วัฒนธรรมความรุนแรงที่แฝงมากับผ้าเหลือง

 


ภาพจาก 
http://www.posterlounge.co.uk/kreislimit-iv-27-pr14227.html

พระถนอมสิงห์ สุโกสโล
กลุ่มพุทธศาสตร์เพื่อราษฎร

เป็นข่าวครึกโครมกันอีกแล้วในเรื่องที่มีพระภิกษุไปทะเลาะกับญาติโยมบนรถไฟฟ้า และมีพระภิกษุอีกรูปไปเตะก้านคอพระอีกรูป  ข่าวทำนองนี้มีมาให้อ่านอยู่เรื่อยๆ ยังไม่นับเรื่องทะเลาะกันระหว่างพระกับญาติโยมอีกไม่รู้กี่ร้อยเรื่องทั่วโลก  ที่ไม่ได้ถูกนำมาขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ จึงเป็นคำถามที่หลายคนก็ทั้งสงสัยทั้งเอือมระอาว่า ทำไมพระภิกษุผู้ที่ควรจะมีเมตตาต่อสรรพชีวิตตามคำสอนของพุทธศาสนา กลับมีทีท่าการแสดงออกอย่างรุนแรงถึงเพียงนี้ ซึ่งทำให้หลายท่านไปรวบสรุปว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล พระที่ไม่ได้เป็นอย่างนี้ก็มีอีกเยอะ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องจริงส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะโครงสร้างของสังคมสงฆ์นี่เอง
 
หากใครก็ตามเคยบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร เแม่ชี หรือเพียงมาถือศีลอยู่วัดเฉยๆ ก็ตาม จะต้องผ่านพิธีกรรมอย่างหนึ่งคือการอาราธนาศีล โดยเริ่มจากศีล 5 ศีล 8 จนเป็นศีล 10 สำหรับสามเณร สำหรับพระภิกษุก็ทำการขอนิสสัยต่อไป จนได้ไตรจีวรพร้อมทั้งบริขารต่างๆ ครบ ซึ่งพิธีกรรมทั้งหลายเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดระบบความศักดิ์สิทธิ์ที่อาจทำให้พระที่ควรจะเป็นพระกลับกลายเป็นในสิ่งที่ตรงกันข้าม

เพราะเมื่อบวชเข้ามาแล้วสิ่งที่จะต้องรู้กันทันทีคือวินัยและข้อวัตรที่ต้องถือปฏิบัติในการเป็นพระ ซึ่งนั่นควรจะหมายถึงการถือข้อวัตรปฏิบัติเพื่อการขัดเกลาตัวเองเพื่อการพ้นทุกข์ แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการบวชทันที คือการได้รับการกราบไหว้ถูกตั้งไว้ในสถานะที่สูงกว่า รับประเคนเงินทองและของบริวารทั้งหลาย ในนัยยะหนึ่งก็สามารถทำให้ผู้ที่บวชเข้ามารู้สึกว่าตนต้องระวังความประพฤติ กลัวบาป ต้องทำตัวสงบเสงี่ยม สำรวม ซึ่งก็มีหลายต่อหลายท่านที่เป็นอย่างนั้น แต่อีกหลายท่านส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น กลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามบ่มเพาะความรุนแรงตามข่าวที่ถูกนำเสนอบนจอ และ ตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ

หากเราจะอิงตามทฤษฎี The Lucifer Effect ของ Philip Zimbardo นักจิตวิทยาอเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ผู้ทำการทดลองหาสาเหตุที่สามารถทำให้คนดีๆ กลับกลายเป็นคนไม่ดี ด้วยการจ้างนักศึกษาไปเล่นบทนักโทษและผู้คุมในปี 1971 จนนักศึกษาบางส่วนถึงกับสติแตก เพราะการใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่งของฝ่ายที่เล่นเป็นผู้คุม จนทำให้เขาสรุปไว้ว่าหากคนดีจะกลายเป็นคนชั่วไปอย่างไปรู้ตัวก็สามารถทำได้ แต่ย่อมเกิดขึ้นได้จากตัวแปรใหญ่ๆ คือ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้แสดงอำนาจ และ ระบบการตรวจสอบอำนาจ คำถามคือพระที่เราคิดกันว่าท่านทิ้งทางโลกไปอยู่ในวัดอยู่ทางธรรมแล้วเหล่านี้ ไปมีอำนาจอะไรกับเขาตอนไหน

เฉลยก็คือท่านก็เริ่มมีอำนาจตั้งแต่เริ่มบวชนั่นแหละ หรือจะพูดให้ชัดเจนก็คืออำนาจนี้มาพร้อมกับ "ผ้าเหลือง" ผ้าเหลืองก็มาพร้อมกับ "ศีลศักดินา" ซึ่งจะค่อยๆ บ่มเพาะไปตามพรรษาและศักดินาสมณศักดิ์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับอาสนะ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าผู้ที่สมาทานศีลน้อยกว่าเช่น สามเณร หรือ แม่ชี กลายเป็นนักบวชคนละระดับที่เอาไว้รับใช้ไปโดยปริยาย มิใยต้องเอ่ยถึงฆราวาสผู้ถือเพียงศีล 5 เท่านั้น จึงเกิดการกดขี่และอ้างอิงอำนาจโดยศีลขึ้นในวัด กรณีหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ การเป็นผ้าขาวเข้าไปปฏิบัติธรรมในวัด หากใครเคยไปทำแบบนั้นจะสังเกตได้ว่า ผู้ไปปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้ถือแค่ศีล 8 แต่แทบจะถือข้อวัตรปฏิบัติเพิ่มเติมในส่วนของพระไปมิใช่น้อย และผู้ไปปฏิบัติธรรมก็มีความพอใจอยู่ไม่น้อยที่ได้ถือเคร่งขึ้น โดยมีส่วนหนึ่งไปยึดโยงกับวินัยของพระก็จะทำให้เป็นสุขใจ ทำให้การมีอำนาจผ่านศีลเพิ่มขึ้นมาในตัวผู้ไปปฏิบัติธรรมให้นำไปข่มผู้ปฏิบัติธรรมในสถานที่อื่นอีกต่อไป 

และท่านผู้(ถูกอ้างว่า)มีศีลเหล่านี้ ก็จะมีคำว่า "บาป" เป็นอาวุธตามมาทันที โดยมีพระอาจารย์ที่จัดสรรพื้นที่บุญได้ถูกโฉลกกับตัวเอง เป็นผู้ตีความว่าอะไรบาปไม่บาปแค่ไหนอย่างไร และบ่อยครั้งที่มีการอ้างอย่างไม่เข้ากับพระไตรปิฎก เป็นการอ้างอิงเพียงเพื่อต้องการผูกเขตบุญไว้ในวัดแต่เพียงเท่านั้น เช่น การบอกว่าทำบุญกับพระได้บุญมากที่สุด ทั้งๆ ที่หากถือกันตามหลักการทำบุญของพุทธที่ถือเอาคุณธรรมของผู้ให้และผู้รับเป็นหลัก ญาติโยมที่มีคุณธรรมมากกว่าพระก็เยอะ แต่เรื่องเหล่านี้ก็จะถูกมองข้ามไปเนื่องจากการทำบุญกับพระ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยมากกว่า เราจึงไม่ค่อยเห็นพระพูดถึงคุณธรรมของญาติโยมไว้ในระดับเดียวกับพระผู้ใหญ่ที่เคยทำคุณงามความดีเอาไว้ หรือถึงจะยกใครเอาไว้ก็จะมีพระมาเป็นหัวแถวแบ่งส่วนบุญที่มากกว่าอยู่ดี ทำให้อำนาจที่มากับบุญนิยมนี้ถูกผูกไว้กับพระ ซึ่งถ้าพระเป็นผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มองเห็น "ทุกคน" เป็น "คน" และเข้าใจว่าตัวเองก็เป็น "คน" แบบนี้ ก็จะมีปัญหาน้อยลง แต่ระบบการปกครองของพระสงฆ์ไทยกลับไม่ได้มีเรื่องเหล่านี้อยู่เลย คนที่บวชเข้าไปเป็นพระกลับมีตัวตนที่กระทบไม่ได้เพิ่มมากขึ้น จากระบบศีลศักดินาส่งต่อไปสู่บุญนิยม ทำให้พระมองคนที่ไม่ใช่พระอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าตัวเอง จึงทำให้เกิดการใช้อำนาจผ่านศรัทธาในศาสนา จนลืมตัวไปว่า "คน" ย่อมมีพื้นที่ให้ผิดพลาดได้เสมอ 

ประการต่อมาคือระบบการปกครองคณะสงฆ์ที่มีอยู่เป็นระบบที่ไม่มีการตรวจสอบจากทั้งทางภาครัฐและเอกชนใดๆ ทั้งสิ้น ว่าง่ายก็คือเราไม่เคยรู้เลยว่าแต่ละวัดมีเงินเท่าไหร่ รับบริจาคแต่ละครั้งเอาเงินไปใช้หมดหรือไม่ ทำไมสิ่งก่อสร้างถึงแพงผิดราคาตลาดไปมาก เรื่องแบบนี้ถ้าเราไม่เป็นกรรมการวัดเสียเองคงจะไม่สามารถรู้ได้เลย  หรือว่า พระรูปไหนเคยบวชเข้ามาแล้วไปมีเมีย ฆ่าคนตาย ค้ายาเสพติด อะไรที่ไหนมาเราก็ไม่มีสิทธิจะรู้ได้เลย แม้แต่ในปัจจุบันใครบวชอยู่บ้าง ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้เลย ทำให้มีฆาตกรจำนวนไม่น้อยหลบหนีการจับกุมด้วยการไปบวช เพราะทะเบียนวัดกับทะเบียนราษฎร์ไม่เชื่อมโยงต่อถึงกัน ทำให้มองเห็นว่าขาดระบบตรวจสอบโดยสิ้นเชิง หากวัดไหนจะมีระบบตรวจสอบที่ดีกว่าวัดอื่นก็เป็นเพราะที่นั่นพัฒนาระบบเฉพาะที่ของตนเองขึ้นมา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์แต่อย่างใด
สืบเนื่องจากระบบการบริหารที่เป็นแบบนี้ย่อมส่งผลให้ เกิดช่องว่างให้พระที่บวชเข้ามา(ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) มีโอกาสใช้ศรัทธาที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนามาหลอกลวงศาสนิกได้เต็มที่ โดยอาศัยความเชื่อเรื่องสวรรค์นรกบุญบาปมาเป็นอำนาจ ค้าขายบุญเป็นทุนเข้าวัดมาเรื่อยๆ จนพุทธศาสนาในปัจจุบันมีชาวบ้านเป็นคนบริจาคเงินให้วัด แล้ววัดก็เอาไปบริจาคนายทุนต่อ เพื่อสร้างวัดใหญ่ยิ่งใหญ่อลังการมากขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็หลอกเงินชาวบ้านมาเพิ่มเรื่อยๆ  พระในวัดส่วนใหญ่ก็กลายเป็นพระที่สนองและส่งเสริมระบบทุนนิยมขึ้นมา เคยมีแม้กระทั่งพระบางรูปพูดว่า "ทำไมช่วงนี้ไม่มีคนตาย จะได้มีคนนิมนต์ไปสวดศพ" กลายเป็นว่า พระอยากจะให้คนตายเพื่อจะได้เงินค่าสวดศพ แล้วแบบนี้พระพุทธศาสนาเมืองไทยกำลังเดินหน้าไปสู่จุดไหนกันแน่ เป็นที่น่าเสียดายว่าระบบการเรียนการสอนในวัดทั้งนักธรรมบาลี และมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เลย เพราะคณะสงฆ์มองว่าเรื่องทางคณะสงฆ์พระควรจัดการกันเอง หรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะมองว่าเรื่องใต้พรมยังมีเยอะ เกิดมีคนที่อยู่นอกเหนืออำนาจมาจัดการจะทำให้เสียหายได้ 

หากพระพุทธศาสนาในเมืองไทยยังคงไว้ซึ่งระบบการบริหารงานแบบนี้ พระก็คงไม่ต่างอะไรกับนักแสดงที่หน้าฉากก็เป็นอย่างหนึ่งหลังฉากก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ยิ่งพระที่อยู่กับระบบนี้นานๆก็จะสร้างเครือข่ายในการหาทุนอย่างนี้มากขึ้น ทั้งการจัดปริวาสกรรมแบบเดินสาย จัดทัวร์ทำบุญสร้างถาวรวัตถุทั่วประเทศ จัดทัวร์ไปนมัสการสังเวชนียสถาน  หรือ ไม่อย่างนั้นก็ขุดลูกนิมิตมาฝังใหม่ไปตามระเบียบ ฯลฯ 

ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะไปบอกว่าพระเป็นฝ่ายผิดแต่ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะพระส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมแห่งความรุนแรงนี้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองได้ใช้อำนาจไปตอนไหนบ้าง เพราะเราพบเรื่องแบบนี้ทั่วไปทั้งประเทศ จนรู้สึกว่านี่คือวัฒนธรรม นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ควรจะเป็น และ ต้องรักษาไว้ ทั้งๆที่บางทีมันอาจจะเป็นสิ่งที่กำลังทำลายวัฒนธรรมอันดีอยู่ก็เป็นได้