Skip to main content

 

เป็นกระแสกระพือกันยกใหญ่ว่า แนวโน้มการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงจะมีจุดจบลงเช่นไร ซึ่งก็มักมีการตั้งคำถามไปที่การต่อสู้ระหว่างพลังนักศึกษากับอำนาจรัฐบาลฮ่องกง หรือระหว่างชาวฮ่องกง (บางส่วน) กับอิทธิพลของรัฐบาลปักกิ่ง กระนั้น อาจมีข้อถกเถียงทางรัฐศาสตร์ที่น่าวิเคราะห์ต่ออีกบางประการ อาทิ

1. วาทกรรม "คนกลุ่มน้อย" "คนกลุ่มใหญ่" มีผลต่อภูมิทัศน์การเมืองฮ่องกงมากน้อยเพียงไร โดยขณะที่ชาวฮ่องกงบางส่วนได้ออกมาประณามกลุ่มนักศึกษาว่าเป็นเพียงแค่คนกลุ่มน้อย ซึ่งต่อให้ระดมแนวร่วมได้มากกว่าหนึ่งแสนราย ก็จะยังมิอาจเทียบเท่ากับชาวฮ่องกงส่วนอื่นๆ ที่มีจำนวนอีก 7-8 ล้านคน รวมถึงชาวจีนแผ่นดินใหญ่อีกเกือบหนึ่งพันสี่ร้อยล้านคน

โดยเทคนิคการต่อสู้ดังกล่าว ถือเป็นการผลิตสูตรอสมมาตร เพื่อทำให้กลุ่มผู้ประท้วงกลายเป็นชนชายขอบของสังคม หากทว่า ชาวฮ่องกงที่มิได้ออกมาร่วมวงประท้วงกับนักศึกษา ก็อาจมีทั้งกลุ่มที่มีความเห็นเป็นกลางทางการเมืองหรือรอจังหวะการแสดงพลังบางอย่าง ซึ่งก็คงเหมารวมแบบหยาบๆ มิได้ว่ากลุ่มผู้ประท้วงจะเป็นคนส่วนน้อยเสียทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าขบคิดคือโครงสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีลักษณะกระจัดกระจาย อย่างเช่น บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ที่อาจจะมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและคัดค้านพฤติกรรมของบุตรหลานตน ซึ่งอาจช่วยขยับให้การทำนายผลการชุมนุมกลับมีความสลับซับซ้อนขึ้นไปอีก ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลปักกิ่งได้พยายามผนวกตัวเลขประชากรจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อเข้ามากดทับดุลประชากรเพียงน้อยนิดของกลุ่มผู้ประท้วง อาจสร้างความหนักใจให้กับฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย จนทำให้เกิดความไขว้เขวในการวางแผนยุทธศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง


ตราประจำเขตอาณานิคมฮ่องกง ที่แสดงความมั่งคั่งทางการค้าผ่านการโลดแล่นของเรือสำเภา หากแต่ก็ต้องถูกประกบคู่ด้วยอิทธิพลของพญาราชสีห์อังกฤษกับอิทธิพลของพญามังกรจีน หากแต่ว่าในยุคอาณานิคม อังกฤษคือรัฐเมืองแม่ที่ยึดกุมหัวใจของชาวฮ่องกงหลายๆ อย่าง แต่อย่างไรเสีย ฮ่องกงกับจีนก็มิสามารถที่จะสะบั้นออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด การคงสัญลักษณ์มังกรทอง จึงบ่งบอกนัยยะหลายประการเกี่ยวกับสายสัมพันธ์และอัตลักษณ์ความเป็นจีนของชาวฮ่องกง


เขตบริหารปกครองฮ่องกง ที่มีทั้งหมด 18 ส่วน ครอบคลุมทั้งเกาะฮ่องกง แหลมเกาลูน นิวเทอริทอรี่และเกาะลันตาอันเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ โดยปัจจุบัน ได้มีความพยายามที่จะอธิบายกันว่าการประท้วงของนักศึกษามีเพียงแค่โซนหมายเลขที่ 15 และ 18 ขณะที่เขตพื้นที่อื่นกลับมีการรวมตัวของนักศึกษาเพียงประปราย หรือ อาจจะเป็นเขตปลอดการประท้วงอย่างสิ้นเชิง โดยจากกรณีดังกล่าว การจัดทำ Political Mapping พร้อมเปรียบเทียบวัฒนธรรมการเมืองตามย่านภูมิศาสตร์ต่างๆ ทั่วเขตบริหารอาจจะช่วยขยับแนวมองเกี่ยวกับภูมิทัศน์การเมืองฮ่องกงได้ลุ่มลึกขึ้น

2. ตกลงสถานภาพของฮ่องกงคืออะไรกันแน่ ระหว่างเขตบริหารพิเศษที่มีอำนาจอิสระอย่างแท้จริงภายใต้นโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ หรือเขตบริหารพิเศษที่ถูกปั้นแต่งให้เพียงแต่มีอำนาจแบบคร่าวๆ โดยกลไกรัฐที่แท้จริงล้วนตกอยู่ใต้อิทธิพลของปักกิ่ง โดยหากตกลงแล้ว ฮ่องกงมีสถานภาพเป็นไปตามประเภทแรก การเรียกร้องต่อสู้จากขั้วตรงข้ามปักกิ่งก็คงมิอาจจะปะทุบานปลายจนกลายเป็นปัญหายกใหญ่ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการประท้วง มีเพียงแค่เรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว หรือมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันไป อย่างเช่น ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ก้าวเข้ามาใช้สิทธิพิเศษจนอาจแย่งพื้นที่หรือคุกคามอัตลักษณ์ของคนฮ่องกงมากขึ้น อาทิ การกันโควต้าผ่านมหาวิทยาลัยของรัฐในฮ่องกง จนทำให้นักศึกษาจีนแผ่นดินใหญ่ เริ่มเข้ามาแย่งงานหรือแย่งที่นั่งการสอบเข้าสถาบันการศึกษาของชาวฮ่องกงมากขึ้น หรือเรื่องการประกอบกิจการเคหะสถานและทำธุรกิจสารพัดชนิดที่เริ่มเห็นคนจีนแผ่นดินใหญ่แผ่อิทธิพลเหนือปริมณฑลทางสังคมในอัตราส่วนที่เข้มข้นขึ้น

นอกจากนั้น มุมมองของปักกิ่งที่ว่าฮ่องกงกับจีนมิสามารถจะสะบั้นจากกันได้อย่างถาวร ก็นับเป็นข้อวิเคราะห์ที่มีนัยสำคัญต่ออิสรภาพและสถานภาพของฮ่องกง อาทิ โลกทัศน์ด้านความมั่นคงของรัฐบาลจีนที่เกรงว่าฮ่องกงคือฐานกระโจนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Springboard) ของรัฐบาลต่างชาติ โดยเฉพาะ การพ่ายสงครามฝิ่นต่อกองทัพอังกฤษโดยช่องทางการกดดันตีหัวเมืองชายฝั่งราชวงศ์ชิง ส่วนหนึ่งแล้วมักเคลื่อนตัวมาจากฮ่องกงและแหลมเกาลูน

ฉะนั้น ฮ่องกงจึงมีความสำคัญต่อบูรณภาพเขตแดนของจีน ประกอบกับการทำสัญญาเช่าเกาะฮ่องกงระหว่างจีนกับอังกฤษ ก็ตั้งอยู่บนข้อตกลงที่ว่า ท้ายที่สุดแล้วอังกฤษมีเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในฮ่องกงเพียง 99 ปี ซึ่งก็ช่วยตอกย้ำให้เห็นว่า อย่างไรเสีย ฮ่องกงกับจีนมิสามารถแยกจากกันได้อย่างเด็ดขาด โดยกรณีดังกล่าว ย่อมช่วยฉายภาพเกี่ยวกับระบบความมั่นคงร่วมระหว่างรัฐบาลกลางปักกิ่งกับรัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกง ซึ่งต้องเกี่ยวโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งแนวมองที่อยู่นอกเหนือจากเรื่องความสำคัญของฮ่องกงในเชิงเศรษฐกิจและการค้า

ท้ายที่สุด คงหวังว่า การตั้งประเด็นคร่าวๆ สองประการ จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นอะไรบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ในระบบการเมืองฮ่องกง โดยอาจมีคำถามเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ที่พอทำให้เราได้มีโลกทัศน์กว้างไกลขึ้นเกี่ยวกับการเมืองเปรียบเทียบเอเชีย อาทิ การนำโครงสร้างการปกครองฮ่องกงไปเปรียบกับดินแดนบริหารราชการส่วนภูมิภาคอื่นๆ ของรัฐจีน ซึ่งประกอบด้วย มณฑล 22 แห่ง มหานคร 4 แห่ง เขตปกครองตนเองสำหรับชนชาติพันธุ์ 5 แห่ง และเขตบริหารพิเศษ อีก 2 แห่ง (ฮ่องกง-มาเก๊า) เพื่อตรวจสอบระดับความเป็นอิสระทางการปกครองของรัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกงกับรัฐบาลประจำภูมิภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งก็อาจเผยให้เห็นถึงความรู้สึกของคนจีนแผ่นดินใหญ่กลุ่มอื่นที่เริ่มตั้งคำถามว่า ทั้งๆ ที่ฮ่องกงปัจจุบันนับว่ามีอิสรภาพมากมายเมื่อเทียบกับดินแดนส่วนอื่นของจีน แล้วนักศึกษาฮ่องกงยังจะต้องการอะไรเพิ่มเติมอีก หรือว่าอาจมีเหตุผลที่อยู่นอกเหนือจากเรื่องประชาธิปไตย (ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของท่านผู้อ่านว่าจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริง หรือ เป็นวาทกรรมเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม หรือ เป็นการผสมผสานทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน)

ลองขบคิดแลกเปลี่ยนกันตามอัธยาศัยครับ

 

ด้วยความเคารพ

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค