Skip to main content

 

ท่ามกลางการผนึกแน่นของแนวระเบียงโลจิสติกส์เออีซีที่ค่อยๆ เชื่อมร้อยยึดโยงให้อู่เมืองพาณิชยกรรมอาเซียนเกิดการปะทะสังสรรค์กันอย่างแนบแน่น รัฐบาลเอเชียอาคเนย์ต่างหันมาเร่งวางแผนพัฒนานคร (Urban Development) เพื่อลงหมุดขยายโซนเศรษฐกิจอันจะมีผลอย่างยิ่งต่อการดึงดูดหรือกระจายความเจริญทั้งในเขตแกนกลางและเขตชายแดน โดยในบรรดารัฐภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูเหมือนว่า ไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ ถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีปริมาณประชากร ขนาดประเทศและทิศทางการเติบโตของเมืองการค้า ที่คู่ควรแก่การวิเคราะห์เปรียบเทียบมากที่สุด

สำหรับกรณีของไทยนั้น การวางกลุ่มนครเศรษฐกิจมักถูกครอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเอกนคร (Uni-Urban Pole) ซึ่งเน้นการโตเดี่ยวของกรุงเทพฯและเขตปริมณฑลจนทำให้ความเจริญหนาแน่นของกิจกรรมการค้ากระจุกตัวอยู่ที่ภาคกลางตอนล่างแต่เพียงแห่งเดียว โดยมีลักษณะเป็นฐานเศรษฐกิจเมืองหลวงที่เชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มเมืองบริวารอย่างนนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา รวมถึงเมืองท่าชายทะเลอ่าวไทยอย่างสมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี และระยอง

แต่ในทางกลับกัน หัวเมืองตอนในอย่างเชียงใหม่หรือนครราชสีมา กลับมีปริมาณความแออัดประชากรหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product-GDP) ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโซนมหานครกรุงเทพ โดยการก่อรูปของขั้วเอกนครดังกล่าว ย่อมทำให้การขยายวงแหวนเออีซีของไทยเพื่อลากโยงเข้ากับเขตเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน เกิดอาการขาดสมดุลและกระจุกตัวเข้าหาโซนแกนกลางมากกว่าที่จะแผ่ซึมเข้าไปยังเขตแนวหลังของประเทศ (Hinterland) ซึ่งอาจทำให้ปริมาณไหลเวียนสินค้ามีน้ำหนักการถ่ายเทหรืออัตราความคึกคักอยู่ที่แกนระเบียงโลจิสติกส์ที่ลากผ่านจากท่าเรือทวายของเมียนมาร์ เข้าสู่กรุงเทพฯ แหลมฉบัง และ สีหนุวิลล์ของกัมพูชา มากกว่าที่จะพุ่งทะยานจากฟากมะละแหม่ง ตาก พิษณุโลก มุกดาหาร สะหวันนะเขต จนกระทั่งไปจรดเมืองดานังของเวียดนาม


แผนที่แสดงขั้วเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ ในไทย เวียดนามและเมียนมาร์ (Toshihiro KUDO and Satoru KUMAGAI Institute of Developing Economies, November 2012)

ส่วนการพัฒนานครเศรษฐกิจของเวียดนามนั้น กลับมีลักษณะตรงข้ามกับไทยโดยจะเป็นแบบทวินคร (Bi-Urban Poles) ซึ่งประกอบด้วยสองขั้วพาณิชยกรรมทางแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงอย่างฮานอยกับเขตสามเหลี่ยมปากน้ำโขงอย่างไซ่ง่อน (โฮจิมินทร์ซิตี้) โดยถึงแม้ว่าขั้วฮานอยกับเมืองบริวารข้างเคียง เช่น ไฮฟอง บั๊กนิญ จะถูกครอบทับด้วยโซนอุตสาหกรรมหนักอย่างโรงงานผลิตเครื่องจักรกลและถลุงเหล็กกล้า มากกว่าขั้วไซ่ง่อนและหัวเมืองรอบนอกอย่างเกิ่นเทอ หรือ จ่าวิญ ที่เต็มไปด้วยย่านอุตสาหกรรมเบา อาทิ โรงงานทอผ้าและโรงงานผลิตอาหารทะเล

แต่กระนั้น การก่อรูปของภูมิทัศน์ทวินคร กลับทำให้เวียดนามสามารถกระจายพลังพาณิชยกรรมเข้าสู่พื้นที่วงกลางอย่าง เว้-ดานัง ผ่านการแผ่ปริมณฑลความเจริญที่ปลดปล่อยออกมาจากขั้วนครเหนือ-ใต้ พร้อมกันนั้น แกนยุทธศาสตร์ฮานอย-ไซ่ง่อน ยังอาจช่วยกระตุ้นให้เวียดนามสามารถกระชับโซนรอยต่อทางเศรษฐกิจร่วมกับพื้นที่แนวหลังของเขตชายแดนจีน-ลาว หรือ กัมพูชา-ไทย ได้อย่างควบแน่นและมีสมดุล ซึ่งนับเป็นความได้เปรียบทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่ช่วยลบข้ออ่อนด้อยทางโลจิสติกส์อันเป็นผลจากการวางตัวของภูมิประเทศที่คับแคบแบบคอขวด (Bottleneck) ของเวียดนาม

สำหรับกรณีของเมียนมาร์นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะตัดสินใจเลือกใช้ยุทธศาสตร์แนวเอกนครแบบไทยหรือยุทธศาสตร์ทวินครแบบเวียดนาม หากแต่ทว่า การปรากฏตัวของขั้วนครเศรษฐกิจชายทะเลอย่างย่างกุ้ง หรือ ขั้วนครเศรษฐกิจพื้นทวีปอย่างมัณฑะเลย์ ซึ่งมิได้มีความแตกต่างทาง GDP หรือ ความหนาแน่นประชากรแบบสูงลิ่วมากนัก (หากจะนำไปเปรียบกับกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ของไทย) ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลเมียนมาร์สามารถเกลี่ยความเจริญเข้าไปยังพื้นที่ชนบทรอบนอกได้อย่างเสมอภาคมากขึ้นผ่านการสถาปนาแกนทวิขั้วย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์


ภูมิรัฐศาสตร์ประเทศไทยแสดงโครงข่ายระเบียงโลจิสติกส์ที่มาจากภาคพื้นทะเลและเขตพื้นทวีปลุ่มน้ำโขง โดยพลังไหลเวียนทางการขนส่งดังกล่าว ย่อมถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพได้หากมีการจัดวางตำแหน่งเมืองเศรษฐกิจในรูปลักษณ์ที่เหมาะสม (วาดโดย รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)


ขณะเดียวกัน การสร้างเมืองหลวงใหม่ที่กรุงเนปิดอว์ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างย่างกุ้งกับมัณฑะเลย์ พร้อมการเร่งพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย มะละแหม่ง เจียวเพียว และ การขยายเมืองการค้าเลียบตะเข็บชายแดนจีนอย่างหมู่เจ่-รุ่ยลี่ ก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยบ่งชี้ว่าเมียนมาร์ในสหัสวรรษใหม่ น่าจะเลือกใช้ทั้งยุทธศาสตร์แนวทวิขั้วสลับหมุนเวียนไปกับพหุขั้ว (Multi-Urban Poles) เพื่อเร่งผลักดันให้เมืองเศรษฐกิจย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ สามารถเจริญรุดไปข้างหน้าได้อย่างเต็มกำลังโดยมิต้องทิ้งช่วงห่างที่แตกต่างจากเมืองยุทธศาสตร์อื่นๆ มากนัก ซึ่งนับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองเนื่องจากเมียนมาร์มิมีข้อจำกัดด้านขนาดพื้นที่เหมือนกับเวียดนาม

ในอนาคต เราคงต้องดูกันต่อไปว่าระหว่าง ไทย เวียดนาม หรือ เมียนมาร์ ชาติใดจะสามารถกำหนดแผนยุทธศาสตร์พัฒนานครเพื่อเก็บเกี่ยวความมั่งคั่งจากกระแสเออีซีได้มากที่สุด หากแต่สำหรับประเทศไทยนั้น มรดกเรื้อรังจากสภาวะโตเดี่ยวของกรุงเทพฯ อาจทำให้ไทยมิสามารถเอนตัวเข้าหาสภาวะสองขั้วนครได้อีกต่อไป ทว่า การคงแกนเอกนครแล้วหันมาพัฒนาโซนพหุนครแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็อาจเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ ที่พอพยุงให้ไทยหันมาตีตื้นเก็บแต้มคะแนนเพื่อรักษาจุดสมดุลกับเพื่อนบ้านได้

โดยเฉพาะการคงให้กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยังคงเป็นจุดศูนย์ดุลแห่งสถาปัตยกรรมพัฒนานคร เพียงแต่คอยกระตุ้นให้นครยุทธศาสตร์อย่างเชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช หรือ นครชายแดนอย่างแม่สอด อรัญประเทศ มีศักยภาพเพียงพอสำหรับการพัฒนาภูมิภาคหรือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเออีซีร่วมกับเพื่อนบ้านได้อย่างแท้จริง

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช


ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมษายน 2557

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร