Skip to main content

 

 

โลกของเขาช่างแตกต่างจากคนอื่น ยากจะถามหาเหตุผลด้วยซ้ำว่า ผลน้ำเต้าแก่แกะเม็ดในออกไป เอามารวมกับลำไม้ไผ่เล็กๆ เปิดรูตามปล้อง กลายเป็นเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “ฟูหลู” หรือแคนน้ำเต้าได้อย่างไร และสิ่งนั้นนำพาเรื่องใดมาสู่ตัวเขาบ้าง


เขากำลังเต้นรำอยู่กับสิ่งที่มองไม่เห็น


เย็นย่ำใกล้ค่ำเต็มที แต่มวลเมฆฝนกำลังไหลผ่านหินภูผา หรือจะบอกว่าภูผาปะทะเมฆเข้าอย่างจัง ลีลาภูผาปะทะเมฆอ่อนช้อยนุ่มนวล เคลื่อนไหลเพียงพริบตาเดียวเท่านั้น นาทีต่อไปอาจมีฝนได้ ครึ้มหม่นมัวซัวไปทุกทิศทุกทาง

มาช้าไปนิดเดียว แดดเพิ่งจากไปเมื่อกี้” เจ้าของระเบียงที่พักพูดทักทาย “พักค้างคืนมั้ย ตอนเช้าๆจะเห็นหมอกปกคลุมเต็มทั้งหุบเหว”


ชีวิตที่อยู่ใกล้ธรรมชาติหรือเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติ การเฝ้าสังเกตและนำมาอธิบายจึงเต็มไปด้วยคำเชิญชวนอันมีเสน่ห์น่าหลงใหล

ทุกคนจึงลงความเห็นว่า กำลังยืนอยู่บนดินแดนของความงาม

 


ไม่ว่าหมู่บ้านแห่งนี้จะได้รับการตราหน้าจากใครกลุ่มไหนก็ตาม ว่าเคยมีพฤติกรรมปลูกฝิ่น ทำไร่ฝิ่น ขนยาฝิ่น ตัดต้นไม้ทำลายป่าเป็นบริเวณกว้าง ขนาดต้องขอร้องไหว้วอนให้เหลือพื้นที่ป่าไว้


แต่สิ่งที่สัมผัสได้ผ่านแววตาของเขา ก็ยังฉายความซื่อใส เต็มด้วยมิตรไมตรี คนเหล่านี้ไม่มีญาติอยู่ในเมืองใหญ่ หรือต่างจังหวัดใดๆ สายเลือดพวกเขาหมุนวนอยู่ตามป่าเขา เดินทางหากันตามหุบห้วย ถามหากันจากซอกภูเขาที่ซ้อนยอดต่อยอด


ดูไปแล้วพวกเขาก็ไม่ต่างจากต้นไม้ในป่าต้นหนึ่ง สัตว์ป่าตัวหนึ่ง แมลงปอตัวหนึ่ง ผีเสื้อตัวหนึ่ง หรือฝูงแมงฝูงมดที่จับกลุ่มอยู่รวมกัน ยิ่งมองยิ่งพบกับความแตกต่าง พวกเขาเป็นคนของแผ่นดินภูเขาจริงๆ


หน้าผาสูงชันอย่างนั้น ต้นไม้ก็ยังพยายามจะเสียดยอดงอกงามขึ้น แทรกตัวขึ้นมาอย่างยากลำบาก พบกับลมพัดแรง ดินถล่ม ไฟไหม้ป่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่พวกมันก็โตกันมาได้” เสียงพูดเชื่อมโยงชีวิตในธรรมชาติจากคนร่วมเดินทาง


พวกเขาก็ไม่ต่างกัน ยังพยายามจะมีชีวิตอยู่
เขาเป็นเผ่าลีซู โดยดวงตาและท่าทาง เขาไม่น่าจะถูกนับเป็นผู้สูงอายุ แต่ก็นับเป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้านได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ


หมู่บ้านของเขาตั้งอยู่บนไหล่เขาอีกฟากของยอดดอยหลวงเชียงดาว หน้าผาชันที่ซ่อนทางเดินขึ้นไปยังยอดหน้าผาไว้อย่างเงียบงัน


ระหว่างทางถนนที่มุ่งไปสู่ชายแดน บนเส้นทางที่นักท่องเที่ยวจากเมืองอื่น ต่างใฝ่ฝันถึงเส้นทางป่า ความเงียบเปลี่ยวของพื้นที่ และหุบเหวของความแปลกหน้าที่เก็บซ่อนมรดกดั้งเดิมเอาไว้ด้วย


เขตแดนโลกสมัยใหม่พยายามรุกล้ำเข้ามา พร้อมกับจับยัดภาพปรากฏในนามผู้บุกป่าปลูกพืชผักเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีเข้มข้น ยานพาหนะรถกระบะขับเข้าป่าดงดอยด้วยใบสั่งซื้อ อีกทั้งข้องแวะกับไร่ฝิ่นยาเสพติด สายตาจากโลกข้างนอก มองพวกเขาไม่เคยเปลี่ยนเป็นอื่นเลยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา


แต่บ่อยครั้งเหลือเกิน เสียงดนตรี เสียงเพลงในมือเขาสะกดใจคนให้ลุ่มหลง ราวกับโดนมนต์สะกด

ฟูหลู” เขาตอบทันทีที่มีคำถามว่ามันมีชื่อเรียกอย่างไร


แรกเริ่มมันดังอยู่ในบ้านหลังที่ตั้งอยู่บนไหล่เขาลาดต่ำลงไป เป็นเสียงอื่นไปไม่ได้ เสียงดังออกหลอนๆในเย็นย่ำแสงหลบห่างออกไปทุกที ราวกับภูติออกมาเต้นรำอยู่ในมุมมืดๆ คนที่คุ้นเคยกับเสียงเพลงเสียงดนตรี คิดเป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็นเสียงดนตรีของพวกเขา


เขาเดินตรงมายังระเบียงชมวิว ในมือมีฟูหลูติดมือมาด้วย

 



ท่วงทำนองเพลงเผ่าลีซู ลายเพลงที่พบเห็นได้ในถิ่นเช่นนี้ หลบๆซุกๆอยู่ตามบ้าน นานๆจะออกมาส่งเสียงสักครั้งหนึ่ง ในงานพิธีกรรมขึ้นในหมู่บ้านเท่านั้น นอกเหนือเสียงของความรื่นเริงรวมหมู่ ก็เป็นเสียงเพลงของการเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษ


สอนลูกๆหลานๆด้วยมั้ย” คำถามมุ่งอยากรู้หาผู้สืบทอดเสียงนั้น

เด็กๆไม่มีใครเป่าแล้ว”…

จังหวะของมันดังมาจากอก กระเพื่อมมาจากหัวใจ


บางเสียงบีบเค้นให้แหบโหย ขณะบางเสียงบีบบี้จนเสียงแตกอย่างกับเสียงสะอื้นร่ำไห้ แต่ละเสียงดังลอดรูไม้ไผ่ กังวานไพเราะจับใจเหลือเกิน  


ใครคนหนึ่งพูดว่า “นึกถึงกลิ่นควันไฟกับเหล้าเข้มๆ”

 

 


เขาบอกว่ามีไผ่ชนิดเดียวเท่านั้น นำมาทำฟูหลู มีอยู่ไม่มากในป่า ขึ้นบริเวณที่ชื้นริมลำห้วย ต้องออกเดินเข้าไปในป่าไกลๆ ตัดแล้วตั้งวางตากแดดไว้ราวครึ่งเดือน จึงจะเอามาทำฟูหลูได้ ท่าเต้นรำกับเสียงแคนราวกับอุปรากรที่ร่ายรำอยู่ในความมืดสลัว ในแดนดงลับแลอันห่างไกล

 

************************


ตีพิมพ์ครั้งแรก เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจรายวัน(เสาร์) ฉบับที่ 541 3 ตุลาคม 2552 คอลัมน์ คนคือการเดินทาง ในชื่อเรื่อง “ฟูหลู” หลังภูเขาใหญ่มีฉากเต้นรำ

 

 

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
พ่อของลูกคือลูกของพ่อ ล้วงหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ออกจากกระเป๋าสะพาย เป็นเล่มเดียวที่ติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่ลูกชายเดินทางไปด้วย และไม่อาจรู้หรอกว่าจะได้เปิดอ่านในช่วงไหนเวลาไหน ลูกของพ่อคือหลานของปู่กำลังง่วนอยู่กับสมุด ดินสอ สีในกระเป๋าเช่นกัน เขาคงนึกอยากเขียนภาพ
ชนกลุ่มน้อย
เดินทางแบบกระเด็นกระดอนอยู่ในกระป๋องหนาหนักติดล้อ  และความยาวนานของระยะทาง  กว่า 5 ชั่วโมงไปให้ถึงใจกลางภูเขา  แต่ยิ่งคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงใจกลางภูเขาตามมาตรวัดของแผนที่แผ่กางออกกว้าง  ยิ่งกลับเป็นเรื่องยากไปถึงใจกลางภูเขาที่อยู่ในใจ  ภูเขาเป็นทะมึนก่อกำแพงรายล้อม  
ชนกลุ่มน้อย
    เป็นเวลา 10 กว่าปี ที่ผมไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อใต้ชายคาเดียวกันนานๆ แต่คราวนี้ พ่ออยู่กับผมนานถึง 90 วัน พ่อในวัย 74 เพิ่งผ่านการบำบัดรักษาหัวใจอย่างชนิดลุ้นเส้นยาแดงผ่าแปดกันมา และต้องควบคุมตัวเองเรื่องการดื่ม กิน เคลื่อนไหว และเคร่งครัดกับขนาดจำนวนยารักษาอย่างชนิดห้ามขาดเกินเวลา
ชนกลุ่มน้อย
ไหนๆ ก็กอดกันแล้ว กอดต่ออีกครั้งเป็นไรไป ภูเขาลูกนั้นมีเถียงไร่ตั้งอยู่โดดเด่นและโดดเดี่ยว สองพ่อลูกชวนกันไปยังเถียงไร่ ที่นั่นคงสบายตา ดูลับหูลับตาคน ไม่มีใครไป พอเดินไปได้ไม่กี่ก้าว กลับพบกับไม้สามต้น ดูราวเป็นพี่น้องกัน ทรงพุ่มงามเหลือเกิน เหมือนก้อนเมฆย้อมสีเขียวเกิดเปลี่ยนใจอยากมาปักเป็นต้นไม้อยู่บนผืนดิน มองแล้วมองอีก ยังไม่อิ่ม “กอดดีกว่าพ่อ” เสียงนั้นบอก “พ่อกอดด้วย” นานอย่างนาน ผลัดกันกอดไม้สามต้นนั้น
ชนกลุ่มน้อย
 ขอทะลึ่งๆ เว่อร์ๆ อีกสักครั้งเถอะครับ ผมรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ทันทีที่นึกอยากเขียน และโชว์รูปที่น่าจะอยู่ในอัลบั้มรูปส่วนตัว ว่างๆก็เอามาแบวางออกดูและรำลึกถึง มากกว่านำออกมาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าสายตาสาธารณะ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า เบื่อๆ เซาๆ ซึมๆ ว่างมาก มาทำเรื่องดูดีกันมั้ยลูก   มา ม๊า มาทำซึ้งกันสักครั้งดีกว่ามั้ย"เอ้า เอาเลย กอดกันเลยลูก" พูดแค่นั้นเจ้าชายน้อยโผประจำการทันที ผมไล่ตามเก็บรูป"พ่อกอดมั้ย" เขาถามกลับมา"กอดสิ ต้องกอดแน่ๆ ว่างแล้วยัง" หมายถึงไม้ต้นนั้น หมายตาไว้เหมือนกัน และถูกรักหลงในเวลาอันรวดเร็ว"ถ่ายรูปมั้ย" เขายึดกล้องไปกดรูปวันนั้น…
ชนกลุ่มน้อย
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่ผมตระเวนท่องไปตามป่าเขาในภาคเหนือ ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเผชิญหน้าจริงๆ กับพายุลมแรงที่หอบน้ำแข็งมาด้วย จนติดตรึงอยู่ในพายุน้ำแข็ง ไม่เห็นทางข้างหน้าและไม่เห็นทางข้างหลัง ขยับไปไหนไม่ได้ ราวกับทุกอย่างตกอยู่เหนือการควบคุม นอกจากยอมรับสภาพแล้วจำนนกับความเป็นไป
ชนกลุ่มน้อย
วันที่ 8 มีนาคม 2552 ผมนั่งเคียงข้างพ้อเลป่า ก่อนเดินทางกลับ ผมบอกว่า อีกสองสามอาทิตย์จะเข้ามาเยี่ยมอีกครั้ง เวลาผ่านไปสามอาทิตย์กว่า ตรงกับวันที่ 2 เมษายน 2552 พ้อเลป่าก็จากไปจริงๆ ผมไปถึงบ้านแม่แฮคี้ตอนบ่ายแก่ๆวันต่อมา บ้านไม้ริมถนนมีคนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่บนบ้าน ไล่เรียงอออกมานอกประตูบ้าน ผู้เฒ่ากวีแห่งแม่แฮใต้จากไปจริงๆ รูปวางถ่ายไว้บนโลงไม้ รูปสูบไปป์ที่คุ้นเคย พร้อมดอกไม้สัญลักษณ์ของความอาลัย
ชนกลุ่มน้อย
 เมื่อฉันเริ่มจำความได้ ฉันเที่ยวเล่นกับพวกเพื่อนๆ ฉันรู้ว่า แม่เป็นคนทอเสื้อให้ฉันใส่ ฉันดีใจมาก ฉันสวมเสื้อตัวนั้นแล้วเดินนำหน้าคนอื่นๆ เวลานั้นฉันรู้สึกว่า ใบหน้าของตัวเองเต็มอิ่มไปด้วยความร่าเริงยินดี
ชนกลุ่มน้อย
ชนกลุ่มน้อย
 ไม่มองซ้ายขวาหน้าหลัง  เดินเข้าไปหาแล้วโอบกอด   "ได้กลิ่นมั้ย" ผมถาม"เหมือนน้ำมัน" เขาตอบ"ใช่  ในตัวเขามีน้ำมัน" .. บทสนทนาระหว่างโอบกอด  เป็นเช่นนี้จริงๆ