ณ ดินแดนรัฐฉานตรงฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน อันเป็นที่สิงสถิตของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA-United Wa State Army) ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นกองกำลังชนชาติพันธุ์ที่มีขนาดทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดูเหมือนว่า โครงสร้างระบบดุลอำนาจและทิศทางความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ได้ค่อยๆ ถูกปรับแปลงรูปโฉมอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นผลจากการระดมสรรพกำลังของกองทัพพม่าเพื่อเตรียมเข้ากดดันสัประยุทธ์กับกองทัพสหรัฐว้า จนอาจทำให้เกิดความระส่ำระส่ายขึ้นในเขตสามเหลี่ยมทองคำและย่านเอเชียอาคเนย์ตอนบน
สำหรับมูลเหตุแห่งแนวโน้มสงคราม หากพลิกดูประวัติสายสัมพันธ์พม่า-ว้า อาจพบเห็นสภาวะความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ โดยในช่วงสงครามเย็น ทหารว้าได้เคยถูกเกณฑ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเพื่อรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลกลาง พร้อมได้รับการสนับสนุนทางการเมืองการทหารจากประเทศจีน (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ‘ว้าแดง’)
แต่กระนั้น หลังการแตกสลายของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า กลุ่มผู้นำว้าได้หันมาเจรจากับทหารพม่าซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิงและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตามแนวชายแดนระหว่างสองกลุ่มอำนาจ มิหนำซ้ำ กองทัพว้ายังได้แปลงสภาพเป็นพันธมิตรหลักร่วมกับทหารพม่า พร้อมช่วยทหารพม่าในการเข้าตีกองกำลังชาติพันธุ์อื่นๆ ในเขตรัฐฉาน อาทิ กองทัพรัฐฉานภาคใต้ของพลโทเจ้ายอดศึก
อย่างไรก็ตาม ความแนบแน่นชิดเชื้อได้ค่อยๆ เจือจางลง เมื่อในเวลาต่อมา กองทัพพม่าได้ทำการบีบบังคับให้ทหารว้ายอมสลายกองกำลังเพื่อแปลงสภาพไปเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ Border Guard Force/BGF โดยต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตัวแทนทหารพม่า ซึ่งก็ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างแข็งขันจากกลุ่มผู้นำว้า นอกจากนั้น โครงสร้างภูมิศาสตร์การเมืองเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งมูลเหตุสำคัญ สืบเนื่องจากเขตอิทธิพลของว้าจะประกอบไปด้วย "เขตว้าเหนือ” แถบเมืองปางซาง ที่ตั้งประชิดชายแดนจีน และ "เขตว้าใต้” ซึ่งตั้งอยู่ติดตะเข็บชายแดนไทย (ทางด้านจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และบางส่วนของแม่ฮ่องสอน)
โดยรัฐบาลพม่าได้ประกาศจัดตั้งเขตบริหารตนเองสำหรับชนชาติว้า ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมเพียงแค่เขตว้าเหนือ พร้อมกับออกคำสั่งให้ชาวว้าใต้อพยพขึ้นเหนือกลับเข้าไปรวมกับเขตปางซาง ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้นำว้าที่พยายามเรียกร้องขอดันเขตปกครองตนเองให้เป็นถึงระดับ "รัฐว้า” ที่ค่อนข้างจะใกล้เคียงกับรัฐชาติพันธุ์อื่นๆ พร้อมมีแนวอาณาเขตที่ต้องแตะคลุมทั้งพื้นที่ว้าเหนือและว้าตอนใต้ ซึ่งว่ากันว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของว้าในครั้งนี้ ทำให้กลุ่มคณะเสนาธิการทหารพม่าบางนาย มีความคิดที่จะใช้กำลังทหารเข้าจัดการกับกองทัพว้าอย่างเด็ดขาด
ประกอบกับกระแสการโหมกระพือของ "ไครเมียโมเดล” ที่มักจะทึกทักเอาว่าพวกว้าอาจข่มขู่รัฐบาลกลางด้วยการหันไปลงประชามติเพื่อแยกตัวไปอยู่กับจีน คล้ายคลึงกับการแยกตัวของไครเมียจากยูเครนเพื่อไปอยู่กับรัสเซีย ก็กลับกลายเป็นเชื้อไฟที่คอยโหมกระหน่ำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเต็มไปด้วยสภาวะร้าวฉานจนยากจะเยียวยา
จากการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ สงครามระหว่างพม่ากับว้า จึงมิใช่เรื่องไกลความจริง โดยล่าสุด เมื่อช่วงต้นปี ค.ศ. 2014 กองทัพพม่าได้ทำการซ้อมรบภายใต้ชื่อ "อโนรธา” ซึ่งแม้จะเป็นธรรมเนียมทางทหารปกติที่จะต้องมีการยอพระเกียรติบูรพกษัตริย์ผู้กล้า อย่างเช่น การซ้อมรบ "บุเรงนอง” หรือ "อูอองไซยะ” ของกองทัพพม่าในอดีต หากแต่การฝึกประลองยุทธ์ครานี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กองทัพแห่งชาติที่มีการประสานกำลังจากหลากหลายหน่วยรบ ทั้ง กองพลทหารราบเบา กองพลยานเกราะ กองพลปืนใหญ่ รวมถึงกองกำลังขีปนาวุธยุทธศาสตร์และกองกำลังเวหาที่เต็มไปด้วยเครื่องบินรบอันทรงอานุภาพ
ตัวอย่างการจัดกระบวนทัพของพม่า
คณะผู้นำทหารพม่า ขณะชมแบบจำลองยุทธ์ "อโนรธา" ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองมิตถิลา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014
โดยว่ากันว่า การซ้อมรบในครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นที่เมืองมิตถิลา ทางแถบภาคกลางของประเทศ หากทว่า ลักษณะภูมิประเทศอันเต็มไปด้วยที่ราบสลับกับโคกสูงและเนินเขา ก็ทำให้นักวิเคราะห์ทางทหารหลายท่าน อดประหวั่นพรั่นพรึงกันมิได้ ว่าธุระทางทหารดังกล่าว อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนกองทัพสหรัฐว้ามิให้ฮึกเหิมแข็งข้อต่อส่วนกลาง เนื่องจากสนามซ้อมรบครั้งนี้ล้วนมีสภาพภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกับเขตแม่น้ำสาละวินทางฟากตะวันออก อันมีเมืองปางซางเป็นกองบัญชาการหลักของทหารว้า
ในอีกทางหนึ่ง หากวิเคราะห์ทำเนียบกำลังรบแบบถ้วนทั่ว จะพบว่า ทัพพม่าในครานี้ มีการเตรียมปืนครกและปืนใหญ่ที่มีวิถีการยิงหลากหลายระยะ ทั้งปืนขนาด 105 มม. ที่ใช้ในการตี บก.ยุทธศาสตร์ไลซาของกองกำลังคะฉิ่นอิสระ (KIA) เมื่อช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา รวมถึงขนาด 120 และ 155 มม. ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่สั่งซื้อมาจากประเทศจีนและเกาหลีเหนือ ประกอบกับยังมีการเตรียมรถถังและรถหุ้มเกราะแบบ T 59 D-M และ BTR 3U โดยพบว่ายุทโธปกรณ์บางอย่างล้วนมีสมรรถนะในการวิ่งโฉบเฉี่ยวไปตามแนวสนามเพลาะบนขุนเขา ขณะเดียวกัน การซ้อมรบครั้งนี้ กองทัพพม่ายังมีการใช้อาวุธยิงสนับสนุนระยะไกล อย่างเช่น จรวดนำวิถีแบบพื้นสู่อากาศ ตลอดจน เครื่องบินรบแบบ MIG 29 และเฮลิคอปเตอร์ติดปืนกล MI 35P ซึ่งก็ทำให้พอวิเคราะห์ได้ว่า กองทัพพม่าอาจมุ่งเผด็จศึกระยะสั้นผ่านการระดมอาวุธหนักแบบสายฟ้าฟาดจนทำให้กองทัพว้าต้องยอมจำนนอย่างมิมีเงื่อนไง
แต่กระนั้น เมื่อพิจารณาการเตรียมกำลังของฟากกองทัพสหรัฐว้า ก็พบว่า ว้ามีการเสริมสร้างแนวปราการเหล็กในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยในห้วงที่ผ่านมา ทหารว้าได้เสริมแนวรับป้อมค่ายจำนวนหลายจุด พร้อมมีการขุดบังเกอร์เพื่อเก็บซ่อนอาวุธและสร้างหลุมหลบภัย ประกอบกับมีการสั่งซื้อรถถัง รถหุ้มเกราะ และปืนใหญ่เป็นจำนวนมากจากจีน ซึ่งการเพิ่มยุทธภัณฑ์ที่ทันสมัย ย่อมทำให้ทหารว้าเริ่มมีความพยายามที่จะนำหลักสงครามตามแบบ (Conventional Warfare) เข้ามาผสมผสานกับเทคนิคการทำสงครามจรยุทธ์ (Guerrilla Warfare) ซึ่งก็นับเป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การรบของกองทัพว้า
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่มีจังหวะได้เคยเห็นฐานทหารว้า รวมถึงมีโอกาสได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากฝั่งทหารไทยที่รับผิดชอบชายแดนภาคเหนือ อย่างเช่น อดีตเสนาธิการกองกำลังผาเมือง ย่อมกล่าวได้ว่า ทหารว้านั้น จะมีเทคนิคการรบที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนอกเหนือจากการทุ่มกำลังพลแบบคลื่นมนุษย์เหมือนทหารจีนแล้ว ทัพว้าจะมีระบบป้อมค่ายที่มักตั้งอยู่บนฐานดินลูกรังที่ถูกถางออกให้โล่งเตียนซึ่งนับว่าแตกต่างจากฐานของทหารไทใหญ่ หรือ ทหารกะเหรี่ยงบางส่วน ที่มักมีการตั้งค่ายใกล้ร่มไม้เพื่อพรางสิ่งปลูกสร้างทางยุทธศาสตร์
โดยลักษณะดังกล่าว ย่อมทำให้ฐานทหารว้าอาจตกเป็นเป้าโจมตีทางอากาศได้ง่าย ซึ่งจากข้อบกพร่องเช่นนี้ กองทัพว้าจึงค่อยๆ เตรียมการเพื่ออุดช่องว่างทางยุทธวิธี โดยพบเห็นการขุดบังเกอร์ที่แน่นหนาและรัดกุมขึ้นเพื่อเป็นการพรางแนวค่ายจากการตรวจจับของข้าศึก พร้อมมีการเรียกระดมพลในการต้านศึกพม่า (โดยปัจจุบันพบว่า ทหารว้ามีกองกำลังประจำการอยู่ราวๆ สองถึงสามหมื่นนาย พร้อมกองสำรองอีกกว่าหนึ่งหมื่นนาย ซึ่งก็ถือเป็นตัวเลขที่ย่อมสร้างความเหนื่อยยากให้กับกองทัพพม่า หากคิดจะเผด็จศึกกับว้าแบบเบ็ดเสร็จ)
จากเงื่อนไขทางยุทธศาสตร์ที่กล่าวไปเบื้องต้น "ศึกพม่ารบว้า" จึงเป็นปรากฏการณ์ด้านความมั่นคงที่น่าติดตามและชวนวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง โดยแม้การสัประยุทธ์จะยังมิเกิดขึ้นในปัจจุบัน หากแต่วีรกรรมของผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าคนล่าสุด อย่าง พลเอก มินอ่องหล่าย ที่เคยตีสลายกองกำลังโกกั้งและกองกำลังคะฉิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับห้วงเวลาการทยอยปลดอาวุธชนชาติพันธุ์ที่ควรจะต้องกระทำก่อนการเลือกตั้งใน ปี ค.ศ.2015 ก็นับเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่อาจทำให้การรณรงค์สงครามปราบว้า อาจเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินจริงนัก โดยตามการประเมินของผู้เขียน อาจมี ฉากทัศน์ หรือ Scenario ที่น่าสนใจสองประการ ได้แก่
Scenario 1 กองทัพพม่าอาจเพียงแต่ซ้อมรบเพื่อข่มขู่ทหารว้า หากแต่มิต้องการต้อนว้าให้จนมุมมากเกินไป เพราะอาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามถูกบีบคั้นทางยุทธศาสตร์อย่างรุนแรงจนเกิดการโต้กลับขนานใหญ่ซึ่งย่อมสร้างความสูญเสียให้กับกองทัพพม่า ไม่มากก็น้อย โดยอาจมีความเป็นไปได้ ที่กองทัพพม่าจะใช้ยุทธวิธีค่อยๆ บีบรัดทอนกำลังว้าเพื่อนำไปสู่การเจรจาในแบบที่พม่าได้เปรียบ ซึ่งกระบวนการโอบล้อมฝ่ายตรงข้าม ได้ค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเห็นได้จากการจัดตั้งกองทัพภาคแห่งใหม่ที่เมืองขัวหลำซึ่งมีภูมิรัฐศาสตร์อยู่ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างเมืองตองจีกับเมืองเชียงตุง พร้อมมีลักษณะเป็นฐานสกัดกั้นเพื่อปิดทับมิให้ทหารจากว้าเหนือและว้าใต้ สามารถส่งเสบียงหรือรวมพลกันได้โดยสะดวก ขณะเดียวกัน กองทัพพม่า ยังได้สร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ที่เริ่มต้นจากเมืองนายเข้าไปยังเชียงตุงเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งกำลังบำรุงและขนทหารพม่าในการเข้าไปคุมเชิงตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเครื่องมือในการเคลื่อนยุทธปัจจัยดังกล่าว อาจถือเป็นแรงกดดันที่พอเพียงในการผลักให้ว้าหันมายอมจำนนต่อส่วนกลางโดยมิต้องผ่านการรบขั้นแตกหัก
Scenario 2 กองทัพพม่าอาจระดมสรรพกำลังเข้าตี บก.ปางซาง ของว้า โดยมีการโหมยิงอาวุธหนักหลากหลายชนิดซึ่งผลแพ้ชนะย่อมอยู่ที่การโต้กลับหรือความคงทนในการตั้งรับของว้า รวมถึงท่าทีของรัฐชายแดนอย่างจีน ว่าจะแทรกแซงการยุทธ์ดังกล่าวเช่นไร ซึ่งก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่ยากต่อการทำนายเนื่องจากจีนได้ขายอาวุธพร้อมมีความสัมพันธ์ทางทหารกับทั้งกองทัพพม่าและกองทัพว้าในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้น อาจมีความเป็นไปได้ ที่กองทัพพม่าอาจโหมตี บก.ปางซาง โดยใช้กองทัพภาคแห่งใหม่เป็นเครื่องชะลอเพื่อสกัดกั้นทัพหนุนที่เคลื่อนมาจากว้าใต้แถบเมืองยอน เมืองสาด หรือ อาจส่งกำลังเข้าตีฐานยุทธศาสตร์ที่ว้าใต้เป็นอันดับแรกเพื่อตัดกำลังก่อนที่จะเคลื่อนพลเข้าจู่โจมเมืองปางซางอย่างเต็มพิกัดโดยมิต้องพะวงกับการยกทัพตีกระหนาบตลบหลังจากด้านใต้
แผนที่รัฐฉานแสดงเขตอิทธิพลของว้าเหนือและว้าใต้ พร้อมด้วยเกมส์ทอนกำลังของทหารพม่าเพื่อสะบั้นการเชื่อมต่อระหว่างว้าเหนือกับว้าใต้
รถถังที่น่าเกรงขามของกองทัพพม่ายุคใหม่
หรือในอีกทางหนึ่ง อาจมีการระดมตีทั้งว้าเหนือและว้าใต้โดยพร้อมเพรียงกัน ผ่านการเคลื่อนทัพจากกองทัพภาคทั้งหมดในเขตรัฐฉาน ทั้งที่เมืองตองจี ขัวหลำ เชียงตุงและลาเสี้ยว หากแต่ยุทธวิธีดังกล่าว อาจทำให้ scale ของสนามรบถูกขยายออกมาในวงกว้างจนกระทบต่อขั้วอำนาจทางทหารกลุ่มอื่นๆ อย่างเช่น กองทัพรัฐฉานภาคเหนือและกองทัพรัฐฉานภาคใต้ ซึ่งก็ยังมิแน่ชัดว่าว่ากลุ่มดังกล่าวจะวางตัวเป็นกลาง หรือจะพลิกขั้วเข้าช่วยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นการเฉพาะ ฉะนั้น แผนการเปิดแนวรบขนาดใหญ่จึงอาจสร้างความสุ่มเสี่ยงให้กับกองทัพพม่ารวมถึงอาจเปิดช่องให้เกิดแรงเสียดทานหรือแรงกดดันที่มีต่อรัฐบาลพม่าทั้งที่มาจากภายในและนอกประเทศ ซึ่งก็นับเป็นแผนยุทธการที่จะต้องมีการคำนวณให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจชิงโจมตีเปิดศึกก่อน
ท้ายที่สุด คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า "ศึกพม่ารบว้า” จะพลิกผันทุเลาเบาบางลงหรือผุดตัวปะทุขึ้นมาในห้วงเวลาใด ซึ่งก็เป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อดุลกำลังรบที่แปรเปลี่ยนไปตรงเขต "บูรพสาละวิน” พร้อมส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการวางนโยบายป้องกันประเทศของกองทัพภาคที่สามของไทย หรือแม้กระทั่งการเตรียมความพร้อมของภาคประชาสังคมและนักสิทธิมนุษยชน หากเกิดการไหลทะลักของคลื่นผู้อพยพตามแนวตะเข็บชายแดน
ที่มาภาพ Blogpost ของ mmmilitary และ Myanmar Army's Myawaddy
ดุลยภาค ปรีชารัชช