Skip to main content

 

เป็นที่ฮือฮากันยกใหญ่ เมื่อนักศึกษาฮ่องกงหลายพันคนออกมาร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมรณรงค์ต่อต้านท่าทีของรัฐบาลจีนที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองฮ่องกง โดยพยายามจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ยอมให้ชาวฮ่องกงจัดการเลือกตั้งแบบเต็มรูปตามระบอบประชาธิปไตย จากกรณีดังกล่าว ซึ่งก็สอดรับกับช่วงที่ผมกำลังศึกษาวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง (The University of Hong Kong/HKU) ผมมีข้อสังเกตและประเด็นวิเคราะห์ ดังนี้

ประการแรก: ภูมิทัศน์การเมืองฮ่องกงเต็มไปด้วยการพัฒนาเครือข่ายประชาสังคมที่ปราศจากการบ่มเพาะระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง (Genuine Democratic Regime) กล่าวคือ ขณะที่โครงสร้างสังคมแบบเมืองมหานครล้วนถูกผูกโยงเข้ากับวัฒนธรรมทุนนิยมและเครือข่ายโลกาภิวัฒน์ ซึ่งส่งผลให้เยาวชนหนุ่มสาวมีพลังตื่นตัวทางการเมืองค่อนข้างสูง แต่ทว่า วิถีการเมืองประจำเขตฮ่องกง กลับตกอยู่ใต้ระบอบลูกผสม (Hybrid Regime) หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ/เผด็จการครึ่งเสี้ยว โดยกลไกอำนาจรัฐเช่นนี้ ได้รับมรดกจากรูปแบบการปกครองอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งมีลักษณะผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมการปกครองรวมศูนย์พร้อมสายบังคับบัญชาแนวดิ่งตามทฤษฏีระบบราชการของ Max Weber กับกลิ่นอายของหลักนิติธรรมและการประกันสิทธิเสรีภาพพลเมืองตามแบบตะวันตก

โดยการปรากฏตัวของวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตยแนวกึ่งอำนาจนิยมเช่นนี้ ได้ทำให้ฮ่องกงมีลักษณะเป็นหน่วยการเมืองที่มีลักษณะย้อนแย้งในตัวเอง (Paradox Polity) อาทิ การพัฒนาการศึกษาตามแบบตะวันตกจนทำให้เยาวชนเริ่มมีหัวคิดที่ก้าวหน้าและค่อนข้างทันสมัย แต่กระนั้น การประท้วงหรือแสดงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองก็มักจะถูกปราบปรามลงโดยกองกำลังตำรวจ ซึ่งเป็นเครื่องมือจัดการรัฐที่ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ยุคอาณานิคม จากกรณีดังกล่าว แม้เยาวชนฮ่องกงจะมีการเรียนรู้แนวคิดประชาธิปไตยหรือวัฒนธรรมการเมืองจากต่างประเทศ หากแต่รัฐบาลเองนั้น ก็มิอาจที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องต่างๆ อันเป็นผลโดยตรงจากโครงสร้างสถาบันการปกครองที่มีลักษณะเป็น "รัฐบริหารแบบข้าราชการประจำ” หรือ "Administocracy” ที่ให้ความสำคัญกับข้าราชการมืออาชีพมากกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง


การรวมตัวประท้วงของนักศึกษาที่ Chinese University of Hong Kong ซึ่งมีบรรยากาศที่อาจคล้ายคลึงบางส่วนกับภาพเคลื่อนไหวที่ลานโพธ์ ของนักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา

ประการที่สอง: หลังจากที่อังกฤษได้โอนเกาะฮ่องกง แหลมเกาลูน และเขต New Territories ไปให้กับจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี ค.ศ.1997 การเมืองฮ่องกงมักถูกแทรกแซงจากระบอบเผด็จการที่ปักกิ่งอย่างต่อเนื่อง โดยถึงแม้ว่าธรรมนูญฮ่องกง ซึ่งเรียกกันว่า "Basic Law” จะกำหนดให้ผู้ว่าการบริหารเกาะ (Chief Executive) และสมาชิกสภานิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งทั่วไป หากแต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลจีนมักมองขีดอำนาจของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Special Administrative Region/SAR) ในฐานะส่วนกระจายที่แตกแขนงออกมาจากการโอนอำนาจของรัฐบาลแผ่นดินใหญ่ ซึ่งก็หมายความว่า การพัฒนาการเมืองในฮ่องกงย่อมขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นตัวตั้ง

จากกรอบคิดดังกล่าว รัฐบาลปักกิ่งจึงมักทำการแผ่อิทธิพลไปยังผู้ว่าการเกาะและสภานิติบัญญัติเพื่อควบคุมพลเมืองมิให้แข็งขืนต่อส่วนกลาง โดยขอบข่ายอำนาจของสถาบันบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการของฮ่องกง มักเปิดช่องให้ปักกิ่งได้ขยับอำนาจเหนือการบริหารฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น หน้าที่ของนายเหลียง เจิ้นอิง ผู้ว่าการคนปัจจุบันที่ต้องส่งรายงานงบประมาณ การจัดเก็บภาษีและแนวนโยบายสาธารณะไปให้กับกลุ่มอำนาจทางฝั่งรัฐบาลกลาง หรือแม้แต่ปริมาณสมาชิกในสภานิติบัญญัติที่เริ่มเต็มไปด้วยกลุ่มนักธุรกิจการเมืองอันมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มทุนจากเสิ่นเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง


สายสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างนายเหลียง เจิ้นอิง กับ อดีตประธานาธิบดีหูจินเท่า โดยนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ฮ่องกงมีผู้ว่าการบริหารที่โดดเด่นอยู่สามท่าน ได้แก่ ตงฉื่อหวา แดเนียล ชาง และ เหลียง เจิ้นอิง โดยนายเหลียงถือเป็นผู้บริหารที่ได้รับการโจมตีต่อต้านจากประชาชนฮ่องกงอยู่ในปัจจุบัน


ทำเนียบรัฐบาลฮ่องกงและบรรดาคณะผู้บริหารระดับสูง

โดยแนวโน้มการครอบงำเหล่านี้ ได้ทำให้ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกง มักมองสายใยอำนาจระหว่างชนชั้นนำจากจีนแผ่นดินใหญ่และชนชั้นนำฮ่องกงสายนิยมปักกิ่งในฐานะตัวกีดกั้นความเจริญก้าวหน้าทางการเมือง ซึ่งทำให้ฮ่องกงยังมิสามารถจะบรรลุวัตถุประสงค์อันยิ่งใหญ่ทางการเมือง ซึ่งนั่นก็คือ การปรับใช้ระบบเลือกตั้งแบบสากลและทั่วถึง (Universal Suffrage) ซึ่งถือเป็นแก่นสำคัญของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

ประการสุดท้าย: ในเชิงยุทธศาสตร์การต่อสู้ แม้พลังแทรกแซงของกลุ่มอำนาจอนุรักษ์นิยมพร้อมด้วยสภาวะย้อนแย้งผกผันในระบอบการเมืองฮ่องกง จะทำให้พลังนักศึกษาและภาคประชาสังคม เช่น สื่อมวลชน และองค์กรพัฒนาสังคมอื่นๆ ขาดการรวมกำลังอย่างมีเอกภาพ หากแต่ความก้าวหน้าของโลกโซเชียลมีเดียและนวัตกรรมการสื่อสารในยุคโลกาภิวัฒน์ ก็กลับทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองสามารถก่อตัวอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถแพร่กระจายไปยังปริมณฑลทางสังคมต่างๆ จนทำให้เกิดแนวรบไซเบอร์ที่สามารถคุกคามสมรรถนะของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งทำให้ตำรวจฮ่องกงจำเป็นต้องเตรียมปฏิรูปส่วนงานด้านความมั่นคงออนไลน์เพื่อรองรับการเคลื่อนไหวของประชาชนที่อาจจะพุ่งสูงขึ้นในอนาคต


อาคารเกาะแก่ภายในมหาวิทยาลัยฮ่องกง (HKU) โดยสถาบันการศึกษาแห่งนี้มักเป็นแหล่งบ่มเพาะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสำคัญ อาทิ ดร.ซุนยัดเซ็น ซึ่งนำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจีนให้เป็นระบอบสาธารณรัฐ โดยถือเป็นศิษย์เก่าด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง หรือ การก่อตัวของสหพันธ์องค์กรนักศึกษาฮ่องกง ซึ่งมีบทบาททางการเมืองตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยแกนนำนักศึกษาส่วนใหญ่ล้วนมาจาก HKU แต่กระนั้น ในปัจจุบัน กลับพบว่าศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเริ่มแตกตัวไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยเฉพาะ Chinese University of Hong Kong หรือ Baptist University of Hong Kong ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นในประเด็นเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสื่อและการเมือง

ส่วนในแง่การชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ กลุ่มแกนนำนักศึกษาได้เลือกใช้ลานภายในมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) เป็นฐานแสดงพลังทางการเมือง ซึ่งแม้จะมีที่ตั้งอยู่ไกลจากเขตศูนย์กลาง หากแต่ก็มีพื้นที่รองรับการรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมได้มากกว่าหรือโดดเด่นกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ในขณะที่ กลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมาก่อนหน้านี้ ต่างก็ยืนยันที่จะสืบสานยุทธวิธีการประท้วงเพื่อยึดกุมย่านเซ็นทรัล (Central) ซึ่งเต็มไปด้วยธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ตลอดจนชุมสายรถรางและรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยแกนนำเชื่อกันว่าการเปิดปฏิบัติการ "Shut Down” ตรงย่านธุรกิจที่อยู่ไม่ไกลจากศูนย์ราชการ ผสมผสานกับการประสานกำลังจากการประท้วงของนักศึกษาจากโซนมหาวิทยาลัยและย่านชุมชนต่างๆ จะทำให้กลุ่มมวลชนสามารถรวมพลังเพื่อกดดันรัฐบาลฮ่องกงให้ยอมรับเงื่อนไขที่เปิดทางไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยสากลที่กว้างขวางมากขึ้น

จากข้อวิเคราะห์ที่กล่าวมาเบื้องต้น จึงน่าคิดต่อว่าการเมืองฮ่องกงจะเคลื่อนตัวไปในแนวทางใด โดยเฉพาะการเผชิญหน้าระหว่างอำนาจรัฐแนวดิ่ง (Vertical Power) กับ อำนาจประชาสังคมแนวระนาบ (Horizontal Power) หรือแม้แต่การปะทะขับหน่วงระหว่างระบอบเสรีนิยมกับระบอบอำนาจนิยม รวมถึง อัตราการรวมอำนาจ-กระจายอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคุณลักษณะเด่นของการวิเคราะห์การเมืองการปกครองฮ่องกงนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 จวบจนถึงปัจจุบัน

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 


หมายเหตุ:

จากการที่ผมได้มีโอกาสสอบถามพูดคุยกับ Professor Dr. Ian Scott ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบเอเชียและฮ่องกง พร้อมด้วยกลุ่มนักศึกษาจาก The University of Hong Kong ได้พบข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่ง นั่นก็คือ สภาวะย้อนแย้งชะงักงันของสังคมการเมืองฮ่องกง ซึ่งมักเต็มไปด้วยการชนกันของหยินหยางหรือขั้วตรงข้ามเสมอ อาทิ ความสับสนของข้าราชการพลเรือนซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ยึดมั่นในวัฒนธรรมองค์กรอำนาจนิยมกับค่านิยมแบบประชาธิปไตย หรือ ประชาชนตามเขตภูมิศาสตร์ต่างๆ เช่นที่ตัวเกาะฮ่องกง คาบสมุทรเกาลูน นิวส์ เทอริเทอรี่ หรือเขตใจกลางย่านธุรกิจกับเขตชายแดนประชิดจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งประชาชนในแต่ละโซน มักมีแนวคิดหรือวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่อาจแตกต่างกันอยู่ในบางประเด็น

ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงกลุ่มนักศึกษาอาจพบว่ากลุ่มนักศึกษาประจำมหาวิทยาลัยฮ่องกง (HKU) มักเต็มไปด้วยบรรดาลูกหลานของชนชั้นกลางหรือพวกชนชั้นสูงที่มีฐานะดี สืบเนื่องจากความเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ (มีอายุมากกว่า 100 ปี) ซึ่งถูกวางรากฐานการศึกษาให้เป็นเหมือนดั่ง "Oxford/Cambridge in the Far East" พร้อมเคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันอับ 1 ของเอเชีย และอยู่ในระดับที่ 20-30 ของโลก ในขณะที่มหาวิทยาลัยระดับกลาง อาทิ City University of Hong Kong อาจพบเห็นโครงสร้างนักศึกษาที่มีรายได้หรือแหล่งรองรับตลาดงานหลังเรียนจบในอัตราส่วนที่ต่ำกว่า โดยรูปลักษณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลต่อวัฒนธรรมและค่านิยมการใช้ชีวิตในสังคมการเมืองที่แตกต่างกันบ้างในหมู่นักศึกษา

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค