Skip to main content

 

ในชีวิต ณ ปัจจุบัน ผมไม่นึกไม่ฝันว่าจะมาข้องเกี่ยวกับเครื่องดนตรีชื่อ ไวโอลิน และยิ่งไม่เคยนึกว่าวันหนึ่ง จะมีไวโอลินมานอนอยู่ในห้อง ตั้งวางอยู่ข้างตัว รวมถึงได้ยินมันส่งเสียงทุกวันตอนย่ำค่ำ

\\/--break--\>
นิ้วมือของเด็กชายวัย 8 ขวบ กำลังทำความรู้จัก เข้าใจ ฝึกฝนกับอวัยวะใหม่ที่งอกออกมาจากตัวเขา นาทีนั้นผมมองจ้องแทบตาไม่กระพริบ มองสองขาที่ยืนหยัดตั้งฉากกับพื้นโลก คอยดูว่าเขาจะไม่ทิ้งน้ำหนักลงบนขาข้างหนึ่งข้างใดจนเสียสมดุล

 


ดูนิ้วมือขวาจับโบ(คันชัก) ดูนิ้วมือซ้ายจับตำแหน่งบนคอ ดูมิดเดิ่ลโบ ฟล็อกโบ ดูช่วงแขน ดูการดันมือขึ้นไปอย่างมีน้ำหนัก ได้จังหวะ สวยงาม เนื้อเสียงเรียบเนียนสม่ำเสมอ ไม่กระตุกเสียง ไม่ฝืนเกร็ง พร้อมกับฟังเสียงไวโอลิน


เจ้าลูกชายสนใจในไวโอลิน การเดินทางของไวโอลินตัวหนึ่งจึงเกิดขึ้น

40 กว่าปี เกือบ 50 ปีแหละ เมดอินเยอรมัน เลือดเยอรมันแท้เลย” เสียงฝ่าอากาศกลางคืนจากเมืองหลวง บอกด้วยน้ำเสียงลุ้นเต็มที่ หลังจากเขาใช้เวลาเสาะหาไวโอลินสักตัวหนึ่ง ให้อยู่ในอ้อมแขนของเด็กชายที่เขาเห็นหน้าตามาตั้งแต่นอนแบเบาะ


อันที่จริงการเรียนไวโอลินของเจ้าลูกชาย ไม่ได้เริ่มต้นที่การออกหาซื้อไวโอลิน แต่เริ่มที่คำถามบ่อยๆ เหมือนจะให้เขาลองเขียนสักประโยคไว้ในใจ ว่าอยากเล่นเครื่องดนตรีชนิดใดบ้าง วันหนึ่งเขาเขียนออกมาดังๆว่า ไวโอลิน


ห้องเรียนมีสอนหนึ่งชั่วโมงต่อวัน ทุกสัปดาห์ ไวโอลินจึงเคลื่อนความจริงมาใกล้และเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้

ในชีวิต เราควรมีที่หลบภัยประจำตัวไว้สักอย่าง เพื่อนพ่อบอกว่า ดนตรีนี่แหละ เป็นที่หลบภัยชั้นเยี่ยม พ่อเห็นด้วย พ่อมีที่หลบภัยประจำตัวใช้มาได้ตลอด” ผมพูดกับเขาด้วยท่วงท่าประโยคทำนองนี้ ไม่รู้ว่าเขาจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน


ไวโอลิน เมดอินไชน่า เขาใช้ฝึกในห้องเรียนมาแล้ว 5 เดือน เป็นช่วงเวลาที่ผมไม่นึกว่า เสียงนั้นจะมาเปล่งเสียงให้ได้ยินในค่ำวันหนึ่ง พลันมองเห็นแววตาเอาจริงเอาจังของเขา


แล้วโชคก็เยือน เมื่อประตูบานหนึ่งเปิดออกไปพบกับครูสอนไวโอลินอีกคนหนึ่ง เราพ่อลูกเรียกกันในชื่อครูโจ้ มือไวโอลินเก็บเนื้อเก็บตัวที่เอ่ยชื่อสกุลแล้วนักไวโอลินในประเทศต้องร้องอ๋อกันทั่วหน้า


พลังครูในตัวครูโจ้มีมหาศาลมาก เขาเริ่มต้นด้วยนำทางไปรู้จักสรีระร่างกายตัวเอง ชวนรู้จักไวโอลิน ชวนผูกใจแน่น ให้รู้สึกว่าไวโอลินเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของร่างกาย ที่งอกออกไปรับอากาศเหมือนแขนขาหูตาจมูก

 


ผมอยู่เคียงข้างเด็กชาย และร่วมเดินทางไปด้วยทุกชั่วโมงที่ไปเรียนกับครูโจ้

ผมตอบตกลงเพื่อนทันที ว่าจะเอาไวโอลินตัวใหม่ให้เจ้าลูกชาย เพื่อชั่วโมงฝึกฝนของเขาจะได้เป็นจริงและต่อเนื่อง ไวโอลินตัวแรกนั้นนอนค้างคืนที่โรงเรียน อาทิตย์หนึ่งได้กลับมาบ้านหนึ่งครั้ง


ผมรีบลงเมืองหลวงอย่างเร่งด่วน หลังจากตรวจสอบไวโอลินและส่วนประกอบทุกอย่าง เพื่อนมีน้ำใจวิ่งเต้นหายางสน โบที่ควรมีเนื้อไม้ระดับเดียวกับไวโอลิน หางม้า อีกทั้งสะพานรองหลัง ให้แน่ใจว่าพร้อมออกเดินทางไปส่งเสียงได้ทันที


รับส่งมอบกันเสร็จสรรพด้วยคำบอกเล่าถึงที่มาของไวโอลิน

ไวโอลินออกเดินทางชั่วข้ามคืน ก็ไปสูดอากาศอยู่ในหุบเขา

นาทีเจ้าลูกชายเผชิญหน้ากับไวโอลินครั้งแรก สีหน้าแววตาพ่อหรือลูกตื่นเต้นมากกว่ากัน ไวโอลินคงรับรู้ก่อนใคร

 


ศิลปะการเกิดเสียง หลังการพบกันของเนื้อกับเนื้อไม้ ความสุขชนิดนี้ก่อตัวขึ้นในความเงียบ ความว่าง และปราศจากความสงสัย

หลุมหลบภัย พ่อควรหาให้ลูกหลบได้ปลอดภัยสักหลุมหนึ่ง” ผมนึกถึงประโยคนี้ทุกครั้งที่ออกร่วมเดินทางไปให้ถึงประตูห้องเรียนของครูโจ้


ไม่ใช่ผมคนเป็นพ่อที่ค้นพบความหมายคุณค่าของหลุมหลบภัย แต่เป็นเจ้าลูกชายที่บังเอิญเขาหลงชอบไวโอลิน กระโดดลงหลุมอย่างมั่นอกมั่นใจ ว่าในที่ว่างนั้นจะเต็มไปด้วยอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ ยามรอบตัวเขาเต็มไปด้วยสิ่งมีพิษ


ในโลกที่เต็มไปด้วยกับดักและหลุมพราง ที่หลบภัยที่เพียรพยายามสร้างไว้ให้อยู่กับตัว คงช่วยดูแลระหว่างทางชีวิตให้ดำเนินไปได้ แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวงแล้วยังอาจช่วยเยียวยาชีวิตอื่น เป็นไวโอลินที่ขุดหลุมหลบภัยกว้างลึกไกลออกไปเรื่อยๆ และรองรับดูแลชีวิตอื่นได้จริง

 

 

**** ตีพิมพ์ครั้งแรก เสาร์สวัสดี คอลัมน์ คนคือการเดินทาง นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับที่ 550 , 5 ธันวาคม 2552

 

 

 

 

 

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
พ่อของลูกคือลูกของพ่อ ล้วงหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ออกจากกระเป๋าสะพาย เป็นเล่มเดียวที่ติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่ลูกชายเดินทางไปด้วย และไม่อาจรู้หรอกว่าจะได้เปิดอ่านในช่วงไหนเวลาไหน ลูกของพ่อคือหลานของปู่กำลังง่วนอยู่กับสมุด ดินสอ สีในกระเป๋าเช่นกัน เขาคงนึกอยากเขียนภาพ
ชนกลุ่มน้อย
เดินทางแบบกระเด็นกระดอนอยู่ในกระป๋องหนาหนักติดล้อ  และความยาวนานของระยะทาง  กว่า 5 ชั่วโมงไปให้ถึงใจกลางภูเขา  แต่ยิ่งคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงใจกลางภูเขาตามมาตรวัดของแผนที่แผ่กางออกกว้าง  ยิ่งกลับเป็นเรื่องยากไปถึงใจกลางภูเขาที่อยู่ในใจ  ภูเขาเป็นทะมึนก่อกำแพงรายล้อม  
ชนกลุ่มน้อย
    เป็นเวลา 10 กว่าปี ที่ผมไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อใต้ชายคาเดียวกันนานๆ แต่คราวนี้ พ่ออยู่กับผมนานถึง 90 วัน พ่อในวัย 74 เพิ่งผ่านการบำบัดรักษาหัวใจอย่างชนิดลุ้นเส้นยาแดงผ่าแปดกันมา และต้องควบคุมตัวเองเรื่องการดื่ม กิน เคลื่อนไหว และเคร่งครัดกับขนาดจำนวนยารักษาอย่างชนิดห้ามขาดเกินเวลา
ชนกลุ่มน้อย
ไหนๆ ก็กอดกันแล้ว กอดต่ออีกครั้งเป็นไรไป ภูเขาลูกนั้นมีเถียงไร่ตั้งอยู่โดดเด่นและโดดเดี่ยว สองพ่อลูกชวนกันไปยังเถียงไร่ ที่นั่นคงสบายตา ดูลับหูลับตาคน ไม่มีใครไป พอเดินไปได้ไม่กี่ก้าว กลับพบกับไม้สามต้น ดูราวเป็นพี่น้องกัน ทรงพุ่มงามเหลือเกิน เหมือนก้อนเมฆย้อมสีเขียวเกิดเปลี่ยนใจอยากมาปักเป็นต้นไม้อยู่บนผืนดิน มองแล้วมองอีก ยังไม่อิ่ม “กอดดีกว่าพ่อ” เสียงนั้นบอก “พ่อกอดด้วย” นานอย่างนาน ผลัดกันกอดไม้สามต้นนั้น
ชนกลุ่มน้อย
 ขอทะลึ่งๆ เว่อร์ๆ อีกสักครั้งเถอะครับ ผมรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ทันทีที่นึกอยากเขียน และโชว์รูปที่น่าจะอยู่ในอัลบั้มรูปส่วนตัว ว่างๆก็เอามาแบวางออกดูและรำลึกถึง มากกว่านำออกมาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าสายตาสาธารณะ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า เบื่อๆ เซาๆ ซึมๆ ว่างมาก มาทำเรื่องดูดีกันมั้ยลูก   มา ม๊า มาทำซึ้งกันสักครั้งดีกว่ามั้ย"เอ้า เอาเลย กอดกันเลยลูก" พูดแค่นั้นเจ้าชายน้อยโผประจำการทันที ผมไล่ตามเก็บรูป"พ่อกอดมั้ย" เขาถามกลับมา"กอดสิ ต้องกอดแน่ๆ ว่างแล้วยัง" หมายถึงไม้ต้นนั้น หมายตาไว้เหมือนกัน และถูกรักหลงในเวลาอันรวดเร็ว"ถ่ายรูปมั้ย" เขายึดกล้องไปกดรูปวันนั้น…
ชนกลุ่มน้อย
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่ผมตระเวนท่องไปตามป่าเขาในภาคเหนือ ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเผชิญหน้าจริงๆ กับพายุลมแรงที่หอบน้ำแข็งมาด้วย จนติดตรึงอยู่ในพายุน้ำแข็ง ไม่เห็นทางข้างหน้าและไม่เห็นทางข้างหลัง ขยับไปไหนไม่ได้ ราวกับทุกอย่างตกอยู่เหนือการควบคุม นอกจากยอมรับสภาพแล้วจำนนกับความเป็นไป
ชนกลุ่มน้อย
วันที่ 8 มีนาคม 2552 ผมนั่งเคียงข้างพ้อเลป่า ก่อนเดินทางกลับ ผมบอกว่า อีกสองสามอาทิตย์จะเข้ามาเยี่ยมอีกครั้ง เวลาผ่านไปสามอาทิตย์กว่า ตรงกับวันที่ 2 เมษายน 2552 พ้อเลป่าก็จากไปจริงๆ ผมไปถึงบ้านแม่แฮคี้ตอนบ่ายแก่ๆวันต่อมา บ้านไม้ริมถนนมีคนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่บนบ้าน ไล่เรียงอออกมานอกประตูบ้าน ผู้เฒ่ากวีแห่งแม่แฮใต้จากไปจริงๆ รูปวางถ่ายไว้บนโลงไม้ รูปสูบไปป์ที่คุ้นเคย พร้อมดอกไม้สัญลักษณ์ของความอาลัย
ชนกลุ่มน้อย
 เมื่อฉันเริ่มจำความได้ ฉันเที่ยวเล่นกับพวกเพื่อนๆ ฉันรู้ว่า แม่เป็นคนทอเสื้อให้ฉันใส่ ฉันดีใจมาก ฉันสวมเสื้อตัวนั้นแล้วเดินนำหน้าคนอื่นๆ เวลานั้นฉันรู้สึกว่า ใบหน้าของตัวเองเต็มอิ่มไปด้วยความร่าเริงยินดี
ชนกลุ่มน้อย
ชนกลุ่มน้อย
 ไม่มองซ้ายขวาหน้าหลัง  เดินเข้าไปหาแล้วโอบกอด   "ได้กลิ่นมั้ย" ผมถาม"เหมือนน้ำมัน" เขาตอบ"ใช่  ในตัวเขามีน้ำมัน" .. บทสนทนาระหว่างโอบกอด  เป็นเช่นนี้จริงๆ