พระถนอมสิงห์ สุโกสโล
กลุ่มพุทธศาสน์เพื่อราษฎร์
หากจะบอกว่าในบรรดาผู้รู้ทั้งฆราวาสและนักบวชในทุกศาสนาทุกสายทุกนิกายทั่วโลก ไม่มีใครที่ไหนจะมีความรู้เท่ากับพระไทยอีกแล้ว ก็คงจะฟังดูไม่เป็นการเกินเลยนัก เพราะว่าถ้าเราไปถามคำถามกับท่านเหล่านั้น เราก็มักจะได้คำตอบบ้าง ไม่ได้คำตอบบ้าง ตอบไม่ได้บ้าง แล้วก็ไม่สนใจที่จะตอบบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไปที่เข้าใจว่า "คน" ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องในโลกก็ได้ แต่สำหรับพระภิกษุไทยนั้นดูจะเกิน "คน" ไปเสียหน่อย
เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ในการประชุมระดับไหน จะนอกหรือในประเทศ เราก็จะพบว่าพระภิกษุจากประเทศไทยดูจะเป็นผู้ที่มีคำตอบให้กับทุกปัญหาในโลก ตั้งแต่ปัญหาการใช้ชีวิตในระดับครัวเรือน ปัญหาสังคมระดับชาติที่มีความสลับซับซ้อน จนไปถึงระดับว่าใครตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นไหน เพราะกรรมอะไรเลยทีเดียว และหากใครใกล้ชิดจะพบว่าเรื่องอย่างนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะพระเซเล็บดังๆ เท่านั้น พระทั่วไปในชุมชนก็มีทีท่าและจริตที่จะเป็นอย่างนั้นไปเสียหมด แม้ระดับอาจจะไม่เท่ากันโดยความน่าเชื่อถือ แต่ก็จะมีการวางท่าเสมือนกับว่าท่านรู้ทุกอย่าง ตอบได้ทุกคำถามสุดแต่ใครจะถามมา(จะถูกจะผิดก็ค่อยว่ากันอีกที) ทำให้เราไม่ค่อยเห็นภาพของพระภิกษุไทยพยายามออกมาอธิบายปัญหาที่ควรอธิบายสักเท่าไรนัก เช่น พยายามอธิบายเหตุผลที่จะสร้างวัดใหม่กันอยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่มีวัดร้างเป็นหมื่นๆ แห่งในประเทศไทย หลายแห่งถูกสร้างขึ้นเสียใหญ่โต แต่กลับไม่มีใครอยู่ดูแลเลย หรือ ทำไมพระไทยถึงคิดว่าการใบ้หวย ดูหมอถึงเป็นสิ่งที่ควรทำ เรื่องแบบนี้มีคนถามกันอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยมีหนังสือหรือคำอธิบายใดๆ ออกมาจากพระเกจิอาจารย์ทั้งหลาย จะมีอธิบายมากที่สุดก็ดูเหมือนจะบอกเพียงว่าเพื่อเรียก "ศรัทธา" ให้คนเข้าวัด ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่เห็นว่าเข้าวัดไปแล้วจะได้ประโยชน์อะไรมากนัก เพราะพระส่วนใหญ่ก็เหมือนจะถูกซักซ้อมคำตอบเอาไว้บ้างอยู่แล้ว จากการอบรมพระใหม่หากในวัดนั้นๆ จะมี จะตอบจากความเข้าใจจริงๆ ก็ไม่ใช่ แต่ก็เอาเถอะจะหลักการใดๆ ก็ตามหากทำให้ท่านเข้าใจทุกเรื่องได้ เราก็ไม่ว่ากัน แต่ท่านไปเอาความมั่นใจเหล่านั้นมาจากไหนกันแน่ถึงกล้าตอบทุกคำถาม
โดยเฉพาะพระที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งหลายครั้งก็อธิบายผิดหลักการเมื่อถูกท้วงติงไป ก็ไม่เคยเห็นท่านจะออกมาขอโทษชาวประชาทั้งหลายในฐานะผู้ให้ข้อมูลผิด ไม่ว่าจะเป็นกรณีวลีคำคมที่พูดโดยขาดความยั้งคิดเผลอผิดพลาดอย่าง "ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน" ก็ไม่ออกมารับผิดชอบ กลับออกมาดำน้ำแก้ตัวต่อไปอีก หรือกรณีที่มีพระถูกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องโกงที่ดินชาวบ้านในหลายท้องที่ ก็ไม่มีพระรูปไหนออกมาอธิบาย แม้แต่พระในหมู่บ้านน้อยใหญ่ที่ก่อนจะบวชนั้นหรือก็ไม่ได้รู้อะไรมาก พอบวชได้แค่เดือนเดียวสองเดือนก็กลับกลายเป็นครูบาวิปัสสนาจารย์กันไปหมดเสียแล้ว บางรูปเคยมีชื่อเสียงโด่งดังในเส้นทางอาชีพของตน แล้วมาบวชล้างซวยปรากฏว่า แป๊บเดียวเป็นพระเซเล็บไปเสียแล้ว เพราะตอบได้ทุกคำถามนี่เอง จึงถามว่าเคยสงสัยไหมว่าทำไมพระไทยถึงต้องพยายามตอบให้ได้ทุกคำถาม และถ้าถามไปตามวัดดังๆ ยังไม่แน่ว่าท่านจะตอบด้วยนะว่าพระไทยดีที่สุดในโลก เพราะพระพม่าถึงจะดีเรื่องวิปัสสนาแต่ก็ยังไม่เจริญเท่าไทย พระศรีลังกาก็ไม่เอาวินัยแถมเล่นการเมืองอีก พระลาวและเขมรก็ดูถูกเขาเหลือเกินว่าต้องมารับอารยธรรมจากไทย พระสายนิกายอื่นๆ ที่เป็นมหายานก็ยิ่งแล้วใหญ่อาจจะไม่ใช่พระแล้วก็ได้เป็นต้น ไม่ต้องนับคนที่ไม่เคยบวชเรียน คนต่างศาสนาเลย เพราะคนพวกนั้นย่อมรู้น้อยกว่าอยู่แล้ว จะมีบ้างก็เป็นบางท่านที่เคยบวชเรียนและมีผลงานให้เป็นที่ประจักษ์อยู่บ้างก็เท่านั้น ทำให้เป็นปัญหาว่าพระส่วนใหญ่ไม่สามารถเชื่อมโยงความจริงเข้ากับหลักการได้ จนพระที่เฝ้าแต่บอกให้คนปล่อยวางยังเครียดจนฆ่าตัวตายไปแล้วบ้างเป็นบางรูป
ฉะนั้นอะไรเล่าที่ทำให้พระไทย "คิดว่า" ตัวเอง "ดี" และ "รู้" มากกว่าคนอื่นเขา เป็นไปได้ไหมว่าเพราะระบบสังคมที่มาแต่เดิม เพราะสมัยก่อนวัดเป็นแหล่งความรู้เป็นที่รวมกลุ่มในชุมชน ความรู้ต่างๆ ที่คนธรรมดาสามัญจะได้เรียนรู้ก็สอนกันอยู่ในวัด โดยเฉพาะเรื่องศีลธรรมจริยธรรมที่ถูกสอนกันมาก็เป็นศีลธรรมแบบพุทธ และศีลธรรมแนวพุทธนี้ก็มีที่มาจากพระไตรปิฎก อีกทั้งสมัยก่อนไม่ได้มีการแปลเป็นภาษาไทย ผู้ที่จะมีความสามารถในการอ่านพระไตรปิฎกได้นั้นจึงมีจำนวนจำกัด ยิ่งผู้ที่สามารถจะใช้เวลาในการค้นคว้าความรู้จากพระไตรปิฎกในสมัยนั้นก็จะเป็นเรื่องของพระเสียมากกว่า คัมภีร์พระไตรปิฎกจึงกลายเป็นฐานอำนาจชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้รู้พระไตรปิฎกได้รับการยกย่องเหนือกว่าคนทั่วไป ด้วยความศักดิ์สิทธิ์นี้เองทำให้บุคคลที่อยู่ใกล้กับคัมภีร์พลอยได้รับการยกย่องประดุจผู้มีความรู้จากในคัมภีร์เหล่านั้นด้วยทั้งที่แท้จริงแล้วพระส่วนใหญ่จะเคยเปิดดูบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้
เมื่อเวลาผ่านไปทางการพบว่าพระก็สามารถเป็นหัวคะแนนที่ดีได้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งให้เริ่มมีการอวยพระโดยจัดให้มีสมณศักดิ์เป็นยศประดับความรู้ความสามารถ เมื่อพระมีทั้งความศักดิ์สิทธิ์จากคัมภีร์ที่ชาวบ้านให้แล้ว ผนวกกับอำนาจจากฝ่ายบริหารบ้านเมืองแล้ว พระก็รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจบางอย่างที่จะพูดอะไรก็ศักดิ์สิทธิ์ไปหมด ยิ่งในสังคมนี้ยังมีคนไม่อยากจะเถียงกับพระเพราะบางคนก็กลัวบาปอยู่ บางคนก็รู้สึกว่าเถียงไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาจึงเลิกแลกเปลี่ยนกัน ทำให้พระก็รู้สึกว่าตัวเองมี "ความถูกต้อง" อยู่ในตัวเองพอสมควร(โดยสถานะ)
ดังนั้นเมื่อสถานะแห่งพระภิกษุกลายเป็นของสำคัญที่มีค่าขึ้นมา สิ่งที่ตามมาในภายหลังคือการรักษาซึ่งสถานภาพแห่งความน่านับถือนี้เอาไว้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าพระภิกษุจะรู้ตัวหรือไม่ แต่ตัวเองก็มีความกลัวฝังแน่นอยู่โดยความกลัวนั้นก็มากับระบบนี้ เมื่อพระต้องการจะรักษาสถานภาพทางการยอมรับของตัวเองเอาไว้ สิ่งที่ตามมาก็คือความพยายามที่จะทำให้สถานะของตัวเองเป็นที่น่าเชื่อถือ ทำให้พระในสมัยนี้ต้องเรียนสูงขึ้น เพื่อจะได้มีคำว่า ดร. ประดับนำหน้าชื่อ เป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิต ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่ที่น่าสนใจคือสิ่งที่เป็นแรงขับให้พระต้องกระทำเรื่องพวกนี้ต่างหาก นั่นน่าจะเป็น "ความกลัว" ถ้าไม่กลัว ท่านก็คงจะยอมรับความจริงไปแล้วว่าท่านไม่รู้อะไร และทำไมท่านถึงไม่รู้ (ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ท่านควรรู้)
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมพระต้องกลัวและกลัวอะไร ตอบได้เลยว่าพระกลัวเพราะพระเป็นสิ่งมีชีวิตเป็นคนเรื่องที่จะต้องกลัวอะไรบางอย่างก็เป็นเรื่องธรรมดาของคน แต่ท่านจะรู้ตัวหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ และสิ่งที่พระส่วนใหญ่กลัวก็คือการสูญเสีย "ตัวตน" นี่เอง พระส่วนใหญ่จึงต้องพยายามที่จะมีผลงานในฐานะพระ ซึ่งการสร้างถาวรวัตถุก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะสามารถทำได้โดยไม่ต้องออกแรงกายแรงใจมากนัก เพราะมีศรัทธาทั้งหลายพร้อมจะให้การสนับสนุนโดยมีชื่อของตนประดับไว้เป็นเกียรติคุณไว้บนสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นอยู่แล้ว
ด้วยความกลัวเป็นพลังขับประกอบกับมีพระไตรปิฎกเป็นเครื่องเกาะเกี่ยว ทำให้พระไทยเองก็ต้องพยายามปกป้องพระไตรปิฎกอย่างสุดชีวิต โดยไม่ยอมแม้แต่กระทั่งตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่ข้างในเลย ว่ามีส่วนไหนที่ชวนให้น่าสงสัยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้พระอาจารย์พุทธทาสถือเป็นผู้หนึ่งซึ่งกล้าท้าทายพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทั้งหลาย ด้วยการตั้งข้อสงสัยและลองปฏิบัติตามนั้น พร้อมทั้งท้วงในสิ่งที่ตนคิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะที่ตนได้ลองปฏิบัติดูแล้วได้ผลไม่เหมือนกับในตำรา ความกล้าที่เกิดขึ้นในตัวของท่านก็มาจากการได้ทดลองปฏิบัติดูแล้วนี่เอง เมื่อท่านเห็นว่าไม่เข้ากับหลักการใหญ่ท่านก็ท้วง เพราะท่านเห็นว่ามันไม่เหมือนท่านก็กล้า แม้แต่พระป่าหลายสายหรือพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหลายรูปก็มีความกล้าที่แสดงจุดยืนในทางที่ตัวเองเดิน ซึ่งท่านเหล่านี้ก็พร้อมที่ให้คนอื่นพิสูจน์ พร้อมสำหรับการตรวจสอบในเรื่องความเป็นอยู่และความประพฤติ ที่สำคัญท่านกล้าที่จะยอมรับในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้ด้วย ซึ่งพระไทยส่วนใหญ่ไม่กล้ายอมรับในเรื่องนี้ ทั้งนี้พระไทยคงลืมหลักธรรมเช่นหลักเวสารัชชกรณธรรมอันมี ศรัทธา(ในความดีสากล เช่น การรู้จักเคารพในผู้อื่น) ศีล (การมีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น) พาหุสัจจะ (หมั่นศึกษาหาความรู้) วิริยารัมภะ (เพียรพยายามอย่างจริงจัง) ปัญญา (มุ่งขัดเกลาตัวเองให้เข้าใจหลักการและเหตุผล) ไปเสียแล้ว ทำให้ความกล้าที่เกิดขึ้นในตัวท่านไม่ได้เกิดจากปัญญา หากแต่เกิดจากความกลัวแทน จึงไม่อาจยืนหยัดอยู่กับราษฎรที่ยากไร้ได้เช่นเดิมอีก
หวังเพียงว่าวันหนึ่งพระที่เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะลองนึกถึงจุดนี้ กล้ายอมรับความเป็นตัวเองมากขึ้น เปิดเผยมากขึ้น ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองรู้และไม่รู้มากขึ้น ท่านก็อาจจะเข้าใจคนรอบข้างมากขึ้นโดยไม่แสดงท่าทีของชนชั้นที่สูงส่งกว่า ไม่ถือตัวเช่นที่พระไทยส่วนใหญ่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่คอยหาทางป้องกันตัวเองจนต้องทำลายความน่าเชื่อถือของศาสนาอื่นๆ อยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ เมืองไทยจะได้สงบมากขึ้นกว่านี้เสียที
บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชื่อบทความเดิม:
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร