Skip to main content

20080408 1

ขบวนรถด่วนยาวเหยียดปล่อยสองพ่อลูกลงสถานีพัทลุง   กระเป๋าเป้ใบใหญ่อย่างกับบ้านย่อมๆ  ทุกอย่างยัดอัดแน่นอยู่ในนั้น   ถ้ามีห้องน้ำยัดใส่เข้าไปได้  ผมก็คงจับยัดลงไปด้วยอยู่หรอก  อีกทั้งกล่องกระดาษ  กระเป๋าใส่ของฝาก  พะรุงพะรังอยู่ในอาการโกลาหลอยู่พักใหญ่  กว่าทุกอย่างจะวางกองอยู่ในความสงบ  

20080408 2

ที่นี่ที่ไหน  ไปไหน  ไปอย่างไร  ไปไกลมั้ย ..  เหล่าคำถามนั้น  เจ้าลูกชายถามเป็นข้าวตอก   ต่อเมื่อผมชี้ให้ดูรถโดยสารธรรมดาที่จอดนิ่งสงบดำมืดอยู่บนราง  อย่างกับสัตว์โบราณกบดานเงียบ  ดูไม่มีพิษภัย  รอเวลาตื่นขึ้นรับแดดเช้าเพียงเท่านั้น   

หรือจะบอกว่า  มันเป็นรถจักรหัวเก่าแก่ชราภาพเต็มที   ราวกับมันจะจมอยู่ในความเงียบมานานนับศตวรรษ   จอดนิ่งกับที่  ไม่ส่งเสียงใดๆ
รอจนกว่ารถด่วนอีกขบวน  รถเร็วอีกขบวนจากกรุงเทพ  แซงหน้าผ่านไป   มันจึงจะตื่นด้วยสำนึกคำรามเป็นครั้งแรก   สั่นสะเทือนไปทั่วอาณาบริเวณ 
นั่นเอง  รถไฟโดยสารชั้นธรรมดา  ต้นทางพัทลุง  มุ่งสู่ปลายทางสุไหงโกลก     
ชาวบ้านรู้จักในชื่อ รถโกลก     

ช่องขายตั๋วเริ่มเปิดบริการ  คนเดินออต่อคิวยาวซื้อตั๋ว  ดูหน้าตาคนซื้อส่วนใหญ่ขรึมเงียบ  เป็นชาวบ้านชาวสวนมากกว่าจะเป็นคนประกอบอาชีพอื่นใด  ต่อเมื่อใครคนหนึ่งคนใดจะเจอเพื่อน เจอญาติ  เจอคนรู้จักจึงจะได้ยินเสียงพูดกันดัง  พูดเรื่องอะไรก็ตาม  เผื่อแผ่หูคนรอบข้างได้อย่างทั่วถึง   ใครเจ็บใครตายใครแต่งงานที่ไหน  ลูกหลานใคร  เราจะได้ยินกันชัดเจน

ถึงแล้วครับ บ้านเกิดผมเอง ผมถึงเข้าใจและคุ้นเคยอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ เสียงดูไม่มีพิษภัยกับใคร    กระทบกระเทียบใครก็เปิดออกมาให้รู้ในที่แจ้ง   

ขณะผมนั่งจดจ่อมองคนขายตั๋ว  ที่กำลังสั่นหน้าใส่หญิงชราคนหนึ่ง  แกเข้ามาถามเป็นครั้งที่สอง  ว่าเป็นตั๋วรถโดยสารธรรมดาหรือเปล่า   แต่คนขายตอบกลับไปครั้งหนึ่งแล้วว่า   ขายตั๋วรถเร็วก่อน

“รถป้าจะขายเมื่อไร”  เสียงยายพูดเน้นย้ำคำ
“ต้องท้าก่อน” (คอยก่อน) เสียงตอบมาไม่ยิ้ม
“ขายไม่ขายก็บอกแหละ” ..
เสียงยายบ่นพึมพัมออกมาอย่างไม่สบอารมณ์   คนอื่นๆยืนรุมมองส่งสายตาเห็นใจ  อย่างกับยืนดูละครฉากผ่านไปตอนอื่นๆ

พอถึงคิวยายจริงๆ  ยายล้วงเอาเหรียญจากกระเป๋านานมาก   นานจนคนต่อท้ายเริ่มร้อนรน  คนขายตั๋วก็สั่นหัวไปมา

คอยเหรียญออกมาจากกระเป๋ายาย ..
“ลงไหนยาย” เสียงหนึ่งถาม
“ควนเคี่ยมลูกเหอ”  เสียงยายตอบแล้วเดินจากไป

เสียงขายตั๋วทำให้ผมนึกถึงการตีตั๋วในอดีต  เสียงตึงๆ  เป็นเสียงกระแทกของแข็ง  ตัดตั๋วกระดาษหนาๆสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลเท่ากำมือรอบ  กลับกลายเป็นเสียงวิ่งของเครื่องกลอิเลคโทรนิกส์  แล้วแผ่นกระดาษยาวๆก็ลอดออกมาจากเครื่อง  

ผมได้ตั๋วในราคา  8 บาท  เด็ก 4 บาท  ราคาถูกน่าตกใจ  รถไฟบริการประชาชนน่าจะจริงเป็นแน่แท้  หากมันจะถูกกว่านี้  ก็คงต้องแถมน่องไก่ทอดฟรีอะไรทำนองนั้น

ผมบอกลูกชายว่า  เราต้องนั่งรถขบวนนี้ไปอีกราวเกือบชั่วโมง “ก็จะถึงบ้านเกิดพ่อแล้ว”        
“ทำไมไม่ไปรถที่เรามาล่ะ”
ลูกชายช่างถาม
“มันไม่จอดป้ายสถานี”
“เพราะอะไรเหรอ”
“ป้ายมีไว้ให้รถไฟธรรมดาจอด”
“อ๋อ” ..


ผมนั่งมองเขาอกทะลุผ่านอากาศมัวซัวตอนเช้า  ขณะรอรถไฟออกจากสถานี   สัญลักษณ์ของจังหวัดตั้งตระหง่านใหญ่ยักษ์อยู่ใกล้ๆ   ยอดเขาหินปูนที่ยืนสู้แดดลมฝนมานานอย่างไม่อาจย้อนเวลาก่อเกิดอันแน่นอน  

20080408 3

ตำนานเรื่องเล่าแทนยอดเขาอกทะลุมีชีวิต   อกทะลุอันมาจากสากทิ่มตำ  กลายเป็นยอดอกทะลุมาจนถึงทุกวันนี้   ผมคงไม่ได้แวะหยิบเอาเกล็ดเรื่องที่มา  เล่าไว้ตรงนี้  แต่ลูกหลานพัทลุงล้วนได้ชิมลางเรื่องเล่าความหมายสัญลักษณ์เขาอกทะลุ   

และผ่านมาชะเง้อมองนับครั้งไม่ถ้วน

ผมผ่านมาแค่ชะเง้อมองตั้งแต่จำความได้   ยืนอยู่มุมไหนของเมือง  มักจะเห็นยอดเขาอกทะลุ  ยืนอยู่บนถนนโคลีเซียมตามเรื่องสั้นของ กนกพงศ์  สงสมพันธุ์  ก็ยังมองเห็นยอดอกทะลุได้ชัดเจน   หนังสือรวมเรื่องสั้น แผ่นดินอื่น ที่ผมพกมาด้วย  คงได้อ่านนึกย้อนถนนโคลีเซียม

20080408 4

พอรถออกจากสถานี  เสียงโครมครามๆ  ผ่านหน้าเขาอกทะลุ  ลมเช้าตีเข้ามาทางหน้าต่าง  ตึงตังๆ โครมๆ ฉั่กๆๆ ครือๆๆ  นั่งนับสถานีที่เหลืออยู่
       

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
พ่อของลูกคือลูกของพ่อ ล้วงหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ออกจากกระเป๋าสะพาย เป็นเล่มเดียวที่ติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่ลูกชายเดินทางไปด้วย และไม่อาจรู้หรอกว่าจะได้เปิดอ่านในช่วงไหนเวลาไหน ลูกของพ่อคือหลานของปู่กำลังง่วนอยู่กับสมุด ดินสอ สีในกระเป๋าเช่นกัน เขาคงนึกอยากเขียนภาพ
ชนกลุ่มน้อย
เดินทางแบบกระเด็นกระดอนอยู่ในกระป๋องหนาหนักติดล้อ  และความยาวนานของระยะทาง  กว่า 5 ชั่วโมงไปให้ถึงใจกลางภูเขา  แต่ยิ่งคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงใจกลางภูเขาตามมาตรวัดของแผนที่แผ่กางออกกว้าง  ยิ่งกลับเป็นเรื่องยากไปถึงใจกลางภูเขาที่อยู่ในใจ  ภูเขาเป็นทะมึนก่อกำแพงรายล้อม  
ชนกลุ่มน้อย
    เป็นเวลา 10 กว่าปี ที่ผมไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อใต้ชายคาเดียวกันนานๆ แต่คราวนี้ พ่ออยู่กับผมนานถึง 90 วัน พ่อในวัย 74 เพิ่งผ่านการบำบัดรักษาหัวใจอย่างชนิดลุ้นเส้นยาแดงผ่าแปดกันมา และต้องควบคุมตัวเองเรื่องการดื่ม กิน เคลื่อนไหว และเคร่งครัดกับขนาดจำนวนยารักษาอย่างชนิดห้ามขาดเกินเวลา
ชนกลุ่มน้อย
ไหนๆ ก็กอดกันแล้ว กอดต่ออีกครั้งเป็นไรไป ภูเขาลูกนั้นมีเถียงไร่ตั้งอยู่โดดเด่นและโดดเดี่ยว สองพ่อลูกชวนกันไปยังเถียงไร่ ที่นั่นคงสบายตา ดูลับหูลับตาคน ไม่มีใครไป พอเดินไปได้ไม่กี่ก้าว กลับพบกับไม้สามต้น ดูราวเป็นพี่น้องกัน ทรงพุ่มงามเหลือเกิน เหมือนก้อนเมฆย้อมสีเขียวเกิดเปลี่ยนใจอยากมาปักเป็นต้นไม้อยู่บนผืนดิน มองแล้วมองอีก ยังไม่อิ่ม “กอดดีกว่าพ่อ” เสียงนั้นบอก “พ่อกอดด้วย” นานอย่างนาน ผลัดกันกอดไม้สามต้นนั้น
ชนกลุ่มน้อย
 ขอทะลึ่งๆ เว่อร์ๆ อีกสักครั้งเถอะครับ ผมรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ทันทีที่นึกอยากเขียน และโชว์รูปที่น่าจะอยู่ในอัลบั้มรูปส่วนตัว ว่างๆก็เอามาแบวางออกดูและรำลึกถึง มากกว่านำออกมาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าสายตาสาธารณะ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า เบื่อๆ เซาๆ ซึมๆ ว่างมาก มาทำเรื่องดูดีกันมั้ยลูก   มา ม๊า มาทำซึ้งกันสักครั้งดีกว่ามั้ย"เอ้า เอาเลย กอดกันเลยลูก" พูดแค่นั้นเจ้าชายน้อยโผประจำการทันที ผมไล่ตามเก็บรูป"พ่อกอดมั้ย" เขาถามกลับมา"กอดสิ ต้องกอดแน่ๆ ว่างแล้วยัง" หมายถึงไม้ต้นนั้น หมายตาไว้เหมือนกัน และถูกรักหลงในเวลาอันรวดเร็ว"ถ่ายรูปมั้ย" เขายึดกล้องไปกดรูปวันนั้น…
ชนกลุ่มน้อย
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่ผมตระเวนท่องไปตามป่าเขาในภาคเหนือ ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเผชิญหน้าจริงๆ กับพายุลมแรงที่หอบน้ำแข็งมาด้วย จนติดตรึงอยู่ในพายุน้ำแข็ง ไม่เห็นทางข้างหน้าและไม่เห็นทางข้างหลัง ขยับไปไหนไม่ได้ ราวกับทุกอย่างตกอยู่เหนือการควบคุม นอกจากยอมรับสภาพแล้วจำนนกับความเป็นไป
ชนกลุ่มน้อย
วันที่ 8 มีนาคม 2552 ผมนั่งเคียงข้างพ้อเลป่า ก่อนเดินทางกลับ ผมบอกว่า อีกสองสามอาทิตย์จะเข้ามาเยี่ยมอีกครั้ง เวลาผ่านไปสามอาทิตย์กว่า ตรงกับวันที่ 2 เมษายน 2552 พ้อเลป่าก็จากไปจริงๆ ผมไปถึงบ้านแม่แฮคี้ตอนบ่ายแก่ๆวันต่อมา บ้านไม้ริมถนนมีคนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่บนบ้าน ไล่เรียงอออกมานอกประตูบ้าน ผู้เฒ่ากวีแห่งแม่แฮใต้จากไปจริงๆ รูปวางถ่ายไว้บนโลงไม้ รูปสูบไปป์ที่คุ้นเคย พร้อมดอกไม้สัญลักษณ์ของความอาลัย
ชนกลุ่มน้อย
 เมื่อฉันเริ่มจำความได้ ฉันเที่ยวเล่นกับพวกเพื่อนๆ ฉันรู้ว่า แม่เป็นคนทอเสื้อให้ฉันใส่ ฉันดีใจมาก ฉันสวมเสื้อตัวนั้นแล้วเดินนำหน้าคนอื่นๆ เวลานั้นฉันรู้สึกว่า ใบหน้าของตัวเองเต็มอิ่มไปด้วยความร่าเริงยินดี
ชนกลุ่มน้อย
ชนกลุ่มน้อย
 ไม่มองซ้ายขวาหน้าหลัง  เดินเข้าไปหาแล้วโอบกอด   "ได้กลิ่นมั้ย" ผมถาม"เหมือนน้ำมัน" เขาตอบ"ใช่  ในตัวเขามีน้ำมัน" .. บทสนทนาระหว่างโอบกอด  เป็นเช่นนี้จริงๆ