Skip to main content

 

 

เป็นที่ฮือฮาพอสมควรในแวดวงประวัติศาสตร์การทูตสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการเปิดโปงแผนที่ลับว่าด้วยการพยากรณ์ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ในช่วงปลายและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยแผนที่ฉบับดังกล่าว ถูกค้นพบที่หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน ซึ่งหากสืบค้นรายละเอียด จะพบว่าต้นฉบับได้ถูกประดิษฐ์โดย Maurice Gomberg ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่วิทยา พร้อมถูกตีพิมพ์ ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อปี ค.ศ.1942 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยการบริหารของประธานาธิบดี Franklin D Roosevelt และตรงกับช่วงที่กองทหารสัมพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ และโซเวียต เริ่มเห็นเค้าลางที่จะกำชัยชนะเบ็ดเสร็จเหนือฝ่ายอักษะอย่าง อิตาลี เยอรมันและญี่ปุ่น

ในมิติทางการเมืองระหว่างประเทศ แผนที่ดังกล่าว (นิยมเรียกกันว่า The Post War II New World Order Map) ถือเป็นประดิษฐกรรมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สะท้อนถึงโลกทรรศน์ทางการปกครองของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งนักยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ได้พยายามคิดฝันถึงการสถาปนาระบอบสหภาพโลก 'World Union' ที่รังสรรค์ออกมาจากระบอบลูกผสมของการเมืองภายในสหรัฐฯ ซึ่งเกิดจากการผสานกันระหว่างแนวทางสมาพันธรัฐ (Confederation) กับสหพันธรัฐ (Federation)

ที่มารูปภาพ Global Research, January 30, 2014 http://www.globalresearch.ca/

ผลที่ตามมาจากจินตภาพดังกล่าว คือ ภาพการตัดแบ่งสะบั้นเขตภูมิรัฐศาสตร์โลกออกเป็นอนุโซนต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มรัฐชาติที่มีอำนาจค่อนข้างอิสระ หากแต่ตัดสินใจเข้ามาอยู่ร่วมกันแบบหลวมๆ ภายใต้การนำของรัฐอภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเปรียบประดุจกับดุมล้อแห่งรัฐบาลโลกที่มีอิทธิพลต่อการใช้อำนาจบังคับรัฐสมาชิกผ่านองค์กรศาลและตำรวจโลก (ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากระเบียบความมั่นคงของสันนิบาตชาติอันมีผลต่อการพัฒนาแนวคิดความมั่นคงในสหประชาชาติ)

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบที่น่าสนใจที่สุดของแผนที่ดังกล่าว ได้แก่ การแบ่งย่านการปกครองโลกออกเป็น 9 โซนหลัก และอีก 5-6 โซนย่อย อาทิ กลุ่มสหภาพแอฟริกา-The Union of African Republics (UAR) ที่รวมเอารัฐต่างๆ ทั้งหมดในกาฬทวีป กลุ่มสหรัฐสแกนดิเนเวีย-The United States of Scandinavia (USS) ซึ่งประกอบด้วยนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก

กลุ่มสาธารณสหรัฐจีน-The United Republics of China (URC) ที่มีทั้งจีน เกาหลี ไทย มาลายูของอังกฤษและอินโดจีนของฝรั่งเศส (เวียดนาม ลาว กัมพูชา) กลุ่มสาธารณสหพันธรัฐอินเดีย-The Federated Republics of India (FRI) ที่ปัจจุบันประกอบด้วยอัฟกานิสถาน ปากีสถาน เนปาล ภูฎาน บังคลาเทศ อินเดีย พม่า หรือแผ่นดินชาติยิว-Hebrewland ซึ่งผนวกเอาดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตามพันธะสัญญาบวกกับจอร์แดน จนกลายมาเป็นรัฐอิสราเอลและเขตปาเลสไตน์

โดยถึงแม้ว่าเวลาต่อมา รูปร่างหน้าตาการปกครองระหว่างประเทศแบบสหภาพโลกจะผิดเพี้ยนไปจากจินตภาพของกลุ่มสถาปนิกมหายุทธศาสตร์อเมริกันอยู่มาก อาทิ การเกิดขึ้นของรัฐอิสระชมพูทวีปอย่างการแยกตัวของปากีสถานออกจากอินเดีย และการผุดตัดขึ้นมาของรัฐพม่าที่ไม่ขึ้นอยู่กับโซนบริหารอินเดีย หรือ การสร้างรัฐอินโดจีนเอกราชที่มิได้ตกอยู่ใต้การปกครองของสาธารณสหรัฐจีนอันมีจีนแผ่นดินใหญ่เป็นรัฐบาลกลาง

แต่กระนั้น การสร้างระเบียบโลกตามแผนที่ชุดดังกล่าว ก็ช่วยสร้างความแม่นยำมิใช่น้อยต่อการรวมกลุ่มในบางภูมิภาค อาทิ การรวมกลุ่มทางการเมืองเศรษฐกิจในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีข่ายภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แตกต่างมากนักจากโซนสหภาพแอฟริกา (UAR) ที่ปรากฏอยู่ในแผนที่สหรัฐ

สำหรับกรณีของรัฐในเอเชียอาคเนย์นั้น ได้ปรากฏการตัดผ่ากลุ่มรัฐพื้นเมืองออกเป็น 4 เขตปกครองหลักตามระบบคิดของสถาปนิกอเมริกัน ซึ่งได้แก่

- รัฐพม่าที่ถูกโอนให้เข้าไปอยู่กับสาธารณสหพันธรัฐอินเดีย โดยอาจเป็นผลจากนโยบายการปกครองของอังกฤษในยุคอาณานิคมที่เคยแปลงพม่าให้เป็นเขตจังหวัดหนึ่งของ British India รวมถึงเครือข่ายการเชื่อมต่อทางการค้าการบริหารระหว่างย่างกุ้งกับกัลกัตตา และงานปักปันเขตแดนของข้าหลวงอังกฤษประจำอินเดียที่มีจุดปลายแดนด้านตะวันออกอยู่ที่ตะเข็บพม่า-สยาม

- รัฐไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ลาว กัมพูชา ซึ่งในช่วงก่อนการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐเหล่านี้ล้วนเต็มไปด้วยเครือข่ายชาวจีนอพยพพร้อมถูกแทรกซึมทางการเมืองจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งที่เป็นกลุ่มจีนคณะชาติและจีนคอมมิวนิสต์ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน หรือการเตรียมวางแนวกำลังทหารของจีนคณะชาติเหนือเส้นขนานที่ 16 หรือประมาณจังหวัดพิจิตรของไทยขึ้นไปเพื่อร่วมกับสัมพันธมิตรในการขับไล่กองทัพญี่ปุ่น

- รัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งถูกโอนให้เข้าไปอยู่ในหน่วยการปกครองที่เรียกว่า สหรัฐอเมริกา-The United States of America (USA) (ชื่อเดียวกับประเทศสหรัฐในปัจจุบัน) ซึ่งประกอบด้วยรัฐต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ กลุ่มรัฐอเมริกากลาง กลุ่มรัฐแคริบเบียนและหมู่เกาะแอตแลนติกอย่างกรีนแลนด์ รวมถึงหมู่เกาะบางแห่งในอินโดนีเซียอย่างสุลาเวสี โดยอาจเป็นเพราะอิทธิพลอาณานิคมอเมริกันในฟิลิปปินส์ หรือการเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์ของแนวฐานทัพลอยน้ำสหรัฐช่วงสงครามโลก ที่เชื่อมเอาหมู่เกาะตอนใต้ของฟิลิปปินส์ไปผนึกติดกับแนวหมู่เกาะของเนเธอแลนด์อินดีส อย่าง สุลาเวสีและอนุเกาะในโมลุกกะ

- รัฐอินโดนีเซีย ที่ถูกผ่าดินแดนออกเป็นสองส่วนหลัก คือ ส่วนที่รวมเข้ากับฟิลิปปินส์และขึ้นกับสหรัฐอเมริกา (ดังที่กล่าวไปเบื้องต้น) กับส่วนที่ตกอยู่ใต้การปกครองของเครือจักรภพอังกฤษ-the British Commonwealth of Nations (BCN) ที่มีทั้งสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ศรีลังกา มาดากัสการ์และดินแดนภาคพื้นสมุทรส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย อาทิ เกาะชวา เกาะบาหลี เกาะสุมาตราและเกาะกาลิมันตัน

ซึ่งอาจเกิดจากการเข้ามาปกครองหมู่เกาะอินดีสเป็นการชั่วคราวของอังกฤษหลังจากที่เนเธอแลนด์ปราชัยต่อกองทัพญี่ปุ่น รวมถึง อิทธิพลบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษที่เคยเข้าคุมอาณานิคมอินโดในช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากที่เนเธอแลนด์ถูกฝรั่งเศสครอบครองในสมรภูมิยุโรป ตลอดจนความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ระหว่างอินโดนีเซียกับออสเตรเลีย-โอเชียเนีย

จากโซนการปกครองเอเชียอาคเนย์อันสัมพันธ์กับระเบียบภูมิรัฐศาสตร์โลก ได้ช่วยชี้ชวนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ทางยุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่พยายามประดิษฐ์สถาปัตยกรรมการเมืองโลกผ่านการขีดเขียนเส้นเขตแดนรัฐชาติ แล้วปักหมุดแต่งแต้มลงบนผืนกระดาษเพื่อสำแดงเขตครอบครองอนุภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนสัมพันธภาพเชิงอำนาจในระดับโลก โดยมี อังกฤษ อินเดีย จีน และตัวสหรัฐอเมริกาเอง แสดงบทบาทเป็นรัฐบาลท้องถิ่นประจำย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งถูกตัดแบ่งออกเป็นห้วงอนุบริเวณ

อย่างไรก็ตาม แม้แผนที่ดังกล่าวจะทำนายผลลัพธ์ทางการเมืองที่ผิดแปลกไปจากสภาพความเป็นจริงในช่วงหลังสงครามโลกอยู่มาก เช่น การผุดตัวขึ้นมาของประเทศต่างๆ ในฐานะรัฐเอกราชสมัยใหม่ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยปกครองที่สหรัฐได้เคยวาดฝันเอาไว้ อย่าง สาธารณสหรัฐจีน หรือสาธารณสหพันธรัฐอินเดีย หรือความหวาดระแวงทางยุทธศาสตร์ระหว่างอินโดนีเซียกับออสเตรเลีย และเวียดนามกับจีน ทั้งๆ ที่ดินแดนเหล่านี้เคยมีแนวโน้มว่าจะถูกผนวกเข้าอยู่ในเขตการปกครองเดียวกัน

แต่ถึงอย่างนั้น แบบแผนการปกครองหรือแนวนโยบายต่างประเทศของบางรัฐในเอเชียอาคเนย์ปัจจุบัน ก็กลับมีรูปทิศทางที่เริ่มใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยปรากฏอยู่ในแผนที่ระเบียบโลกของสหรัฐ

ยกตัวอย่างเช่น การจัดการปกครองของพม่าล่าสุดที่มีลักษณะเป็นรัฐเดี่ยวที่ค่อนมาทางสหพันธรัฐมากขึ้น โดยประกอบด้วยรัฐบาลและรัฐสภาประจำ 14 ภูมิภาค (7 รัฐ 7 ภาค) และเขตการปกครองพิเศษประจำเมืองหลวงเนปิดอว์ที่เรียกว่า Union Territory ซึ่งดูๆ ไปแล้ว กลับเริ่มจะคล้ายคลึงกับระบบสหพันธรัฐนิยมในอินเดีย (อินเดียมีสภา/รัฐบาลประจำ 28 รัฐ และประกอบด้วยเขต Union Territory อีก 7 เขต)

หรือในกรณีแบบแผนนโยบายต่างประเทศที่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของฟิลิปปินส์ยังจำเป็นต้องพึ่งพาอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาอยู่ต่อไป ขณะที่ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างอินโดนีเซียกับสหรัฐกลับกระชับแน่นมากขึ้นผ่านแนวโน้มการตั้งฐานทัพสหรัฐในหมู่เกาะบางแห่งของอินโดนีเซียซึ่งสหรัฐหมายมั่นที่จะทำควบคู่ไปกับการขยายฐานทัพในออสเตรเลีย และแม้แต่ พฤติกรรมทางการทูตของลาว กัมพูชา และไทย ที่ยังคงให้ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์กับจีนสืบต่อไปผ่านความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และการค้า

จากการวิเคราะห์แผนที่ระเบียบโลกสหรัฐ จึงน่าสรุปต่อได้ว่า สถานภาพของเอเชียนซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงสมาพันธรัฐ (Confederation) ที่เกิดจากการรวมตัวของรัฐอธิปไตยแบบหลวมๆ (โดยยังมิได้เคลื่อนตัวไปสู่สิ่งที่ใกล้เคียงกับสหพันธรัฐอย่างเต็มรูป) ได้เริ่มทำให้เราพอเห็นว่าความพยายามที่จะตรวจสอบหารอยปริแยกภายในภูมิภาคอันเกิดจากความต่างของระนาบทางการเมืองหรือวิวัฒนาการประวัติศาสตร์การทูต ตลอดจนการปลดปล่อยโลกทรรศน์ทางยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจผ่านการผลิตแผนที่ลับเพื่อจัดระเบียบผลประโยชน์ตามกลุ่มอนุภูมิภาคต่างๆรอบโลก อาจกลายมาเป็นแนวมองหรือเครื่องมือการวิเคราะห์สำคัญที่ทรงอิทธิพลต่อการทำนายระบบรัฐนานาชาติบนเวทีการเมืองอาเซียนในศตวรรษที่ 21

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช

สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ธรรมศาสตร์
 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร