Skip to main content

 

ผ่านมาแล้ว สำหรับพิธีสวนสนามที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่อลังการ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2557 ซึ่งหากคำนวณนับฤกษ์นับยามกันจริงๆ ตามสมมุติฐานของทีมวิจัยภาพยนตร์ 'ตำนานสมเด็จพระนเรศวร' (วันเดิมคือ 25 มกราคม แล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็น 18) เหตุการณ์นี้ก็ถือได้ว่า สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกระทำยุทธหัตถีฟันอุปราชมังกะยอชวาของพม่าขาดสะพายแล่งดับดิ้นคาคชาธาร พร้อมๆ กับนำเอกราชและเอกภาพกลับคืนสู่สยามประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ

โดยโทนทำนองสดุดี 'การดวลคชยุทธ' ในครั้งนี้ หรือ การสัประยุทธ์กับข้าศึกเพื่อนบ้านอื่นๆ พลเรือนทั่วไป อาจสามารถหาอ่านได้จากตำรานักศึกษาวิชาทหาร หรือ สื่อสิ่งพิมพ์จากโรงเรียนเสฯ ที่ขับเน้น 'History of Warfare' ผ่านการควบแน่นระหว่างแบบจำลองกลยุทธ์กับแบบจินตนาการเรื่องรัฐชาติ ซึ่งก็ทำให้เราพร้อมที่จะหลงรักตัวเองและหวาดระแวงเพื่อนบ้านได้ในเวลาเดียวกัน (เพียงแต่กระบวนการกล่อมเกลาเช่นนี้ ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่มิได้เกิดขั้นในสังคมไทยเพียงอย่างเดียว โดยเราอาจพบเห็นการอบรมที่คล้ายคลึงกันได้ในโรงเรียนนายร้อยของพม่าหรือตามค่ายทหารของกัมพูชา)

สำหรับ 'มวลพหุหยาตรา' ของการสวนสนามในครั้งนี้ กองทัพไทยจัดหนักด้วยการประกาศให้มีการสวนสนามยานยนต์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พร้อมนำหน่วยทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ และทหารรบพิเศษ เป็นจำนวน 26 กองพัน เพื่ออวดแสนยานุภาพต่อหน้าประชาชนและทูตานุทูตต่างแดน

คลิปวิดีโอ 'วันกองทัพไทย 2557' จาก iSnapNationPhoto

จริงๆ แล้ว นาฏลีลาขององครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐครั้งนี้ ได้ส่ง 'Message' บางประการให้คนไทยได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับธรรมชาติและระบบคิดของกองทัพไทย

ประการแรก การเคลื่อนขบวนโดยกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2.รอ.) เพื่อเข้าร่วมพิธีสวนสนามได้ช่วยเผยให้เห็นการปรากฏตัวของเหล่าทหารบูรพาพยัคฆ์ ขุมพลังของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีศูนย์อำนาจอยู่ที่ค่ายพรหมโยธี จังหวัดปราจีนบุรี รวมถึงเครือข่ายขุนทหารอื่นๆ ในจังหวัดยุทธศาสตร์อย่างสระแก้วหรือชลบุรี

ขณะเดียวกัน การออกยาตราของรถหุ้มเกราะล้อยางจากยูเครน และรูปร่างหน้าตาของรถถังที่ออกมาโรดโชว์นั้น ก็ทำให้เรามองเห็นได้ว่า ยุทโธปกรณ์เช่นนี้ ช่างเหมาะสมนักกับการเคลื่อนพลแบบโฉบเฉี่ยวไปตามแนวสนามเพลาะที่เปิดโล่งและราบเรียบอย่าง 'ทุ่งราบพระตะบอง' ของกัมพูชา

รถหุ้มเกราะล้อยาง (ที่มาของภาพจาก แนวหน้า)

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ทหารบูรพาพยัคฆ์และหน่วยขึ้นตรงสนับสนุนอื่นๆ ซึ่งมีจุดศูนย์ดุลทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่ที่ภาคกลางและชายแดนตะวันออก แท้ที่จริงแล้ว ก็คือเขี้ยวเล็บสำคัญของกองทัพบกที่เก็บสะสมไว้เพื่อเตรียมสัประยุทธ์กับเพื่อนบ้านตะวันออกหากเกิดความขัดแย้งเรื่องปราสาทพระวิหาร

นอกจากนั้น การจัดให้มีการสวนสนามของทหารพรานหญิง หรือ Girls in Black เป็นครั้งแรก ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสภาวะเร่งด่วนในสงครามปราบปรามการก่อความไม่สงบ/Counterinsurgency Warfare ทางแถบชายแดนใต้ติดมาเลเซีย ก็ถือเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้เกิดการ 'Deploy' หน่วยทหารพรานหญิง ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพื่อใช้เป็นหน่วยเสริมคุ้มครองพลเรือนพร้อมกำราบพลังแบ่งแยกดินแดนฝ่ายตรงข้าม แต่กระนั้น หากย้อนเทียบเคียงกับการถือกำเนิดของ กลุ่มทหารพราน/Boys in Black แห่งค่ายปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมาแล้ว ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ถึงพลังแทรกซึมการเมืองของหน่วยต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งอาจถูกหยิบให้เข้าไปอยู่ในฉากทัศน์การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลที่นำโดยผู้หญิงกับมวลชนฝ่ายตรงข้าม ก็เป็นได้

การสวนสนามของทหารพรานหญิง (ที่มาของภาพ ไทยรัฐออนไลน์)

โดยหากมองอย่างนักยุทธศาสตร์ สถานการณ์การเมืองไทย ณ เวลานี้ ก็มีมิติที่ทับและคล้ายๆ กันบางประการ (แม้ไม่เหมือนทั้งหมด) กับการทำสงครามประชาชนของกลุ่มคอมมิวนิสต์หรือการแตกแยกทางความคิดของมวลชนในอดีต ซึ่งก็ทำให้หน่วยทหารพรานอาจกลายเป็นตัวแปรนึงในความสำเร็จทางการยุทธ์ของแต่ละฝ่าย

จริงๆ แล้ว หนังสือวิชาการเรื่อง Boys in Black ของ Desmond Ball ตีพิมพ์โดย White Lotus ปรมาจารย์ด้านความมั่นคงของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ก็ได้กล่าวถึงธรรมชาติและบทบาทของทหารพรานไทยในการแทรกซึมมวลชนเพื่อปราบคอมมิวนิสต์เมื่อครั้งสงครามเย็น รวมถึงสมรรถนะในการสร้างและชะลอสถานการณ์ความรุนแรง

สำหรับประเด็นสุดท้ายนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า การโชว์แสนยานุภาพของกองทัพไทยในครั้งนี้ พร้อมๆ กับการสวนสนามยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ อาจมีนัยยะบ่งชี้บางอย่างเกี่ยวกับ 'การอวดอำนาจกำลังรบเชิงเปรียบเทียบ' โดยเฉพาะกับกองทัพเพื่อนบ้านอย่างพม่า เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า หลังการสร้างปราการเหล็กแห่งใหม่ที่กรุงเนปิดอว์ พม่าได้เชิญทูตานุทูตและสื่อมวลชนบางสำนักเข้ามาชมการสวนสนามที่อลังการ ซึ่งจัดเป็นประจำในทุกๆ วันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันกองทัพพม่า

โดยคณะผู้ช่วยทูตทหารไทยมักถูกเชิญให้เข้าร่วมงานเสมอ และก็มักแสดงทั้งความประทับใจและประหวั่นพรั่นพรึงในการโชว์แสนยานุภาพของพม่า โดยลานสวนสนามที่กรุงเนปิดอว์นั้น สามารถจุทหารได้หลายคอลัมน์จนทำให้การสวนสนามที่ต้องใช้กำลังพลมากกว่าสองหมื่นนาย สามารถกระทำได้อย่างสบายๆ ภายในราชธานีแห่งใหม่ สำหรับการสวนสนามเมื่อปีที่แล้ว กองทัพพม่าจัดหนักด้วยการสวนสนามยานยนต์เป็นครั้งแรก พร้อมโชว์ยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยทั้งรถเกราะล้อยางจากยูเครนและขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ

จากกรณีดังกล่าว หากเรานำการสวนสนามยานยนต์ของไทยพร้อมถ้อยแถลงของรองโฆษกกองทัพบกที่ยืนยันว่าการสวนสนามถูกเตรียมการมาราวๆ หนึ่งปีแล้ว ก็อาจพอคาดการณ์เป็นนัยๆ ได้ว่า มูลเหตุอย่างหนึ่งที่อาจอยู่เบื้องหลังโรดโชว์อันยิ่งใหญ่ของกองทัพไทยในครั้งนี้ แท้จริงแล้ว ส่วนหนึ่งก็คือ Feedback และ Performance ที่สำแดงขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลและปลุกขุนศึกให้ฮึกห้าวในความทันสมัยของกองทัพเหมือนดั่งที่เกิดขึ้นในกองทัพเพื่อนบ้านของเรานั่นเอง

ท้ายที่สุด ผมอยากจะฝากประเด็นทิ้งทวนให้ผู้อ่านเห็นว่า แม้ไทยอาจจะไม่มีลานสวนสนามที่ใหญ่โตมโหฬารเมื่อนำไปเทียบกับมรดกของความสิ่งปลูกสร้างจาก 'รัฐค่ายทหาร'/'Garrison State' เหมือนดั่งพม่าสมัยนายพลเนวิน/ตานฉ่วย หรือ แม้แต่ปากีสถานสมัยนายพลอายุบ ข่าน/เปอเวซ มูชาราฟ เพราะความก้าวหน้าของวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้ทำให้โครงสร้างรัฐทหารแบบปิดลับมากๆ ไม่สามารถก่อตัวได้ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน

แต่ถึงอย่างนั้น สภาวะความขัดแย้งแบบสุดขั้วและมหกรรมกีฬาสีที่เริ่มเกาะเกี่ยวไล่ตามสังคมไทยมาพอสมควร ก็ได้ทำให้รัฐไทย ยังคงสภาพแบบ 'รัฐขุนศึก'/Praetorian State ที่ร่องรอยปริแยกโกลาหลของบ้านเมืองยังคงเปิดช่องเสมอสำหรับการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของทหาร ซึ่งอาจมีทั้ง การเป็นกาวใจผู้ประสานงาน (Moderator) อย่างที่ ผบ.เหล่าทัพ. เคยเป็นเจ้าภาพนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างคุณยิ่งลักษณ์กับคุณสุเทพ หรือ การเป็นองครักษ์ผู้คำจุนรัฐ (Praetorian Guard) เพื่อช่วยเหลือพิทักษ์กลุ่มคนที่เดือดร้อนกับกาลียุคแบบสุดๆ หรือแม้กระทั่ง การเป็นผู้ปกครองโดยตรง (Ruler) หากมีทหารบางกลุ่มคิดจะทำรัฐประหารแล้วสถาปนาตนเป็นรัฎฐาธิปัตย์ขึ้นมาจริงๆ

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค