Skip to main content

เปิดตัวหนังสืออีกแล้วหรือพี่..!??!” เครื่องหมายประหลาดใจตามมาด้วยความตกใจ ประมาณว่าไม่เข็ดหลาบจำเสียทีนะพี่ หนังสือเล่มไหนเล่มใหม่หรือพี่ ออกมาเมื่อไหร่ ไม่เห็นหน้าเห็นตาเลย


นั่นสิ มันหลบอยู่ตรงไหน กลายเป็นของหายากไปได้อย่างไร หลบหน้าหลบตาคนอ่าน”

ทีเล่นหรือทีจริงก็ตาม สุดท้ายผมก็บอกไปว่า สงสัยแผงเขาไม่ว่างวางของหนัก หรือไม่ก็เขาเก็บออกไปจากแผงเสียแล้วมั้ง แล้วเขาก็ถามต่ออีกว่า แล้วพี่จะมาเปิดตัวหนังสืออีกทำไม สำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานของพี่รวยเหรอ ผมรีบออกตัวว่า เปล่า อาจจะจนก็ได้มั้ง


พอศอของข้าวแพงไข่ไก่แพง บนหนทางที่ไม่ได้ปลูกข้าวกินเอง และไม่ได้เลี้ยงไก่ไว้กินไข่ พอคิดว่าจะเปิดตัวหนังสือ ให้รู้สึกเป็นเรื่องยากๆเปลืองๆ(ตัว)ชอบกล ใครกันเล่าสนุกสนานกับการโขลกน้ำพริกละลายแม่น้ำ


วัฒนธรรมเปิดตัวหนังสือ จำเป็นหรือไม่เพียงใด ผู้อ่านอาจชั่งใจแล้วคิดเห็นไปได้ต่างๆนานา จำได้ว่าครั้งแรกที่ผมนั่งลงเผชิญหน้ากับคนดู เพื่อตอบคำถามและพูดถึงหนังสือเล่มที่ตัวเองเขียน ผมรู้สึกเหมือนเด็กนักเรียนหลังห้องคนหนึ่ง ครูสั่งให้ออกไปยืนอยู่หน้าชั้นเรียน พร้อมกับตอบการบ้านข้อที่ยากที่สุด


ผู้ฟังเป็นเพื่อนร่วมชั้น มองจ้องมาเป็นตาเดียว

แล้วคำตอบตะกุกตะกักก็ตามมา ครูคอยแหย่คอยหยอดบ้าง กับคำตอบที่ดูโง่ๆน่าอายเพื่อน

แต่ผมก็รอดตัวมาได้ ด้วยผู้ดำเนินรายการถามแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่รุกฆาตให้เด็กชายเสียหน้าหน้าชั้นเรียน


ครั้งนั้น ผมออกจะตื่นเต้น เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต และได้รับเกียรติอย่างสูงที่ผู้พิมพ์จัดเวทีย่อมๆ ให้ผมพูดถึงสิ่งที่ผมเขียนทั้งเล่ม ทั้งๆที่ไม่ใช่เป็นหนังสือขายดิบขายดีอะไร จำนวนพิมพ์ก็ไม่มากมาย แค่ 1,000 เล่ม (ยังแอบเห็นมีเหลืออยู่จนถึงวันนี้)


หลังจากนั้น ก็อีกครั้งหนึ่ง แล้วเว้นว่างให้ผมโล่งใจมานาน ว่าหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง แล้วเราต้องออกไปบอกอีกว่า เราเขียนอะไรไปบ้าง โถๆๆ... อาชีพนี้ช่างประหลาดล้ำเหลือ


ความพยายามจะทำงานเขียนหนังสือ นับตั้งแต่ครั้งแรก มันเต็มไปด้วยไฟฝัน ความทะเยอทะยาน ถนนทุกเส้นที่มองไปเต็มไปด้วยกลีบดอกไม้ โปรยส่งกลิ่นหอมยั่วล้อหัวจิตหัวใจ ช่างสง่างาม สวยงาม บริสุทธิ์ น่าหลงใหล อิสระในโลกกว้าง ฯลฯ ดูดีเหลือเกิน


ผมมักมีน้ำเสียงกระซิบบอกตัวเอง เป็นไงนาย สาแก่ใจแล้วสิ เหมือนอย่างที่นายหวังหรือเปล่า ... กว่าจะรู้ สัมผัสถึงแก่นแท้อย่างจริง เวลาก็รวบหัวรวบหางไปเรียบร้อยแล้ว


แก่นแท้อย่างจริง”  ที่ว่านั้น ผมบอกใครตรงๆบนบรรทัดสาธารณะไม่ได้หรอก และมันอาจเป็นความลับไปตลอดชีวิตก็ได้


ครั้งนี้ น่าจะเป็นครั้งที่ 3 ที่ผมออกมายืนหน้าชั้นเรียนอีกแล้ว เพียงแต่ว่าคราวนี้ ผมมีเพื่อนนักเรียนหลังห้องด้วยกันมายืนเป็นเพื่อนด้วย แม้ไม่อาจรู้ว่า เพื่อนจะทำให้เราหน้าแตก หรือคุณครูกับเพื่อนรวมหัวกันทำให้เรากลายเป็นตัวตลก ให้เพื่อนๆในชั้นเรียนหัวเราะขำๆ


เริ่มต้นมาจาก เสี้ยวจันทร์ แรมไพร บรรณาธิการผู้อยู่เบื้องหลัง ซีไรต์ อะวอร์ด มาแล้ว 3 คน กำลังออกหนังสือเล่มใหม่ชื่อ นัยความสัมพันธ์ (ชื่อออกจะหมิ่นเหม่ในหัวอกเราเหลือเกิน ผมได้ยินครั้งแรก เหมือนเสียงมีหางหวานๆลอยมาประมาณว่า ไงจ๊ะ ในความสัมพันธ์)


หนังสือเขาออกมาใหม่หมาด เขามีใจอยากชวนผมไปร่วมด้วย

นัยความสัมพันธ์ ของ การเดินทางอันยาวนาน ตั้งแต่ต้นจนจบ”

นัยนั้นจึงเกิดขึ้นมาอย่างมีปีมีขลุ่ย มีเพลง ด้วยผู้มารับเชิญคือ วงฝ้าย กับ ไวด์ซี๊ด พร้อมเครื่องดื่มบ้าง ขนมบ้าง มีเก้าอี้ให้นั่ง ณ ร้านเล่า ถนน นิมมานเหมินทร์ เย็นย่ำ 6 โมง วันอาทิตย์ ที่ 16 พฤศจิกายน 2551

 



เรียบร้อยเสร็จสรรพในนัยความสัมพันธ์จริงๆ

เสี้ยวจันทร์ แรมไพร เป็นบรรณาธิการให้งานเขียนของผมมาแล้ว 5 เล่ม ไม่น้อยเลย ไม่น่าเชื่อ อาจจะโทษฐาน นัยความสัมพันธ์ นี่แหละ


การเดินทางอันยาวนาน ตั้งแต่ต้นจนจบ” รวมเรื่องสั้นที่ใกล้จะเก็บออกจากร้านไปอยู่ห้องเก็บของเต็มที หรือบางร้านอาจจะเก็บไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยข้อหาฉกรรจ์ว่า ยอดขายไม่เดิน ฮ่าฮ่า..

แล้วมาเปิดตัวในวันที่หนังสือกำลังถูกเก็บออกจากร้านนี่นะพี่”

ใช่” ผมตอบเสียงแข็ง “แต่ในความสัมพันธ์เพิ่งเริ่มต้น”(ฮ่าฮ่า)


ผมไม่รู้ว่าน้องคนถามจะเข้าใจหรือเปล่า ว่าผมได้ยืนหน้าห้องเรียนเคียงคู่กับบรรณาธิการที่เขียนหนังสือ ครั้งแรกเลยนะเนี่ย


ดูท่าเขาจะตามมา edit ชีวิตจริงต่อหน้าสาธารณะกันคราวนี้แหละกระมัง edit ต้นฉบับงานเขียนบนหน้ากระดาษยังไม่พอ ยังตามมาบนพื้นที่ชีวิตจริงอีกต่างหาก


ลองดูและลองแลครับ ใครว่าง ใครใกล้ ใครไกลแต่บังเอิญมาอยู่ใกล้ถนนนิมมานเหมินทร์วันนั้น ลองแวะไปดูเด็กหลังห้องสองคน มายืนต่อหน้าคุณครูที่ชื่อ อุรุดา โควินท์ แถมหัวท้ายด้วยเพลงอีก 2 วง สงสัยมีถั่วคั่ว ข้ามเกรียบ อะไรๆชุบแป้งทอด พั้นส์หวานให้กินดื่มบ้างนะครับ


กว่าจะเป็นหนังสือสักเล่มหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จะยืนอยู่บนแผงวางได้นานๆก็ยาก กว่าจะเดินทางไปขึ้นหิ้งหรือวางบนโต๊ะนักอ่านยิ่งยากไปอีก ยิ่งเป็นเรื่องการเปิดตัวหนังสือ โอ..ยย.. ยากจริงๆ(หากไม่มีนัยความสัมพันธ์)


วันที่เราไม่อาจคาดหวังได้ว่า หนังสือจะมีช่องทางออกตามหาคนอ่านหรือไม่ แต่เวลานอนบูดมอมแมมบิดเบี้ยวอยู่ในโกดังเก็บของนั้นมีเหลือเฟือ โอกาสได้พบหน้านักเขียนหน้าเหี่ยวหน้าย่น ก็มีเวลาเพียงน้อยนิดเช่นกันครับ สมบัติยั่งยืนนานยืนทนซ้ำซากของคนเขียนหนังสือเค้าหล่ะครับ


แต่อย่างน้อยที่สุด มาร่วมต้อนรับและอาลัยให้กับหนังสือ 2 เล่ม เล่มหนึ่ง กำลังจะออกไปจากร้าน พร้อมเชื้อเชิญหนังสืออีกเล่มหนึ่งเข้าร้านมาแทน นัยความสัมพันธ์ของการเดินทางอันยาวนาน ตั้งแต่ต้นจนจบ ครับ

 

 


บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
พ่อของลูกคือลูกของพ่อ ล้วงหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ออกจากกระเป๋าสะพาย เป็นเล่มเดียวที่ติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่ลูกชายเดินทางไปด้วย และไม่อาจรู้หรอกว่าจะได้เปิดอ่านในช่วงไหนเวลาไหน ลูกของพ่อคือหลานของปู่กำลังง่วนอยู่กับสมุด ดินสอ สีในกระเป๋าเช่นกัน เขาคงนึกอยากเขียนภาพ
ชนกลุ่มน้อย
เดินทางแบบกระเด็นกระดอนอยู่ในกระป๋องหนาหนักติดล้อ  และความยาวนานของระยะทาง  กว่า 5 ชั่วโมงไปให้ถึงใจกลางภูเขา  แต่ยิ่งคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงใจกลางภูเขาตามมาตรวัดของแผนที่แผ่กางออกกว้าง  ยิ่งกลับเป็นเรื่องยากไปถึงใจกลางภูเขาที่อยู่ในใจ  ภูเขาเป็นทะมึนก่อกำแพงรายล้อม  
ชนกลุ่มน้อย
    เป็นเวลา 10 กว่าปี ที่ผมไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อใต้ชายคาเดียวกันนานๆ แต่คราวนี้ พ่ออยู่กับผมนานถึง 90 วัน พ่อในวัย 74 เพิ่งผ่านการบำบัดรักษาหัวใจอย่างชนิดลุ้นเส้นยาแดงผ่าแปดกันมา และต้องควบคุมตัวเองเรื่องการดื่ม กิน เคลื่อนไหว และเคร่งครัดกับขนาดจำนวนยารักษาอย่างชนิดห้ามขาดเกินเวลา
ชนกลุ่มน้อย
ไหนๆ ก็กอดกันแล้ว กอดต่ออีกครั้งเป็นไรไป ภูเขาลูกนั้นมีเถียงไร่ตั้งอยู่โดดเด่นและโดดเดี่ยว สองพ่อลูกชวนกันไปยังเถียงไร่ ที่นั่นคงสบายตา ดูลับหูลับตาคน ไม่มีใครไป พอเดินไปได้ไม่กี่ก้าว กลับพบกับไม้สามต้น ดูราวเป็นพี่น้องกัน ทรงพุ่มงามเหลือเกิน เหมือนก้อนเมฆย้อมสีเขียวเกิดเปลี่ยนใจอยากมาปักเป็นต้นไม้อยู่บนผืนดิน มองแล้วมองอีก ยังไม่อิ่ม “กอดดีกว่าพ่อ” เสียงนั้นบอก “พ่อกอดด้วย” นานอย่างนาน ผลัดกันกอดไม้สามต้นนั้น
ชนกลุ่มน้อย
 ขอทะลึ่งๆ เว่อร์ๆ อีกสักครั้งเถอะครับ ผมรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ทันทีที่นึกอยากเขียน และโชว์รูปที่น่าจะอยู่ในอัลบั้มรูปส่วนตัว ว่างๆก็เอามาแบวางออกดูและรำลึกถึง มากกว่านำออกมาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าสายตาสาธารณะ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า เบื่อๆ เซาๆ ซึมๆ ว่างมาก มาทำเรื่องดูดีกันมั้ยลูก   มา ม๊า มาทำซึ้งกันสักครั้งดีกว่ามั้ย"เอ้า เอาเลย กอดกันเลยลูก" พูดแค่นั้นเจ้าชายน้อยโผประจำการทันที ผมไล่ตามเก็บรูป"พ่อกอดมั้ย" เขาถามกลับมา"กอดสิ ต้องกอดแน่ๆ ว่างแล้วยัง" หมายถึงไม้ต้นนั้น หมายตาไว้เหมือนกัน และถูกรักหลงในเวลาอันรวดเร็ว"ถ่ายรูปมั้ย" เขายึดกล้องไปกดรูปวันนั้น…
ชนกลุ่มน้อย
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่ผมตระเวนท่องไปตามป่าเขาในภาคเหนือ ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเผชิญหน้าจริงๆ กับพายุลมแรงที่หอบน้ำแข็งมาด้วย จนติดตรึงอยู่ในพายุน้ำแข็ง ไม่เห็นทางข้างหน้าและไม่เห็นทางข้างหลัง ขยับไปไหนไม่ได้ ราวกับทุกอย่างตกอยู่เหนือการควบคุม นอกจากยอมรับสภาพแล้วจำนนกับความเป็นไป
ชนกลุ่มน้อย
วันที่ 8 มีนาคม 2552 ผมนั่งเคียงข้างพ้อเลป่า ก่อนเดินทางกลับ ผมบอกว่า อีกสองสามอาทิตย์จะเข้ามาเยี่ยมอีกครั้ง เวลาผ่านไปสามอาทิตย์กว่า ตรงกับวันที่ 2 เมษายน 2552 พ้อเลป่าก็จากไปจริงๆ ผมไปถึงบ้านแม่แฮคี้ตอนบ่ายแก่ๆวันต่อมา บ้านไม้ริมถนนมีคนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่บนบ้าน ไล่เรียงอออกมานอกประตูบ้าน ผู้เฒ่ากวีแห่งแม่แฮใต้จากไปจริงๆ รูปวางถ่ายไว้บนโลงไม้ รูปสูบไปป์ที่คุ้นเคย พร้อมดอกไม้สัญลักษณ์ของความอาลัย
ชนกลุ่มน้อย
 เมื่อฉันเริ่มจำความได้ ฉันเที่ยวเล่นกับพวกเพื่อนๆ ฉันรู้ว่า แม่เป็นคนทอเสื้อให้ฉันใส่ ฉันดีใจมาก ฉันสวมเสื้อตัวนั้นแล้วเดินนำหน้าคนอื่นๆ เวลานั้นฉันรู้สึกว่า ใบหน้าของตัวเองเต็มอิ่มไปด้วยความร่าเริงยินดี
ชนกลุ่มน้อย
ชนกลุ่มน้อย
 ไม่มองซ้ายขวาหน้าหลัง  เดินเข้าไปหาแล้วโอบกอด   "ได้กลิ่นมั้ย" ผมถาม"เหมือนน้ำมัน" เขาตอบ"ใช่  ในตัวเขามีน้ำมัน" .. บทสนทนาระหว่างโอบกอด  เป็นเช่นนี้จริงๆ