“เรารู้สึกว่า การเป็นพ่อแม่ ไม่ได้แปลว่าต้องเลิกรับผิดชอบสังคม เราละทิ้งสังคมไม่ได้”
- บอนนี่ ไรเนส (Bonnie Raines)
ท่ามกลางถ้อยคำโดนๆ ที่กระหน่ำรัว ๆ จากหนังสารคดี '1971 ฉีกเอฟบีไอ' สิ่งที่มาจากบอนนี่ คุณแม่ลูกสาม สมาชิกคนหนึ่งของ “คณะกรรมการพลเมืองสอบสวนเอฟบีไอ” เป็นหมัดที่ชกตรงใจฉันที่สุด แทบจะเด้งตัวลุกขึ้นปรบมือ รัว ๆ
เราเติบโตมากับการถูกสอนสั่งว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” ส่วนใครริจะเป็น “เตี้ยอุ้มค่อม” ถือเป็นอนันตริยกรรม และพันธกิจของมนุษย์ พ่อ-แม่ มีเป้าหมายเพื่อลูกสำคัญเหนืออื่นใด โดยส่วนตัวมองว่าความคิดแบบนี้ ผิดไหม? ก็ไม่ผิดนะ ! ในฐานะมนุษย์ขี้เหม็นที่อยากอยู่รอด หรือ พ่อแม่ที่ปรารถนาสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกของตัวเอง แต่มันอาจจะกลายเป็นเรื่องเศร้าเกินไป หากความอยู่รอดของเราจะต้องมาจากการเหยียบบ่า เหยียบไหล่ และกดคนอื่นไว้ไม่ให้ได้เงยหน้าอ้าปาก เพียงเพื่อจะเป็น 'ยอดดี' และ ความรักมีจำกัดไว้เพียง 'ลูกเรา' ส่วนที่เหลือก็เป็นเพียง 'สิ่งมีชีวิตจากดาวอื่น'
คีธและบ๊อบคือสมาชิกอายุน้อยที่สุดของกลุ่ม กระโดดเข้าร่วมปฏิบัติการอย่างไม่ลังเล
“ผมไม่เคยปฏิเสธคำชวนเข้าร่วมปฏิบัติการไหนเลย หนนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ตอนนั้นผมก็เพิ่ง 21 ชีวิตยังอีกไกล ไม่เคยนึกด้วยซ้ำว่าคุกหน้าตายังไง” - บ๊อบ, โรเบิร์ต วิลเลี่ยมสัน (Robert Williamson)
“การรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง เป็นส่วนสำคัญของการเติบโต เราต้องเลือกและทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง เมื่อผมตระหนักว่ามีหลายสิ่งไม่ถูกต้อง ก็ไม่ต้องเสียเวลาคิด เราแค่ต้องทำอะไรสักอย่าง” - คีธ ฟอร์ไซท์ (Keith Forsyth)
เราแค่ต้องทำอะไรสักอย่าง.. ฉันเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีเสียงข้างในแบบนี้ ในบางชั่วขณะ ที่ชีวิตถูกกระแทกแรงพอที่ไม่อาจทนเป็นเพียงผู้เฝ้ามอง หรือปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนี้แหละ
แต่น่าสนใจที่บางทีเสียงเพรียกนี้มาเป็นห้วงสั้นเบา ๆ จนการคำนวณราคาความเสี่ยงมันสูง ปั่นราคาความกลัวด้วยเดิมพันความมั่นคง จนเสียงเงียบ แล้วอะไรสักอย่างที่ต้องทำก็พับไป
บ่อยครั้งเรามักโยนให้ความเป็นหนุ่ม เป็นสาว ความเยาว์วัย ที่ทำให้คนกล้าเสี่ยง กล้าใช้ชีวิต และกล้าพอที่จะทำอะไรสักอย่าง
ประสบการณ์ชีวิตบอกฉันว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นจริง โดยเฉพาะเมื่อเห็น ความกล้าอย่างน่าใจหาย และชื่นชมยินดี ของเด็กหนุ่ม เด็กสาว ที่ยืนหยัด ยืนยัน ต่อสู้เพื่อความถูกต้องที่ยึดถือ
ทว่าก็ไม่ใช่ความจริงสัมบูรณ์ เพราะฉันเองก็เห็นหลายคนที่สูงวัย อยู่ในสถานะอันมั่นคงปลอดภัยที่พึงยึดไว้ให้มั่น ก็ยังคงตั่วสั่นเมื่อเห็นความไม่ถูกต้อง รู้สึกต้องทำอะไรสักอย่าง และก็ลงมือทำ
เดาว่า คงเพราะพวกเขาเหล่านี้ คงแอบซุกซ่อนเม็ดพันธุ์แห่งวัยเยาว์ไว้ที่ไหนสักแห่ง หรือไม่ก็สำนึกความยุติธรรม ความถูกต้องแข็งแกร่งพอที่จะไม่ตกในการจองจำแห่งความกลัว
“1971” เปิดบทสนทนาหลายบทในหัว หนึ่งในนั้นคือคำถามเรื่องขอบเขตพันธะแห่งมนุษยชาติ เราควรขีดมันไว้ที่ไหน ในครอบครัวสุขสันต์เล็ก ๆ ของเรา, ในกลุ่มสังคมที่เราสังกัด, ในพรมแดนรัฐชาติ หรือ บนดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงเดียวกันนี้ ปฏิบัติการ “คณะกรรมการพลเมืองสอบสวนเอฟบีไอ” ของประชาชนธรรมดา สามารถสร้างผลสะเทือนอันยิ่งใหญ่ ตอนที่บอนนี่บอกว่า “เราละทิ้งสังคมไม่ได้” ฉันเข้าใจว่าบอนนี่ไม่ได้หมายความเพียงสังคมอเมริกัน ปฏิบัติการฉีกเอฟบีไอ เกิดขึ้นบนขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามของพลเมืองอเมริกัน ซึ่งนอกจากจะต่อต้านเพื่อป้องกันไม่ให้หนุ่มสาวชาวอเมริกันต้องถูกเกณฑ์ไปรบในสงคราม ความละอายต่อความเลวร้ายที่รัฐบาลอเมริกันกระทำต่อชาวเวียดนามในอีกซีกโลก และไม่ยินยอมให้รัฐบาลปฏิบัติการในนามของพวกเขา และแน่นอนนี่ไม่ใช่ปฏิบัติการที่ขีดเขตแดนพันธกรณีแห่งมนุษยชาติไว้เพียงครอบครัวเล็กๆ หรือครอบครัวใหญ่อย่างรัฐชาติ แต่เขตแดนของพวกเขาเป็นเพียงพื้นที่หัวใจขนาดกำมือที่เคารพและรักในความดีงามของมนุษย์ และกล้าหาญพอจะมั่นใจในความสามารถเปลี่ยนแปลงโลก
ถ้าอยากเปลี่ยนให้โลกน่าอยู่ขึ้น
ไม่ต้องรอพรุ่งนี้ที่จะเห็น
โลกดีขึ้นแล้ว ตั้งแต่ที่เราทำมันในวันนี้
-ฉันเอง-
ขอบคุณ Documentary Club และ Doc Holiday ที่คัดสรรหนังสารคดี ดี ๆ มาให้ได้ชมกัน
ติดตามปฏิบัติการเสี่ยงตายของคนหนุ่มสาว 8 คนที่ค้นหาคำตอบของคำถามทั้งหมดนั้น และฟังคำบอกเล่าจากปากพวกเขาเองว่า ทำไมต้อง 'ฉีกเอฟบีไอ'!? ในหนังสารคดี '1971' .
เปิดจำหน่ายบัตรล่วงหน้าแล้วที่ http://booking.sfcinemacity.com
รอบฉายมีไม่มากนักนะคะ ต้องรีบจองก่อนที่จะพลาด
- กรุงเทพฯ ที่ SFW CentralWorld : ศุกร์ 8 พ.ค. (19.00 น.) / เสาร์ 9- อาทิตย์ 10 พ.ค.(17.00 น.)
- เชียงใหม่ ที่ SFX Maya Chiang Mai : ศุกร์ 8-เสาร์ 9-อาทิตย์ 10 พ.ค. (20.00 น.)
(Trailer) https://www.youtube.com/watch?v=bu-GdN49WgE