Skip to main content

 

ในบรรดาชนชั้นนำผู้ทรงอำนาจบนหน้าประวัติศาสตร์อาเซียนยุคใหม่ อย่าง มาร์กอสของฟิลิปปินส์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ของไทย นายพลอาวุโสตานฉ่วยของพม่า องค์สุลต่านโบลเกียห์ของบรูไน หรือแม้แต่ ลีกวนยูของสิงคโปร์ และมหาเธร์ของมาเลเซีย ฯลฯ ดูเหมือนว่า บุรุษเหล็กนาม 'ฮุนเซ็น' จะกลายมาเป็นองค์อธิปัตย์ที่ทรงอิทธิพลต่อการวิเคราะห์ฐานอำนาจชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่น่าสนใจอยู่มิใช่น้อย

ทั้งนี้เนื่องจากฮุนเซ็นมีคุณสมบัติเป็นทั้งนักการเมือง นักธุรกิจและนักการทหารที่เชี่ยวชาญช่ำชองในกุศโลบายการใช้อำนาจอย่างลึกซึ้งจนมีลักษณะใกล้เคียงกับแมคเคียอาเวลลีหรือซุนวูแห่งกัมพูชา

สมเด็จฮุนเซ็น (ภาพจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)

นอกจากนั้น ฮุนเซ็นยังถือเป็นผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในโลกการเมืองเอเชียอาคเนย์สมัยใหม่ พร้อมแผ่แสนยานุภาพเข้าคุมเขตปริมณฑลทหาร-พลเรือน-ประชาชน ตลอดจนสามารถขยายอิทธิพลแทรกซึมเข้าไปยังโซนบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งถือเป็นสามเสาหลักแห่งอำนาจอธิปไตยของรัฐสมัยใหม่

สำหรับความละเมียดละไมของศิลปะการใช้อำนาจ ฮุนเซ็นได้ย้อนกลับไปหาจารีตการใช้อำนาจแบบเก่าในสังคมเขมรโบราณซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในโลกทรรศน์ความรับรู้ของคนเขมรปัจจุบัน อาทิ หลักการที่ว่าอำนาจ (omnaich) จะต้องเกิดจากการประกอบเข้าด้วยกันของสิ่งมงคลอย่างเช่นบุญญาบารมีและยศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งก็ทำให้ฮุนเซ็นได้รับการยอมรับจากชาวเขมรบางกลุ่มว่าเป็นองค์อธิปัตย์ที่ทรงบารมีมาแต่ชาติปางก่อน

ซึ่งก็มีคนเขมรอีกจำนวนมิน้อยที่เชื่อว่าเขาคือร่างอวตารของ 'เสด็จกอน' (Sdech Korn/Kon/Kan) กษัตริย์เขมรในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีพื้นเพมาจากสามัญชนหากแต่ได้ทำการโค่นบัลลังก์อดีตกษัตริย์ผู้ไร้ทศพิธราชธรรม พร้อมปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่แห่งกัมพุชประเทศ

พระบรมรูปเสด็จกอน มหาบุรุษผู้เป็นแบบอย่างการปกครองให้กับฮุนเซ็น ซึ่งมีทั้งการสร้างอนุสาวรีย์และการเฉลิมฉลองเทศกาลที่จัดพร้อมประเพณีแข่งเรือ ณ จังหวัดกำปงจาม บ้านเกิดฮุนเซ็นและพื้นที่อันสัมพันธ์กับพระราชประวัติของเสด็จกอน (รูปภาพโดย Koh Santepheap จาก khmerization.blogspot.comhttp และ ki-media.blogspot.hk เข้าถึงเมื่อ 18 เมษายน 2557)

โดยฮุนเซ็นเองก็ได้แสดงท่าทียกย่องเสด็จกอนค่อนข้างชัดเจน ดั่งเห็นได้จาก การสนับสนุนให้ตีพิมพ์หนังสือพระราชประวัติของกษัตริย์องค์ดังกล่าวเป็นจำนวน 5,000 เล่ม พร้อมทั้งเขียนคำนิยมยอพระเกียรติเสด็จกอนในฐานะมหาวีรบุรุษผู้ทรงวางรากฐานปฏิรูปบ้านเมืองให้กับรัฐกัมพูชาอย่างมั่นคง

ขณะเดียวกัน เขายังประกาศใช้ราชทินนามเพื่อสำแดงยศถาบรรดาศักดิ์อันเกรียงไกร อย่าง 'สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซ็น 'ម្តេចអគ្គមហាសេនាបតីតេជោ ហ៊ុន សែន' เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอานุภาพอันยิ่งใหญ่ที่แผ่ปกคลุมไปทั่วงานบริหารราชการแผ่นดินทุกระดับ รวมถึงสำแดงพละกำลังอันฮึกห้าวในการควบคุมบังคับบัญชากองทัพแห่งราชอาณาจักร

นอกจากอำนาจในโลกจารีตประเพณีแบบเก่า ฮุนเซ็นยังวางวิสัยทัศน์เพื่อหนุนเสริมให้ตนได้เป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์บนแผ่นดินกัมพูชาออกไปอีกราว 10 ปี หรือจนกว่าที่ตนจะมีอายุประมาณ 74 ปี ซึ่งก็ทำให้ฮุนเซ็นยังคงต้องทุ่มความพยายามเพื่อยึดกุมกลไกอำนาจรัฐสืบต่อไป พร้อมเตรียมสะสมเครือวานธุรกิจการเมืองเพื่อดันให้คนในตระกูลตนสามารถปกครองประเทศได้ยาวนานที่สุดโดยปราศจากผู้ท้าทายทางการเมือง

ต่อวิสัยทัศน์ดังกล่าว ฮุนเซ็นได้ผลักดัน 'ฮุนมาเนต' บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนขึ้นเป็นพลโทพร้อมมีอิทธิพลควบคุมกองกำลังพิทักษ์องครักษ์ (ซึ่งถือเป็นกองทหารส่วนตัวของฮุนเซ็น) รวมถึงกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายที่ได้ชื่อว่าเป็นหน่วยรบพิเศษระดับแนวหน้าของกองทัพกัมพูชา ประกอบกับดัน 'ฮุนมานา' บุตรสาวขึ้นคุมสถานีโทรทัศน์บายนซึ่งถือเป็นสื่อกระแสหลักของรัฐบาล

แผนผังแสดงการรวมอำนาจของฮุนเซ็นผ่านเครือข่ายสถาบันการเมืองต่างๆ (ภาพจาก sokheounpang.wordpress.com
เข้าถึงเมื่อ 18 เมษายน 2557)

ในอีกทางหนึ่ง ฮุนเซ็นยังได้สร้างเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อเปิดคลังทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้และอัญมณีนานาชนิดให้กับกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ โดยเขาได้ควบคุมบริหารสำนักปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา (Cambodian National Petroleum Authority/CNPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกิจการน้ำมันของประเทศโดยตรง พร้อมสนับสนุนให้พวกพ้องเข้าคุมสัมปทานธุรกิจตามเขตจังหวัดต่างๆ อาทิ พระตะบอง ศรีโสภณ รัตนคีรี สีหนุวิลล์ และแม้แต่กลุ่มจังหวัดรอบทะเลสาบเขมรซึ่งเริ่มมีการสำรวจน้ำมันที่ทับถมอยู่ใต้ตะกอนโคลนตม (คล้ายคลึงกับทะเลสาบแคสเปียนในเอเชียกลาง)

นอกเหนือจากนั้น โครงสร้างอำนาจนิติบัญญัติหรือการบริหารราชการแผ่นดินในทุกระดับ ก็ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ใต้การควบคุมของนักการเมืองจากพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People Party/CPP) โดยเห็นได้จาก จำนวน ส.ส. และ ส.ว. ในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นบุคลากรจากพรรคซีพีพีของฮุนเซ็น

ขณะที่แผงอำนาจระดับสูงในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ แม้จะมีการแตกกระจายออกเป็นมุ้งการเมืองยิบย่อย เช่น กลุ่มของประธานวุฒิสภาและรัฐมนตรีมหาดไทย หรือธรรมเนียมการกันโควต้ารัฐมนตรีบางส่วนไปให้กับพรรคฝ่ายค้านอย่างฟุนซินเปค (FUNCINPEC) แต่กระนั้น จำนวนสมาชิกของพรรคการเมืองฮุนเซ็นก็ยังคงมีสัดส่วนที่มากพอที่จะกระชับอำนาจในสภาและคณะรัฐบาลได้อย่างมั่นคงต่อไป

ขณะเดียวกัน การปกครองแบบรัฐเดี่ยวที่ถ่ายระดับจากจังหวัด ลงมายังอำเภอ คอมมูน (หน่วยปกครองท้องถิ่นใกล้เคียงกับตำบล) และหมู่บ้าน ก็ยังคงมีลักษณะที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเครือข่ายอำนาจฮุนเซ็น

โดยรากฐานวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์และความจำเป็นในการพัฒนาชนบทได้นำพาให้ผู้นำท้องถิ่นอย่างกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน จำเป็นต้องกระชับสายสัมพันธ์ร่วมกับเครือข่ายชนชั้นนำที่ถูกส่งมาจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อย่าง ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการพลเรือน ตลอดจนกองกำลังตำรวจและกองทหารประจำกองทัพภาคต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ก็ล้วนเป็นกลุ่มบุคคลที่มีสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองร่วมกับพรรคซีพีพีและเครือข่ายวงศ์วานของฮุนเซ็นแทบทั้งสิ้น

ท้ายที่สุด คงมิเกินเลยนัก หากจะกล่าวว่า "สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซ็น" คือสุดยอดรัฏฐาธิปัตย์ที่ทรงอานุภาพแห่งโลกการเมืองกัมพูชา ซึ่งนอกจากจะแผ่ปริมณฑลแห่งอำนาจครอบคลุมแทบทุกองคาพยพของสังคมการเมืองกัมพูชาแล้ว บุรุษเหล็กผู้นี้ยังอาจจะมีบทบาทในม่านละครการเมืองกัมพุชประเทศสืบต่อไป ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเมืองในราชสำนักและการเมืองระหว่างประเทศอันสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างไทย!

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช
สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ขอขอบคุณ คุณกิมลี หงวน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ กัลยาณมิตรและเพื่อนรักผู้แสนดี ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจโลกการเมืองกัมพูชาที่ทะลุปรุโปร่งมากขึ้น

..................................

แหล่งอ้างอิง

Chandler, D. A History of Cambodia, 4th ed., Westview Press, Boulder, Colorado, 2008.

Edwards, P. Cambodge: The cultivation of a nation, University of Hawaii Press, Honolulu, 2007.

๋Jacobsen, T. and M. Stuart Fox. 'Power and Political Culture in Cambodia', Asia Research Institution, No. 200, May 2013.

Martin, M. ‘Social Rules and Political Power in Cambodia’, Indochina Report, No. 22, Jan-March 1990.

Norén-Nilsson, A. ‘Performance as (re)incarnation: The Sdech Kân narrative’, Journal of Southeast Asian Studies, 44 (2013), pp. 4-23.

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร