Skip to main content



ตอนบ่ายของวันที่ป๋าเข้าโรงพยาบาล ผมพาแม่ไปเก็บข้าวของบางอย่างที่จำเป็น ที่บ้านสวน บ้านหลังที่ป๋ามาใช้ชีวิตยามบั้นปลาย ผมเดินไปดูรอบๆบ้านระหว่างรอแม่ นั่งลงริมบ่อเลี้ยงปลาหางนกยูง ข้างซุ้มไม้ไผ่ที่เป็นเหมือนเรือนเพาะชำไปในตัว ป๋าคงนั่งๆนอนๆอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ในซุ้มนั้นอยู่บ่อยๆ

ข้างๆมีเครื่องไม้เครื่องมือวางกองระเกะระกะ ได้ยินแม่เล่าว่าก่อนมาโรงพยาบาล ป๋ายังนั่งซ่อมรถอยู่เลย ผมเงยมองแท้งค์เก็บน้ำซีเมนต์ ครัวที่ต่อออกมาจากตัวบ้าน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือป๋าทั้งสิ้น (แน่นอนว่า บางส่วนคงมาจากคำบัญชาของแม่)

ผมรู้สึกทึ่ง เพราะแม้กระทั่งวัยขนาดผม ก็ยังคิดว่าจะทำอะไรอย่างที่ป๋าทำได้ เหมือนที่ผมไม่เคยแต่งนิราศได้เพราะเท่าป๋า


นิราศร้างห่างสิ้นถิ่นอาศัย ต้องจากพี่จากน้องครองแดนไกล

สุดหักใจได้ลงคงคนึง

ตราบวันนี้พี่มาถึงที่แล้ว คงไม่แคล้วเฝ้าฝันหมั่นคิดถึง

สุดที่รักคนดีที่บึ้งตึง มาตะลึงจิตใจให้อาวรณ์


เป็นกวีบทแรกๆที่ผมจำได้ขึ้นใจ กวีบทแรกๆที่ผมนั่งมองคนเขียนมันขึ้นมาตรงหน้า เป็นการบ้านในวิชาภาษาไทยตอนมอ 2 และผมต้องออกไปอ่านหน้าชั้น เพื่อนๆทุกคนทึ่ง แต่ป๋าคงคิดว่ากำลังเขียนจีบแม่อยู่ ป๋าคงลืมโจทย์ที่ว่า คนเขียนต้องเป็นเด็กมอ 3 และแน่นอน ครูไม่เชื่อว่าผมเขียนเอง


ทุกวันนี้ แม้ผมจะขีดๆเขียนๆอะไรได้บ้าง ผมก็ยังไม่คิดว่าตัวเองจะแต่งได้แบบนั้น

มันคงต้องผ่านชีวิตอันโชกโชนแบบป๋า ผู้ผ่านการผจญภัยมาหลายต่อหลายครั้ง เผชิญโชคไปยังที่ต่างๆ และสุดท้าย ลูกทะเลแบบป๋าก็มาไกลถึงซบร่างกับหุบเขา


ทุกคนคงมีความทรงจำที่สวยงามกับป๋าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แม่ น้องจอง ป้ามน แป๋ง น้องชายผมเดินมาบอกว่า ให้พูดด้วยว่า ลุงบูลย์คือป๋า ได้ช่วยชีวิตเด็กน้อยคนหนึ่งจากการจมน้ำ ซึ่งก็คือตัวมันนั่นเอง


ส่วนความทรงจำในวัยเด็กของผมที่มีต่อป๋า มักจะเป็นการริเริ่มอะไรใหม่ๆเสมอ สร้างสระว่ายน้ำให้ลูกในบ้านด้วยตัวเอง จัดงานวันเกิดให้ลูกเป็นคนแรกของหมู่บ้าน ตั้งโรงหนังฉายหนัง 8 มม. เรื่องจอมโจรซอโร โดยมีแม่ก่อเตาอั้งโล่ปิ้งข้าวเกรียบอยู่หน้าม่าน


ซื้อจักรยานจากตัวเมืองหาดใหญ่และปั่นมันกลับบ้านที่ห่างออกมา 10 กิโล มันคงไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่สำหรับเด็กตัวเล็กๆ เสียงกริ่งจักรยานในวันนั้น มันช่างเป็นเสียงแห่งวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่มาก


แม้กระทั่งคำเรียกพ่อของลูก ป๋าก็ยังให้เราเรียกไม่เหมือนใคร จนทำให้เพื่อนของน้องสาวเข้าใจไปว่า น้องมีป๋าขา มาอุปการะเลี้ยงดู


ผมก็ได้สายเลือดมาจากป๋า สายเลือดที่หลงรักความงาม ศิลปะ หนังสืออักษรวิจิตรที่ป๋าซื้อให้ วิชาวาดรูปที่ป๋าพาไปฝากฝังเรียนกับช่างวาดภาพเหมือนในตัวเมือง เป็นพื้นฐานวิทยายุทธที่นำผมมาจนถึงทุกวันนี้ และผมมักจะได้ยินป๋าเอ่ยถึงมันด้วยรอยยิ้มอย่างภาคภูมิใจอยู่เสมอ ป๋าปรารภอยู่บ่อยๆว่าอยากจะเก็บสมุดวาดภาพที่ผมใช้เรียนตอนนั้น ผมไม่แน่ใจว่าแกหาเจอแล้วหรือยัง


ก่อนจะขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ ทุกครั้งที่ผมไปหาป๋า ก็จะพบว่าแกจะใช้เวลาว่างจากการทำงาน ซ่อมเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ที่ป๋าเสาะหามาจากตลาดมือสองอยู่เป็นประจำ ทั้งวิทยุ เครื่องเล่นซีดี โทรศัพท์ แต่เมื่อเลือกมาใช้ชีวิตชาวสวนกับแม่ สองมือนั้นก็คงหยาบกร้านจากการซ่อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้าแทน


ป๋าไม่เคยยอมแพ้อะไรง่ายๆ อดทน ทำอะไรเองได้ ป๋าไม่รั้งรอจะลงมือทำ ทำด้วยความร่าเริง และมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ แม้จะนอนอยู่ในโรงพยาบาล ป๋าก็ยังบอกว่าไม่เป็นไร สบายแล้ว ไล่ให้ผมกลับบ้านไปดูลูกเมีย


แม้ว่าเราจะไม่ชอบ ไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย แต่การสูญเสียนั้นก็นำมาซึ่งบางอย่างเสมอ ครอบครัวได้มาพบกัน ปลอบโยน พูดคุย ลูบหลังลูบไหล่ นอนเคียงข้างกัน ซึ่งคงหาโอกาสแบบนี้ได้ไม่ง่ายนัก


ในยามปกติวัฒนธรรมของคนใต้แบบเรา เหมือนกับผู้ล่วงลับไม่ได้จากเราไปไหน เรายังยกข้าวไปให้เขา บางคราวเขาก็มาเยียนเราในร่างของลูกหลาน สิ่งเหล่านี้มันคงทำให้เรามิอาจลืมเลือนเขา


เขายังอยู่ในการโอบอ้อมของเรา เรายังโอบล้อมกันและกัน แม้จะมองไม่เห็น แต่เราสัมผัสได้ สัมผัสนั้นถักทอให้เรากอดเกลียวกันอย่างอบอุ่น และผมก็เชื่อว่าป๋าก็คงเป็นเส้นด้ายเส้นหนึ่งในสายใยนี้ เป็นด้ายเส้นที่สีสันฉูดฉาดแพรวพราวอยู่ไม่น้อย


ขอให้ป๋าหลับฝันดีครับ

บทบันทึกนี้เขียนข้างๆสภากาแฟที่ป๋าชอบนั่ง


***
เป็นเสียงของความรู้สึกที่จับใจครั้งหนึ่งของผม ในวันสุดท้ายที่พ่อลูกจากกันชั่วนิรันดร์

ลูกชายเขียนเพื่ออ่านประวัติพ่อให้คนมาร่วมฌาปณกิจได้ฟัง ผมบอกลูกชายที่สูญเสียพ่อว่า อยากเอาไปเผยแพร่ต่อได้มั้ย เขาตอบกลับมาว่า ป๋าคงดีใจ ผมพิมพ์แต่ละตัวจากต้นฉบับที่อยู่ในมือเขา ด้วยความรู้สึกกระเพื่อมไหวภายใน


***
ขอแสดงความเสียใจกับลูกชายคนนั้น ศุภโมกข์ ศิลารักษ์(อ้น)(เขียนเรื่องสั้น ทำเพลง และหนังสั้น) ที่สูญเสียพ่อไปอย่างกะทันหัน พลังชีวิตในตัวพ่อไม่ได้หายไปไหน ได้ถ่ายทอดถึงหัวใจลูกชายไว้เต็มเปี่ยมแล้ว

 

 

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
พ่อของลูกคือลูกของพ่อ ล้วงหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ออกจากกระเป๋าสะพาย เป็นเล่มเดียวที่ติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่ลูกชายเดินทางไปด้วย และไม่อาจรู้หรอกว่าจะได้เปิดอ่านในช่วงไหนเวลาไหน ลูกของพ่อคือหลานของปู่กำลังง่วนอยู่กับสมุด ดินสอ สีในกระเป๋าเช่นกัน เขาคงนึกอยากเขียนภาพ
ชนกลุ่มน้อย
เดินทางแบบกระเด็นกระดอนอยู่ในกระป๋องหนาหนักติดล้อ  และความยาวนานของระยะทาง  กว่า 5 ชั่วโมงไปให้ถึงใจกลางภูเขา  แต่ยิ่งคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงใจกลางภูเขาตามมาตรวัดของแผนที่แผ่กางออกกว้าง  ยิ่งกลับเป็นเรื่องยากไปถึงใจกลางภูเขาที่อยู่ในใจ  ภูเขาเป็นทะมึนก่อกำแพงรายล้อม  
ชนกลุ่มน้อย
    เป็นเวลา 10 กว่าปี ที่ผมไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อใต้ชายคาเดียวกันนานๆ แต่คราวนี้ พ่ออยู่กับผมนานถึง 90 วัน พ่อในวัย 74 เพิ่งผ่านการบำบัดรักษาหัวใจอย่างชนิดลุ้นเส้นยาแดงผ่าแปดกันมา และต้องควบคุมตัวเองเรื่องการดื่ม กิน เคลื่อนไหว และเคร่งครัดกับขนาดจำนวนยารักษาอย่างชนิดห้ามขาดเกินเวลา
ชนกลุ่มน้อย
ไหนๆ ก็กอดกันแล้ว กอดต่ออีกครั้งเป็นไรไป ภูเขาลูกนั้นมีเถียงไร่ตั้งอยู่โดดเด่นและโดดเดี่ยว สองพ่อลูกชวนกันไปยังเถียงไร่ ที่นั่นคงสบายตา ดูลับหูลับตาคน ไม่มีใครไป พอเดินไปได้ไม่กี่ก้าว กลับพบกับไม้สามต้น ดูราวเป็นพี่น้องกัน ทรงพุ่มงามเหลือเกิน เหมือนก้อนเมฆย้อมสีเขียวเกิดเปลี่ยนใจอยากมาปักเป็นต้นไม้อยู่บนผืนดิน มองแล้วมองอีก ยังไม่อิ่ม “กอดดีกว่าพ่อ” เสียงนั้นบอก “พ่อกอดด้วย” นานอย่างนาน ผลัดกันกอดไม้สามต้นนั้น
ชนกลุ่มน้อย
 ขอทะลึ่งๆ เว่อร์ๆ อีกสักครั้งเถอะครับ ผมรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ทันทีที่นึกอยากเขียน และโชว์รูปที่น่าจะอยู่ในอัลบั้มรูปส่วนตัว ว่างๆก็เอามาแบวางออกดูและรำลึกถึง มากกว่านำออกมาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าสายตาสาธารณะ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า เบื่อๆ เซาๆ ซึมๆ ว่างมาก มาทำเรื่องดูดีกันมั้ยลูก   มา ม๊า มาทำซึ้งกันสักครั้งดีกว่ามั้ย"เอ้า เอาเลย กอดกันเลยลูก" พูดแค่นั้นเจ้าชายน้อยโผประจำการทันที ผมไล่ตามเก็บรูป"พ่อกอดมั้ย" เขาถามกลับมา"กอดสิ ต้องกอดแน่ๆ ว่างแล้วยัง" หมายถึงไม้ต้นนั้น หมายตาไว้เหมือนกัน และถูกรักหลงในเวลาอันรวดเร็ว"ถ่ายรูปมั้ย" เขายึดกล้องไปกดรูปวันนั้น…
ชนกลุ่มน้อย
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่ผมตระเวนท่องไปตามป่าเขาในภาคเหนือ ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเผชิญหน้าจริงๆ กับพายุลมแรงที่หอบน้ำแข็งมาด้วย จนติดตรึงอยู่ในพายุน้ำแข็ง ไม่เห็นทางข้างหน้าและไม่เห็นทางข้างหลัง ขยับไปไหนไม่ได้ ราวกับทุกอย่างตกอยู่เหนือการควบคุม นอกจากยอมรับสภาพแล้วจำนนกับความเป็นไป
ชนกลุ่มน้อย
วันที่ 8 มีนาคม 2552 ผมนั่งเคียงข้างพ้อเลป่า ก่อนเดินทางกลับ ผมบอกว่า อีกสองสามอาทิตย์จะเข้ามาเยี่ยมอีกครั้ง เวลาผ่านไปสามอาทิตย์กว่า ตรงกับวันที่ 2 เมษายน 2552 พ้อเลป่าก็จากไปจริงๆ ผมไปถึงบ้านแม่แฮคี้ตอนบ่ายแก่ๆวันต่อมา บ้านไม้ริมถนนมีคนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่บนบ้าน ไล่เรียงอออกมานอกประตูบ้าน ผู้เฒ่ากวีแห่งแม่แฮใต้จากไปจริงๆ รูปวางถ่ายไว้บนโลงไม้ รูปสูบไปป์ที่คุ้นเคย พร้อมดอกไม้สัญลักษณ์ของความอาลัย
ชนกลุ่มน้อย
 เมื่อฉันเริ่มจำความได้ ฉันเที่ยวเล่นกับพวกเพื่อนๆ ฉันรู้ว่า แม่เป็นคนทอเสื้อให้ฉันใส่ ฉันดีใจมาก ฉันสวมเสื้อตัวนั้นแล้วเดินนำหน้าคนอื่นๆ เวลานั้นฉันรู้สึกว่า ใบหน้าของตัวเองเต็มอิ่มไปด้วยความร่าเริงยินดี
ชนกลุ่มน้อย
ชนกลุ่มน้อย
 ไม่มองซ้ายขวาหน้าหลัง  เดินเข้าไปหาแล้วโอบกอด   "ได้กลิ่นมั้ย" ผมถาม"เหมือนน้ำมัน" เขาตอบ"ใช่  ในตัวเขามีน้ำมัน" .. บทสนทนาระหว่างโอบกอด  เป็นเช่นนี้จริงๆ