ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ละครทองเนื้อเก้า อาจเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมเดียวที่สามารถจะขโมยซีนการชุมนุมอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มเป่านกหวีดที่จุดติดมาจากกรณีการต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต่อมาได้ยกระดับไปสู่การต่อต้านปิศาจทื่ชื่อว่า “ระบอบทักษิณ” ความร้อนแรงของละครเรื่องนี้อาจทำให้เราย้อนนึกถึงละครเรื่องแรงเงา (1 ตุลาคม – 4 ธันวาคม 2555) ในช่องเดียวกันที่เรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมทั่วสารทิศ เมื่อเทียบกันแล้ว 2 ตัวละครโดดเด่นในแรงเงา คือฝาแฝดที่บุคลิกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกคนเป็นเหยื่อ อีกคนเป็นผู้ล่า แฝดผู้พี่อย่างมุนินทร์ตามล้างแค้นด้วยการสร้างความล่มจมให้กับครอบครัวของผอ. มุนินทร์ทำตัวเป็นศาลเตี้ยที่ยอมเอาตัวเข้าแลกกับการแก้แค้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เปิดทางให้ผู้หญิงอย่างมุนินทร์ มุตตา ได้อธิบายความเป็นเหตุผลของการกระทำของตัวเองอยู่ และไม่ได้กลายเป็นเหยื่อสังเวยของละครอย่างเด่นชัดมากนัก
ทองเนื้อเก้า เริ่มออกอากาศตอนแรกวันที่ 8 ตุลาคม 2556 ค่อยๆไต่อันดับสู่ความนิยมสูงสุดในเวลาไม่นาน เรียกได้ว่า ยิ่งลำยองเหี้ยเท่าไหร่ ละครก็ยิ่งดังขึ้นเท่านั้น การประณามผู้หญิงที่อยู่นอกมาตรฐานศีลธรรมเป็นเรื่องเข้าใจได้ ในโลกพุทธศาสนาที่ผู้หญิงต้องอยู่ใต้แนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ถูกตีกรอบด้วยคุณค่าที่ให้ความสำคัญกับนักบวชมากกว่า เราจึงเห็นบางบทได้กล่าวถึงภัยของสตรีด้วยซ้ำ (กรณีที่ว่าด้วยภัยมาตุคามคุกคามการบรรลุธรรมอย่างไร) ยังไม่ต้องนับกับความเชื่อที่ว่า การมีลูกชายนั้นจะทำให้พ่อแม่สามารถเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ได้
ในทางกลับกันในโลกชายเป็นใหญ่ ละครชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพที่ออกอากาศช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2556 เป็นละครแห่งปีอีกเรื่องหนึ่งที่ดังเปรี้ยงปร้าง ทำให้นักแสดงหน้าใหม่หลายคนแจ้งเกิด ภาพความทรงจำของละครเรื่องนี้คือ เรื่องราวของชนชั้นผู้ดี มีการศึกษา หน้าตาดี มีความผูกพันมั่นคงในความรัก มั่งคั่งร่ำรวย มีฐานะ เป็นละครพีเรียดที่ย้อนไปถึงทศวรรษ 2500 ที่เผด็จการระบอบสฤษดิ์ครองเมือง ในละครนี้แบ่ง 5 ตอน หนึ่งในนั้นคือ คุณชายรัชชานนท์ กำกับการแสดงโดยพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ผู้กำกับคนเดียวกับทองเนื้อเก้า (2556) ละครกลางปีที่มีความดีงามของความสูงศักดิ์และรักแท้ของสุภาพบุรุษจึงมีลักษณะที่ตรงกันข้ามอย่างยิ่งกับชีวิตโสมมอย่างลำยอง
ขณะที่ทองเนื้อเก้า สองตัวละครอันโดดเด่นที่ตัดกันอย่างสุดขั้วก็คือ ลำยอง กับ วันเฉลิม ที่สัมพันธ์กันอยู่ในฐานะแม่-ลูก ความเลวร้าย ระยำและชั่วช้าของลำยองได้ละเมิดทำลายกรอบมาตรฐานศีลธรรมอันดี นั่นคือ เป็นคนขี้เหล้าเมายา มากผัว มั่วสวาท ไม่ดูแลเลี้ยงลูกของตน ติดการพนันจนพากันล่มจมกันไปข้าง จักรวาลความชั่วร้ายจึงความเลวร้ายทุกอย่างจึงตกอยู่ที่อีลำยองทั้งหมดดังเพลง “หน้าสวย ใจเสีย” เพลงประกอบละครท่อนฮุคที่ร้องว่า
หน้าตาก็ดีทำไมเป็นอย่างนี้ ฉันบอกตรงตรงว่าเสียดาย
ไม่น่างมงายหลงผิดไม่รู้ชั่วดี
หน้าตาก็ดีแต่ใจเธอมันเสีย ขยะคงเต็มล้นในใจ
จะตักจะเตือนก็คงจะสายเกินไป
อาจเพราะเป็นเวรเป็นกรรม
ชะตากรรมที่ลำยองทำตัวเอง ได้นำเธอไปสู่จุดจบไม่ว่าจะเป็นการติดเหล้าจนไม่เป็นอันทำการทำงานเลี้ยงลูก การถูกมอมด้วยฤทธิ์น้ำเมาตลอดเวลา การหวังรวยโดยไม่ทำมาหากินจากการเล่นหวยและการพนันก็นำไปสู่การสูญเสียบ้านหลังใหญ่ และการจมจ่อมอยู่กับโลกแห่งกามราคะนำไปสู่โรคร้ายอย่างซิฟิลิสที่ปรากฏออกมาอย่างเป็นรูปธรรมคือ แผลตามตัวที่เน่าเฟะ อันเป็นสิ่งที่ตัดกันอย่างรุนแรงของภาพแรกของลำยอง หญิงสาวคนสวยในแรกเรื่อง การทำลายภาพอันน่าประทับใจด้วยความเน่าเฟะจึงไม่ต่างอะไรกับการยกลำยองมาเทียบกับการพิจารณาซากศพอสุภะ ของนักปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา
วันเฉลิม กลับเป็นลูกชายยอดกตัญญูดูแลแม่ ดูแลน้องได้เป็นอย่างดี ชื่อดังกล่าวได้มาจากวันมหามงคลนั่นคือวันที่ 5 ธันวา นั่นเอง อนึ่งบทประพันธ์เดิมแต่งขึ้นโดย โบตั๋น ในปี 2529 ก่อนพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2530 เพียงปีเดียว การใช้ชื่อนี้ยิ่งเป็นสัญญะแห่งความบริสุทธิ์และดีงามของตัวละครนี้ได้เป็นอย่างดี และจะเห็นว่าวันเฉลิมทั้งประพฤติตน ราวกับเป็นพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีท่ามกลางความทุกข์ยากอย่างอดทน บทบาทของวันเฉลิมเป็นที่ติดอกติดใจกันอย่างมากสำหรับผู้ชมหน้าจอแก้ว ดาราที่จะรับบทวันเฉลิมก่อนละครจะออนแอร์ก็ถูกจับตามาตั้งแต่ต้นเพราะเขาคือ เจมส์ จิรายุฯ ผู้โด่งดังมาจากสุภาพบุรุษจุฑาเทพนั่นเอง แต่ครั้นละครออนแอร์บทบาทของวันเฉลิมเด็กทั้ง 3 รุ่น กลับขโมยซีนด้วยความน่าสงสารปนความน่ารักน่าเอ็นดู จนคนแทบจะลืมเจมส์จิฯ
ร่างทรงของวันเฉลิมในทองเนื้อเก้า (2556) ที่แท้จริงนั้นอยู่ในมือของผู้ประพันธ์และผู้กำกับอย่างพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจงเจ้าของวาทะ “ถ้าเกลียดพ่อ ไม่รักพ่อแล้ว จงเดินออกไปจากที่นี่ซะ! เพราะที่นี่คือบ้านของพ่อ” ที่น่าสนใจคือ พงษ์พัฒน์เคยเล่นเป็นวันเฉลิม ในทองเนื้อเก้า ปี 2530 เมื่อ 26 ปีที่แล้ว การหยิบบทประพันธ์นี้มาสร้างเป็นละคร ทั้งที่เคยเป็นละครยอดฮิตมาแล้วทั้งสองครั้งในปี 2530 และ 2540 ในช่วงนี้ในด้านหนึ่งแล้วก็สะท้อนให้เห็นวิธีคิดและการตัดสินใจของผู้จัดละครและผู้กำกับในการที่เลือกบทประพันธ์ใดมาทำเป็นละครด้วย ในช่่วงที่สังคมไทยร่ำร้องหาความดีงาม และประณามเหยียดหยามความเลวร้ายจนประกาศไม่อยู่ร่วมโลกกัน ละครเรื่องนี้ได้อยู่ใน position ที่เหมาะเจาะมาก
อย่างไรก็ตามจารีตการนำละครที่เคยโด่งดังมาทำใหม่นั้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสังสารวัฏในพุทธศาสนาที่ประดุจว่าการนำละครมารีไซเคิลนั้นประดุจเป็นการเกิดใหม่อยู่เรื่อยในบริบทใหม่ๆ การปรากฏคำคมของ ว.วชิรเมธี ที่เป็น insert อยู่ในตอนจบก็ยิ่งเป็นการปิดป้ายสอนใจผู้ชมในลักษณะคล้ายๆกับนิทานอีสป
พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เมื่อคราวรับบท วันเฉลิมใน ทองเนื้อเก้า (2530)
ในทางการเมือง การกล่าวถึงสุภาพบุรุษผู้ดี จบการศึกษานอกแบบสุภาพบุรุษจุฑาเทพ เราอาจนึกถึงอดีตนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่เรื่องของสตรีที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้าทางการเมืองมาก่อน กลับได้มานั่งตำแหน่งสูงสุดของประเทศอย่างยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับถูกค่อนแคะมาตลอดตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่งนายกฯในปี 2554 เสียด้วยซ้ำ ภาพลักษณ์ของเธอนั้นถูกขยายภาพความน่าเกลียด ความอัปลักษณ์ โง่เง่า และถูกทำให้เป็นตัวตลกอย่างเลี่ยงไม่พ้น การพูดและกล่าวสุนทรพจน์ผิดๆที่ถูกนำมาเล่นงานเป็นประจำ โดยเฉพาะในหมู่ผู้อ้างตัวว่ามีการศึกษา ไม่เพียงเท่านั้น การกล่าวหาเรื่องชู้สาวกรณี ปูโฟร์ซีซั่น ที่ถูกเปิดประเด็นโดย สส.ประชาธิปัตย์ การนำภาพในอินเตอร์เน็ตที่นำคนที่หน้าตาเหมือนนายกฯบางมุมมองกระดกขวดเหล้า และอื่นๆจนมากจะสาธยาย ล่าสุดคือ วาทะโจมตีใต้เข็มขัดว่า “ปีแสบหู” จากม็อบนกหวีด แม้กระทั่งอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังทิ้งภาพลักษณ์สุภาพบุรุษปราศรัยโจมตียิ่งลักษณ์อย่างหยาบคาย อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ก็ยังไม่ใช่คนที่เลวร้ายมากพอในสายตาของผู้ต่อต้านรัฐบาล เพราะยิ่งลักษณ์แทบไม่เคยออกมาตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราดจนมีภาพลักษณ์เป็นปิศาจร้าย แต่ความเลวร้ายต่างๆ คือ สิ่งที่อยู่รายรอบเธอนั่นคือรัฐบาล และพี่ชายของเธอเองนั่นคือ ทักษิณ ชินวัตร
หลังจากปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็มีทักษิณนี่เองที่กลายเป็นคนการเมืองที่ถูกเกลียดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยที่พูดถึงได้ การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีอยู่เรื่อยมา ตั้งแต่ปตท. ราคายาง ม็อบหน้ากากขาว เวทีผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งม็อบต้านเขื่อนแม่วงก์ เชื้อไฟเหล่านี้สุมขอนต่อต้านและสั่งสมกำลังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะสัมพันธ์กับโครงเรื่องที่คิดกันอยู่แล้วว่าความเลวร้ายทั้งปวงล้วนมีทักษิณอยู่เบื้องหลัง แต่ปรากฏการณ์เหล่านั้นก็ยังไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้รัฐบาลหรือคนที่เชียร์รัฐบาลเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่
ดังนั้น การทู่ซี้ผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งจนเรียกคนมหาศาลมาชุมนุมกดดัน และตอบโต้ผ่านทางสังคมออนไลน์และปรากฏตามพื้นที่ข่าวสารต่างๆ จึงกลายเป็นการตบหน้ารัฐบาลอย่างจัง จนถอยกรูดไปแบบไม่เป็นมวย การขึ้นมานำม็อบอย่างเป็นทางการในนามพรรคประชาธิปัตย์จากกรณีนี้ กลายเป็นเกมใหม่ที่ถูกกำหนดด้วยการเมืองมวลชนอีกครั้งหนึ่ง ความไม่พอใจครานี้ใหญ่หลวงนัก ไม่เพียงพวกต่อต้านรัฐบาลเปิดเผย แต่ยังรวมเอาคนที่เคยเงียบๆ และอ้างว่าเป็นกลาง ขยับแข้งขยับขาออกมาร่วมแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะรู้ว่า หากพ.ร.บ.ดังกล่าว ทักษิณจะพ้นผิด การโกงทั้งหลายทั้งปวงจะถูกยกเลิก กฎหมายนี้จึงเป็นกฎหมายช่วยทักษิณ ช่วยคนโกงอันชั่วร้ายเลวทราม แม้แต่ฝั่งเสื้อแดงเอง จำนวนมากก็รับไม่ได้กับพ.ร.บ.ดังกล่าว ที่ล้างผิดให้กับผู้ที่เคยมีส่วนในการปราบปรามฆ่าประชาชนเมื่อปี 2553 ยังไม่นับว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่นับคนในคดี 112
ในอีกวงการหนึ่งที่เริ่มขยายปริมณฑลเข้ามาสู่การเมืองมากขึ้นก็คือ วงการบันเทิง การ debut นำร่องไปก่อนหน้านี้แล้วของศรัญญู วงศ์กระจ่างกับพันธมิตรฯ ก็ยังไม่เท่ากระแสที่กระตือรือล้นอย่างยิ่งกับการค้านพ.ร.บ.เหมาเข่ง เช่น พงษ์พัฒน์-ธัญญา วชิรบรรจง, ฉัตรชัย-สินจัย เปล่งพานิช,ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา,ไปรมา รัชตะ, ปภัสรา เตชะไพบูลย์, สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา (โจ้ เดอะสตาร์), ปริศนา กล่ำพินิจ, , หมอก้อง สรวิชญ์ สุบุญ, หน่อย บุษกร, พิม ซาซ่า, พลอย เฌอมาลย์ ฯลฯ แต่เป็นที่ฮือฮาอย่างมากนั้นมีอยู่ราย นั่นคือ หยวน อดีตวงดราก้อนไฟต์ที่กล่าวปราศรัยอย่างเผ็ดร้อน กับ แตงโม ภัทรธิดา โดยคนหลังได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากราวกับเป็นวีรสตรี ซึ่งที่น่าสังเกตก็คือ ก่อนหน้านี้ดาราสาวถูกคุ้ยข่าวฉาวจากวงการสื่อมาก่อน ที่ฮือฮาไม่แพ้กันก็คือ การตบเท้าของเหล่าศิลปิน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมต้านพ.ร.บ.นี้ด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การหลุดปากปราศรัยดูถูกคนไม่รู้ศิลปะ แม้อาจไม่ได้ตั้งใจนี่ก็แสดงให้เห็นความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่ “เหนือกว่า” ทางนามธรรม ที่พวกเขายึดความงามคือ ความดี
"เราสอนลูกศิษย์ให้มีจริยธรรม เราสอนลูกศิษย์ให้มีศิลปะ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีศิลปะเลย รัฐบาลแห่งประชาธิปไตยไม่ใช่หมาหมู่ คุณต้องฟังเสียงประชาชนอย่างพวกเราวันนี้ เมื่อกลางวันม.ศิลปากร เรามีการสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนัง อารยะขัดขืนด้วยผลงานศิลปะ แล้วเราจะวาดต่อไปตบหน้าความอัปยศของรัฐบาลนี้ ศิลปินทำงานศิลปะ เราอาจจะพูดไม่เก่งแต่เราแสดงออกได้...เราไม่บิดพริ้ว เราเป็นคนศิลปะ เราไม่โกหก เราไม่โง่ คนโง่สร้างสรรค์ศิลปะไม่ได้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์วาดรูปไม่เป็น ถ้ามีโอกาส จะพาไอ้กี้ร์ อริสมันต์มาวาดรูป มันจะได้กลับใจ"
คลิป 111113 อาจารย์และนักศึกษาศิลปากร ณ เวทีประชาชน ราชดำเนิน
ตั้งแต่นาทีที่ 3 เป็นต้นไป
(อัพโหลด 11 พฤศจิกายน 56)
เมื่อม็อบจุดติด รัฐบาลถอยโดยการประกาศหยุดพ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยตนเอง ดาบที่สองที่ตามมาก็คือ การยกระดับการชุมนุมไปสู่การล้มระบอบทักษิณ ที่แม้แต่คนพูดยังไม่ชัดว่าระบอบทักษิณคืออะไรกันแน่ อย่างไรก็ตามเมื่อประชาธิปัตย์เสนอ ก็มีคนมาร่วมสนองด้วย แสดงให้เห็นถึงกระแสการเมืองที่เข้มข้นและเชี่ยวกรากต่อต้านรัฐบาลได้เป็นอย่างดี การระดมพล “ล้านคน” ให้มาชุมนุมที่กรุงเทพฯตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน จึงเป็นการเรียกร้องที่หวังผลอย่างยิ่งที่จะปิดฉากรัฐบาล ทั้งที่ไม่แน่ชัดว่าจะล้มรัฐบาลด้วยวิธีใดนอกจากวิธีในระบบก็คือ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้จนต้องยุบสภา
ผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่น้อยที่คาดหวังว่า การร่วมชุมนุมครั้งนี้เป็นสงครามที่นำไปสู่การยุติระบอบทักษิณอันเลวร้าย เลวทรามได้ แกนนำไม่น้อยเรียกร้องหาทหาร กระทั่งการอ้างอิงไปถึงสถาบันกษัตริย์ แต่ทราบมาว่า คนจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมก็ไม่อยากสังฆกรรมกับการรัฐประหาร แต่ก็ไม่ทราบว่ากลไกข้างหน้าจะเป็นอย่างไรถ้ายุบสภาแล้ว ภารกิจนี้จึงเป็นภารกิจล้านดีต้านความเลวของระบอบที่พวกเขามิอาจนิยามได้อย่างชัดเจน มิตรสหายบางท่านถึงกลับกล่าวว่า ใช้ “ใจ” มากกว่า “เหตุผล” ก็จะขับไล่ “อวิชชา” ออกไปได้ เหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผลในการกล่าวอ้างการ “รู้ได้ด้วยตนเอง” เช่นนี้มีปัญหามากในการถกเถียงเรื่องสาธารณะ
จึงไม่แปลกที่ความดีงามทั้งหลายจึงออกมาจากปากแกนนำ หรือผู้ชุมนุมอย่างไม่ได้นัดหมาย ที่น่าสนใจคือ คำกล่าวของสุเทพ เทือกสุบรรณ ก่อนที่จะรวบรวมคนล้านคน
ขณะนี้มวลมหาประชาชนลั่นกลองรบแล้ว เสียงกลองกึกก้อง เร้าใจ เรียกร้องผู้รักชาติรักแผ่นดินให้มาต่อสู้ด้วยกัน ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่พี่น้องจะได้ต่อสู้ให้แผ่นดิน แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ยอมทุบกระปุกส่งเงินมาสมทบให้สู้ ผู้หญิงจบ ป.4 ก็ส่งเงินมาช่วย เราจะสู้อย่างสงบ สันติ อหิงสา และชนะ เพราะเราเป็นคนดี เราก็ทำแต่สิ่งดีๆ พรุ่งนี้ (24 พ.ย.) คนที่อยู่กรุงเทพฯ ตื่นมาเช้าๆ แล้วรีบมาที่นี่ เราจะทำบุญตักบาตรกัน ตอน 6-7 โมงเช้า ทำบุญเสร็จเราจะไหว้พระสวดมนต์ รับศีล ชำระใจให้ผ่องแผ่ว ฟังพระคุณเจ้าให้ศีลให้พรเป็นมงคลชีวิตให้พวกเรามีพลังเพื่อต่อสู้เพื่อชาติและแผ่นดินจนชนะ
"สุเทพ" ลั่นกลองรบ ประกาศล้มระบอบทักษิณ ปลุกทุกภาคส่วน ทหาร-ตร.ร่วมสู้กับ ปชช.
(มติชนออนไลน์ 23 พฤศจิกายน 2556 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1385215721&grpid=00&catid&subcatid)
สุเทพ เทือกสุบรรณ จากนักการเมืองสู่ผู้นำม็อบ
ความดีงามแบบนี้จึงเป็นความดีงามทางศีลธรรมแบบเลือกข้าง และแบ่งเขาแบ่งเราอย่างชัดเจน พลังความเคลื่อนไหวนี้จึงเกิดขึ้นจาก ความรู้สึกต่อต้านความเลวร้ายโดยที่ในจิตใจลึกๆ ก็รู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่ “ดีกว่า” “อารยะกว่า” ฝั่งตรงข้าม ไม่ต่างอะไรกับการเลือกข้างเชียร์ตัวละครหลังข่าว ลำยองของพวกเขาจึงมิใช่แค่ “ปีแสบหู” แต่มันเป็นสิ่งที่เลวร้ายกว่าในผ้าคลุม “ระบอบทักษิณ” ในสงครามศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ สิ่งที่ต้องการมากกว่าสิ่งอื่นใดคือ ศรัทธา หาใช่เหตุผล การชุมนุมและประท้วงอันแสนโรแมนติกก็ล้วนมีเชื้อไฟอันนี้ที่มอดไหม้อยู่
โดยมิได้นัดหมาย การชุมนุมอันร้อนแรงมาบรรจบกับตอนอวสานของ ทองเนื้อเก้า ในคืนนี้ (25 พ.ย.) และยังเป็นคืนวันพระอีกด้วย อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ก็สุดจะคาดเดา
ขอปิดท้ายด้วยหนึ่งในคำสอนท้ายเรื่อง ของ ว.วชิรเมธี ดังนี้
ชีวิตคนก็เหมือนหนัง เหมือนละคร
ทุกครั้งเมื่อเราเห็นสิ่งไม่ดีในหนังในละคร
เราก็เฝ้าแต่คิดว่าเอาอะไรมาให้ดู
เราดูแล้วเราเห็นอะไร
เห็นสิ่งที่เขาทำ หรือสิ่งที่ไม่ควรทำ
สิ่งเหล่านั้นขึ้นอยู่กับตัวเราเอง