สวรรค์ปักษ์ใต้มีสะตอกับลูกเนียงรวมอยู่ด้วย หรอยที่สุดต้องเหนาะ(จิ้ม)กับน้ำชุบ(น้ำพริก-ต้องกะปิเท่านั้น) หรือกินกับแกงคั่ว คั่วกะทิหรือแกงคั่วเผ็ดไม่กะทิ เผ็ดร้อนไม่แพ้ขาดเหลือกันนัก ไม่มีใครบอกว่าพริกพัทลุงหรือพริกนครศรีธรรมราช เผ็ดแรงร้อนกว่ากัน...
แต่เคย(กะปิ)เลสาบ หรอยติดลมบน ยากจะหารสใดมาเทียบเคียง
ผมจำได้ว่า แม่ได้ปลาหลังเขียวมาทำเคย(บางทีใช้ปลาลิ้นหมา) หลังจากต้มจนสุก ก็กระหน่ำครกที่ใช้สากไม้สูงท่วมหัว(ครกที่ใช้ตำหยวกกล้วยให้หมูกิน) แสลงใต้คำนี้บอกว่า
”เซ” เซนานๆก็ใส่น้ำตาลโตนดและเกลือ ในสัดส่วนผสมของสายตารู้มือ โยนหวานโยนเค็มลงใส่ และปราศจากสารกันบูด (ตัวกันบูดอยู่ที่ท้อง 7 ท้อง 7 ปาก)
เคยกุ้งเลสาบ เป็นเคยยอดนิยมถึงขนาดปิ้งลนไฟกินกับข้าวได้ลืมว่าพ่อลูกบ่าวยังต้องไปหายอดเหม็ดชุนมาเหนาะอีกหรือไม่
แต่คราวนี้เคยเลสาบกลับไม่ติดมากับใต้สวรรค์ เคยที่ติดมือมากลับเป็นเคยจากชุมพร รสชาติที่ทำให้ท้องวงดนตรีวงหนึ่ง ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เบิกบานกันทั่วหน้า
ไม่แพ้ร็องแง็งเร็กเก้!!!...
พ่อครัวมือปรุงระดับตำนาน เคยเอาหลังพิงหลังกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ แห่งหุบเขาฝนโปรยไพร ลูกมือเดินป่าเขาหลวงตำเครื่องแกงมานับครั้งไม่ถ้วน
เป็นหนุ่มใหญ่หนวดเคราเฟิ้ม พูดจาสำเนียงพื้นถิ่นได้หนักแน่นคำไหนคำนั้น ผมเรียกจนติดปาก
“ทอง!!?”
หลายคนหลายมุมปากเรียก บ่าวทอง น้าบ่าวทอง หลวงทอง พี่ทอง ไอ้ทอง ลุงทอง น้าเณรทอง ฯลฯ สำเนียงของการนับญาติใกล้วัยใครพูด แม้ไม่คลานตามกันมาก็ตาม
บ่าวทองเฝ้าหม้อข้าวหม้อแกง นับชามนับช้อน ล้างผักเป็นโคม(กะละมัง) เฝ้าท้องใต้สวรรค์ให้อิ่มหนำกันทั่วหน้า
พอเบิกบานใจก็โรยยาเส้นบนใบจาก โรยยาเส้นบนยาเส้น สูบยาพ่นควันผุยๆเฉิบๆอย่างสบายอารมณ์
เหล่าฝูงปลาดุกหนังเหนียวที่สุด สามารถแถกเหงือกเกี่ยวเอาความสุขรสเลิศเพียงควันล่องลอย
หรือไม่ก็นั่งเย็บตัดซ่อมทรงผมเดดล็อก(รังไก่)
“พ่อครัวเมืองใต้มักหน้าโหด” ผมพูดเปรยเล่น
“ที่จริงหน้าตาดีก็ยัง แต่ไม่เหลือให้ใช้งานแล้ว”
จะมีคำไหนมาต่อท้ายก็ตาม บ่าวทองต้องพูดคำนำหน้าก่อนคำอื่นว่า “ที่จริง”
“ที่จริงน่าจะยังลูกเหรียง รับรอง(ห)ว่าเข้ากับน้ำชุบพี่”
ผมตำน้ำชุบไว้ถ้วยใหญ่ ใต้สวรรค์ไม่ถือสาหาความแน่ๆ ที่ต้องหนีน้ำชุบและมาเจอน้ำชุบเข้าอย่างจัง แถมเผ็ดแกล้งกันชัดๆ น้ำมูกน้ำตาไหลพรากๆ…
เหล่าฝูงปลาดุกแถกเหงือกมาถึงตอนสายๆของวันนัดหมาย ถ้ามองผ่านหน้าตาแววตาเศร้าคมเข้ม สารรูป เสื้อผ้าที่สวมใส่ สีผิว ท่าทางท่าที ไม่รวมถึงน้ำเสียงการพูด
คนเมืองอื่นอย่างแน่นอน มองให้ชัดๆ ยิ่งไม่ใช่พวกมาท่องเที่ยว
คลื่นคนกลุ่มเล็กๆหนาตาหนักตา ดูราวกลุ่มคนหนีเข้าเมืองโทนเฉดสีผู้อพยพ
ต้องเป็นกลุ่มหัวไม้ผู้ก่อการบางอย่างในเมืองนี้แน่ๆ
ถ้าผมตอบแทนใครๆ(ไม่ให้เจ็บใจ)ได้ ผมก็คงตอบว่า เป็นพวกก่อการอย่างแน่นอน แต่ฝูงปลาดุกคงไม่เหลิงระเริง หากผมจะหยอดใส่หางฝูงปลาดุกสักหน่อย
ผู้ก่อการดี อินเลิฟ น็อตวอร์ !?!.. และ โน-วู-แมน-โน-คราย!.?..
รถสองคันแล่นไล่ตามกันมา หยุดลงกลางซอยอุโมงค์ตีนดอยสุเทพ คลื่นคนกลุ่มเล็กๆ เข้าเมืองอย่างผู้อพยพที่พร้อมจะผูกเปลนอน ตั้งเต็นท์และก่อไฟหุงต้มกันได้ในชั่วเวลาพริบตา
พลังคนหนุ่มที่ไม่เอาดีทางปืนคอนตราควาย หน้าไม้และหนังสติ๊กแน่ๆ
แต่ดนตรีกับเครื่องแกง น่าจะเป็นอาวุธที่พวกเขามีอยู่
(ดูเหมือนถ้าพวกเขาไม่มีดนตรี พวกเขาจะเป็นฝูงปลาดุกด้างที่มีความเสี่ยงสูงมาก ว่าจะโดนจับไปทำแกงฉูฉีในชั่วพริบตา)
แกงฉูฉี แกงที่ชิ้นปลาดุกสำลักเครื่องแกงในกะทิ แบบขลุกขลิกในน้ำแห้งขอด
เครื่องดนตรีของพวกเขานอนห่มผ้ามาตลอดทาง เช่นกัน เครื่องแกงของพวกเขาซุกตัวเงียบรอให้ถึงเวลาหยิบขึ้นมาปรุง
เหมือนพวกเขาไม่ห่วง(และไม่สน)ว่าจะมีสารอาหารตกถึงท้องตอนไหน เวลาใด ขอเพียงแต่สายตาเหล่าฝูงปลาดุกจ้องจับชะเง้อลำไผ่กับหยวกกล้วย
(บ้านผมมีกอไผ่ 1 กอ กล้วยอีกสามสี่กอ)
ลำไผ่ไว้แหวกว่ายชื่นชมหมู่มัจฉาว่ายบนบก ในวันแดดแดงใบไม้แดง
ต้นกล้วยกลายร่างตัวเองเป็นผู้พลีชีพ ยอมให้รูปหนังตะลุงเสียบปักเล่าเรื่องให้ความสุขแก่ผู้ชม
ฝูงปลาดุก ลำไผ่ และหยวกกล้วย น่าจะเป็นสัญลักษณ์ผู้คาดโทษถึงวันพรุ่ง ว่าจะมีมาหรือไม่มีก็ได้
หลังกินข้าวมื้อหนักตอนกลางวัน ทุกคนเบิกบานกับที่นั่งที่นอน หลับลึกในภวังค์ ตื่นตาในกลิ่นกาแฟ หลงใหลในกลิ่นใบไม้ไหม้ไฟ กลิ่นทะเลเค็มโชยไล่กลิ่นใบสักแห้งออกไปจนหมดสิ้น
แล้วบ้านทั้งหลังก็อึงอลด้วยภาษาถิ่นต่างถิ่น
“มีซ้อมก่อน(ห)มั้ย” ผมถามเพื่อน
“ไม่มี ซ้อมกันมาแล้ว” ..
คราวนี้น่าจะไม่ธรรมดาแน่ๆ คงหลอมท่วงทำนองร็องแง็งจนเข้ากระดูกทุกตัวคน
ปีก่อนโน้น ย้อนหลังไป 5 ปี พวกเขารวมตัวกันเกือบ 10 ชีวิต ขึ้นเหนือเพื่อเที่ยวท่องหาที่เล่นเพลง ผมชวนเข้าไปถึงบ้านห้วยอีค่าง(ประมาณ40กิโลเมตรจากเชียงใหม่) เขตอำเภอแม่วาง(เชียงใหม่)
ไปโดยไม่ได้นัดหมายชาวบ้าน ว่าจะมีวงดนตรีแอบเข้าไปตั้งเครื่องในหมู่บ้าน
หลังบ้านแควา(คนที่ผมไปขอเป็นญาติ)เป็นลานร่มล้อมด้วยต้นขนุนเก่าแก่ เป็นลานเวที ยกพื้นไม้ขึ้นเล็กน้อย ปูพื้นด้วยเสื่อกระสอบ เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นทยอยกันลงจากรถ เริ่มจากกลองกระเดื่อง กลองสะแน แฉ ฉาบ กลอมทอม ไล่กันไป
ชาวบ้านมาช่วยยกเหมือนมดขนอาหาร
เสียงตั้งกลองเริ่มดัง คนเริ่มเข้ามาสังเกตการณ์
พอตกค่ำ วงดนตรีที่ตั้งใจมาเที่ยวท่องตามใจ ก็พร้อมแสดงต่อหน้าผู้ชมที่เป็นชาวปกากะญอยกหมู่บ้าน บรรยากาศรุมล้อมใกล้กันระหว่างผู้เล่นกับผู้ชม
นานเหลือเกินที่ไม่ได้เห็นเวทีเพลงในฝัน ราวกับอยู่ในพิธีกรรมอะไรสักอย่าง เสียงแมนโดลิน แซ็กโซโฟน แอ็คอเดียน สะกดใจผู้ชมจนนิ่งงันตาค้าง
ไม่มีใครลุกหนีไปไหน
จบเพลงคืนนั้น รู้มั้ยว่าเกิดอะไรขึ้นครับ
ทั้งย่ามทอมือ ช่อดอกไม้(แกลดิโอลัส) ข้าวสารซ้อมมือใส่ถุงผ้า หวีกล้วยน้ำว้างามๆ อโวคาโอ และคำต่าบลึๆ ขอบคุณๆ
ครึ่งคันรถสำหรับรางวัลจากห้วยอีค่าง
ประทับจิตประทับใจจนถึงตอนนี้ (ผมอยากบอก)นิยุติว่า เราต้องมีโอกาสไปห้วยอีค่างอีกทีมั้ย ไปบิณฑบาตข้าวสาร ดอกไม้ ย่าม กล้วยน้ำว้า อโวคาโด แลกกับเสียงดนตรีที่เดินทางไกลมากว่า 1,000 กิโลเมตร