สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
อ่านบทความนักวิชาการบางคนเสนอทางแก้ปัญหาพุทธศาสนาว่า "คณะสงฆ์ควรสังคายนาพระไตรปิฎกให้ทันสมัย" เลยยังงงๆอยู่ว่าจะสังคายนาให้ "ทันสมัย" อย่างไร ปัญหาอยู่ที่พระไตรปิฎกล้าสมัยจริงหรือ และอันที่จริงพระสงฆ์ในยุคปัจจุบันยังมีบทบาทรักษาความหมายของพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกจริงหรือ
ในสมัย "มุขปาฐะ" พระสงฆ์มีบทบาทมากเพราะใช้วิธีรักษาเนื้อหาพระไตรปิฎกด้วยการสวด สาธยาย หรือเรียนรู้ด้วยวิธีท่องจำปากต่อปากต่อๆกันมา เมื่อจารเป็นอักษรในใบลานก็ยังมีบทบาทสำคัญมากอยู่ แต่เมื่อพระไตรปิฎกตีพิมพ์ในกระดาษเป็นเล่มหนังสือแบบโลกสมัยใหม่ก็ถูกตีพิมพ์ในหลายภาษา คราวนี้พระไตรปิฎกก็กลายเป็นของสากลที่ใครๆจะมาอ่าน มาศึกษาตีความได้อย่างอิสระ บทบาทในการรักษาพระไตรปิฎกด้วยการท่องจำ การควบคุมกำกับการตีความโดยพระสงฆ์ก็ทำไม่ได้อีกต่อไปแล้วในโลกของความจริง
ยิ่งทุกวันนี้มีพระไตรปิฎกฉบับ "ดิจิตอล" แล้ว บทบาทการรักษา การตีความ การกำกับควบคุมความหมายของพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกของพระสงฆ์ ปราชญ์ ผู้รู้ทางพุทธศาสนาก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย ที่แย่มากๆ คือเมื่อในความเป็นจริงตนเองไม่สามารถควบคุมการตีความได้โดยอาศัย "สถานะที่สูงส่งกว่า" ทางวัฒนธรรม คณะสงฆ์ไทยกลับคิดจะควบคุมโดย “กฎหมาย” ดังร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่จะเอาผิดการตีความพระธรรมวินัยคลาดเคลื่อนหรือผิดจากพระไตรปิฎก
ผมคิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่พระไตรปิฎกไม่ทันสมัย “เนื้อหาสำคัญ” ของพระไตรปิฎกนั้นสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ สอดคล้องอย่างไร ก็ดูสวนโมกข์สมัยท่านพุทธทาสสิครับ นั่นคือตัวอย่างของการแปรความหมายของธรรมวินัยจากพระไตรปิฎกมาจัดองค์กรสังฆะ เป็นแนวศึกษาปฏิบัติกล่อมเกลาวิถีชีวิตของพระ และการเอื้อประโยชน์ทางธรรมแก่สังคม
ปัญหาของ “พุทธศาสนาแห่งรัฐ” คือ การรักษาแต่ "เล่มหนังสือพระไตรปิฎก" แต่ไม่ได้แปรความหมายของพระธรรมวินัยจากพระไตรปิฎกมาจัดองค์กรสงฆ์ กล่อมเกลาวิถีชีวิตของพระ และการทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ เพราะอะไรหรือ ก็เพราะระบบโครงสร้างองค์กรสงฆ์มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบโครงสร้างแบบเผด็จการที่ขัดแย้งกับเนื้อหาสาระของพระธรรมวินัยและวิถีของโลกสมัยใหม่โดยพื้นฐาน แทนที่จะสังคายนาพระไตรปิฎก มาสังคายนาระบบโครงสร้างสงฆ์จะไม่ดีกว่าหรือ?
หากพิจารณาจากวิถีชีวิตและการให้เสรีภาพปกครองตนเองแก่คณะสงฆ์ของพุทธะ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญยิ่งที่เราได้เรียนรู้จากพุทธะ คือ 1) ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต ของโลกตามเป็นจริง และ 2) การต้องมีเสรีภาพที่จะเลือก เพราะว่าชีวิตและโลกไม่สมบูรณ์แบบ เราจึงต้องเลือกอะไรสักอย่างเสมอ ไม่ควรจะอ้างความสมบูรณ์แบบมาบังคับไม่ให้คนเลือกในสิ่งที่แตกต่างออกไป
เช่น บางคนตั้งคำถามว่า พุทธะเอาตัวรอดคนเดียว ทิ้งลูกเมีย ไม่รับผิดชอบครอบครัว แล้วไงครับในเมื่อบริบทชีวิตของท่านเวลานั้นมันไม่สามารถที่จะเลือกเป็นสามี เป็นพ่อที่ดีแบบทางโลกกับเป็นศาสดาผู้ตรัสรู้ธรรมในเวลาเดียวกันได้ ในเมื่อทำให้ "สมบูรณ์แบบ" เช่นนั้นไม่ได้ ท่านก็ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง
ตอนพระเทวทัตมายื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ให้พุทธะบังคับพระสงฆ์ให้ทำตาม อาจเป็นไปได้ว่าพระเทวทัตกำลังคิดถึง "ความสมบูรณ์แบบ" ของสังคมสงฆ์ที่ต้องปฏิบัติตัวเคร่งครัดมากๆ เช่น ไม่ฉันเนื้อสัตว์ อยู่ป่าเป็นประจำ หรือถือธุดงค์เป็นประจำเป็นต้น แต่พุทธะก็ไม่รับข้อเสนอนี้ เพราะท่านไม่เห็นด้วยที่จะอ้าง "ความสมบูรณ์แบบ" มาบังคับไม่ให้พระมีเสรีภาพที่จะเลือก ท่านจึงยืนยันที่จะให้เสรีภาพแก่พระแต่ละรูปเลือกเองว่าจะฉันหรือไม่ฉันเนื้อสัตว์ จะอยู่ป่าเป็นประจำหรือถือธุดงค์เป็นประจำหรือไม่ เป็นต้น
บางที บรรดาคนที่ปกป้องความมั่นคงของพุทธศาสนาแห่งรัฐก็กลัวว่า ถ้าพุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐแล้วก็จะมีการแยกเป็นนิกายต่างๆมากมาย พุทธศาสนาจะขาดเอกภาพ ควบคุมกันไม่ได้ ฯลฯ ความกลัวนี้ ลึกๆอาจมาจากที่ถูกปลูกฝังให้เชื่อว่ามี "พุทธสมบูรณ์แบบ" หรือพุทธแท้ พุทธที่รักษาคำสอนที่แท้ไว้ได้ดีที่สุดในโลกอยู่ในประเทศไทยจริง จึงอ้างความสมบูรณ์แบบนั้นเสมอ โดยไม่ตระหนักว่า "ความสมบูรณ์แบบ" ที่เชื่อกันนั้นคือ "ภาพลวงตา" และภาพลวงตาเช่นนั้นไม่ควรถูกอ้างอิงเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการเลือกความงอกงามทางพุทธศาสนาที่แตกต่าง หลากหลาย และยืดหยุ่น
การทำให้พุทธศาสนา (ทุกศาสนา) เป็นอิสระจากรัฐนั้น สังคมไทยจะได้ประโยชน์สำคัญยิ่งสองด้านหลักๆ คือ
1) รัฐไทยจะก้าวกระโดดเป็น “รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่” สมบูรณ์ขึ้น คือเป็นรัฐโลกวิสัย (Secular State) ที่เป็นกลางทางศาสนา ไม่แทรกแซงและอุปถัมภ์ศาสนาใดๆ ปล่อยให้ศาสนาเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เป็นกิจการแบบเอกชน รัฐมีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพทางศาสนา และป้องกันการใช้ศาสนาละเมิดสิทธิพลเมืองเท่านั้น
2) สังฆะหรือสังคมสงฆ์จะเปลี่ยนจากองค์กรแบบราชการ เป็นองค์กรแบบ “สังฆะตามพระธรรมวินัย” คือปกครองกันเองตามพระธรรมวินัยไม่ใช้กฎหมายในการปกครอง ไม่มีระบบสมณศักดิ์ แต่ละวัดแต่ละสำนักอยู่กันด้วยระบบอุปัชฌาย์อาจารย์และสานุศิษย์ มีความสัมพันธ์แบบ “อาจารย์-ศิษย์” ที่เชื่อมโยงด้วยความเป็นกัลยาณมิตรและเมตตาธรรม ไม่ใช่เชื่อมโยงด้วยระบบ “อำนาจ” แบบปัจจุบัน
สังฆะตามพระธรรมวินัยที่เป็นอิสระจากรัฐคือสังฆะตามแบบพุทธกาลในแง่ที่ไม่ถูกรัฐควบคุม ก้าวก่ายการศึกษาการตีความพระธรรมวินัย เป็นสังฆะที่มีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองในการศึกษา ตีความ การจัดองค์กรของตนเอง การใช้วิธีการเผยแผ่ธรรม การทำประโยชน์แก่สังคมในด้านต่างๆ ตามที่แต่ละกลุ่มถนัด แต่ถึงจะมีความหลากหลายแตกต่างกัน ก็เคารพกัน เป็นเอกภาพอย่างยืดหยุ่นได้เพราะนับถือพระศาสดาองค์เดียวกัน ถือหลักธรรมวินัยที่เป็นหัวใจสำคัญเหมือนกัน แม้จะต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละวัด แต่ละสำนักก็ตาม
ยิ่งกว่านั้น ความหมายของสังฆะอาจขยายกว้างขึ้นกินความรวมถึงเครือข่ายฆราวาสที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดองค์กรของวัดของสำนักศึกษาปฏิบัติธรรมต่างๆ เราอาจนึกถึงภาพของสวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก กลุ่มสังฆะสาขาต่างๆของวัดหนองป่าพงเป็นต้นเป็นตัวอย่างได้ระดับหนึ่ง หากพุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ ก็จะเกิดสำนักศึกษาปฏิบัติธรรมและเครือข่ายต่างๆ มากขึ้น มีรูปแบบที่ยืดหยุ่น หลากหลาย เพราะไม่ถูกรวบอำนาจหรือถูกควบคุมจากส่วนกลาง
เมื่อเป็นเช่นนี้พุทธศาสนาก็จะงอกงามมีพัฒนาการคลี่คลายไปอย่างเป็นธรรมชาติ โจทย์ความเจริญหรือเสื่อมของพุทธศาสนาจะไม่ใช่โจทย์แคบๆจำกัดอยู่เพียงว่าพระทำผิดหรือไม่ทำผิดวินัยสงฆ์เท่านั้น แต่เป็นโจทย์กว้างกว่านั้นเช่น ทำอย่างไรจะแปรธรรมวินัยหรือคำสอนของพุทธศาสนามาจัดองค์กรสงฆะที่เอื้อต่อการศึกษาปฏิบัติธรรมให้เป็นไปเพื่อความงอกงามทางจิตวิญญาณของพระสงฆ์เอง เอื้อต่อการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังฆะโดยเครือข่ายฆราวาส และเอื้อต่อการทำประโยชน์ต่อสังคมทั้งในแง่การส่งเสริมศีลธรรม การศึกษา การสังคมสงเคราะห์ และการสาธารณกุศลต่างๆ
เป็นไปได้ว่าองค์กรสังฆะบางองค์กรที่มีระบบบริหารจัดการร่วมกันระหว่างพระสงฆ์และฆราวาสอาจเป็นที่ยอมรับ ขยายสาขาออกไปทั้งในและต่างประเทศจนมีศักยภาพที่จะสร้างโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาของตนเอง หรือสร้างศูนย์ศึกษาปฏิบัติธรรมต่างๆ สร้างนวัตกรรมการเผยแผ่พุทธศาสนาใหม่ๆ แข่งขันกัน หรือทำประโยชน์ในด้านสังคม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นต้นแข่งกันเพื่อดึงดูดศรัทธาและการยอมรับจากสังคม ในแง่นี้ผู้สนใจเรียนรู้พุทธศาสนา สนใจการปฏิบัติธรรมก็จะมีทางเลือกมากขึ้น
ฉะนั้น สังฆะในอนาคตจึงไม่ได้เป็นภาระของรัฐ แต่ยืนบนขาของตนเอง มีความหลากหลาย ยืนหยุ่นและอยู่ได้ด้วยด้วยศรัทธาอุปถัมภ์และการตรวจสอบโดยตรงจากประชาชน
(เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” 20-26 กรกฎาคม 2556)
ชื่อบทความเดิม: