นักดนตรีกลุ่มนี้ขับเคลื่อนด้วยความรัญจวนจากฤดูความว่างของชีวิต
ออกไปเล่นดนตรีบรรเลงชีวิตร่วมกัน
หรือจะพูดอีกที การมาถึงของพวกเขาใต้สวรรค์ ไม่ต่างจากฝูงปลาดุกหนีน้ำแถกเหงือกมาหากันในช่วงหน้าแล้ง หนวดยั้วคลุกนัวกันมาบนโคลนเปียกๆ เหนียวเหนอะไปยังถิ่นที่คาดว่าจะมีน้ำ สีผิวฝูงปลาดุกเลื่อมมันน่าเกรงขาม
การมาของพวกเขา วางแผนกันมาอย่างดี ถึงขนาดยกครัวไว้ท้ายรถกระบะ มีทั้งครกตำเครื่อง กระต่ายขูดมะพร้าว มะพร้าวเห็นเป็นลูกๆ ข้าวสาร ปลาแห้ง เกลือ พริก กระเทียม ข่า ขมิ้น หม้อ จานชามช้อน มือตำเครื่องมือปรุง มือเชิดหนังตะลุง และมือคุมเครื่องเสียงเสร็จสรรพ
ปีที่แล้วฝูงของพวกเขารวมตัวกันได้ถึง 21 ชีวิต ผมเปิดลานบ้านเป็นที่หลับที่นอนแบบยุงกลัวบินข้ามผ่าน และต้องใช้พื้นที่ครัวขยายลงพื้นดิน
ผมเปิดประตูบ้านต้อนรับพวกเขามาเป็นปีที่ 5 จากปีก่อนโน้นผมยังอยู่บ้านเช่าใกล้โรงเลี้ยงไก่ฮวง ยามพวกเขาซ้อมวงทำเอาไก่ฮวงทั้งเล้าแตกตื่น เพื่อนบ้านสงสัยว่านักดนตรีเร่ร่อนเผ่าใดหลบมาค้างคืนอยู่ท้ายหมู่บ้าน
ช่วงเวลาซ้อมเพลงของพวกเขา จริงจังชัดเจนไม่ต่างจากช่วงเวลาเล่นจริงบนเวที ไม่มีออมแรงออมเสียง เปล่งเสียงออกมาได้ตามแต่ใจอยากกะโกนร้องออกไป
ผมเป็นเพื่อนรักกับหัวหน้าวง นิยุติ สงสมพันธุ์ พี่ชายแท้ๆของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มากว่าสองทศวรรษ ความเป็นเพื่อนไม่เคยลดน้อยถอยลง
ผมนึกถึงช่วงเวลานานมา ที่ผมพาหน้าตาแห้งๆไปขอนอนตามผับร้านอาหารกลางมหานคร หลังจากเพื่อนเล่นดนตรีจบ
บางคืน กว่าจะได้นอนก็เห็นขอบฟ้าตะวันออกเรืองแสงของวันใหม่
“ใต้สวรรค์” (อ้ายแสงดาว ศรัทธามั่นกวีเมืองเหนือบอก ไม่ใช่นรก) ไม่ว่าจะใช้มือโซโลกีตาร์เปลืองมากี่คน มือเบสเปลี่ยนหน้า นิยุติก็ยังอยู่ที่เดิม ยังยืนอยู่กลางวง ห้อมล้อมด้วยเครื่องดนตรีของเขา แมนโดลิน ฮาร์โมเนี่ยม แอคคอเดียน และแซ็กโซโฟน ถ้าไม่มีมือกีตาร์มาด้วย เขาก็สามารถหยิบมาเล่นได้ และเล่นได้ดีเสียด้วย
5 in 1 ไฟท์อินวันในเครื่องดนตรี ถ้ารวมฮาร์โมนิกากับแบนโจเข้าไปด้วย ซึ่งเขาเป่าและเล่นได้ดีเช่นกัน ก็จะกลายเป็น 7 ชิ้น พูดง่ายๆว่าในตัวเขามีเครื่องดนตรีอยู่ 7 ชิ้น
ความสามารถของเขา(นิยุติ) เอาชีวิตเป็นเดิมพันมาตลอด ตั้งแต่รู้จักกันมา เขาไม่เคยห่างจากเครื่องดนตรี
พวกเขามาร่วมงาน ”มกราคม อำลา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์” วันและสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เพลงของพวกเขามีท่วงทำนองเพลงร็องแง็ง เพลงท้องถิ่นของชาวมุสลิมทางใต้ และชาวเลตามเกาะต่างๆในอันดามัน อีกทั้งมีท่วงท่าของเพลงหนังตะลุง มโนราห์ กาหลอ ซึ่งมีเครื่องดนตรีอย่างกลอง ทับ กลับ โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ ปี่ รวมอยู่ด้วย
ดนตรีพวกเขาจึงไม่ต่างจากแกงสมรม หรือแกงโฮะทางเหนือ ใส่รสแต่งกลิ่นอย่างซื่อสัตย์ต่อเครื่องปรุง ทุกอย่างลงไปหลอมอยู่ในหม้อ อาศัยมือปรุงกำกับเลือกตักช้อนขึ้นมาเอง ว่าจะเลือกกินอย่างใดก่อนหลัง
การมาของพวกเขาเป็นคลื่นคนดนตรีที่ดูรูปลักษณ์ไร้ระบบไร้ระเบียบ ดิบเถื่อน หัวดื้อ รุงรัง ตัดตรงข้ามกับท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตัว ขณะเนื้อเพลงของพวกเขาเต็มไปด้วยระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ชัดถ้อยชัดคำ ไม่เว้นห้องคลุมเครือหรือช่องว่างเผื่อให้หลงทาง จนปล่อยเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งชิ้นใดให้มุดดำน้ำ เอ้อระเหยหาความเพลิดเพลินอยู่ตามลำพัง
กลุ่มก้อนของพวกเขาแลดูอานุภาพอันทรงพลังของเครื่องจักรชีวภาพ เพียงแต่พวกเขาเคลื่อนไหวอยู่ใต้ดิน
“มางานฮิปปี้คนสุดท้าย” สมาชิกคนหนึ่งพูดด้วยสำเนียงใต้ใต้เรียวหนวด พูดไปหัวเราะไปอย่างครื้นเครง
ครั้งนี้พวกเขาเคลื่อนมาด้วยจำนวน 15 ชีวิต สมาชิกหนึ่งในสามส่วนวางใจกับทรงผมตามแบบบ็อบ มาร์เลย์ เดดล็อก ศิลปินเร็กเก้จากหมู่เกาะในคาริเบียน หรือจะเรียกว่าผมทรงฟั่นเชือกหรือทรงรังไก่ อันคงไว้ซึ่งความเหนียวหนาหนัก
การเคลื่อนของฝูงปลาดุกหน้าแล้ง พวกเขาเตรียมตัวนานเป็นเดือน ช่วงเวลานัดหมายรวมฝูง หมายถึงช่วงเวลาปลอดศูนย์พูนสวัสดิ์ ทรัพย์สมบัติลาภไม่มีพร้อมกัน
พร้อมออกเดินทางไปข้างหน้า
เข็มทิศของพวกเขาไม่ยืมมือโจรสลัด ไม่ถือเอายามอุบากองนำทาง แต่ถือเอาความสะดวกของคนสุดท้ายที่เข้ารวมฝูง ด้วยยานพาหนะอย่างน้อย 2 คัน คันหนึ่งขนคน อีกคันหนึ่งขนของที่มีทั้งเครื่องเสียง เครื่องดนตรี เครื่องมือทำอาหาร จอผ้าและแผงรูปหนังตะลุง หนังสือ แผ่นซีดี เสื้อยืด เต็นท์ ฯลฯ
ถ้าพวกเขาสามารถขนบูดู พุงปลา กุ้งส้ม แป้งแดงขึ้นมาได้ พวกเขาคงขนมาด้วย ทั้งขายและปรุงกินระหว่างเดินทาง
นิยุติบอกว่า กว่าจะรวมตัวกันได้แต่ละครั้ง ต้องบอกล่วงหน้านาน แต่ละคนต้องจัดการตัวเอง ให้คนละทิศละทางของแต่ละคนหันหน้าไปทางเดียวกัน
สมาชิกในวงประกอบอาชีพกันหลากหลาย ทำอาร์ตเวิร์คออกแบบสิ่งพิมพ์ คนขายของในตลาด คนขายกาแฟ คนทำร้านอาหาร คนกรีดยาง คนทำสวน คนเล่นดนตรีไปเรื่อยๆ ฯลฯ ที่ดูราวไม่เกี่ยวกับเพลงดนตรีเอาเสียเลย
เปล่า!! ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา พร้อมนำออกแสดงทันทีที่รวมวงเข้าด้วยกัน
“เด็กบ้านๆเล่นดนตรี” มือเพอคัสชั่นที่มีลายสักตามตัวพูดด้วยน้ำเสียงถ่อมตัวถ่อมตน พูดไปยิ้มไปด้วยสายตาเยิ้มสู้ยอดมะพร้าว
เขารักเครื่องมือของเขาอย่างกับผูกโยงไว้กับเลือดเนื้อในเส้นเอ็น ฉิ่ง ฉับ กลับ โหม่ง ราวเหล็ก กระดิ่ง แทมเบอร์ลิน ฯลฯ สีเสียงเติมช่องว่างจังหวะรุกเร้าระหว่างเครื่องดนตรีอย่างออกรสทะเลเค็ม
ดนตรีของใต้สวรรค์ ชักชวนจังหวะหนังตะลุง มโนราห์ ร็องแง็งและเร็กเก้มาอยู่ด้วยกัน บรรเลงร่วมกัน ในสัดส่วนเพลงเรียบเรียงรับส่งกันให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน สราญใจ
พร้อมเชิญชวนให้ผู้ฟังขยับแข้งขา ยักไหล่โยกคอ หรือหลงลืมห้วงลมหายใจหน่วงหนักไปได้
อิทธิพลเร็กเก้แมนจากเกาะในคาริเบียน หลอมรวมกับกลองรำมะนาอันดามัน และปี่มโนราห์เชิดหนังตะลุง หลอมลึกอยู่ในตัวนิยุติ ผู้เป็นหัวเรือหลอมเรียบเรียงเพลงร่วมกับเพื่อนพ้องในชาวคณะ
ด้วยเพลงของพวกเขาไม่ค่อยมีเนื้อร้อง แต่เล่าเรื่องผ่านเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น บอกความรู้สึกผ่านสำเนียงที่เปล่งออกมา นิยุติพูดด้วยอารมณ์ชวนหัวขำขันยามกลับไปเล่นให้ชาวบ้านถิ่นแดนใต้ฟัง
“ชาวบ้านบอกเขาเล่นเพลงคาราโอเกะ คือเพลงไม่มีเนื้อร้อง”…
วัยรุ่นแดนใต้บางถิ่น ถึงกับตื่นเต้นพอมีเนื้อร้องเข้ามาในเพลง
“ถึงเนื้อร้องเสียที กูได้ยินเพลงมันแล้วว่ามันบอกอะไรมั่ง”…
วัยรุ่นบางถิ่นตะโกนขอเพลงมาลีฮวนนา น้อยคนหรือเปล่ารู้ว่ามาลีฮวนน่าคือกัญชา
“(ห)มึงฟังแล ก็เขาเล่นเพลงมาลีฮวนน่าอยู่แล้ว (ห)มึงได้ยินแล้วหม้าย(ยัง) เพลงคนเลวนั่นแหละมาลีฮวนน่า”…
*** เพลง คนเลว เขียนโดย กนกพงศ์ สงสมพันธุ์