ในชีวิต ณ ปัจจุบัน ผมไม่นึกไม่ฝันว่าจะมาข้องเกี่ยวกับเครื่องดนตรีชื่อ ไวโอลิน และยิ่งไม่เคยนึกว่าวันหนึ่ง จะมีไวโอลินมานอนอยู่ในห้อง ตั้งวางอยู่ข้างตัว รวมถึงได้ยินมันส่งเสียงทุกวันตอนย่ำค่ำ
\\/--break--\>
นิ้วมือของเด็กชายวัย 8 ขวบ กำลังทำความรู้จัก เข้าใจ ฝึกฝนกับอวัยวะใหม่ที่งอกออกมาจากตัวเขา นาทีนั้นผมมองจ้องแทบตาไม่กระพริบ มองสองขาที่ยืนหยัดตั้งฉากกับพื้นโลก คอยดูว่าเขาจะไม่ทิ้งน้ำหนักลงบนขาข้างหนึ่งข้างใดจนเสียสมดุล
ดูนิ้วมือขวาจับโบ(คันชัก) ดูนิ้วมือซ้ายจับตำแหน่งบนคอ ดูมิดเดิ่ลโบ ฟล็อกโบ ดูช่วงแขน ดูการดันมือขึ้นไปอย่างมีน้ำหนัก ได้จังหวะ สวยงาม เนื้อเสียงเรียบเนียนสม่ำเสมอ ไม่กระตุกเสียง ไม่ฝืนเกร็ง พร้อมกับฟังเสียงไวโอลิน
เจ้าลูกชายสนใจในไวโอลิน การเดินทางของไวโอลินตัวหนึ่งจึงเกิดขึ้น
“40 กว่าปี เกือบ 50 ปีแหละ เมดอินเยอรมัน เลือดเยอรมันแท้เลย” เสียงฝ่าอากาศกลางคืนจากเมืองหลวง บอกด้วยน้ำเสียงลุ้นเต็มที่ หลังจากเขาใช้เวลาเสาะหาไวโอลินสักตัวหนึ่ง ให้อยู่ในอ้อมแขนของเด็กชายที่เขาเห็นหน้าตามาตั้งแต่นอนแบเบาะ
อันที่จริงการเรียนไวโอลินของเจ้าลูกชาย ไม่ได้เริ่มต้นที่การออกหาซื้อไวโอลิน แต่เริ่มที่คำถามบ่อยๆ เหมือนจะให้เขาลองเขียนสักประโยคไว้ในใจ ว่าอยากเล่นเครื่องดนตรีชนิดใดบ้าง วันหนึ่งเขาเขียนออกมาดังๆว่า ไวโอลิน
ห้องเรียนมีสอนหนึ่งชั่วโมงต่อวัน ทุกสัปดาห์ ไวโอลินจึงเคลื่อนความจริงมาใกล้และเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้
“ในชีวิต เราควรมีที่หลบภัยประจำตัวไว้สักอย่าง เพื่อนพ่อบอกว่า ดนตรีนี่แหละ เป็นที่หลบภัยชั้นเยี่ยม พ่อเห็นด้วย พ่อมีที่หลบภัยประจำตัวใช้มาได้ตลอด” ผมพูดกับเขาด้วยท่วงท่าประโยคทำนองนี้ ไม่รู้ว่าเขาจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน
ไวโอลิน เมดอินไชน่า เขาใช้ฝึกในห้องเรียนมาแล้ว 5 เดือน เป็นช่วงเวลาที่ผมไม่นึกว่า เสียงนั้นจะมาเปล่งเสียงให้ได้ยินในค่ำวันหนึ่ง พลันมองเห็นแววตาเอาจริงเอาจังของเขา
แล้วโชคก็เยือน เมื่อประตูบานหนึ่งเปิดออกไปพบกับครูสอนไวโอลินอีกคนหนึ่ง เราพ่อลูกเรียกกันในชื่อครูโจ้ มือไวโอลินเก็บเนื้อเก็บตัวที่เอ่ยชื่อสกุลแล้วนักไวโอลินในประเทศต้องร้องอ๋อกันทั่วหน้า
พลังครูในตัวครูโจ้มีมหาศาลมาก เขาเริ่มต้นด้วยนำทางไปรู้จักสรีระร่างกายตัวเอง ชวนรู้จักไวโอลิน ชวนผูกใจแน่น ให้รู้สึกว่าไวโอลินเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของร่างกาย ที่งอกออกไปรับอากาศเหมือนแขนขาหูตาจมูก
ผมอยู่เคียงข้างเด็กชาย และร่วมเดินทางไปด้วยทุกชั่วโมงที่ไปเรียนกับครูโจ้
ผมตอบตกลงเพื่อนทันที ว่าจะเอาไวโอลินตัวใหม่ให้เจ้าลูกชาย เพื่อชั่วโมงฝึกฝนของเขาจะได้เป็นจริงและต่อเนื่อง ไวโอลินตัวแรกนั้นนอนค้างคืนที่โรงเรียน อาทิตย์หนึ่งได้กลับมาบ้านหนึ่งครั้ง
ผมรีบลงเมืองหลวงอย่างเร่งด่วน หลังจากตรวจสอบไวโอลินและส่วนประกอบทุกอย่าง เพื่อนมีน้ำใจวิ่งเต้นหายางสน โบที่ควรมีเนื้อไม้ระดับเดียวกับไวโอลิน หางม้า อีกทั้งสะพานรองหลัง ให้แน่ใจว่าพร้อมออกเดินทางไปส่งเสียงได้ทันที
รับส่งมอบกันเสร็จสรรพด้วยคำบอกเล่าถึงที่มาของไวโอลิน
ไวโอลินออกเดินทางชั่วข้ามคืน ก็ไปสูดอากาศอยู่ในหุบเขา
นาทีเจ้าลูกชายเผชิญหน้ากับไวโอลินครั้งแรก สีหน้าแววตาพ่อหรือลูกตื่นเต้นมากกว่ากัน ไวโอลินคงรับรู้ก่อนใคร
ศิลปะการเกิดเสียง หลังการพบกันของเนื้อกับเนื้อไม้ ความสุขชนิดนี้ก่อตัวขึ้นในความเงียบ ความว่าง และปราศจากความสงสัย
“หลุมหลบภัย พ่อควรหาให้ลูกหลบได้ปลอดภัยสักหลุมหนึ่ง” ผมนึกถึงประโยคนี้ทุกครั้งที่ออกร่วมเดินทางไปให้ถึงประตูห้องเรียนของครูโจ้
ไม่ใช่ผมคนเป็นพ่อที่ค้นพบความหมายคุณค่าของหลุมหลบภัย แต่เป็นเจ้าลูกชายที่บังเอิญเขาหลงชอบไวโอลิน กระโดดลงหลุมอย่างมั่นอกมั่นใจ ว่าในที่ว่างนั้นจะเต็มไปด้วยอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ ยามรอบตัวเขาเต็มไปด้วยสิ่งมีพิษ
ในโลกที่เต็มไปด้วยกับดักและหลุมพราง ที่หลบภัยที่เพียรพยายามสร้างไว้ให้อยู่กับตัว คงช่วยดูแลระหว่างทางชีวิตให้ดำเนินไปได้ แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวงแล้วยังอาจช่วยเยียวยาชีวิตอื่น เป็นไวโอลินที่ขุดหลุมหลบภัยกว้างลึกไกลออกไปเรื่อยๆ และรองรับดูแลชีวิตอื่นได้จริง
**** ตีพิมพ์ครั้งแรก เสาร์สวัสดี คอลัมน์ คนคือการเดินทาง นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับที่ 550 , 5 ธันวาคม 2552