Skip to main content



ตอนบ่ายของวันที่ป๋าเข้าโรงพยาบาล ผมพาแม่ไปเก็บข้าวของบางอย่างที่จำเป็น ที่บ้านสวน บ้านหลังที่ป๋ามาใช้ชีวิตยามบั้นปลาย ผมเดินไปดูรอบๆบ้านระหว่างรอแม่ นั่งลงริมบ่อเลี้ยงปลาหางนกยูง ข้างซุ้มไม้ไผ่ที่เป็นเหมือนเรือนเพาะชำไปในตัว ป๋าคงนั่งๆนอนๆอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ในซุ้มนั้นอยู่บ่อยๆ

ข้างๆมีเครื่องไม้เครื่องมือวางกองระเกะระกะ ได้ยินแม่เล่าว่าก่อนมาโรงพยาบาล ป๋ายังนั่งซ่อมรถอยู่เลย ผมเงยมองแท้งค์เก็บน้ำซีเมนต์ ครัวที่ต่อออกมาจากตัวบ้าน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือป๋าทั้งสิ้น (แน่นอนว่า บางส่วนคงมาจากคำบัญชาของแม่)

ผมรู้สึกทึ่ง เพราะแม้กระทั่งวัยขนาดผม ก็ยังคิดว่าจะทำอะไรอย่างที่ป๋าทำได้ เหมือนที่ผมไม่เคยแต่งนิราศได้เพราะเท่าป๋า


นิราศร้างห่างสิ้นถิ่นอาศัย ต้องจากพี่จากน้องครองแดนไกล

สุดหักใจได้ลงคงคนึง

ตราบวันนี้พี่มาถึงที่แล้ว คงไม่แคล้วเฝ้าฝันหมั่นคิดถึง

สุดที่รักคนดีที่บึ้งตึง มาตะลึงจิตใจให้อาวรณ์


เป็นกวีบทแรกๆที่ผมจำได้ขึ้นใจ กวีบทแรกๆที่ผมนั่งมองคนเขียนมันขึ้นมาตรงหน้า เป็นการบ้านในวิชาภาษาไทยตอนมอ 2 และผมต้องออกไปอ่านหน้าชั้น เพื่อนๆทุกคนทึ่ง แต่ป๋าคงคิดว่ากำลังเขียนจีบแม่อยู่ ป๋าคงลืมโจทย์ที่ว่า คนเขียนต้องเป็นเด็กมอ 3 และแน่นอน ครูไม่เชื่อว่าผมเขียนเอง


ทุกวันนี้ แม้ผมจะขีดๆเขียนๆอะไรได้บ้าง ผมก็ยังไม่คิดว่าตัวเองจะแต่งได้แบบนั้น

มันคงต้องผ่านชีวิตอันโชกโชนแบบป๋า ผู้ผ่านการผจญภัยมาหลายต่อหลายครั้ง เผชิญโชคไปยังที่ต่างๆ และสุดท้าย ลูกทะเลแบบป๋าก็มาไกลถึงซบร่างกับหุบเขา


ทุกคนคงมีความทรงจำที่สวยงามกับป๋าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แม่ น้องจอง ป้ามน แป๋ง น้องชายผมเดินมาบอกว่า ให้พูดด้วยว่า ลุงบูลย์คือป๋า ได้ช่วยชีวิตเด็กน้อยคนหนึ่งจากการจมน้ำ ซึ่งก็คือตัวมันนั่นเอง


ส่วนความทรงจำในวัยเด็กของผมที่มีต่อป๋า มักจะเป็นการริเริ่มอะไรใหม่ๆเสมอ สร้างสระว่ายน้ำให้ลูกในบ้านด้วยตัวเอง จัดงานวันเกิดให้ลูกเป็นคนแรกของหมู่บ้าน ตั้งโรงหนังฉายหนัง 8 มม. เรื่องจอมโจรซอโร โดยมีแม่ก่อเตาอั้งโล่ปิ้งข้าวเกรียบอยู่หน้าม่าน


ซื้อจักรยานจากตัวเมืองหาดใหญ่และปั่นมันกลับบ้านที่ห่างออกมา 10 กิโล มันคงไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่สำหรับเด็กตัวเล็กๆ เสียงกริ่งจักรยานในวันนั้น มันช่างเป็นเสียงแห่งวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่มาก


แม้กระทั่งคำเรียกพ่อของลูก ป๋าก็ยังให้เราเรียกไม่เหมือนใคร จนทำให้เพื่อนของน้องสาวเข้าใจไปว่า น้องมีป๋าขา มาอุปการะเลี้ยงดู


ผมก็ได้สายเลือดมาจากป๋า สายเลือดที่หลงรักความงาม ศิลปะ หนังสืออักษรวิจิตรที่ป๋าซื้อให้ วิชาวาดรูปที่ป๋าพาไปฝากฝังเรียนกับช่างวาดภาพเหมือนในตัวเมือง เป็นพื้นฐานวิทยายุทธที่นำผมมาจนถึงทุกวันนี้ และผมมักจะได้ยินป๋าเอ่ยถึงมันด้วยรอยยิ้มอย่างภาคภูมิใจอยู่เสมอ ป๋าปรารภอยู่บ่อยๆว่าอยากจะเก็บสมุดวาดภาพที่ผมใช้เรียนตอนนั้น ผมไม่แน่ใจว่าแกหาเจอแล้วหรือยัง


ก่อนจะขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ ทุกครั้งที่ผมไปหาป๋า ก็จะพบว่าแกจะใช้เวลาว่างจากการทำงาน ซ่อมเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ที่ป๋าเสาะหามาจากตลาดมือสองอยู่เป็นประจำ ทั้งวิทยุ เครื่องเล่นซีดี โทรศัพท์ แต่เมื่อเลือกมาใช้ชีวิตชาวสวนกับแม่ สองมือนั้นก็คงหยาบกร้านจากการซ่อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้าแทน


ป๋าไม่เคยยอมแพ้อะไรง่ายๆ อดทน ทำอะไรเองได้ ป๋าไม่รั้งรอจะลงมือทำ ทำด้วยความร่าเริง และมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ แม้จะนอนอยู่ในโรงพยาบาล ป๋าก็ยังบอกว่าไม่เป็นไร สบายแล้ว ไล่ให้ผมกลับบ้านไปดูลูกเมีย


แม้ว่าเราจะไม่ชอบ ไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย แต่การสูญเสียนั้นก็นำมาซึ่งบางอย่างเสมอ ครอบครัวได้มาพบกัน ปลอบโยน พูดคุย ลูบหลังลูบไหล่ นอนเคียงข้างกัน ซึ่งคงหาโอกาสแบบนี้ได้ไม่ง่ายนัก


ในยามปกติวัฒนธรรมของคนใต้แบบเรา เหมือนกับผู้ล่วงลับไม่ได้จากเราไปไหน เรายังยกข้าวไปให้เขา บางคราวเขาก็มาเยียนเราในร่างของลูกหลาน สิ่งเหล่านี้มันคงทำให้เรามิอาจลืมเลือนเขา


เขายังอยู่ในการโอบอ้อมของเรา เรายังโอบล้อมกันและกัน แม้จะมองไม่เห็น แต่เราสัมผัสได้ สัมผัสนั้นถักทอให้เรากอดเกลียวกันอย่างอบอุ่น และผมก็เชื่อว่าป๋าก็คงเป็นเส้นด้ายเส้นหนึ่งในสายใยนี้ เป็นด้ายเส้นที่สีสันฉูดฉาดแพรวพราวอยู่ไม่น้อย


ขอให้ป๋าหลับฝันดีครับ

บทบันทึกนี้เขียนข้างๆสภากาแฟที่ป๋าชอบนั่ง


***
เป็นเสียงของความรู้สึกที่จับใจครั้งหนึ่งของผม ในวันสุดท้ายที่พ่อลูกจากกันชั่วนิรันดร์

ลูกชายเขียนเพื่ออ่านประวัติพ่อให้คนมาร่วมฌาปณกิจได้ฟัง ผมบอกลูกชายที่สูญเสียพ่อว่า อยากเอาไปเผยแพร่ต่อได้มั้ย เขาตอบกลับมาว่า ป๋าคงดีใจ ผมพิมพ์แต่ละตัวจากต้นฉบับที่อยู่ในมือเขา ด้วยความรู้สึกกระเพื่อมไหวภายใน


***
ขอแสดงความเสียใจกับลูกชายคนนั้น ศุภโมกข์ ศิลารักษ์(อ้น)(เขียนเรื่องสั้น ทำเพลง และหนังสั้น) ที่สูญเสียพ่อไปอย่างกะทันหัน พลังชีวิตในตัวพ่อไม่ได้หายไปไหน ได้ถ่ายทอดถึงหัวใจลูกชายไว้เต็มเปี่ยมแล้ว

 

 

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
ห้องครัวซ้อมดนตรี ถึงเพลงบันนังสตา บ้านเช่าบ้านไม้เป็นบ้านชาวนาในหมู่บ้านแม่เหียะ ชานเมืองเชียงใหม่   ห้องครัวคือห้องทำงาน  ห้องนอนบางเวลา  ห้องซ้อมดนตรี   ห้องนั่งเล่นและห้องรับแขก 
ชนกลุ่มน้อย
ประชาชน  สัตว์เลี้ยงของแวมไพร์
ชนกลุ่มน้อย
สองทุ่ม   อังคารที่ 16 มีนาคม  2553   นักดนตรีในเชียงใหม่  และคนในแวดวงหนังสือ ศิลปะ  นัดรวมตัวกันที่ร้านสุดสะแนน  ร่วมรำลึกถึงการจากไปของ ”จ่าเพียร”(พ.ต.อ สมเพียร เอกสมญา) วีรบุรุษแห่งเทือกเขาบูโด  ด้วยสายสัมพันธ์กับไวล์ดซี๊ด (ชุมพล  เอกสมญา) ลูกชายจ่าเพียรที่ผ่านมาเล่นดนตรีในเชียงใหม่อยู่เสมอๆ   เยียวยาจิตใจเมล็ดเถื่อนจากบันนังสตา  ร่วมรำลึก ...   
ชนกลุ่มน้อย
ขอต่อยาวสาวความยืดถึงน้ามาดบางมุมดูหน้าดุ เวลาเดินเหมือนนุ่นลอยอีกหน่อย อย่างที่บอกไว้ บุรุษไร้นาม(และหนาม)ตามใจคนนี้ อย่าให้นั่งหน้าทับหน้าหนังกลองแล้วกัน ความจืดของหน้าจะถูกขับออกมาอย่างเผ็ดร้อน ไม่เรียบเฉยปล่อยวางอีกแล้ว บางด้านดูดุเทียบได้ใบหน้าเสือจ้องขบ กลับเกลี่ยเสียใหม่ เป็นเสียงทะลวงไส้พุงเร้าใจผิดหน้าผิดหูผิดตาไปทันที
ชนกลุ่มน้อย
  “เลสาปหน้าร้อนเปื่อยหมดแล้ว” ประโยคนี้ถ้าเขียนใหม่ตามภาษาบรรพบุรุษของใต้สวรรค์ ต้องบอกว่า เลสาปหน้าร้อนเปื่อยแผล็ดๆ เหตุที่เปื่อยเห็นด้วยตา ถ้าพูดผ่านปากของบ่าวทอง ต้องเริ่มต้นว่า“ที่จริง”เช่นเคย “ที่จริงมันไม่เปื่อยหร็อก ที่มันเปื่อยเพราะเลกลายเป็นโคลน เปื่อยแผล็ดๆไปทั้งเล” …
ชนกลุ่มน้อย
  สวรรค์ปักษ์ใต้มีสะตอกับลูกเนียงรวมอยู่ด้วย หรอยที่สุดต้องเหนาะ(จิ้ม)กับน้ำชุบ(น้ำพริก-ต้องกะปิเท่านั้น) หรือกินกับแกงคั่ว คั่วกะทิหรือแกงคั่วเผ็ดไม่กะทิ เผ็ดร้อนไม่แพ้ขาดเหลือกันนัก ไม่มีใครบอกว่าพริกพัทลุงหรือพริกนครศรีธรรมราช เผ็ดแรงร้อนกว่ากัน...
ชนกลุ่มน้อย
นักดนตรีกลุ่มนี้ขับเคลื่อนด้วยความรัญจวนจากฤดูความว่างของชีวิต ออกไปเล่นดนตรีบรรเลงชีวิตร่วมกัน หรือจะพูดอีกที การมาถึงของพวกเขาใต้สวรรค์ ไม่ต่างจากฝูงปลาดุกหนีน้ำแถกเหงือกมาหากันในช่วงหน้าแล้ง หนวดยั้วคลุกนัวกันมาบนโคลนเปียกๆ เหนียวเหนอะไปยังถิ่นที่คาดว่าจะมีน้ำ สีผิวฝูงปลาดุกเลื่อมมันน่าเกรงขาม
ชนกลุ่มน้อย
คำ  สุวิชานนท์ รัตนภิมล และคำของอา' รงค์ ทำนอง  สุวิชานนท์  รัตนภิมล
ชนกลุ่มน้อย
ลมบาดหิน ของอา… “ผู้ชายคนนั้นกับผู้หญิงของเขาตัดสินใจแรมคืนในกระโจม(เต็นท์) เขาพบว่าการเสียบก้านปลั๊กตัวผู้ลงในรูปลั๊กตัวเมียเพื่อต้มน้ำกับกาไฟฟ้านั้นเป็นความสะดวกสบายของคนในทาวน์เฮาส์ที่กรุงเทพฯ และอย่างน่าอิจฉา แต่การมองหาก้อนหินนำมาวางเป็นก้อนเส้า กิ่งไม้ง่ามปักกับดินแล้วพาดราวแขวนหม้อและริ้วชิ้นวัวฝานหมักเกลือ ก่อกองไฟและต้มกาแฟ นี้เป็นบางแบบของชีวิตซึ่งผู้ชายควรเรียนรู้...”
ชนกลุ่มน้อย
พอออกมาจากห้องฝึกเรียนไวโอลินกลางเมืองเชียงใหม่  ผมบอกเจ้า 9 ขวบว่าไปเยี่ยมคุณลุงหน่อยนะ   เจ้าเก้าขวบถามทันทีที่ไหน  ผมตอบกลับวัดเจดีย์หลวง  ไปทำอะไรเหรอ เขาสงสัย  อยากไปเยี่ยม พ่อไม่ได้เข้าไปนานแล้ว
ชนกลุ่มน้อย
  ในห้องทำงาน โต๊ะเขียนหนังสือ เก้าอี้ไม้ไม่เหมือนวันก่อน หนังสือเล่มใหม่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนเล่มมาวาง ชั้นหนังสือเรียงตามกัน โน้ตสั้นๆ เขียนถึงเวลานัดหมาย เวลาส่งงาน หมายเลขโทรศัพท์ ม้านั่งไม้ไว้นอนเอกเขนก โคมไฟ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ดีด โต๊ะกลม กีตาร์ กล้องถ่ายรูป รูปภาพบนผนัง ...
ชนกลุ่มน้อย
  ในชีวิต ณ ปัจจุบัน ผมไม่นึกไม่ฝันว่าจะมาข้องเกี่ยวกับเครื่องดนตรีชื่อ ไวโอลิน และยิ่งไม่เคยนึกว่าวันหนึ่ง จะมีไวโอลินมานอนอยู่ในห้อง ตั้งวางอยู่ข้างตัว รวมถึงได้ยินมันส่งเสียงทุกวันตอนย่ำค่ำ