Skip to main content

 

ระบอบลูกผสม (Hybrid Regime) ที่ถูกออกแบบให้กองทัพสามารถแทรกตัวเข้าไปใช้อำนาจควบคู่กับพลเรือน หรืออาจมีอำนาจเหนือพลเรือนในหลายๆ ประเด็น ถือเป็นนวัตกรรมการเมืองการปกครองของบรรดารัฐขุนศึกอำนาจนิยมเอเชียอาคเนย์ (Southeast Asian Authoritarian Praetorian States) ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในรัฐไทยและรัฐเมียนมาร์ยุคปัจจุบัน หรือรัฐอินโดนีเซียที่ย้อนกลับไปถึงยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โต

ล่าสุด ประชาไทได้ลงข่าวภาคภาษาอังกฤษว่าด้วยการเปรียบเทียบสัดส่วนสมาชิกทหารในสภาไทยที่อาจจะมีมากกว่าโครงสร้างทหารในรัฐสภาเมียนมาร์ยุคปัจจุบัน ซึ่งทำให้ไทยอาจมีจุดบรรจบทางอุดมการณ์ที่ใกล้เคียงกับเมียนมาร์ นั่นก็คือ "ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังจะเบ่งบาน" หรือ "Flourishing Disciplined Democracy" ที่กำลังถูกออกแบบอย่างมีชั้นเชิงเพื่อทำให้กองทัพกลายเป็นจุดศูนย์ดุล (Centre of Gravity) แห่งสถาปัตยกรรมทางการเมืองในสหัสวรรษใหม่

ในความเป็นจริง ทหารพม่า ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลแทรกซึมเข้าไปอยู่ในโครงสร้างนิติบัญญัติและการบริหารในแทบทุกระดับ กล่าวคือ เมียนมาร์ ประกอบด้วยรัฐสภา 3 ระดับ (มากกว่าไทยที่เน้นเพียงแค่สภาส่วนกลาง) ได้แก่

1. รัฐสภาแห่งสหภาพที่อยู่ในรูปสภาคู่ (Bicameral System) คือ สภาผู้แทนราษฎรและสภาชนชาติ
2. รัฐสภาประจำรัฐและภาคต่างๆ ที่อยู่ในรูปสภาเดี่ยว (Unicameral System) โดยมีด้วยกันทั้งสิ้น 14 แห่ง และ
3. สภานิติบัญญัติประจำเขตบริหารปกครองพิเศษสำหรับชนชาติว้า ปะโอ ปะหล่อง ธนุ โกกั้งและนาคะ ซึ่งอยู่ในรูปสภาเดี่ยว

ต่อรูปแบบโครงสร้างดังกล่าว ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะต้องส่งนายทหารเข้าไปเป็นสมาชิกในหน่วยนิติบัญญัติทั้ง 3 ระดับ คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 1:3 (ระหว่างทหารที่มาจากการแต่งตั้งกับพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง) นอกจากนั้น หน่วยการเมืองทั้ง 3 ระดับ ยังจะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลทั้งในระดับสหภาพ ระดับภาคและรัฐ และระดับประจำเขตปกครองท้องถิ่น กระนั้น หน่วยบริหารเหล่านั้นจะต้องมีสมาชิกทหารแทรกซึมเข้าไปอยู่ในโครงสร้างแห่งอำนาจเพื่อควบคุมการผลิตนโยบายให้เป็นไปตามแนวทางที่กองทัพต้องการ

สิ่งนี้นี่เองที่ทำให้เมียนมาร์มีการจัดการปกครองที่สะท้อนความพยายามบางอย่างเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ หากแต่ก็ยังต้องถูกรั้งตรึงไว้ด้วยกลยุทธ์การรวมอำนาจของเหล่าขุนศึกในคราบระบอบลูกผสม ที่อาจจะคล้ายกับภาพของรัฐอินโดนีเซียในยุคที่เพิ่งผลัดอำนาจออกจากระบอบซูฮาร์โตมาหมาดๆ เพียงแต่ว่าเมียนมาร์ยังคงมีระดับการพัฒนาประชาธิปไตยที่ตามหลังอินโดนีเซียอยู่มาก ทั้งในเรื่องของการปฏิรูปบทบาทของทหารในทางการเมือง การมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่นในเครือข่ายนโยบายสาธารณะ ตลอดจน การพัฒนาสถาบันพรรคการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบพหุพรรค

ขณะที่รัฐไทยนั้น กลับอยู่ในคราบระบอบลูกผสมที่ค่อนมาทางการรวมอำนาจแบบรัฐเดี่ยวภายใต้โครงสร้างของรัฐราชองครักษ์ (Praetorian State) ซึ่งก็ทำให้รัฐไทยตกอยู่ใต้สภาวการณ์ที่ทหารสามารถปลดปล่อยอำนาจกินทับ หรือคู่ขนานไปกับพลเรือนในแทบทุกปริมณฑลทางการเมือง จนอาจส่งผลให้ท้ายที่สุด รัฐไทยอาจจะต้องเร่งผลิตสูตรการเมืองใหม่เพื่อพยายามวิ่งตามไล่กวดให้ทันการพัฒนาประชาธิปไตยในรัฐอินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งรัฐเมียนมาร์ภายในอนาคต แต่นั่น ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าการหวนกลับมาของเครือข่ายทหารในคราบระบอบการเมืองลูกผสม อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับโครงสร้างสังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบัน (ตามมุมคิดของผู้นำทหารไทย)

โจทย์ทางการเมืองอันแหลมคมได้ถูกส่งผ่านจนทำให้คนไทยได้ตัดสินใจเลือกชะตาชีวิตทางการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนั่นก็คือ สังคมต้องการอะไร ระหว่าง "ประชาธิปไตยที่ไร้ระเบียบและขาดธรรมาภิบาล" กับ "เผด็จการที่สามารถค้ำชูการดำรงอยู่ของรัฐควบคู่ไปกับประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน" โดยไม่ว่าคำถามเช่นนี้ จะวิวัฒนาการไปเองตามธรรมชาติหรือถูกชักใยด้วยเกมส์การเมืองของชนชั้นนำ หากแต่สิ่งเหล่านี้ ก็คงมิต่างอะไรนักกับการตัดสินใจของคนพม่าส่วนใหญ่ในช่วงปี ค.ศ.1958 และ 1988 ที่ยอมรับการปกครองแบบเผด็จการเพื่อประกันความมั่นคงให้กับรัฐ หรือ การตัดสินใจของคนอินโดนีเซียช่วงต้นสงครามเย็นที่ยอมรับระเบียบใหม่ของซูฮาร์โตเพื่อปราบภัยคอมมิวนิสต์และยุติความระส่ำระส่ายของเกมส์แย่งชิงอำนาจมวลชน (แม้ว่าประชาชนทั้งสองรัฐจะยอมรับระบอบอำนาจนิยมทั้งโดยสมัครใจหรือเป็นเพราะยังคงมิมีกำลังที่จะต่อต้านทหารก็ตามที)

เพียงแต่ว่า เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเพื่อนบ้านทั้งสองนั้น กลับนับย้อนไปไกลถึงหลายสิบปีในช่วงสงครามเย็น ซึ่งก็ทำให้อดคิดต่อไปมิได้ว่าทำไมคนไทย ยังจะต้องเผชิญกับวัฏจักรการเมืองแบบเก่าที่วนเวียนซ้ำซากเช่นนี้อยู่ร่ำไป ทั้งๆ ที่โลกการเมืองของเพื่อนบ้านเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหรือได้รับการอภิวัฒน์อย่างค่อนข้างน่าประทับใจ

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

อ่านบทความภาษาอังกฤษของประชาไท ‘Thailand has more military in its parliament than Burma’ ว่าด้วยสัดส่วนทหารในสภาของไทยและเมียนมาร์
 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร