Skip to main content

 

ภาพการแตกร้าวเคลื่อนกระจายของบรรดาหน่วยการเมืองไทยในแบบที่ว่า "พื้นที่ภาคเหนือและอีสาน คือฐานอำนาจของพรรคเพื่อไทยและมวลชนคนเสื้อแดง ส่วนพื้นที่ภาคใต้และกรุงเทพมหานครนั้น คือฐานอำนาจของพรรคประชาธิปัตย์กับมวลมหาประชาชน" แม้จะเป็นเพียงแค่วลีที่มิอาจจะอธิบายมูลเหตุที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างครบเครื่องถ้วนทั่ว

แต่ก็ทำให้เราอดคะนึงคิดมิได้ที่จะมองหาปมปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการแบ่งขั้วทางการเมือง (Political Polarization) จนทำให้สังคมไทยอาจหนีไม่พ้นที่จะต้องดำรงสภาพเป็นเพียงแค่รัฐชาติแบบหลวมๆ ที่เกิดจากการรวมตัวปะติดปะต่อกันของหน่วยการเมืองภายใต้สภาวะขัดฝืนพะอืดพะอมของผู้คนที่มีความคิดแตกต่างกันทางการเมือง

แต่กระนั้น ในบริบททางประวัติศาสตร์และการเมืองเปรียบเทียบ สภาวะการณ์เช่นนี้ อาจเกิดจากผุดตัวขึ้นมาของ "แผ่นรอยเลื่อนทางภูมิประวัติศาสตร์/Geo-Historical Fault Line” ซึ่งมีรูปลักษณ์เป็นเส้นแบ่งร่างกายทางภูมิศาสตร์ของรัฐชาติอันเกิดจากข้อตกลงแบ่งสรรอิทธิพลระหว่างรัฐมหาอำนาจ (ทั้งในยุคอาณานิคม สงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็น) หรืออาจนับย้อนไปไกลถึงเส้นประเพณีที่เกิดจากการแบ่งปริมณฑลทางการเมืองของอาณาจักรจารีตโบราณ โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ อย่างกรณีของประเทศโปแลนด์ ยูเครน เวียดนามและพม่า

สำหรับการแตกแยกทางการเมืองในรัฐโปแลนด์นั้น ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อช่วงปลายปี ค.ศ. 2007 ได้ช่วยผลักดันให้เกิดภูมิทัศน์การเมืองอันน่าอัศจรรย์ที่ผ่ารัฐโปแลนด์ออกเป็นสองส่วนหลักๆ ได้แก่

1.อัสดงค์บริเวณ ซึ่งตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกของประเทศ และเป็นโซนที่เป็นฐานคะแนนนิยมของพรรค “Civic Platform” หรือ “Platforma Obywatelska” (PO) และ

2. บูรพบริเวณ ที่ตั้งอยู่ทางฟากตะวันออกของประเทศและเป็นฐานคะแนนหลักของพรรค "Law and Justice” หรือ Prawo i Sprawiedliwość (PiS)

โดยแนวนโยบายของพรรคแรกมักจะเน้นการสนับสนุนลัทธิทุนนิยมเสรี ขณะที่แนวทางของพรรคการเมืองหลังมักเน้นการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นและการผดุงความยุติธรรมในสังคม

แผนที่โปแลนด์ซึ่งถูกผ่าด้วยความแตกต่างทางการเมือง จาก mypolitikal.com

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ เส้นแบ่งของทั้งสองพื้นที่ทางการเมือง (ที่ลากผ่านภูมิสัณฐานทางตอนกลางของประเทศ) กลับเป็นเส้นรอยเลื่อนที่ขีดคร่อมซ้อนทับกันพอดีกับเส้นพรมแดนตามประเพณีของโปแลนด์ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งได้แบ่งรัฐในโปแลนด์ออกเป็นเขตตะวันตกที่ตกอยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิเยอรมันและเขตตะวันออกที่ตกเป็นของจักรวรรดิรัสเซียและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี

โดยเขตปริมณฑลแรกล้วนได้รับอิทธิพลจากลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมจากเยอรมัน ขณะที่เขตปริมณฑลหลังมักได้รับแนวการปกครองที่ให้ความสำคัญกับกฎระเบียบตามสไตล์ของจักรวรรดิสลาฟและยุโรปตะวันออก ผลที่ตามมาจากมรดกทางประวัติศาสตร์ คือ การตัดแบ่งฐานคะแนนของรัฐโปแลนด์ปัจจุบันออกตามฐานอำนาจของพรรค “Civic Platform” และพรรค "Law and Justice” ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากแบบแผนลีลาการบริหารของจักรวรรดิยุโรปในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

สำหรับกรณีของรัฐยูเครนนั้น เราอาจพบเห็นลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับโปแลนด์ในบางมิติ โดยการประท้วงต่อต้านรัฐบาลวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ล้วนเป็นไปในแบบที่ว่า พื้นที่ฟากตะวันตกของประเทศ มักเต็มไปด้วยฐานอำนาจของมวลมหาประชาชนที่พยายามเคลื่อนขบวนโค่นล้มรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย จนทำให้ยูเครนต้องพลาดโอกาสในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ส่วนพื้นที่ทางฟากตะวันออกนั้น ก็ล้วนเต็มไปด้วยฐานอำนาจของรัฐบาลยานูโควิชพร้อมตกอยู่ใต้อิทธิพลจากมอสโคว์

แผนที่ยูเครนซึ่งถูกผ่าด้วยความแตกต่างทางการเมือง จาก www.washingtonpost.com

แต่กระนั้นก็ตาม จุดที่น่าสนใจและทรงเสน่ห์ที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น เส้นแบ่งโซนการเมืองที่ดันไปทับซ้อนแนบสนิทกับเส้นพรมแดนในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 19 ที่แบ่งสะบั้นให้เขตตะวันตกของยูเครนถูกดึงโยกเข้าไปอยู่กับโปแลนด์ ขณะที่เขตตะวันออกได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

จากกรณีดังกล่าว เราอาจจะกล่าวได้ว่า แผ่นรอยเลื่อนทางภูมิประวัติศาสตร์ ล้วนมีผลต่อการก่อรูปของภูมิทัศน์การเมืองยูเครนในปัจจุบัน (ไม่มากก็น้อย) เพียงแต่ว่า สภาวะแตกแยกตัดสะบั้นเช่นนี้ อาจมิได้เกิดขึ้นภายใต้การแข่งขันทางอำนาจในช่วงสงครามโลกหรือสงครามเย็นเพียงอย่างเดียว หากแต่อาจกินความไปถึงความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมของทั้งสองพื้นที่ซึ่งอาจจะเป็นผลพวงจากมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ลากย้อนกลับไปไกลถึงยุคจารีต โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ดินแดนยูเครนได้ถูกผนวกรวมเข้ากับอาณาจักรโบราณอย่าง ลิทัวเนีย โปแลนด์ ออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิรัสเซีย

สำหรับกรณีของรัฐเอเชียอาคเนย์อย่างเวียดนามและพม่านั้น แม้เส้นรอยเลื่อนทางภูมิประวัติศาสตร์ จะมิมีผลมากนักต่อกระบวนการเลือกตั้งและการบ่มเพาะฐานคะแนนนิยมที่เด่นชัดเหมือนดั่งรัฐยุโรปอย่างโปแลนด์หรือยูเครน แต่กระนั้น เส้นตัดแบ่งทางประวัติศาสตร์ ก็ได้ช่วยบ่งชี้อะไรบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ในภูมิทัศน์การเมืองเวียดนาม-พม่า

ในส่วนของเวียดนาม ความพยายามของฝรั่งเศสที่มีผลต่อการสถาปนาเขตปลอดทหาร ณ เส้นขนานที่ 17 ซึ่งมีแม่น้ำเบนไห่เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ ได้ทำให้ระบบภูมิศาสตร์การเมืองของรัฐในเวียดนามถูกตัดแบ่งออกเป็นสองประเทศอธิปไตยหลักซึ่งเต็มไปด้วยความแตกต่างของระบบการปกครอง วิถีเศรษฐกิจและแนวนโยบายต่างประเทศ ซึ่งแม้เวียดนามจะหันมารวมชาติก่อสร้างรัฐใหม่เป็นผลสำเร็จ หากแต่ความแตกต่างบางประการระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ กลับยังคงส่งผลต่อการผลิตสูตรการเมืองของบรรดาชนชั้นนำเพื่อตบให้ยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐมีเอกภาพและกระชับมากขึ้น

แผนที่แสดงการแบ่งประเทศเวียดนาม จาก vietnam.lohudblogs.com

ขณะเดียวกัน เราอาจพบเห็นความพยายามของรัฐบาลประจำรัฐเวียดนามใหม่ (ในช่วงทศวรรษ 1990) ที่พยายามจะปฏิรูประบบกระจายอำนาจท้องถิ่นด้วยการปรับโครงสร้าง "Commune” (หน่วยปกครองระดับท้องถิ่นในชนบท) ผ่านการลากเส้นแบ่งคอมมูนแต่ละแห่งโดยใช้เกณฑ์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งบางแห่งได้ลากไปไกลถึงยุคราชาธิปไตยเวียดนาม พร้อมมีการจำแนกตีเส้นอาณาเขตใหม่ออกเป็น กลุ่มคอมมูนซึ่งตั้งขึ้นตามเกณฑ์ทางศาสนา-ชาติพันธุ์

หรือ กลุ่มคอมมูนที่ตั้งขึ้นตามเขตภูมิประวัติศาสตร์ อย่างเช่นคอมมูนแถบปากน้ำโขง คอมมูนแถบชายแดนจีน-ลาว-กัมพูชา หรือคอมมูนเลียบแนวชายหาด ซึ่งก็ถือเป็นนวัตกรรมทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่น่าทึ่งสำหรับการปรับโครงสร้างการปกครองของรัฐเวียดนามใหม่

ส่วนกรณีของรัฐพม่านั้น เราอาจพบเห็นการลากเส้นของเจ้าอาณานิคมอังกฤษเพื่อแบ่งระหว่างพม่าตอนบน "Upper Burma” กับพม่าตอนล่าง "Lower Burma” (จุดแบ่งอยู่แถวๆ เมืองตองอูและไม่ไกลจากเนปิดอว์) ซึ่งถือเป็นสองหน่วยภูมิศาสตร์การเมืองที่แตกต่างกันในหลายมิติ

โดยขณะที่พม่าตอนบนถือเป็นเขตพื้นที่ที่ยังคงฟูมฟักอิทธิพลของราชสำนักมัณฑะเลย์เอาไว้อย่างเหนียวแน่น พร้อมเป็นแหล่งก่อหวอดสำคัญของกบฏชาวนา หรือกบฏผู้มีบุญของซายาซาน พม่าตอนล่างกลับเป็นศูนย์อำนาจของอังกฤษหรือพลังอาณานิคมต่างชาติ รวมถึงเป็นแหล่งบ่มเพาะการประท้วงการเมืองสมัยใหม่ที่ค่อนข้างทรงกำลังและพร้อมต่อกรกับคณะผู้ปกครองต่างชาติหรือผู้ปกครองพื้นถิ่นที่กระทำการกดขี่ชาวพม่า

แผนที่แสดงการแบ่งเขตในพม่าสมัยอาณานิคมอังกฤษ จาก Scottish Geographical Magazine and edited by Hugh A. Webster and Arthur Silva White

โดยสภาวะแยกโซนทางภูมิประวัติศาสตร์เช่นนี้ ล้วนมีผลต่อพัฒนาการของรัฐพม่าตลอดช่วงสมัยอาณานิคมหรือหลังอาณานิคม ซึ่งอย่างน้อย การตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ ณ กรุงเนปิดอว์ ซึ่งอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างย่างกุ้งกับมัณฑะเลย์ หรือ Upper Burma กับ Lower Burma ก็คงบ่งชี้นัยสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับนโยบายการสร้างรัฐสร้างชาติหรือการเมืองว่าด้วยการย้ายเมืองหลวงของรัฐพม่าในสหัสวรรษใหม่ (ซึ่งแม้จะไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดของการตั้งราชธานีใหม่ก็ตามที)

ส่วนกรณีของรัฐไทยนั้น เส้นแบ่งทางภูมิประวัติศาสตร์อาจลากกลับไปไกลได้ถึงยุคจารีตโบราณ โดยในอดีตนั้น ดินแดนที่เป็นประเทศไทยแท้ (Proper Thai) ซึ่งถือเป็นแดนแกน (Core) ของอารยธรรมทางการเมืองไทย อาจมีขอบข่ายอยู่เพียงแค่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เคลื่อนแตะไปทางหัวเมืองภาคกลางตอนบนอย่างพิจิตร พิษณุโลก หรือ หัวเมืองปักษ์ใต้อย่างนครศรีธรรมราช ในขณะที่ พื้นที่ภาคเหนือกลับเป็นเขตอิทธิพลของอาณาจักรล้านนา ส่วนภาคอีสานโดยเฉพาะส่วนที่พ้นขึ้นไปจากนครราชสีมา ก็ล้วนตกอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของล้านช้าง

แผนที่แสดงชายผู้ร่ำไห้ซึ่งสะท้อนความบอบช้ำของรัฐไทย อันเกิดจากการถูกตรึงขาด้วยความล้มเหลวของโครงการ southern seaboard หรือ ความเจ็บปวดที่ถูกตอกลิ่มที่เท้าอันเป็นผลจากการแยกดินแดนทางสามจังหวัดภาคใต้ (ผู้วาด paretas จาก tambon.blogspot.hk/2011_07_01_archive.html)


สภาวะแดนแกน-แดนนอกเช่นนี้ ล้วนเห็นได้ชัดแจ้งอีกครั้งผ่านการปรากฏตัวของรัฐบาลธรรมชาติในแบบการเมืองห้าชุมนุมหลังการล่มของพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพื้นที่อิทธิพลของแต่ละก๊กการเมือง ล้วนแล้วแต่แตะคุมหัวเมืองยุทธศาสตร์ไม่ไกลเกิน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ นครราชสีมา หรือ นครศรีธรรมราช สงขลา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐล้านนา รัฐล้านช้างและรัฐมาลัย/รัฐมลายู มักจะถูกตบให้อยู่ในเขตแกนนอกในฐานะกลุ่มรัฐประเทศราช มากกว่าจะเป็นหน่วยการเมืองที่ถูกผนึกเข้ามาอยู่ในแดนแกนอย่างแนบแน่น (ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากระยะทางที่ห่างไกลหากใช้มุมอธิบายแบบการเมืองมณฑล/Mandala)

ในอีกแง่มุมหนึ่ง แนวมองที่ผ่าเขตภูมิประวัติศาสตร์เช่นนี้ อาจสามารถพบเห็นได้อีกในยุคอาณานิคมหรือสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น แถลงการณ์ว่าด้วยเรื่องสยาม ที่ปรากฏอยู่ในความตกลงฉันทไมตรีระหว่างจักรวรรดิอังกฤษกับฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1904 ซึ่งมีการลากเส้นแบ่งเพื่อสร้างให้ประเทศไทยแท้ทางแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยามีสถานะเป็นเขตกันชน เพื่อให้อังกฤษต้องยอมรับเขตอิทธิพลของฝรั่งเศสทางด้านตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเพื่อให้ฝรั่งเศสทำการยอมรับเขตอิทธิพลอังกฤษทางฟากตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเช่นกัน

ขณะเดียวกัน นอกจากการมองหาเส้นแบ่งรัฐสยาม/ไทย ผ่านแกนนอนจากตะวันตกไปทางตะวันออกแล้ว (คล้ายคลึงบางส่วนกับโปแลนด์-ยูเครน) เราอาจตามหาเส้นแนวดิ่งจากเหนือลงใต้ที่ผ่าภูมิสัณฐานของรัฐไทยให้คล้ายคลึงกับรัฐพม่าหรือรัฐเวียดนามได้เช่นกัน ซึ่งกรณีดังกล่าว ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้ยกหลักฐานของการประชุมสัมพันธมิตรที่เมืองควิเบกเมื่อปี ค.ศ. 1943 ซึ่งตกลงแบ่งโซนให้ดินแดนไทยและอินโดจีนเหนือเส้นขนานที่ 16 หรือประมาณจังหวัดพิจิตรขึ้นไป เป็นเขตยุทธภูมิหรือเขตปฏิบัติการของทหารจีนเจียงไคเช็ค และให้ใต้เส้นขนานที่ 16 ลงมาเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษ

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า หากประเทศไทยแพ้สงครามมหาเอเชียบูรพา ดินแดนรัฐไทยอาจจะถูกยึดครองหรือตัดแบ่งไปให้กับอังกฤษและจีนคณะชาติ โดยอังกฤษจะทำการคลุมแดนแกนทางลุ่มเจ้าพระยาลงมาถึงภาคใต้ ส่วนจีนจะคุมพื้นที่ภาคเหนือของไทยเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงลุ่มเจ้าพระยาตอนบน

จากเหตุการณ์ที่ได้อธิบายไปเบื้องต้น ผู้เขียนจึงอยากจะชี้ชวนให้ผู้อ่านเห็นว่า การสร้างเส้นรอยเลื่อนทางประวัติศาสตร์ที่ก่อตัวมายาวนานตามพัฒนาการของรัฐไทย ได้ทำให้เราเริ่มมองเห็นความซับซ้อนบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังการแตกแยกของหน่วยการเมืองที่ถูกผนวกรวมร่างขึ้นมาเป็นรัฐไทย โดยถึงแม้ว่าบางเส้นอาจจะเป็นเพียงแค่เส้นจินตนาการที่ถูกขีดเขียนขึ้นมาเพื่อรองรับดุลกำลังของเหล่ามหาอำนาจที่แผ่ศักดาเหนือรัฐไทย

ในขณะที่บางเส้นนั้น อาจเกิดจากการผนึกควบแน่นกันอย่างลงตัวระหว่างจารีตทางประวัติศาสตร์กับเขตภูมิศาสตร์ทางธรรมชาติ (อย่างแนวดงพญาเย็นที่ยกให้ที่ราบสูงโคราชอยู่เหนือจากเขตที่ลุ่มต่ำภาคกลางอย่างเห็นได้ชัด)

แต่กระนั้น การผุดตัวขึ้นมาของเส้นภูมิประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ทับถมซ้อนทับกันมาหลายช่วงชั้น (ซึ่งก็มีทั้งการแบ่งตั้งแต่ยุคจารีต ยุคอาณานิคม หรือยุคหลังอาณานิคม หรือ การแบ่งแบบแนวดิ่ง-แนวระนาบ) ก็ได้ช่วยตอกย้ำให้เห็นว่าภูมิทัศน์การเมืองไทยล้วนเต็มไปด้วยความซับซ้อนล้ำลึกของระบบภูมิศาสตร์การเมือง จนทำให้ความขัดแย้งแยกขั้วระหว่างภูมิภาคต่างๆ กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของรัฐไทยไปเสียแล้ว

เพียงแต่ว่า เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรัฐอื่นๆ แล้ว การแบ่งแยกฐานคะแนนออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน เช่น โปแลนด์ หรือ ยูเครน ก็ยังทำให้รัฐเหล่านี้ดำรงสภาพเป็นประเทศเอกราชอยู่ได้ แม้ผู้คนจะมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันหรือโครงสร้างรัฐจะมีความระส่ำระส่ายอยู่บ้างในหลายห้วงเวลา

ส่วนพม่าหรือเวียดนามนั้น แม้จะเคยถูกเส้นภูมิประวัติศาสตร์แบ่งแยกอย่างชัดแจ้งมาแล้วในอดีต หากแต่รัฐเหล่านั้นกลับกระทำการสร้างรัฐสร้างชาติจนประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งอย่างกรณีของเวียดนามหรือได้ค่อยๆ แก้ไขจนมีความก้าวหน้าขึ้นมาเป็นลำดับอย่างกรณีของพม่า

ฉะนั้นแล้ว หากเปรียบเทียบกับทั้งสี่รัฐที่กล่าวมาเบื้อง ประเทศไทยของเรา คงอาจจะมีโอกาสหลายๆ อย่างที่ทำให้กระบวนการสร้างสันติภาพสามารถเดินหน้าเคียงคู่ไปกับการสร้างเอกภาพหรือการสร้างรัฐสร้างชาติได้อย่างเหมาะสมลงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนักปกครองประจำรัฐรู้จักที่จะหันมาลองอ่านเส้นภูมิประวัติศาสตร์กันอย่างจริงจัง (ซึ่งมีผลต่อการเติบโต/เสื่อมถอยของรัฐไทย ไม่มากก็น้อย)

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช
สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, ธรรมศาสตร์

.......................................................

แหล่งอ้างอิง

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. "ภารกิจเพื่อชาติเพื่อ Humanity ของจำกัด พลางกูร" ประชาไท 20 สิงหาคม 2556.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.

Anderson, Benedict. Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of
Nationalism. 2nd ed. London : Verso, 1991.

Ekiert, Grzegorz. Public Seminars, “Understanding the Great Transition in Central and Eastern Europe - 25 years after 1989”, 11 February 2014, 16.30 – 18.00, Department of Politics and Public Administration, the University of Hong Kong, Hong Kong.

Taylor, Robert. The State in Myanmar. Singapore: NUS Press, 2009.

Turner, Mark (ed). Central-Local Relations in Asia-Pacific: Convergence or Divergence? London: Macmillan, 1999.

Winichakul, T. Siam Mapped: A History of the Geo-Body of A Nation. Honolulu: University of Hawaii Press, 1994.
 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร