ชีวิตที่ต้องเกี่ยวข้องของคนหลากเพศชายจริง หญิงแท้ หรือแม้แต่เกย์ กะเทย นั้นย่อมมีปะปนกับชนและคนทุกชนชั้นวงการไม่เว้นแม้แต่ชีวิตของนักศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตแห่งชาติ เป็นลูกเป็นหลานเราๆ ท่านๆ เนี่ยล่ะฮะ
วันนี้ชาน่าอ่านข่าวคราวจาก นสพ.คงชักเล็ก พิมพ์ผิดฮ่า คมชัดลึก เกี่ยวกับชีวิตของกะเทยหรือสาวประเภทสองที่ต้องแต่งตัวเป็นนักศึกษาหญิงไปมหาวิทยาลัย จึงหยิบมาฝากผู้อ่านประจำคอลัมน์ “พาเม้าท์ชีวิตชาวเกย์” ณ ประชาไทกันบ้าง
เชื่อหรือไม่ว่า ชีวิตของคนเป็นเกย์ อีแอบ นั้นไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องของความขัดแย้งในการแต่งกายเลย เพราะพวกเค้าก็คือเพศชายดีๆ ที่คุณเห็นนั่นแหล่ะ บางครั้งมองแทบไม่ออกดูยากเหลือเกินว่าคนไหนเป็นหรือไม่เป็น ตราบใดที่ไม่มีเครื่องมือดักจับตุ๊ด เกย์ ปรากฎขึ้นบนโลกใบนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นง่ายเสมอคือ ส่วนมากเกย์จะเนี๊ยบ เรียบร้อย ดูดีกว่าผู้ชายทั้งแท่งว่างั้นเหอะ
หลายคนคงคิดว่าทำไมกะเทยเด็กๆ เดี๋ยวนี้อินเทรนด์ แห่กันไปแปลงเพศ ส่วนหนึ่งที่เธอให้เหตุผลด้วยเพราะความเข้าใจว่า การผ่าตัดเจื๋อนเพศนั้นจะได้ผลดีหากทำการผ่ายังเยาว์วัย เพราะพวกเค้าต้องฉีดฮอร์โมนเพศหญิงและกินยาคุมกำเนิดตั้งแต่วัยเอ๊าะๆ แน่นอนว่า ความขัดแย้งภายในจิตใจกับร่างกายมักจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ สุดท้ายบางรายตัดสินใจทำทุกอย่างเพื่อจะปรับเปลี่ยนให้ได้ตามใจปรารถนา เหมือนกับไม่อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก พวกเธอไม่อยากเป็นสาวประเภทสองที่ร่างกายเหมือนชายกำยำ กล้ามแขนเป็นมัดๆ อกผายไหล่ผึ่ง เพราะค่อนข้างจะเอียงไปทางสยองมากกว่าสวย
มองประเด็นเรื่องรายจ่ายในการผ่าตัดแปลงเพศ อะไร ๆ ก็ต้องเป็นเงินเป็นทองกันทั้งนั้นหละค่ะ ยิ่งของใช้ ของขายทุกวัน สินค้าทุกอย่างรวมตัวกันเพิ่มราคาเป็นว่าเล่น ส่วนราคาในการผ่าตัดสมใจนึกนั้น เริ่มต้นที่หลักแสน ถึงแสนต้น ๆ แล้วแต่ความมีชื่อเสียงของแพทย์และสถานพยาบาลผู้ทำศัลยกรรม บางรายต้องเริ่มฉีดฮอร์โมนและกินยาคุมกำเนิดตั้งแต่วัยรุ่น ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละประมาณสองพันบาท ยังไม่รวมกับค่าผ่าตัดทำนม เสริมเต้า ราคาเริ่มต้นที่สี่หมื่นอัพค่ะ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนมากของเด็กนักศึกษาก็มาจากพ่อและแม่ มีส่วนน้อยที่จะเก็บเงินได้เองจากการหาลำไพ่พิเศษ ทำงานนอกเวลา
“ทำงานพิเศษรอบนี้ได้เงินแล้วช้านจะไปผ่าตัดเสริมนมเต้าเดียวก่อน กลับมาทำงานซัมเมอร์หน้าค่อยกลับไปผ่าอีกข้าง” ขำ ขำ คั่นอารมณ์เจ้า...
ด้าน นพ.กมล วัฒนไกร ประธานฝ่ายวิชาการ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การกินฮอร์โมนเพศหญิงเพื่อช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลตั้งแต่อายุยังน้อยและกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในกลุ่มของผู้หญิงนั้นจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทรวงอก แต่หากเป็นกลุ่มชายที่กินฮอร์โมนเพศหญิงเป็นระยะเวลานาน ยังไม่มีผลวิจัยยืนยันว่าเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเหมือนผู้หญิงหรือไม่ แต่คาดว่าการกินฮอร์โมนเพศหญิงไม่ได้มีความปลอดภัย 100% ส่วนกรณีผู้ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อน และต้องผ่านการทดสอบจากจิตแพทย์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ทั้งนี้ผู้ชายที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศมักจะอยู่ในวัยที่ร่างกายเจริญเต็มที่หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด” *
เราจะเห็นน้องๆ สาวประเภทสอง หลายคนจากสถาบันการศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชน บางคนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นกะเทย ถ้าไม่เปล่งวาจาออกมา พวกเค้าและเธอแต่งตัวเป็นนักศึกษาหญิงไปมหาวิทยาลัยอย่างเสรี
ชาน่า หยิบข้อความจากรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ที่แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ ท่านพูดว่า "นักศึกษาเพศที่สามมีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ และทำอะไรดีๆให้แก่สังคมอย่างมากมายแต่การแปลงเพศตั้งแต่อายุยังน้อยหรือขณะเรียนมหาวิทยาลัยนั้นอยากให้แพทย์มีมาตรฐานการตรวจสภาพจิตใจ ก่อนอนุญาตให้ผ่าตัด เพราะที่รู้มายังไม่มีกฎ หรือข้อบังคับชัดเจน ต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลหรือคลินิกก็มีรายได ้ส่วนใหญ่มาจากการ ศัลยกรรมแปลงเพศ ผมอยากให้คำนึงถึงความปลอดภัยให้มาก เพราะการผ่าตัดเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างต่างประเทศ เขามีการพบจิตแพทย์หลายครั้ง มีการทดสอบอื่นๆ อีกมาก กว่าจะผ่าตัดแปลงเพศ ส่วนเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้าในบัตรประชาชน จากนายเป็นนางสาวนั้น ถ้าคุณแปลงเพศให้เขาแล้ว คุณก็ต้องเปลี่ยนคำนำหน้าจากนายเป็นนางสาวให้เขาด้วย เพราะร่างกายได้เปลี่ยนเป็นผู้หญิงไปแล้ว" * ดร.ปริญญา กล่าว
เท่าที่ท่านพูดมานั้นแสดงว่าทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมีนโยบาย ผ่อนปรนเรื่องการแต่งกายของนักศึกษา เพราะเค้าเน้นให้สาระสำคัญทางด้านสติปัญญาและ ความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเรื่องการแต่งกายเพียงแต่ตอนรับปริญญาบัตรต้องแต่งชุดเป็นผู้ชายเท่านั้น
ส่วน ผศ.ดร.มนัส นามวงศ์ คณะวิทยาการจัดการหลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่า “เมื่อโลกกำหนดให้มีแค่สองเพศ เพศที่สามจึงต้องพยายามเข้าทางเพศใดเพศหนึ่งให้ได้ เพื่อให้สังคมยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่ ส่วนเรื่องการที่นักศึกษาชายแต่งชุดนักศึกษาผู้หญิงนั้น ขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอน ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าการที่เขาแต่งชุดนักศึกษาหญิงก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไร บางคนทำตัวเรียบร้อยกว่าผู้หญิงแท้เสียอีก ส่วนปัญหาที่พบอาจเป็นเรื่องการใช้ห้อง น้ำ เพราะนักศึกษาหญิงบางรายก็ไม่พอใจ” *
อิชั้นเชื่อแน่ว่าผลกระทบต่อการแต่งตัวของน้องๆ สาวประเภทสองย่อมมีทั้งทางตรงและทางอ้อม และก็เกี่ยวข้องกับคนทุกเพศอย่างหลีกเสียไม่ได้ หากคนทุกคนจะมองพวกเธอเหล่านั้นที่ความเป็นคนไม่ได้มองที่พวกเธอเป็นตัวประหลาด หรือคนแปลกพิศดารพันลึก ซึ่งก็เหมือนกับการเคารพสิทธิส่วนบุคคล และแน่นอนว่าพวกเธอก็คงจะเคารพคุณ คนทุกคนเช่นกัน
หรือใครจะเห็นด้วยหรือไม่ คิดเห็นเช่นไรย่อมมีสิทธิ์คิดและเห็นได้อย่างเสรีบนโลกใบนี้...
จาก ชาน่า (อยากกลับไปเป็นนักศึกษา(สาว)... )
เขียนจากเมือง St.Lucia เกาะที่มีฝนตกมากที่สุดในทะเลแคริบเบี้ยนค่า...
หมายเหตุ
ข้อมูลการสัมภาษณ์จาก นสพ คง-จะ-เล็ก (ผิดประจำ) พิมพ์ใหม่ค่ะ... นสพ . คม –ชัด – ลึก
ภาพประกอบจาก เว็บไซต์ www.missladyboys.com