Skip to main content

ไม่น่าเชื่อว่า  ขี้มัน  จะเกี่ยวกับพร้าวห้าว  คนถิ่นอื่นให้ความหมายของพร้าวห้าวกับขี้มันอย่างไร?

20080502 (1)

พร้าวห้าวต้องเป็นพร้าวแก่เท่านั้น  
ขี้มัน  เป็นเรื่องใหญ่   ไม่ใช่เรื่องเล็ก  แต่ไม่ใช่เรื่องยาก  เพียงแต่ต้องนั่งเฝ้ากะทิกันนาน
 
กะทิหรือพัทลุงขนานแท้เรียก หน่ามเถ่  เอามาจากพร้าวห้าว  พร้าวแก่  ต้องใช้หลายลูก  แค่ลูกสองลูกไม่มีใครทำ   ไม่มีใครอยากเฝ้าพร้าวห้าวสองลูกเพื่อจะกินขี้มัน

เป็นขี้มันขึ้นมา   หมายถึงได้น้ำมันพร้าวหอมน่าซด   กวนกะทิครั้งหนึ่ง  ใช้พร้าวนับครึ่งรถรุนทีเดียว  หรืออย่างน้อยก็เจ็ดแปดลูก เก้าลูกสิบลูก   หลังขูดเสร็จก็บีบคั้นเอากะทิ(หน่ามเถ่)  ใส่กะทะใบบัว  หรือกะทะใหญ่หนาหนัก  ใช้ไม้พายขนาดเอาไปใช้พายเรือได้สบาย

จุดหมายของพร้าวห้าว  คือน้ำมันพร้าวใสหอมสด  ส่วนขี้มัน  เป็นผลพลอยได้ด้วยซ้ำ   
ตามมาเรื่อยๆนะครับ  ว่าขี้มันออกมาจากส่วนไหนของพร้าวห้าว  และลงเอยกันเช่นไร

ที่บอกว่าขี้มันเป็นเรื่องใหญ่  เพราะว่า  อยู่ดีๆน้อยคนจะนึกถึงการดั้นด้นไปหาพร้าวห้าวมาลอกเปลือกแห้ง  ตีออกสองซีกเอาน้ำออก  

น้ำพร้าวห้าวออกจะจืด  หวานแบบแก่ๆ  ไม่หวานเลี่ยนแต่หวานจืดๆ  ยังไงกันนะ  หวานจืด .. คือมีทั้งหวาน  มีทั้งจืดอยู่ในตัว

เด็กๆคอยอย่างเดียว  คอยว่าพร้าวห้าวจะมีหน่อหรือไม่  หากมีหน่อก็แสดงว่าน้ำพร้าวจะน้อย  ที่สำคัญจะมีพวม  นั่นสิ  พวมคืออะไร  ลองจับพร้าวงอกหน่อสักคืบสองคืบ  แกะเอาเปลือกแห้งออกไป   ผ่าออกดู  จะพบตุ่มงอกออกมาสีออกเหลือง  ดูราวกหัวใจหมูย่อมๆ  ติดแน่นอยู่กับกะลา(พรก)

เด็กชอบนักแล  นุ่มๆ หวานๆ  เปราะๆ  กัดกิน(ครด)อย่างหรอย  จนปากเยิ้มมอมแมม  น้ำลายอาจไหลย้อยลงมาด้วย

พวมคู่กับพร้าวห้าวเท่านั้น  ไม่มีพวมในพร้าวหนุ่มหรือพร้าวสาว
(อีกที) ที่บอกว่าขี้มันเป็นเรื่องใหญ่  เพราะจะเคี่ยวหน่ามเถ่จำนวนมากก็ต่อเมื่อมีงานการในบ้าน  งานบวชงานแต่ง .... หรืองานบุญสำคัญๆ เช่น งานเดือนสิบ(ชิงเปรต)  งานชักพระ(ลากพระ)  งานสงกรานต์(วันว่าง)  ฯลฯ          

หมายถึงต้องใช้น้ำมันพร้าวมาทอด  มาทำขนม  จิปาถะที่ต้องใช้น้ำมันพร้าวจำนวนมาก   เพราะน้ำพืชเมื่อก่อนยังไม่แพร่หลายเหมือนปัจจุบัน   

จะใช้น้ำมันพร้าว ก็ต้องเคี่ยวน้ำกะทิกันเอง

น้ำมันพร้าวจึงเป็นวัฒนธรรม  เป็นงานร่วมมือในครัวเรือน  เริ่มตั้งแต่ปีนต้นพร้าว   ลอกเปลือก  ขูด  ตั้งไฟ  คน  เฝ้าอย่างใจจดใจจ่อ   จะปล่อยให้ก้นกะทะไหม้ไม่ได้อย่างเด็ดขาด

20080502 (2)

ใช้เวลานานสามสี่ชั่วโมงทีเดียว  กว่าจะได้น้ำมันพร้าว   ต้องนั่งอบร่ำรมควันไฟ  นั่งทนร้อน  คอยใส่ฟืน  นั่งเหงื่อแตกพลั่กๆอย่างอดทนนาน   กว่ากะทิจะคายขี้ออกมา

เป็นขี้มัน  ขี้ของมันพร้าวก็ว่าได้  หอมน่ากิน (ชวนรับประทาน)

ขั้นตอนสุดท้ายของกะทิ  ดูที่ก้นกะทะว่าหลามแดงแล้วยัง  หากจับตัวแค่วุ้นสีขุ่นออกขาว  ก็ยังไม่ถึงเวลาน้ำมันจะขี้ออกมา  รอให้วุ้นขุ่นขาวๆเปลี่ยนเป็นสีแดงๆเป็นเม็ดๆ  

20080502 (5)

นั่นแหละ  ได้ทั้งน้ำมัน  ได้ทั้งขี้มัน         
กรองแยกน้ำมันพร้าวออกไป  ส่วนที่เหลือนั่น  ขี้มันขนานแท้ครับ
ผมร่วมพายกะทิในกะทะด้วย  

นั่นสิ  ถึงเกิดสำนวนพายเรือในอ่าง  น่าจะมาจากพายกะทิในกะทะเป็นแน่ ..(อย่าเอาไปอ้างอิงนะครับ  เป็นความสามารถคน เฉพาะตัว เฉพาะที่เท่านั้น)

20080502 (6)

หอมกลิ่นขี้มัน  กลิ่นหอมเหมือนลูกผึ้งป่า  จริงๆ
คลุกซาวข้าว  ใส่น้ำเกลือนิดๆ  เป็นมื้อเลิศรสยากเอาเมนูใดๆมาเทียบเคียง
ข้าวคลุกขี้  (ขี้มันครับ)  แค่ชื่อก็รู้ว่าชวนดมขนาดไหน  ผมได้อยู่ร่วมเคี่ยวน้ำมันพร้าว  แล้วก็เอาข้าวซาวคลุกขี้มันด้วย   อะไรๆนับจากนั้น  ดูลื่นไหลดีไปหมด

พ่อบอกว่า  ในสวนมีพร้าวเหลืออยู่ไม่กี่ต้น   มันแก่ตายหมด  ไม่ได้ปลูกใหม่ทดแทน   เพราะโอกาสกินสารอาหารที่ชื่อขี้มัน ยิ่งลดน้อยลง   ต่างคนต่างเข้าไปหาความสะดวกสบาย  ใช้น้ำมันพืชก็แค่ออกไปซื้อในร้านค้า   ไม่ต้องออกแรง(ให้เหนื่อยกระดูก)เหมือนเมื่อก่อนแล้ว  

ขี้มันจึงกลายเป็นเรื่องไกลตัว  ไม่มีใครนึกอยากกินขี้(มัน)จากพร้าวห้าวอีกแล้ว  

เอาเวลานั่งเฝ้ากะทะกะทิเป็นขี้มันไปคุยโม้โอ้โห..เรื่องยี่ห้อรถยนต์กันดีกว่า  รุ่นไหนของใคร  กินน้ำมันกี่มากน้อย  วิ่งได้เร็วนุ่มนวลเพียงใด ห่มเสื้อไว้ในบ้านหรือนอนตากแดด  กี่แรงม้า กี่สูบ กินน้ำมันหรือไม่  กี่บาท ซื้อถูกซื้อแพง  อย่างกับเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต..

ขี้มันตกยุคสมัยไปแล้ว  เหมือนต้นพร้าวที่ล้มลงหายไปทีละต้น  

ขี้โม้เข้ามาแทนที่ขี้มัน  บ้านเกิดของคุณเป็นเช่นนั้นหรือไม่  หากไม่ -- ขอโทษ  เป็นเรื่องน่ายินดีครับ   พึงรักษาขี้มันอย่าให้เปลี่ยนเป็นขี้โม้เร็วเกินไป ..

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
พ่อของลูกคือลูกของพ่อ ล้วงหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ออกจากกระเป๋าสะพาย เป็นเล่มเดียวที่ติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่ลูกชายเดินทางไปด้วย และไม่อาจรู้หรอกว่าจะได้เปิดอ่านในช่วงไหนเวลาไหน ลูกของพ่อคือหลานของปู่กำลังง่วนอยู่กับสมุด ดินสอ สีในกระเป๋าเช่นกัน เขาคงนึกอยากเขียนภาพ
ชนกลุ่มน้อย
เดินทางแบบกระเด็นกระดอนอยู่ในกระป๋องหนาหนักติดล้อ  และความยาวนานของระยะทาง  กว่า 5 ชั่วโมงไปให้ถึงใจกลางภูเขา  แต่ยิ่งคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงใจกลางภูเขาตามมาตรวัดของแผนที่แผ่กางออกกว้าง  ยิ่งกลับเป็นเรื่องยากไปถึงใจกลางภูเขาที่อยู่ในใจ  ภูเขาเป็นทะมึนก่อกำแพงรายล้อม  
ชนกลุ่มน้อย
    เป็นเวลา 10 กว่าปี ที่ผมไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อใต้ชายคาเดียวกันนานๆ แต่คราวนี้ พ่ออยู่กับผมนานถึง 90 วัน พ่อในวัย 74 เพิ่งผ่านการบำบัดรักษาหัวใจอย่างชนิดลุ้นเส้นยาแดงผ่าแปดกันมา และต้องควบคุมตัวเองเรื่องการดื่ม กิน เคลื่อนไหว และเคร่งครัดกับขนาดจำนวนยารักษาอย่างชนิดห้ามขาดเกินเวลา
ชนกลุ่มน้อย
ไหนๆ ก็กอดกันแล้ว กอดต่ออีกครั้งเป็นไรไป ภูเขาลูกนั้นมีเถียงไร่ตั้งอยู่โดดเด่นและโดดเดี่ยว สองพ่อลูกชวนกันไปยังเถียงไร่ ที่นั่นคงสบายตา ดูลับหูลับตาคน ไม่มีใครไป พอเดินไปได้ไม่กี่ก้าว กลับพบกับไม้สามต้น ดูราวเป็นพี่น้องกัน ทรงพุ่มงามเหลือเกิน เหมือนก้อนเมฆย้อมสีเขียวเกิดเปลี่ยนใจอยากมาปักเป็นต้นไม้อยู่บนผืนดิน มองแล้วมองอีก ยังไม่อิ่ม “กอดดีกว่าพ่อ” เสียงนั้นบอก “พ่อกอดด้วย” นานอย่างนาน ผลัดกันกอดไม้สามต้นนั้น
ชนกลุ่มน้อย
 ขอทะลึ่งๆ เว่อร์ๆ อีกสักครั้งเถอะครับ ผมรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ทันทีที่นึกอยากเขียน และโชว์รูปที่น่าจะอยู่ในอัลบั้มรูปส่วนตัว ว่างๆก็เอามาแบวางออกดูและรำลึกถึง มากกว่านำออกมาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าสายตาสาธารณะ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า เบื่อๆ เซาๆ ซึมๆ ว่างมาก มาทำเรื่องดูดีกันมั้ยลูก   มา ม๊า มาทำซึ้งกันสักครั้งดีกว่ามั้ย"เอ้า เอาเลย กอดกันเลยลูก" พูดแค่นั้นเจ้าชายน้อยโผประจำการทันที ผมไล่ตามเก็บรูป"พ่อกอดมั้ย" เขาถามกลับมา"กอดสิ ต้องกอดแน่ๆ ว่างแล้วยัง" หมายถึงไม้ต้นนั้น หมายตาไว้เหมือนกัน และถูกรักหลงในเวลาอันรวดเร็ว"ถ่ายรูปมั้ย" เขายึดกล้องไปกดรูปวันนั้น…
ชนกลุ่มน้อย
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่ผมตระเวนท่องไปตามป่าเขาในภาคเหนือ ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเผชิญหน้าจริงๆ กับพายุลมแรงที่หอบน้ำแข็งมาด้วย จนติดตรึงอยู่ในพายุน้ำแข็ง ไม่เห็นทางข้างหน้าและไม่เห็นทางข้างหลัง ขยับไปไหนไม่ได้ ราวกับทุกอย่างตกอยู่เหนือการควบคุม นอกจากยอมรับสภาพแล้วจำนนกับความเป็นไป
ชนกลุ่มน้อย
วันที่ 8 มีนาคม 2552 ผมนั่งเคียงข้างพ้อเลป่า ก่อนเดินทางกลับ ผมบอกว่า อีกสองสามอาทิตย์จะเข้ามาเยี่ยมอีกครั้ง เวลาผ่านไปสามอาทิตย์กว่า ตรงกับวันที่ 2 เมษายน 2552 พ้อเลป่าก็จากไปจริงๆ ผมไปถึงบ้านแม่แฮคี้ตอนบ่ายแก่ๆวันต่อมา บ้านไม้ริมถนนมีคนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่บนบ้าน ไล่เรียงอออกมานอกประตูบ้าน ผู้เฒ่ากวีแห่งแม่แฮใต้จากไปจริงๆ รูปวางถ่ายไว้บนโลงไม้ รูปสูบไปป์ที่คุ้นเคย พร้อมดอกไม้สัญลักษณ์ของความอาลัย
ชนกลุ่มน้อย
 เมื่อฉันเริ่มจำความได้ ฉันเที่ยวเล่นกับพวกเพื่อนๆ ฉันรู้ว่า แม่เป็นคนทอเสื้อให้ฉันใส่ ฉันดีใจมาก ฉันสวมเสื้อตัวนั้นแล้วเดินนำหน้าคนอื่นๆ เวลานั้นฉันรู้สึกว่า ใบหน้าของตัวเองเต็มอิ่มไปด้วยความร่าเริงยินดี
ชนกลุ่มน้อย
ชนกลุ่มน้อย
 ไม่มองซ้ายขวาหน้าหลัง  เดินเข้าไปหาแล้วโอบกอด   "ได้กลิ่นมั้ย" ผมถาม"เหมือนน้ำมัน" เขาตอบ"ใช่  ในตัวเขามีน้ำมัน" .. บทสนทนาระหว่างโอบกอด  เป็นเช่นนี้จริงๆ