือ อิตถีอุภโตพยัญชนกบุคคลนั้น ตัวเองก็มีครรภ์กับบุรุษทั้งหลายได้ ทำหญิงอื่นทั้งหลายให้มีครรภ์กับตัวก็ได้ สำหรับปุริสอุภโตพยัญชนกบุคคลนั้น ตัวเองไม่สามารถบังเกิดครรภ์ได้ แต่กรณีของคนสองเพศเช่นนี้ ไม่ได้รับสิทธิให้บวชเลย

ที่น่าสนใจก็คือว่า การตีความในอรรถกถานี้ไม่ได้ยึดเอาพฤติกรรมเสี่ยง เท่ากับสภาพทางกายภาพที่กำหนดเพศเป็นสำคัญ และการอนุโลมเช่นนี้ทำให้เห็นว่า อรรถกถายังมีความประนีนอมกับความหลากหลายทางเพศที่ยอมให้เข้ามาอยู่ในพุทธศาสนา แม้ว่าบัณเฑาะก์ที่มีรสนิยมลิ้มลองชาย ก็ยังให้โอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ได้ด้วย

การแตกตื่นเรื่องเพศที่ 3 ที่ถูกค้นพบเรื่อยๆในสังคมพุทธชาวไทย จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่นักแต่เกิดมาแล้วกว่าพันปี แต่ที่น่าสนใจก็คือว่า การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์เช่นนี้ในสังคมไทยมันมีเงื่อนไขจากอะไร ในบทความนี้ยังไม่มีปัญญาจะถกเถียง

ข่าวใหญ่ที่เคยสร้างความตระหนกเมื่อปี 2552 [3] ได้พาดหัวว่า “บุกวัดจับ-สมภารตุ๊ด ตะลึง"มีนม" ฉายาฉาว"เจ๊ดาว” ซึ่งเป็นการกล่าวหา เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง จ.ลำพูน วัดใหญ่ที่อยู่กลางเมืองที่เป็นคดีเนื่องจากการตามเรื่องของ “เกย์นที” นที ธีระโรจนพงษ์ เลขานุการกลุ่มเชียงใหม่อารยะ เนื่องจากมีนักศึกษาสาวมาร้องเรียนว่า แฟนหนุ่มมีหนี้สินจากการเล่นพนันฟุตบอลจำนวนมาก โดยมีกระเทยรุ่นใหญ่ซึ่งช่วยเหลือเงินทองแต่ต้องยอมมีความสัมพันธ์ด้วยและกระเทยคนนั้นก็คือ “เจ๊ดาว” นั่นเอง 




จนเมื่อ Social Network ได้กลายเป็นแหล่งปลดปล่อยตัวตนอย่างถึงพริกถึงขิง เรื่องกล้า บ้าบิ่น ท้าทายถูกนำมาโพสต์โชว์กันอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ทั้งชายจริง หญิงแท้ ชายไม่จริง หญิงไม่แท้ต่างโพสต์รูปภาพต้องห้ามกันอย่างบ้าระห่ำ ในสังคมไม่ถึง 3G แต่พระเณรก็ไม่ยอมตกเทรนด์เทคโนโลยี พวกเขาได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างตัวตนของตนเองขึ้นมาเช่นกัน เราจึงพบภาพหลุดของพระเณรเพศที่ 3 ให้เห็นกันทั่วไป ไม่ว่าจะรุ่นเล็กหรือรุ่นใหญ่ 

บทความนี้ขอปิดท้ายด้วยภาพที่เว็บดราม่าฯ [4] ให้ชื่อว่า “หลวงเจ๊ฟินาเล่” ที่แม้จะเป็นการ set ฉากเพื่อถ่ายงานศิลปะประเภทหนึ่งของนักศึกษาแห่งหนึ่ง แต่ก็สามารถก่อเรื่องราวถกเถียงใหญ่โต แม้ว่ามันจะเป็นเพียงสมมติบัญญัติก็ตาม




รายการอ้างอิง

[1] ชาวมหาวิหาร (นามแฝง). "บัณเฑาะก์ที่ห้ามบวชตามพระวินัย หมายถึงอะไร?". http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=thepathofpurity&month=16-04-2011&group=3&gblog=3 (16 เมษายน 2554) อ้างถึง 
1] พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ [๑๒๕] (link)
2] อรรถกถาปัณฑกวัตถุ (อธิบาย มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ [๑๒๕])
3] มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา วิถีมุตตสังคหะ เล่ม ๑
4] พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ [๕๗๓] (link)
5] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 333 (จากฉบับมหามกุฏฯ)
6] พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ [๑๓๒] (link)
7] อรรถกถาอุภโตพยัญชนกวัตถุ (อธิบาย มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ [๑๓๒]) 
8] พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๖ ยมกปกรณ์ ภาค ๒ (link)
9] อรรถกถาอิตถินทริยนิทเทส, อรรถกถาปุริสินทริยนิทเทส  ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา (คู่กับพระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑)
10] คู่มืออภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉท ๖

[2] พระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1๑ เล่มที่ 4  บรรทัดที่ 3481-3608, หน้าที่ 141-146 อ้างใน . http://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=04&A=3481&Z=3608 (27 กรกฎาคม 2546)
[3] ข่าวสดรายวัน (7 กุมภาพันธ์ 2552)
[4] ดราม่า. "หลวงเจ๊ฟินาเล่". http://drama-addict.com/2012/02/15/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88/ (15 กุมภาพันธ์ 2555)

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร