คุยกับประมวล เพ็งจันทร์ “พุทธศาสนาที่ไม่มีไวยากรณ์” (ตอนที่ 2)

สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร



ผมคิดว่ามันอาจจะมีฐานอะไรบางอย่าง ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดอย่างวัชรยานเขาก็จะบอกว่าถ้าคุณเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์มีพุทธภาวะหรือมีจิตเดิมแท้อยู่แล้วสิ่งนี้มันก็จะเปิดให้กับความเป็นไปได้ทุกอย่าง ทีนี้ศาสนาไม่มีไวยากรณ์ของอาจารย์อะไรคือฐานที่มันเปิดให้กับความเป็นไปได้ที่อาจารย์ไม่ไปตัดสินผิดถูกหรืออะไรต่างๆ

ในภาษาของวัชรยานนั้นมีคำๆหนึ่งที่เขาใช้กันคือคำว่า “โพธิจิต” ถ้าให้ผมบอกฐานอันนั้น ผมหยิบคำนี้แหละมาใช้ ของเถรวาทเราไม่มีคำนี้ มีก็เอามาใช้แบบหยิบยืมคำนี้มาใช้ แต่ผมเข้าใจว่าไม่ใช่ เพราะเวลาเถรวาทเราใช้คำว่าศรัทธา เช่น เราพูดถึงศรัทธาสี่ กรรมศรัทธา วิปากศรัทธา กรรมมัสสกศรัทธา และตถาคตโพธิศรัทธา คำอธิบายเรื่องศรัทธาสี่ในพุทธศาสนาเถรวาทตื้นเขินมากเลย ลองไปถามดูซิครับพระ ผู้รู้ หรือนักปราชญ์ราชบัณฑิตทางพุทธศาสนาอธิบายศรัทธาสี่ประการนี้อย่างไร ผมเข้าใจว่าอธิบายกันฟุ่มเฟือยด้วยภาษา แล้วก็แปลความหมายของภาษาออกมา แต่ในวิถีชีวิตของเราที่เป็นพุทธนั้นกลับไม่ได้หยั่งลึกลงไปในศรัทธาสี่ประการนี้สักเท่าไรเลย

ทำไมอาจารย์คิดว่าโพธิจิตปิ๊งกว่า

คือโพธิจิตอยู่ดีๆไม่ใช่มันเกิดนะครับ อันที่หนึ่งทันทีที่เราตระหนักได้ว่าโพธิจิตเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอันที่สองเราต้องมีสิ่งที่เรียกว่าปณิธานที่จะบ่มเพาะโพธิจิต ปณิธานนี้ไม่ใช่เป็นความอยากตามศรัทธาแบบพุทธเถรวาท โทษทีในพุทธศาสนาแบบเถรวาทนั้นเรื่องศรัทธาถูกนำมาใช้เพื่อสนองตอบความโลภ คือยิ่งศรัทธามากยิ่งมีความโลภมาก (หัวเราะ) และผมเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ศรัทธาในภาษาที่เราพูดเมื่อตะกี้สี่ข้อเลยนะครับ เพราะเวลาเราพูดถึงสี่ข้อนั้นเป็นศรัทธาที่เป็นกุศล แต่เวลาเราพูดถึงศรัทธาที่มีความเชื่อว่าฉันอยากจะได้อะไรและฉันจะได้ด้วยวิธีนี้ เราเชื่อว่าองค์เทพหรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่สามารถทำให้ฉันได้ นั่นคือศรัทธาที่เต็มไปด้วยอกุศลมูล เต็มไปด้วยโลภะ

ทีนี้พอเรากลับมาสู่สิ่งที่เรียกว่าโพธิจิตคือจิตที่มีคุณสมบัติก็แล้วกันนะครับ ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไรนะ มันมีคุณสมบัติ คือคุณสมบัติของจิตที่จะรู้ความเป็นจริงได้อย่างเบิกบานแจ่มใส ยิ่งพอเรามาถึงจุดๆ หนึ่งว่าเรามีปณิธานที่จะบ่มเพาะโพธิจิตขึ้นในใจ ขึ้นในตัวเรา ที่จะรักษาโพธิจิตนี้ไว้ ความหมายคืออะไร ความหมายมันกลับมาสู่ประเด็นเรื่องจิตของเราที่เป็นโพธิจิต และโพธิจิตที่ว่านี้แม้จะไม่อธิบายตามหลักไวยากรณ์เลย ผมเข้าใจว่ามันมีความหมายบางอย่างขึ้นมาในใจที่เรารู้ได้ ยิ่งถ้าจะอธิบายตามหลักไวยากรณ์ยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีกว่า จะต้องเป็นจิตที่ปลอดพ้นจากสิ่งที่เรียกว่าเป็นอกุศลมูล โลภะ โทสะ โมหะ

เพราะฉะนั้น ทันทีที่เรามีปณิธานมุ่งหน้าตั้งมั่นอยู่ในโพธิจิต ก็คือการสร้างฐานที่ยืนหรือที่ตั้งของจิต และฐานที่ตั้งของจิตนี้ในความหมายว่าไม่มีอะไรเป็นสิ่งเลวร้ายเลย ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรคเลย ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่จะต้องรังเกียจเลย เพราะทุกสิ่งที่ถูกรังเกียจมันก็มาจากสิ่งที่ไม่ใช่โพธิจิตทั้งนั้น

ประเด็นตรงนี้พอดีอาจารย์เอ่ยคำว่าวัชรยานขึ้นมา ผมก็เลยเผลอพูดคำว่าวัชยานออกมาในความหมายนี้ ในความหมายที่พูดถึงโพธิจิต พูดถึงปณิธานที่ตั้งมั่นเพื่อบ่มเพาะโพธิจิต ผมเข้าใจว่าเป็นฐานจะเรียกว่าศรัทธาในพุทธศาสนาที่เมื่อตะกี้อาจารย์บอกว่าเป็นตถาคตโพธิศรัทธา (ศรัทธาในการตรัสรู้ของพระตถาคต) ก็ใช่ เพราะเหตุว่ากระบวนการที่เราบอกว่าเป็นโพธิจิตที่ถูกบ่มเพาะขึ้นมาจากการที่เรามีตถาคตโพธิศรัทธา และตถาคตโพธิศรัทธาที่มีอยู่ในใจเรา ทำให้เรามีความเชื่อมั่นหนักแน่นและมั่นคงในการที่จะบ่มเพาะโพธิจิตให้เกิดขึ้น

ถ้าเปรียบเทียบกับเถรวาทเป้าหมายการปฏิบัติธรรมคือนิพพานใช่ไหมครับ โดยต้องเดินตามมรรคมีองค์แปด หรือไตรสิกขา การบ่มเพาะโพธิจิตมีแนวทางอย่างไร

ผมเข้าใจว่า เวลาเราพูดว่าดำเนินตามมรรคมีองค์แปดนั้นมันมีความเป็นไวยากรณ์อย่างที่เราพูดถึงเมื่อกี้เลย มันเริ่มจากว่าทิฐิที่มีมิจฉาทิฐิ สัมมาทิฐิ และอริยมรรคมันเป็นองค์ที่เป็นสัมมา เพราะฉะนั้นสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาอะไรก็ว่ากันไปเป็นขบวน แม้กระทั่งไปถึงสุดท้ายที่ว่าสัมมาสติ สัมมาสมาธิก็ยังกลายเป็นเรื่องที่ต้องมาถกเถียงกันอยู่อีกด้วยซ้ำไป

แต่ประเด็นโพธิจิตนั้น เรากำลังพูดถึงสภาวะที่กำหนดหมายรู้ด้วยใจของเราเองภายใน และสภาวะที่เรารู้เองภายในนี้มันไม่มีไวยากรณ์ซับซ้อน ตรงนี้ถ้าพูดภาษาของคนยังมีค่ายมีทฤษฎีก็ว่าผมเข้าข้างทฤษฎีของวัชรยาน แต่ผมไม่ได้เข้าข้างในความหมายว่าวัชรยานดีกว่าเถรวาท ผมต้องการจะบอกเพียงว่าทันทีที่เรากลับมาสู่ประเด็นของโพธิจิต มันไม่มีประเด็นเรื่องผิดเรื่องถูกเรื่องดีเรื่องชั่ว เรากำลังพูดถึงความหมายภายในใจของคนคนหนึ่งที่กำหนดหมายรู้ขึ้นมา แต่ในเวลาที่เราพูดถึงอริยมรรคมีองค์แปดนั้นมันเต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่ามีความคิดเชิงทฤษฎีที่จะต้องบ่มเพาะสิ่งที่มันเป็นสัมมาทิฐิ  และสัมมาทิฐิจะเกิดขึ้นได้เพราะมีปรโตโฆษะมีโยนิโสมนสิการอะไรก็ว่าไป แล้วก็มีการเปรียบเทียบกับมิจฉาทิฐิ สุดท้ายก็เกิดสิ่งที่มันเป็นอะไรมากมายเป็นมิจฉา เป็นสัมมา แม้กระทั่งที่ว่ามีนิวรณ์ห้าเป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นไม่ให้เราเข้าถึงนิพพาน เป็นต้น

แต่พอไปถึงโพธิจิตไม่มีสิ่งเหล่านั้นเลย เพราะในกรณีของวัชรยานที่เราบ่มเพาะโพธิจิตมันจึงมีลักษณะที่ทำให้เถรวาทเขารับไม่ค่อยได้ในกรณีที่มันไม่ค่อยมีหลักเกณฑ์ ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนของทฤษฎีข้างนอก แต่มันมีเพียงแค่สภาวะจิตเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ผมเข้าใจได้ว่าทำไมเวลาเราพูดถึงวัชรยานจึงมีความสับสนในเชิงทฤษฎีในเชิงความคิด เพราะว่าทันทีที่จะเสนอทฤษฎีอะไรออกมามันก็จะกลายมาเป็นความคิดแล้ว ความคิดไม่ใช่โพธิจิต

นี่ไม่ใช่เป็นการจะเอาวัชรยานมาบอกว่าถูกและเถรวาทผิดนะครับ แต่ผมเข้าใจว่าในโลกยุคปัจจุบันที่อาจารย์พูดถึงเมื่อกี้ว่ามีความซับซ้อน มีความรวดเร็วของของข้อมูลข่าวสารนั้น ผมเข้าใจว่ามันมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจได้ถึงความหมายของการเรียนรู้พุทธศาสนาแบบไม่มีไวยากรณ์ไม่ได้ ก็คือเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เรียนรู้พุทธศาสนาผ่านไวยากรณ์ ขอโทษครับทันที่ที่เราซึ่งเคยเป็นนักบวชในพุทธศาสนาและผ่านการเรียนรู้ปริยัติธรรมมานับแต่มีการสร้างระบบการศึกษาปริยัติธรรมอย่างเป็นระบบขึ้นมาในประเทศไทย ชาวบ้านไม่ได้เข้ามาสู่หลักสูตรนี้ก็จริงนะ แต่ชาวบ้านเขารับเอาผลของการศึกษาแบบนี้ต่อไปจากผู้ที่ศึกษา เพราะฉะนั้น ผมเข้าใจว่าการเรียนรู้พุทธศาสนาแบบโบราณมันหายไปเลย

ผมนึกถึงตอนที่ผมกลับไปบ้านที่เกาะสมุยแล้ว ผมไปศึกษาประวัติปู่ทวดของผมที่เป็นนักบวชซึ่งมีชื่อเสียง ท่านเป็นพระยุคก่อนท่านพุทธทาส และท่านพุทธทาสก็ยกย่องมาก พอสืบถามประวัติพุทธศาสนาบนเกาะก็จะนำไปสู่ท่านผู้นี้ว่าเป็นผู้นำพุทธศาสนามาเจริญบนเกาะสมุย ท่านเคยเดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาที่กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่สามารถที่จะสอบเปรียญได้เพราะท่านพูดภาษากลางไม่ได้ ปู่ทวดผมรูปนี้ไม่เคยเข้าโรงเรียน เพราะฉะนั้นเมื่อมาเรียนภาษาบาลีที่วัดมหาธาตุแต่สอบไม่ได้หรอก เพราะพูดภาษาไทยกลางไม่ได้ ไม่มีความรู้พอที่จะสอบ แต่ท่านก็มีความรู้พุทธศาสนานะ เพราะในความหมายของท่านตามประวัติที่ถูกเล่าขานมายืดยาวว่าท่านถึงกับเดินทางจาริกธุดงค์ไปถึงพม่า อินเดีย ซึ่งหลักฐานตรงนี้ไม่ใช่เป็นหลักฐานที่เลื่อยลอย  เพราะเหตุว่าท่านยังนำเอาคติการสร้างกุฏิ สร้างศาสนสถานแบบลังกา อินเดียมาใช้ที่วัดของท่าน

แต่ท่านผู้นี้ไม่ได้มีความรู้อะไรมาก ในสมัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จไปตรวจกิจการพุทธศาสนาที่มณฑลภาคใต้ เมื่อไปถึงเกาะสมุยปู่ทวดผมท่านนี้เป็นพระเถระที่มีอาวุโสสูงสุดมาต้อนรับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ายังทรงมีพระมหาสมณวินิจฉัย พูดเป็นทำนองว่าพระภิกษุที่อยู่บนเกาะนี้ไม่ค่อยมีความรู้ นุ่งห่มไม่เป็นปริมณฑล พระไม่ค่อยเรียบร้อยประมาณนี้นะครับ (หัวเราะ) ซึ่งผมเข้าใจว่าในสมัยนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าเริ่มที่จะใช้กรอบการนุ่งห่มเป็นปริมณฑล หรือกรอบกรุงเทพฯไปจับพระในท้องถิ่นต่างๆ แต่ปู่ทวดของผมท่านอยู่กับชาวบ้านที่ปลูกสวนมะพร้าว วัดเกาะสมุยที่กลายมาเป็นวัดที่มั่นคงได้เพราะมีสวนมะพร้าวเยอะมาก ท่านไม่ได้ชวนชาวบ้านทำบุญด้วยการเอาเงินไปถวายวัด เพราะสมัยนั้นชาวบ้านไม่มีเงิน แต่ท่านชวนชาวบ้านที่มีแรงงานให้ไปช่วยกันปลูกมะพร้าวให้วัด เพราะฉะนั้นวัดที่ท่านสร้างไว้หลายวัดบนเกาะสมุยจึงมีสวนมะพร้าวเยอะไปหมดเลย ลองนึกถึงภาพว่าพระที่อยู่กับการทำงานแบบนี้กับชาวบ้านจะนุ่งห่มเป็นปริมณฑลได้ยังไง (หัวเราะ)

แต่ประเด็นคือ ปู่ทวดผมรูปนี้ที่ทำให้ยายผมมีความแนบสนิทกับพุทธศาสนาถึงขนาดที่เมื่อเอ่ยคำว่าพุทโธก็คือหมายความว่าชีวิตนี้จบ กิจของเราจบแล้วด้วยการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ทุกครั้งที่ทำอะไรก็เพื่อพระนฤพาน ผมเข้าใจว่าการถ่ายโอนความรู้แบบนี้เป็นการถ่ายโอนความรู้ที่มีอยู่ก่อนที่จะมาถึงยุคพวกเรา พอมาถึงยุคพวกเราคือยุคที่เราเข้าสู่ระบบที่มีความรู้

อาจารย์กำลังจะบอกว่ามันคล้ายกับประเพณีการถ่ายทอดการบ่มเพาะโพธิจิต

ใช่ๆ ผมกำลังจะพูดอย่างนั้น แต่ผมจะกระโดดไปตรงนั้นเร็วไปเดี๋ยวจะสับสน กำลังจะบอกว่ามีกระบวนการถ่ายโอนแบบนี้ แต่พอมาถึงยุคของเรามันเป็นยุคที่เราเริ่มมีความรู้เชิงไวยากรณ์มากมายแล้ว ผมมีความรู้ ขอโทษผมไม่แน่ใจ สมมติว่าพ่อท่านเพชรปู่ทวดผมเนี่ยนะเนรมิตกลับมามีชีวิตแล้วมาโต้วาทีกับผมก็ต้องแพ้ผมนะ

ถ้าอย่างนั้นวัชรยานที่ไปอยู่ในโลกตะวันตกที่เต็มไปด้วยไวยากรณ์ เขาไปเกิดตรงนั้นได้อย่างไร

ผมเข้าใจว่าคนตะวันตกเริ่มเบื่อไวยากรณ์ (หัวเราะ) นึกภาพออกไหมครับเขาเริ่มเบื่อไวยากรณ์ คำที่วิจักขณ์ (พานิช) ใช้เสมอคือคำว่า ต้องยอมศิโรราป คือคุณไม่ใช้ไวยากรณ์มาตั้งเป็นคำถาม แต่คุณใช้ตัวของคุณสยบยอมเพื่อที่จะเชื่อฟังคุรุหรือครู ซึ่งผมเข้าใจว่านี่เป็นอุบายอะไรบางอย่างที่วิจักขณ์เขาใช้คำนี้เสมอ จนเขามีคำว่าศิโรราปพิมพ์ไว้ที่เสื้อเขา

แต่เหมือนกับว่าการบ่มเพาะโพธิจิตมันไม่มีกรอบที่แน่นอน เช่นไม่ขึ้นกับว่าคุณต้องบวชหรือไม่

อ๋อใช่ ที่สำคัญเวลาเราพูดถึงวัชรยานเราจึงมีครู ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักบวช เป็นโยคี เป็นใครที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศนักบวชก็ได้ เพราะฉะนั้นท่านมิลาเรปะที่เป็นสายนิกายที่วิจักขณ์เขาศรัทธานั้น ท่านนาโรปะ มิลาเรปะไมใช่นักบวช

อะไรคือคุณสมบัติของครูที่ดึงดูลูกศิษย์เข้าไปหา

ถ้าตามความศรัทธาของศิษย์คือครูเป็นผู้รู้ ผ่านการบ่มเพาะโพธิจิต เป็นโพธิจิตที่งอกงามเบิกบานเป็นเนื้อเป็นตัวท่านแล้ว

ซึ่งเขาเห็นแล้วเขาสัมผัสได้

ใช่ แล้วกระบวนการแบบนี้มันเป็นกระบวนการที่ไม่ผ่านไวยากรณ์ ลองนึกถึงภาพนะครับถ้าเราจะเอาประวัติของวัชรยานสายที่วิจักขณ์เขาไปเรียนมา ตอนทีท่านมิลาเรปะ ไปเรียนกับท่านนาโรปะเกือบไม่สอนอะไรเลย เพียงแค่สั่งให้ไปสร้างบ้านสักหลังหนึ่งให้ฉันอยู่ ถ้าฉันพอใจฉันจะให้เธอเป็นศิษย์ ท่านมิลาเรปะต้องไปแบกหินจนบ่าเป็นแผลถลอก สร้างใกล้จะเสร็จท่านบอกไม่ถูกไม่ชอบรื้อทิ้งสร้างใหม่ ทำอยู่อย่างนี้ (หัวเราะ)

เหมือนในหนังจีนที่ไปขอเป็นศิษย์ฝึกวิทยายุทธกับอาจารย์เลยครับ

ใช่ๆ ทำอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งท่านมิลาเรปะรู้สึกเหมือนกับต้องร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด แม้กระทั่งภรรยาของท่านนาโรปะก็เกิดความรู้สึกสงสารท่านมิลาเรปะอย่างมากที่ถูกกระทำแบบมันไม่ไหวแล้วประมาณนี้ ผมเข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้อาจจะนำเอามาเล่าเพียงแค่เป็นโครงสร้างหยาบๆ ให้เห็นภาพเท่านั้นเองว่าสุดท้ายแล้วมันมีสิ่งที่เรียกว่าความศรัทธา

ทีนี้ความศรัทธาที่ว่านี้มันเชื่อมั่นในความหมายเรื่องจิตที่จะรู้ แล้วก็มีความเชื่อว่าจิตที่รู้ได้มีอยู่จริงในตัวครูแล้ว เป็นตัวอย่างให้เห็น ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่อาจจะพูดยากเนื่องจากเราไม่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมขึ้นมารองรับ คือเวลาเราพูดถึงวัชรยานเกือบทุกเรื่องก็พูดได้นะครับ แต่ผมเข้าใจว่ามันเข้าใจยากเพราะเราไม่มีพื้นฐานของความเชื่อมารองรับ พอเราไม่มีพื้นฐานความเชื่อมารองรับปุ๊บสิ่งที่เราพูดกันก็กลายเป็นเพียงแค่ตำนานเท่านั้นเอง

ผมเข้าใจว่าพื้นฐานที่รองรับนั้นสำคัญ เหมือนกับเวลาเราพูดเรื่องความตายตามคติของวัชรยาน เราพูดได้เพราะเรามีหนังสือคู่มือการเตรียมตัวตายแบบธิเบตใช่ไหม มีการอบรมบาโด อบรมอะไรกัน แต่คำถามคือพวกเราซึ่งไปเข้าคอร์สอบรมเรามีฐานความศรัทธาฐานความเชื่ออะไรบางอย่างอยู่ในใจของเราไหม ผมเข้าใจว่าตรงนี้มันทำให้สิ่งที่เราพูดแม้พูดด้วยภาษาของวัชรยาน แต่ความหมายแบบวัชรยานอาจจะไม่ได้อยู่ในใจเรา

ผมฟังอาจารย์แล้วเหมือนกับว่าการบ่มเพาะโพธิจิตก็ต้องการบริบทบางอย่าง เช่นเปรียบเทียบตอนที่อาจารย์สอนหนังสืออยู่อาจารย์ก็อยู่ในโลกของพุทธศาสนาแบบมีไวยากรณ์ เพราะอาจารย์อยู่ในบริบทต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดไวยากรณ์ แต่ถ้าอาจารย์จะหลุดออกไปจากศาสนาแบบนี้อาจารย์ก็ต้องเลือกบริบทชีวิตอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นการเข้าถึงศาสนาแบบไม่มีไวยากรณ์ในที่สุดก็ต้องเลือกออกไปจากระบบ

อือ บอกอย่างนั้นก็ได้ ที่ว่าบอกอย่างนั้นก็ได้ ก็เพราะว่าผมกำลังดิ้นรนอยู่ ผมมีความรู้สึกว่าเหมือนผมเป็นนกอยู่ในกรงผมก็เลยรู้สึกว่ากำลังพยายามที่จะบินออกจากกรง ทีนี้ความสำนึกว่ากรงผมเข้าใจว่ามันมีความหมายสำคัญอยู่เหมือนกัน เพราะนกในสวนสัตว์ใหญ่มันอยู่ในกรงเหมือนกันนะ แต่กรงใหญ่มากแล้วมันไม่รู้สึกว่าเป็นกรง เพราะฉะนั้นกรณีที่พูดถึงเรื่องกรงผมคิดว่าที่สำคัญอยู่ที่ใจว่าเรามีความสำนึกว่าเป็นกรงไหม แล้วผมเข้าใจว่าตรงนี้เป็นรายละเอียดถี่ถ้วนอยู่ภายใน สุดท้ายแล้วคำว่ากรงอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ เพราะว่านกที่พอใจอยู่ในกรงก็ไม่ได้นึกว่านี่คือกรง แต่นี่คือบ้านก็ได้

ความรู้สึกนี้มันคล้ายกับปรัชญา existentialism ที่บอกว่าเรารู้สึกแปลกแยกกับระบบ จารีตประเพณีทางสังคม แล้วในที่สุดเราต้องเลือกอะไรที่เป็นตัวเรา มันเป็นแบบเดียวกันไหม

คล้ายๆ เพราะเวลาเราพูดถึงภาวะแปลกแยกหรือ alienation มันหมายถึงแปลกแยกจากเพื่อน จากสังคม สุดท้ายก็แปลกแยกจากตัวเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราพูดถึงนี้คล้ายๆกัน และภาวะที่เรียกว่าความแปลกแยกนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ในปรัชญาอัตถิภาวนิยมที่ถูกยกขึ้นมาพูดแม้ไม่พูดตามหัวข้อ แต่ว่าพูดในหัวข้ออื่นก็ยังโยงมาสู่หัวข้อนี้อยู่ร่ำไปว่าเราเกิดภาวะแปลกแยก

เหมือนกับว่าจะไปสู่ศาสนาไม่มีไวยากรณ์ได้มันต้องถึงจุดจริงๆ

มันก็ต้องผ่านการเรียนรู้นั่นแหละ ผมเข้าใจว่าคนปัจจุบันกำลังมองหาสิ่งที่เรียกว่าหนทาง ทีนี้ในการมองหาคนทางมันต้องมีความหมายของการคิดไปข้างหน้าว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเราตอนนี้มันจะเป็นหนทางไปที่ไหน จะเป็นหนทางที่เราประสงค์ที่จะไปปลายทางไหม ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นประเด็นที่ละเอียด เนื่องจากในปัจจุบันพวกเราที่เติบโตขึ้นมาแล้วบอกว่าอยากรู้พุทธศาสนาโดยไม่ต้องมีไวยากรณ์ทำได้ไหม ผมบอกทำไม่ได้ ที่ทำไม่ได้เพราะเราอยู่ท่ามกลางไวยากรณ์ทั้งนั้นเลย แม้กระทั่งที่เราจะออกจากกรงยังต้องเป็นไปตามไวยากรณ์เลย

แล้วกรงของแต่ละคนก็ตีกรอบความคิดของแต่ละคน

ขอโทษนะครับ ถ้าเราพูดแบบไม่เกรงใจใคร เวลานั่งประชุมสัมมนากันในบางเวลา ผมรู้สึกเกือบจะตั้งคำถามนะ แต่ขอโทษภาษาที่ผมใช้ต่อไปนี้ไม่ได้ต้องการตำหนิหรือวิจารณ์นะครับ ผมมีความรู้สึกว่าหรือว่าระบบการศึกษาปริยัติธรรมในสังคมไทยปัจจุบันมันจะเป็นปัญหาที่เป็นโทษมากกว่าจะเป็นคุณเสียแล้วกระมัง เพราะพวกเราจำนวนหนึ่งที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ มันเหมือนกับติดหล่มยังไงไม่รู้ คือเราไม่เปิดใจรับความคิดหรือการตั้งสมมติฐานบางอย่างที่ต่างออกไปจากความรู้ที่เราเรียนมาบ้างเลย หรือระบบการศึกษาปริยัติธรรมในพุทธศาสนาเถรวาทของเรามันมีข้อผิดพลาดอะไร

ผมก็รู้สึกในใจครับว่าในแง่หนึ่งเราเป็นหนี้ระบบนี้ที่ให้โอกาสเรามีการศึกษา มีชีวิตการงานเลี้ยงตัวเองได้ แต่มาคิดอีกด้านหนึ่ง เราต้องดิ้นรนมากพอสมควรที่จะหลุดออกจากกรอบความเชื่อที่ถูกปลูกฝังกล่อมเกลามา เหมือนกับเราถูกทำร้ายเหมือนกัน และเวลาเรามองเข้าไปถึงสิ่งที่อาจารย์บอกว่าการใช้พุทธศาสนาแบบไวยากรณ์ ผมก็คิดว่าหลายๆอันมันทำร้ายสังคม ทำร้ายคนในระบบนั้นด้วย  แต่เขาอาจไม่รู้ตัวว่าเขาถูกทำร้าย ไม่รู้ผมพูดแรงไปหรือเปล่า หรืออาจารย์คิดอย่างไร

ผมมีเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน คือเมื่อตอนที่ผมไปเดินรอบเกาะสมุยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ผมก็ถือฤกษ์โดยการเข้าไปกราบพระมหาเถระที่อาวุโสสูงสุดบนเกาะสมุย ปัจจุบันท่านมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเป็นองค์แรกและก็เป็นองค์เดียวบนเกาะสมุย แม้ท่านจะออกตัวว่าท่านได้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเพราะท่านเป็นสามเณรมาพร้อมๆกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ คือเป็นสามเณรมาด้วยกันมีอาจารย์องค์เดียวกันกับสมเด็จ แต่เนื่องจากว่าสมเด็จเกี่ยวเป็นสามเณรที่เรียนหนังสือเก่ง ฉลาด หลวงพ่อจึงส่งมาเรียนที่วัดสระเกศ ท่านนี้ก็อยู่ที่เกาะสมุยมาไม่ได้เป็นอะไร เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าท่านนั้นไม่ได้มีความสามารถอะไรหรอกเป็นเรือน้อยลอยตามเรือลำใหญ่ท่านว่าอย่างนั้น (หัวเราะ)

แต่ที่ผมอยากเล่าคือผมเข้าไปกราบคารวะท่านเพื่อจะขอให้ท่านได้โปรดให้พรผม ผมจะออกเดินเพื่อคารวะเกาะสมุย ท่านเป็นพระที่ผมขอคารวะก่อน ท่านก้มลงมา ผมนั่งคุกเข่าอยู่ตรงหน้า ท่านนั่งอยู่บนอาสน์สงฆ์สูงหน่อย ก้มลงเอามือมาจับมือผมขณะที่ผมพนมไหว้ แล้วท่านพูดออกมาว่า “เราโลกียสุขก็ไม่ได้เสพ โลกุตตรสุขก็ไปไม่ถึง” แทนที่ท่านจะให้พรผม ท่านกลับรำพึงถึงตัวท่านเองที่อายุ 90 ประมาณนั้น อายุท่านมากกว่าสมเด็จไปนิดหนึ่ง ผมรู้สึกสะเทือนใจ นี่บอกตรงๆคนอื่นอาจจะบอกว่าผมคิดมากหรือผมเป็นคนอ่อนไหวง่าย แต่หลวงพ่อที่ผมเคารพตอนที่ผมบวชมาท่านก็เป็นพระเถระของเกาะสมุยแล้ว วันนี้ท่านยังมีชีวิตอยู่แล้วผมก็กลับไปคารวะท่านเพื่อจะบอกว่าพรุ่งนี้เช้ามืดผมจะออกเดินแต่แทนที่จะให้พรผม ท่านกลับพูดออกมาแบบนั้น ผมสะเทือนใจตรงที่ว่าโอ้นี่คือภาพรวมของนักบวชไทยหรือ

นี่เป็นผลของระบบโครงสร้างคณะสงฆ์แบบที่เป็นอยู่

ใช่ ระบบโครงสร้างพวกนี้ แล้วเมื่อท่านมีอายุอยู่ในวัยหนุ่มท่านก็เข้มแข็งผ่านการทำงานเป็นพระสังฆาธิการมาตามลำดับจนเป็นเจ้าคณะอำเภอ เมื่ออายุครบต้องเกษียณมาเป็นที่ปรึกษา ท่านก็ทำงานรับใช้สถาบันพระศาสนามาเป็นเวลานาน แต่บทรำพึงของท่านมันก็น่าสะเทือนใจ

แต่ท่านก็ซื่อตรง พูดออกมาตรงๆ

ท่านซื่อตรงๆ ผมจึงเคารพท่านมาก แต่ที่เล่าตรงนี้เพียงเพื่อจะบอกว่ามันมีอะไรบางอย่างอยู่ในระบบ ผมเรียกว่าระบบเรียนรู้ก็แล้วกันอย่าแยกปริยัติปฏิบัติเลย เป็นระบบการเรียนรู้ตามแนวพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย ที่บอกว่ารู้สึกสะเทือนใจนั้นไม่ได้สะเทือนใจเพื่อจะตำหนิว่าผิดหรือถูก แต่สะเทือนใจในความหมายที่ว่ามันมีอะไรที่ทำให้เราซึ่งผ่านเส้นทางนี้มาเหมือนกัน เหมือนที่อาจารย์พูด ผมกับอาจารย์คิดตรงกันก็คือ ทุกครั้งที่เราระลึกถึงการเรียนรู้ในทางพุทธศาสนาแบบระบบนี้เรามีความสำนึกในบุญคุณของระบบการศึกษาที่หล่อเลี้ยงเรา ถ้าจะบอกกล่อมเกลาเรามาก็ได้ นี่คือสิ่งที่เราไม่เคยลืมและมีความสำนึกอยู่เสมอ แต่ในขณะที่ไม่ลืมและสำนึกเสมอนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่คิดหาหนทางเป็นอย่างอื่นนะครับ เราก็ถามตัวเองเสมอว่าระบบที่เราเรียนรู้มานั้นมันดีแล้วหรือยัง เราควรจะทำอะไรต่อ ซึ่งผมเข้าใจว่าประเด็นนี้คือที่ผมกับอาจารย์มานั่งคุยกันว่า แล้วเราจะออกจากไวยากรณ์ที่เราเคยท่องจำมาได้อย่างไร ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นผิด แต่ยังมีความรู้สึกว่ามันยังไม่พอ

ในอนาคตอาจารย์มองว่าเป็นไปได้ไหมที่ระบบของการเรียนรู้พุทธศาสนาแบบมีไวยากรณ์จะสามารถส่งต่อไปถึงศาสนาแบบไม่มีไวยากรณ์ได้ คือมันเกิดผลกระทบต่อคนทั่วไปด้วย

ผมเข้าใจว่ามันเป็นภาวะซึ่งเป็นปกติที่เมื่อสิ่งที่อยู่ในกรอบของไวยากรณ์ที่พูดถึงนี้ไม่ได้รับการยอมรับ พอไม่ได้รับการยอมรับมันมาถึงจุดๆหนึ่งที่เหมือนกับสมัยหนึ่งเราอ่านบทกวีของท่านอังคารแล้วก็ถูกวิจารณ์จากบรรดากวีในยุคเดียวกันหรือคนที่มีอาวุโสมากกว่าท่านว่าท่านอังคารเขียนกวีไม่เป็น เขียนกวีไม่ถูกประมาณนี้ เพราะไม่เคารพในฉันทลักษณ์ แบบแผนของกวี โชคดีว่าท่านอังคารท่านเป็นคนดื้อพอที่จะไม่กริ่งเกรงคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น จวบจนกระทั่งมาถึงวันหนึ่งก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่าบทกวีที่ไม่มีความเคารพในฉันทลักษณ์แบบท่านอังคารนี่แหละคือบทกวีที่คนอ่านแล้วรู้สึกว่าใช้ได้

ผมเข้าใจว่าไม่ใช่ผิดที่มีกวีท่านอื่นๆวิจารณ์ท่านอังคารเพราะเขามีกรอบไวยากรณ์ของฉันทลักษณ์แบบเดิมอยู่ แล้วเขาก็มีความรู้สึกว่าควรเป็นไปตามฉันทลักษณ์นี้ แต่สำหรับเราผู้อ่านเราไม่ได้สนใจเรืองฉันทลักษณ์ แต่เราสนใจเรื่องความหมายที่มันก่อให้เกิดความรู้สึกขึ้นในใจเรา ว่าขณะที่เราอ่านบทกวีของท่านอังคารนั้นเรารูสึกว่ามันได้ความรู้สึกที่เราชอบกว่าแบบเดิม

ที่อาจารย์ไปสนใจวัชรยานของธิเบตเพราะว่าให้ความรู้สึกมากว่า

ใช่ ผมตอบอาจารย์เลยว่าใช่ มันให้ความรู้สึกได้มากกว่า เป็นความรู้สึกที่ผมเข้าใจว่ามันดี มันเป็นสิ่งที่เลือนหายไปจากพื้นที่ของการปฏิบัติก็แล้วกัน เมื่อตะกี้เราใช้คำว่าปริยัติและการปฏิบัติใช่ไหม มันเลือนหายไปจากพื้นที่แห่งการปฏิบัติตามแนวเถรวาทซึ่งผมปฏิบัติอยู่

โปรดติดตามตอนที่ 3 (ตอนจบ)