‘ย่างกุ้ง’ อดีตเมืองหลวงเก่าของพม่า ถือเป็นทำเลทองทางการค้าที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศมาเป็นเวลาช้านาน โดยเห็นได้จาก การสถาปนาเมืองให้เป็นท่ายุทธศาสตร์ชายทะเลในสมัยพระเจ้าอลองพญา หรือ การพัฒนาเมืองให้เป็นใจกลางสถานีการค้าของอาณานิคมอังกฤษในพม่า (British Burma)
โดยล่าสุด รัฐบาลเต็งเส่ง ได้ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาวงแหวนมหาย่างกุ้ง (Greater Yangon) โดยเน้นการขยายตัวเมืองให้กว้างใหญ่เพื่อรองรับการเติบโตของประชากรที่คาดว่าจะมีจำนวนถึง 10 ล้านคนในปี ค.ศ.2040 ประกอบกับจะมีการจัดตั้ง 'อนุบริวารนคร' อีก 6 แห่ง (Mini-Satellite Cities) เพื่อวางหมุดดึงขึงให้เส้นวงแหวนรอบนอกมีการประสานเชื่อมโยงกันจนก่อเกิดเป็น 'วงปริมณฑลแบบกลมรี' ที่สามารถรองรับการขยายตัวของสิ่งปลูกสร้างจากแกนสะดือเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมืองลูกข่ายที่จะถูกพัฒนาขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ได้แก่ เมืองสิเรียม (Thanlyin) อันเป็นที่ตั้งของท่าเรือติลาวาและอยู่ไม่ไกลจากแกนกลางเมืองย่างกุ้ง
พร้อมกันนั้น แผนยุทธศาสตร์มหาย่างกุ้งของรัฐบาลเต็งเส่ง ยังถูกออกแบบให้แปลงสภาพเป็นแผนบูรณาการชั้นเลิศที่เกิดจากการขับเคลื่อนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานสำคัญ 4 แห่ง อันประกอบด้วย 1. กรมพัฒนาเคหสถานและการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ กระทรวงการก่อสร้าง ที่ถือเป็นตัวแทนจากรัฐบาลกลางแห่งสหภาพ 2. คณะบริหาร-นิติบัญญัติประจำภาคย่างกุ้ง (Yangon Region) ซึ่งถือเป็นหน่วยปกครองระดับภูมิภาค 3. คณะกรรมการพัฒนานครย่างกุ้ง (Yangon City Development Committee/YCDC) ซึ่งถือเป็นหน่วยบริหารระดับท้องถิ่น และ 4. ไจก้า หรือ Japanese International Cooperative Agency (JICA) ที่ถือเป็นองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศของญี่ปุ่น
ภูมิทัศน์มหานครย่างกุ้งกับหกอนุบริวารนคร พร้อมทำเลทางภูมิศาสตร์ที่แสดงให้เห็นจุดบรรจบระหว่างลำน้ำหล่าย (ขอบด้านซ้าย) ซึ่งเป็นแควสาขาที่แตกมาจากแม่น้ำอิระวดี กับ ลำน้ำพะโค (ขอบด้านขวา)ที่ไหลจากหุบเขาสะโตงผ่านเมืองหงสาวดี โดยลำน้ำทั้งสองได้ไหลมาสบกันหน้าเมืองย่างกุ้ง ก่อนที่จะไหลลงทะเลที่อ่าวเมาะตะมะ ซึ่งนับเป็นชัยภูมิชั้นยอดทางการค้า (ใกล้เคียงกับปากแม่น้ำฮุกลีของกัลกัตตาในอินเดีย ที่แตกหน่อจากแม่น้ำคงคาก่อนจะตกลงทะเลที่อ่าวเบงกอล)
โดยกระบวนการพัฒนาดังกล่าว จะทำให้ กรุงย่างกุ้ง กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองเชิงบูรณาการของพม่าเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นและส่วนนานาชาติ ได้อย่างครอบคลุมและมีสมดุล
จากนวัตกรรมการจัดการเมืองที่กล่าวไปเบื้องต้น จึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าย่างกุ้งในสหัสวรรษใหม่ จะสามารถผันตัวเองให้เป็นมหานครทางการค้าที่อยู่ระดับแถวหน้าของอาเซียนได้มากน้อยเพียงใด โดยคงจะกล่าวไม่ผิดนัก หากในอนาคต เราอาจได้เห็น 'Emporium' หรือ 'Metropolis' อย่างย่างกุ้ง ที่ถูกประดับประดาด้วยแสงไฟอันเรืองรองระยิบระยับและระดะล้อมด้วยเมืองอนุบริวารชั้นในทางแถบปากน้ำอิระวดี พร้อมถูกโอบร้อยเกื้อหนุนด้วยอู่เมืองท่าบริวารรอบนอกแถบอ่าวเมาะตะมะ อย่าง 'มะละแหม่ง' หรือ 'ทวาย' ซึ่งจะทำให้เกิดการก่อรูปของชั้นวงแหวนทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ขึ้นในพม่าและเขตตะเข็บชายแดนเพื่อนบ้าน
คงใกล้เข้ามาแล้วกระมัง ที่คนไทยอาจต้องหันกลับมามองแผน 'มหากรุงเทพ' แนวใหม่ เพื่อเป็นการทบทวนการบริหารนครแบบวงแหวนปริมณฑลที่โยงเอานนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และบรรดาจังหวัดสมุทรทั้งหลาย ให้เข้ามาถ่ายโอนสินค้าบริการร่วมกับเมืองหลวงอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้น
พร้อมกับขยายแนวเชื่อมโยงวัฏจักรการค้าเข้าสู่ท่าเรือชายทะเลนานาชาติ เช่น แหลมฉบัง ดานัง สีหนุวิลล์ และ ทวาย เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทย มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่พร้อมเป็นหุ้นส่วนแบบสมน้ำสมเนื้อกับพม่ายุคใหม่ ซึ่งกำลังผงาดขึ้นมาเป็นสุดยอดชุมทางการค้าและพาณิชยกรรมแห่งโลกเอเชีย!
ขอขอบคุณความเอื้อเฟื้อจาก มิตรสหายแห่งกระทรวงก่อสร้าง สาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมาร์
ดุลยภาค ปรีชารัชช