Skip to main content

 

 

ท่ามกลางสภาวะชะงักงันทางการเมืองอันเป็นผลจากการชักคะเย่อฉุดกระชากของพลังทางการเมืองอันซับซ้อนจนทำให้ภูมิทัศน์การเมืองไทยเกิดอาการติดๆ ขัดๆ ในเรื่องกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย

รัฐเพื่อนบ้านทางฟากตะวันตกของเรา กลับมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะโครงการปฏิรูปการเมืองของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ซึ่งส่งผลให้พม่ากลายเป็นรัฐที่เริ่มเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมเข้าสู่ประชาธิปไตยที่กำลังจะเบ่งบาน จนทำให้ผู้สันทัดกรณีทางรัฐศาสตร์หลายท่าน เกิดอาการประหวั่นพรั่นพรึงในขีดระดับความก้าวหน้าของประชาธิปไตยพม่า ซึ่งดูๆ ไปแล้ว อาจกำลังไล่ตามเบียดแตะกับการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยอย่างน่าใจหาย

สำหรับโครงสร้างอำนาจของรัฐพม่าที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2551 อาจทำให้เราเริ่มสัมผัสได้ถึงวิสัยทัศน์ของสถาปนิกผู้สร้างรัฐพม่ายุคใหม่ โดยเฉพาะความพยายามที่จะหลอมรวมเอาจุดแข็งของระบอบพลเรือนเข้าไปผนึกควบแน่นกับระบอบทหารจนออกมาในรูปของ "ระบอบลูกผสม/Hybrid Regime" ภายใต้สโลแกน "ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังจะเบ่งบาน/Flourishing Discipline Democracy” ที่ตัวแทนจากกองทัพ (ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด) สามารถแทรกตัวเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกลุ่มตัวแทนสายพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งผ่านโครงสร้างสถาบันการเมืองอย่างรัฐสภา (โดยมีอัตราส่วนร้อยละยี่สิบห้าหรือหนึ่งในสี่ของโครงสร้างนิติบัญญัติ)

จากสูตรการเมืองดังกล่าว แม้ระบอบการเมืองการปกครองพม่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังคงมีลักษณะเป็น "ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม/Authoritarian Democracy" ภายใต้อิทธิพลและระเบียบวินัยของกองทัพ หากแต่ประวัติศาสตร์และธรรมชาติของรัฐพม่าซึ่งเต็มไปด้วยการแกว่งไปมา (oscillation) ระหว่างสภาพความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรงท่ามกลางความอ่อนแอของรัฐบาลพลเรือน กับ สภาพการขาดแคลนช่องทางพัฒนาประชาธิปไตยพหุพรรคอย่างเอกอุท่ามกลางการปกครองที่รั้งตรึงของระบอบทหาร ก็ได้ทำให้คณะผู้จัดการรัฐพม่าทำการผลิตระบอบการเมืองรูปแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อเบิกทางให้ประเทศมีช่องทางพัฒนาประชาธิปไตยที่หลากหลายมากขึ้นผ่านการปฏิรูปสถาบันการเมืองต่างๆ เช่น รัฐสภา รัฐบาล พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์

ซึ่งการพัฒนาเหล่านั้นจะค่อยๆ เดินหน้าอย่างมีเสถียรภาพโดยมีกองทัพเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้คานอำนาจหรือจัดระเบียบทางการเมืองเพื่อให้รัฐสามารถพัฒนาประชาธิปไตยต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงโดยมิต้องพานพบกับความแตกร้าวระส่ำระส่ายหรือการขาดความสามัคคีของนักการเมืองภายในชาติเหมือนดั่งในอดีต (พม่าได้ผ่านประสบการณ์ของสงครามกลางเมือง และการแตกแยกทางเชื้อชาติ-อุดมการณ์มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในยุคทดลองประชาธิปไตยรัฐสภาตามแบบอังกฤษ/Westminster Model ของอดีตนายกรัฐมนตรีอูนุ)

ขณะเดียวกัน ตามมุมมองของไมเคิลและไมตรี อ่อง ธวิน สองนักประวัติศาสตร์ชาวพม่า การสถาปนาระบอบลูกผสมที่เน้นการโอนอำนาจบางส่วนไปให้กับกองทัพอย่างถูกต้องตามกฎหมายผ่านการปรากฏตัวของสมาชิกทหารในโครงสร้างการเมือง พร้อมกับการผ่อนให้เกิดการเติบโตของกระแสประชาธิปไตยภายในประเทศที่ค่อยๆ แพร่กระจายไปอย่างต่อเนื่อง อาจถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารจากกองทัพตลอดจนการปฏิวัติอย่างรุนแรงจากพลังประชาชน (เนื่องจากกลุ่มพลังทางสังคมการเมืองต่างๆ ได้ถูกตบให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้นผ่านกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ)

จากเทคนิคการออกแบบดังกล่าว การพัฒนาประชาธิปไตยในพม่าจึงทยอยเดินหน้าอย่างมั่นคงเนื่องจากมีการประกันระบบแบ่งสรรอำนาจที่ทำให้ "กลุ่มอนุรักษ์นิยม” กับ "กลุ่มปฏิรูปนิยม” หรือ "กลุ่มการเมืองเก่า” กับ "กลุ่มการเมืองใหม่” สามารถคัดคานต่อรองอำนาจกันได้ในระบบการเมืองซึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นมาให้เข้ากับมรดกการเมืองจารีตนิยมและอนาคตของรัฐพม่าในสหัสวรรษใหม่ที่จำเป็นจะต้องมีระบอบการเมืองที่ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศ

นอกเหนือจากนั้นแล้ว สิ่งที่น่าแปลกใจคือการที่บรรดาชนชั้นนำพม่าปัจจุบันต่างเร่งกระตือรือร้นที่จะปฏิรูปประชาธิปไตยให้มีความก้าวหน้ากันอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากบทบาทของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ที่มีทั้งการประกาศปล่อยตัวนักโทษการเมือง การคลายความเข้มงวดเพื่อให้สื่อมวลชนสามารถวิจารณ์รัฐบาลได้มากขึ้น รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และการเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นในระดับตำบล/หมู่บ้านที่สะท้อนถึงอัตราการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ เพิ่มมากขึ้น

หรือบทบาทของนางอองซาน ซู จี ที่ชูประเด็นเรื่องหลักนิติธรรม (Rule of Law) หลักนิติรัฐ หลักสิทธิมนุษยชน หลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือ หลักการปกครองที่เอนมาทางสหพันธรัฐมากขึ้นเพื่อรองรับความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ดินแดน และสิทธิการปกครองตนเอง

ภาพประกอบจาก foreignpolicy.com

หรือแม้กระทั่ง บทบาทที่พุ่งสูงขึ้นของภาคประชาสังคมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ (Public Policy Process) โดยเห็นได้จากกระแสการคัดค้านร้องเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนท้องถิ่นของประชาชนจนทำให้รัฐบาลยอมระงับโครงการสร้างเขื่อนและสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ชนบทหลายแห่งซึ่งถือเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงหลักธรรมาภิบาล/good governance ซึ่งค่อยๆ เดินหน้าเชื่อมร้อยประสานกันไปกับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างค่อนข้างลงตัว

จากการฉายภาพภูมิทัศน์ประชาธิปไตยพม่าโดยสังเขป (ที่แม้จะยังคงมีอุปสรรคขัดขวางจากการเมืองอำนาจนิยมอันยาวนาน แต่ก็สามารถฝ่าฟันได้อย่างมั่นคง) ผู้ปกครองรัฐไทยเองอาจคงฉุกคิดได้ถึงจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของประชาธิปไตยในบ้านเราที่ยังคงเต็มไปด้วยวังวนแห่งความผันผวนและการชะงักงันในหลายมิติ โดยเฉพาะวัฏจักรการทำรัฐประหารที่มีอัตราความถี่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการลุกฮือประท้วงของมวลประชาชนซึ่งก็ครองแชมป์เป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียนเช่นกัน

โดยตามทรรศนะส่วนตัวของผู้เขียน ตัวแบบ Hybrid Regime ของพม่าอาจทำให้เราเริ่มมองเห็นแนวทางบางอย่างเกี่ยวกับกระบวนการจับโยกเพื่อให้ขั้วอำนาจเก่ากับขั้วอำนาจใหม่สามารถหลอมรวมกันอย่างเป็นระบบภายใต้กรอบกติกาใหม่ของรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบอย่างสมสมัยและสอดคล้องกับพื้นฐานประเทศ

เพียงแต่ว่า ขบวนรถไฟสายประชาธิปไตยของรัฐไทยที่เดินทางมายาวไกลกว่าของพม่านั้น อาจทำให้เราพอหยุดคิดได้บ้างเช่นกันว่า สูตรการปกครองที่ย้อนกลับไปหาจารีตเก่าแบบเป็นจริงเป็นจังอย่างกรณีบทบาททหารในพม่า คงจะไม่สร้างความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมมากนักต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทยยุคปัจจุบันเนื่องจากโมเดลเช่นนี้อาจถูกต่อต้านจากกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยยุคใหม่ที่มิต้องการให้สถาบันพิเศษอย่างกองทัพหรือองคมนตรีเข้ามายุ่งเกี่ยวกับระบบการเมืองไทยในอัตราส่วนที่สูงจนเกินไป รวมถึงอาจทำให้ชนชั้นปกครองยังคงพยายามที่จะอ้างเอาแต่เรื่องประชาธิปไตยแบบไทยๆ เพื่อสืบสานสายใยอำนาจต่อโดยมิคิดที่จะมองทะลุกรอบเพื่อปฏิรูปตนเองหรือปฏิรูปบ้านเมืองอย่างแท้จริงท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่

ภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์

สำหรับบทบาทการปฏิรูปการเมืองของชนชั้นนำไทยนั้น เราอาจพบว่าปัญหาสำคัญกลับอยู่ตรงที่การหาความสมดุลระหว่างหลักประชาธิปไตยกับหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะในกรณีที่แต่ละฝ่ายต่างมิอาจจะปฏิรูปตัวเองให้เป็นต้นแบบที่เข้มแข็งสมบูรณ์พอสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและเดินทางเคียงข้างไปกับการบริหารบ้านเมืองที่โปร่งใส ซึ่งถือเป็นปฐมบทแห่งความอ่อนแอโยกคลอนของสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น รักษาการณ์นายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกกระหน่ำโจมตีอย่างต่อเนื่องในประเด็นทุจริตคอรัปชั่นและการจัดทำนโยบายประชานิยมที่ขาดการกลั่นกรองตัดสินใจอย่างรอบคอบ หรือกลุ่มมวลชนฝ่ายตรงข้าม ที่ขับเน้นเรื่องการบริหารบ้านเมืองที่ขาวสะอาดโปร่งใส แต่ก็ถูกลดเครดิตในมิติของการขัดขวางการเลือกตั้งหรือการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนเสียงข้างมาก (Majoritarian Representative Democracy)

ข้อบกพร่องและสภาวะขาดสมดุลเหล่านี้ ได้ทำให้รัฐไทยอาจมิได้มีความก้าวหน้าไปกว่าพม่าเลยในมิติของ “Democratization” และ "Good Governance" โดยในกรณีพม่านั้น ถึงแม้ว่ากลิ่นอายแบบอำนาจนิยม-อนุรักษ์นิยม จะยังคงแทรกซึมเกาะเกี่ยวไปกับโครงสร้างรัฐที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ หากแต่ประสบการณ์ในเรื่องนิติธรรม ธรรมาภิบาลและหลักสิทธิมนุษยชนของนางอองซาน ซู จี บวกกับความแข็งขันในเรื่องการปฏิรูปการเมือง การต่อต้านการคอรัปชั่นและการปรองดองแห่งชาติของเต็ง เส่ง รวมถึงการหันมาร่วมมือประสานกันมากขึ้นระหว่างเต็งเซ่งกับซูจี (รวมถึงชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ) เพื่อธำรงไว้ซึ่งเอกภาพ/ความเจริญรุ่งเรืองของชาติบ้านเมือง กลับทำให้ประชาธิปไตยของรัฐพม่าสามารถเดินหน้าและค่อยๆเคลื่อนทะยานได้อย่างสง่างามอันเป็นผลจากการประนีประนอมของชนชั้นนำและสภาวะที่ผลประโยชน์ปวงชนได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาลมากขึ้นกว่าในอดีต

ซึ่งก็สวนทางผกผันอย่างสิ้นเชิงกับประชาธิปไตยรัฐไทยที่เต็มไปด้วยการแตกร้าวของชนชั้นนำและโศกนาฏกรรมทางการเมืองอันรุนแรงยาวนานโดยมิมีทีท่าว่าจะยุติในเร็ววัน

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช


...........................................

แหล่งอ้างอิงที่น่าสนใจ

International Crisis Group. Reform in Myanmar: One Year On. Asia Briefing N 136, 11 April 2012.

Martin, Michael F. Burma’s 2010 Elections: Implications of the New Constitution and
Election Laws. Congressional Research Service, 29 April 2010.

Michael and Maitrii Aung-Thwin. A History of Myanmar since Ancient Times: Traditions and Transformation. London: Reaktion Book Ltd, 2012.

Ministry of Information. Constitution of the Republic of the Union of Myanmar 2008. Nay Pyi Taw: Printing & Publishing Enterprise, 2008.

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร