Skip to main content

 

 

“ศึกเชียงตุง” ซึ่งอุบัติขึ้นหลักๆ ในปี ค.ศ.1849, 1852 และ 1854 (ในสมัยของรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี) ถือเป็นราชการสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างรัฐจารีตสยามกับรัฐจารีตพม่า รวมถึงเป็นการเปิดแนวรบด้านเหนือสุดเท่าที่กองทัพสยามจะสามารถยาตราทัพไปถึง นอกจากนั้น สงครามเชียงตุงยังเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศและยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศครั้งสำคัญก่อนที่อาณาจักรสยามจะเคลื่อนตัวเข้าสู่สภาวะรัฐชาติสมัยใหม่ในเวลาต่อมา

สำหรับมูลเหตุของสงคราม มักมีการวิเคราะห์ตีความกันไปหลากหลายแนวทาง เช่น หลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 3 ได้ชี้ว่าศึกเชียงตุงเกิดจากการที่ทางกรุงเทพฯ ต้องการยึดครองเมืองเชียงตุงเพื่อใช้เป็นฐานยุทธศาสตร์ในการเข้าตีดินแดนเชียงรุ่ง โดยถือเป็นการช่วยเหลือเหล่าเจ้านายสิบสองปันนาที่หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์สยามอยู่ที่เมืองหลวงพระบางและเมืองหลวงภูคาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองน่าน

แต่ขณะเดียวกัน ก็ปรากฏเหตุผลทางการเมืองอื่นๆ ที่อยู่เบื้องหลังศึกเชียงตุง อาทิ การสำแดงศักดานุภาพของรัชกาลที่ 4 หลังขึ้นเถลิงราชสมบัติพร้อมเตรียมชิงทำศึกในช่วงที่พม่าอ่อนแออันเป็นผลจากการถูกรุกรานจากจักรวรรดินิยมอังกฤษ หรือแม้กระทั่ง วิสัยทัศน์อันแหลมคมทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัชกาลที่ 4 ที่ทรงต้องการขยายอำนาจและกระชับดินแดนในเขตที่ราบสูงระหว่างลุ่มน้ำโขงกับลุ่มน้ำสาละวินเพื่อสร้างแนวปราการป้องกันการรุกรวบเขตแดนจากเจ้าอาณานิคมโดยมีเชียงตุงเป็นฐานปฏิบัติการทางการเมืองการทหาร


แผนผังแสดงโครงสร้างอำนาจในศึกเชียงตุงครั้งที่สาม ซึ่งแสดงการชิ่งกระทบกันของขั้วพลังต่างๆ ในภูมิทัศน์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบน


กรมหลวงวงษาธิราชสนิท แม่ทัพใหญ่สยามในศึกเชียงตุงครั้งที่สองและสาม

ส่วนลักษณะและผลของสงครามนั้น การยุทธ์ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ทางกรุงเทพได้คอยเพียงแต่ส่งเสริมให้กองทัพล้านนาภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้านายสายสกุลราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนทำการเข้าตีเมืองเชียงตุงอย่างเป็นเอกเทศ หากแต่การยุทธ์ที่เหลืออีกสองครั้งในสมัยของรัชกาลที่ 4 ทางกรุงเทพฯได้ระดมไพร่พลขนาดใหญ่ราวสามหมื่นนายทั้งจากหัวเมืองชั้นใน รวมถึงหัวเมืองต่างๆ ในเขตล้านนา พร้อมมีการลำเลียงปืนใหญ่และปืนเล็กคาบศิลาอีกหลายร้อยกระบอก โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิทเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกทัพไปทางเมืองพิษณุโลก-น่าน และมีเจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพหน้า ยกทัพไปทางเมืองกำแพงเพชร-เชียงใหม่

กระนั้น การศึกทั้งสามครั้งล้วนปิดฉากลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝั่งสยาม โดยว่ากันว่า สาเหตุแห่งความปราชัยอาจเกิดจากชัยภูมิอันแข็งแกร่งของเมืองเชียงตุงที่ถูกห้อมล้อมด้วยเขาสูงพร้อมมีการเสริมสร้างเชิงเทินและค่ายคูประตูหอรบอย่างแน่นหนา จนทำให้ทัพข้าศึกถูกซุ่มตีตัดเสบียงหรือถูกจ่อยิงจากป้อมค่ายที่ตั้งอยู่บนภูมิประเทศแบบสูงข่มซึ่งยากแก่การต่อตี ในอีกประการหนึ่ง การประสานเวลาเข้าตีที่ไม่พร้อมเพรียงกันระหว่างทัพหลวงกับทัพหน้า หรือระหว่างทัพสยามกับทัพล้านนาทั้งที่มาจากฝั่งเจ้านครเชียงใหม่หรือเจ้านครน่าน ตลอดจนความคลางแคลงใจในฝีมือการรบของกรมหลวงวงษาธิราชสนิทซึ่งทรงเป็นแต่เพียงแพทย์หลวง หากแต่ได้เข้ามานั่งบัญชาการรบในดินแดนที่ห่างไกลจากประเพณีทำศึกของสยาม ย่อมส่งผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจของเหล่าขุนศึกที่มีต่อแม่ทัพใหญ่

นอกจากนั้น ความมุมานะของกษัตริย์พม่าอย่างพระเจ้ามินดงที่ถูกบีบคั้นทางยุทธศาสตร์จากฝ่ายอังกฤษจนทำให้ต้องทุ่มกำลังป้องกันเมืองเชียงตุงเพื่อรักษาสถานภาพเดิม ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กองทัพพม่าตัดสินใจประสานกำลังร่วมกับทัพท้องถิ่นเชียงตุง พร้อมเกณฑ์บรรดานักรบจากหัวเมืองข้างเคียงเพื่อรับศึกสยามอย่างเต็มกำลังจนสามารถผลักดันอิทธิพลสยามถอยกลับคืนสู่เขตล้านนาดังเดิม


แผนที่เมืองเชียงตุงและกลุ่มหัวเมืองสำคัญต่างๆ (Calcutta: Thacker, Spinch&co., 1918)

จากปฐมบทที่นำแสดงมา ศึกเชียงตุง จึงเป็นมหากาพย์แห่งการยุทธ์ที่คู่ควรแก่การศึกษาวิเคราะห์ พร้อมแฝงเร้นไปด้วยบทเรียนเชิงยุทธศาสตร์อันลุ่มลึก โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

ในมิติทางรัฐศาสตร์และการทหาร ศึกเชียงตุงคือความพยายามที่จะสร้างลำดับชั้นของศูนย์อำนาจแยกย่อยเพื่อที่จะขยายแนวอาณาเขตของสยามให้กว้างขวางและควบคุมเมืองชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยหากพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐสยาม ความเข้มข้นของอำนาจมักมีการกระจุกตัวอยู่ที่เขตแกนกลางทางแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หากแต่ในกลุ่มหัวเมืองที่ห่างไกลออกไปทางภาคเหนือ สยามมักปล่อยให้เจ้านายท้องถิ่นปกครองกันเองอย่างอิสระในฐานะกลุ่มบริวารประเทศราช ซึ่งก็ทำให้รูปลักษณ์ของอาณาจักรสยามเป็นแต่เพียงการจัดช่วงชั้นของโซนสมาพันธรัฐ (Hierarchical Confederation) โดยปราศจากการก่อตัวของศูนย์อำนาจแม่ข่ายที่พอจะควบคุมจัดระเบียบเมืองประเทศราชให้เป็นไปตามความประสงค์ของส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งสวนทางกับรัฐจารีตพม่า ที่มักมีการตั้งค่ายทหารขนาดใหญ่พร้อมส่งขุนนางจากส่วนกลางเข้ามาควบคุมกำกับการบริหารราชการแผ่นดินท้องถิ่น อย่างเช่น ค่ายทหารพม่าที่เมืองนายและเมืองเชียงแสน หรือการส่งขุนนางเข้าไปกำกับดูแลหรือแบ่งปันอำนาจร่วมกันกับเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง จนทำให้พม่าที่แม้จะเริ่มอ่อนแอ หากแต่ก็มีระบบการควบคุมกำลังคนที่รัดกุมและแน่นหนากว่ารัฐสยาม

ในอีกทางหนึ่ง การรักษาดุลอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งภูมิทัศน์ที่อาจยังประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ศึกเชียงตุง โดยเฉพาะบทบาทของมหาอำนาจในระดับโลกและระดับภูมิภาคอย่างจักรวรรดินิยมอังกฤษ รัฐพม่าใต้ราชวงศ์คองบอง รัฐสยามใต้ราชวงศ์จักรี และรัฐจีนใต้ราชวงศ์แมนจู โดยพฤติกรรมอังกฤษที่รุกรวบหัวเมืองตอนใต้ของพม่า ได้ช่วยเร่งจังหวะให้สยามเล็งเห็นความสำคัญของการชิงดินแดนเชียงตุงเพื่อขยายแนวภูมิศาสตร์ในการเตรียมป้องกันข้อพิพาทเขตแดนกับอังกฤษที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หากทว่าการรักษาเมืองเชียงตุงก็ถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายความมั่นคงพม่า โดยหากเสียเมืองเชียงตุงไปให้กับสยาม พม่าคงมิอาจจะฟื้นฟูอิทธิพลเหนือรัฐไทใหญ่อื่นๆ ได้อีก พร้อมอาจเสียจังหวะในการถ่วงดุลกับสยามซึ่งฉวยโอกาสรุกรบขึ้นมาในช่วงที่ร่างกายภูมิศาสตร์ของรัฐพม่าเริ่มมีขนาดหดตัวเล็กลงผ่านการขยายแสนยานุภาพของอังกฤษ

ในขณะที่ทางฝั่งอาณาจักรแมนจู ความอ่อนแอภายในราชวงศ์และความวุ่นวายทางการเมืองในเขตสิบสองปันนา ได้เร่งเร้าให้เกิดสภาวะสูญญากาศที่แพร่สะพัดเข้าไปในระบบการเมืองของเชียงตุงและหลวงพระบาง จนทำให้สยามเล็งเห็นโอกาสที่จะสร้างแนวปริมณฑลประชิดชายแดนจีนผ่านการยึดครองเชียงตุงโดยอาศัยฐานกำลังจากเชียงใหม่ น่าน และหลวงพระบาง

ในทำนองเดียวกัน การเข้ามาโลดแล่นของตัวแสดงและกลุ่มอำนาจต่างๆ ในสมรภูมิรบ กลับส่งผลให้ศึกเชียงตุงกลายเป็นแบบจำลองของกระดานยุทธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ เช่น องค์ประกอบส่วนใหญ่ของทัพสยามที่มีทั้งนักรบจากเขตลุ่มเจ้าพระยา และนักรบจากเขตล้านนาซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มล้านนาตะวันตก อย่างเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และกลุ่มล้านนาตะวันออก เช่น แพร่ น่าน ขณะที่ทางฟากเชียงตุง ก็มีการระดมทัพทั้งที่มาจากเขตท้องถิ่นเชียงตุง หรือทัพไทใหญ่จากเขตเมืองสาด เมืองเลน เมืองลายค่า ฯลฯ ทัพพม่าจากเมืองนายและราชธานีอมรปุระ รวมถึงทัพจรยุทธ์ของพวกยางแดงจากเมืองกันทราวดีตรงเขตป่าเขาสาละวิน

จากกรณีดังกล่าว การแอบแข่งขันช่วงชิงอำนาจกันเองหรือการเล็งเห็นผลประโยชน์ที่แตกต่างกันย่อมส่งผลกระทบต่อท่วงทำนองทางการเมืองหรือแนวปฏิบัติทางการทหารของกลุ่มอำนาจแต่ละฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น อิทธิพลของเมืองน่านที่แผ่ไปถึงเมืองสิงห์ประชิดชายขอบสิบสองปันนาอาจทำให้เจ้าเมืองน่านมีความมุ่งมั่นในทำศึกเชียงตุงเนื่องจากเล็งเห็นถึงผลประโยชน์หรือบำเหน็จรางวัลที่อาจได้รับจากสยาม โดยเฉพาะบทบาทของเมืองน่านในการเมืองหลวงพระบางและสิบสองปันนา

ขณะที่ทางฟากเชียงใหม่ อาจมีความพะวักพะวงในการตีเชียงตุงมากกว่าทางเมืองน่าน โดยผู้ปกครองเชียงใหม่อาจเล็งเห็นผลประโยชน์ในการเทครัวชาวไทใหญ่และไทขืนจากเชียงตุง เพื่อฟื้นฟูสภาวะขาดแคลนประชากรนับตั้งแต่ยุคปลดแอกออกจากพม่าภายใต้การนำของพระเจ้ากาวิละ หากแต่สายสัมพันธ์เชิงอำนาจและเครือญาติที่มีอยู่อย่างยาวนานระหว่างเขมรัฐกับนครพิงค์ รวมถึงความไม่มั่นใจในดุลอำนาจที่แปรเปลี่ยนไปหากสยามชนะศึกเชียงตุง (ซึ่งก็มิแน่ว่าสนามรบท้องถิ่นดังว่านี้ มหาอำนาจภายนอกอย่างสยาม ที่เคลื่อนเข้ามาฮุบดินแดนเอาไปเสียดื้อๆ จะแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับขั้วอำนาจท้องถิ่นอย่างล้านนาตะวันตก ได้อย่างคุ้มค่าซักเพียงไร) ก็อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทัพหัวเมืองเชียงใหม่ขาดความสมจริงและความแข็งขันในการต่อรบด้วยข้าศึก จนเป็นส่วนหนึ่งในความปราชัยของทัพสยามในเวลาต่อมา

นอกเหนือจากข้อสังเกตที่อภิปรายไปเบื้องต้น การนำทฤษฏีทางรัฐศาสตร์และยุทธศาสตร์เข้ามาอธิบายพฤติกรรมการเมืองของตัวแสดงในศึกเชียงตุง ก็นับเป็นความท้าทายที่จะต้องมีการสืบสวนและค้นคว้าวิจัยกันต่อไป เช่น การใช้ทฤษฏีสัจนิยมแนวคลาสสิก (Classical Realism) เข้ามาอธิบายพฤติกรรมการช่วงชิงผลประโยชน์และการธำรงความอยู่รอดของบรรดาอาณาจักรและนครรัฐต่างๆ โดยการสร้างโมเดลแบบกระดานบิลเลียด (โต๊ะสนุกเกอร์) แล้วกำหนดให้ตัวแสดงต่างๆ มีวิถีการดำเนินนโยบายต่างประเทศคล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวของลูกบิลเลียด

โดยการสร้างแรงสะเทือนเชิงนโยบายหรือการส่งออกความปั่นป่วนทางการเมืองของตัวแสดงหนึ่งๆ ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมต่อการขยับโยกของตัวแสดงหรือกลุ่มอำนาจอื่นๆ โดยถ้วนหน้ากัน อาทิ การรุกคืบของอังกฤษที่ส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายของพม่า สยาม และจีน หรือการตัดสินใจเคลื่อนทัพของสยามที่นำมาซึ่งการก่อตัวของระบบกองทัพร่วมระหว่างทัพเชียงตุงกับทัพพม่าและทัพหัวเมืองข้างเคียงเพื่อผนึกกำลังรับศึกสยาม

ขณะเดียวกัน การใช้หลักทฤษฏีสงครามแนวดั้งเดิมของคาร์ล ฟอน เคลาเซวิทซ์ (Carl Von Clausewitz) ในงานวรรณกรรมเรื่อง "On War” เข้ามาวิเคราะห์มูลเหตุและวิถีการทำสงครามในศึกเชียงตุง ทั้งในเชิงของการจัดทำเนียบกำลังรบและแรงจูงใจในการรุก รับ ร่นถอยของกองทหาร หรือแม้กระทั่ง การวิเคราะห์การก่อรูปของระบบพันธมิตรยุทธศาสตร์ผ่านทฤษฏีดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) ที่อธิบายการรวมกลุ่มอำนาจของรัฐต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้รัฐใดรัฐหนึ่งมีอำนาจมากจนเกินไป ก็คงจะเป็นประโยชน์มิใช่น้อยต่อการมองภาพลื่นไหลของพฤติกรรมการเมืองระหว่างประเทศในศึกเชียงตุงซึ่งย่อมเต็มไปด้วยการจับกลุ่มสถาปนาขั้วอำนาจทางทหารเพื่อรักษาหรือคัดคานอิทธิพลซึ่งกันและกัน

ในอีกมิติหนึ่ง การนำคำอธิบายเกี่ยวกับระบบสมาพันธรัฐ (Confederation) เข้ามาอธิบายโครงสร้างการเมืองในเขตเอเชียอาคเนย์ตอนบน ก็นับเป็นเทคนิคการวิเคราะห์ที่อาจสร้างสีสันให้กับพลวัตรของศึกเชียงตุง โดยเฉพาะรัฐจารีตสิบสองปันนาที่เกิดจากการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของรัฐไทลื้อโดยมีเชียงรุ่งเป็นศูนย์กลาง หากแต่ความอยู่รอดของโครงสร้างการเมืองเช่นนี้ มักจะขึ้นอยู่กับการประสานความสามัคคีในหมู่เจ้าผู้ครองนครเพื่อผลิตนโยบายต่างประเทศร่วมที่สะท้อนให้เห็นถึงการประนีประนอมเชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างบรรดารัฐสมาชิกภายในสมาพันธ์ กระนั้น ความยุ่งเหยิงและการยื้อแย่งเขตอิทธิพลในหมู่สมาชิก ก็มักบั่นทอนเอกภาพการรวมกลุ่มรวมถึงสร้างแรงกระเพื่อมต่อระบบความมั่นคงในอนุภูมิภาคข้างเคียง โดยเฉพาะเมืองเชียงตุงที่มีที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่ไม่ไกลจากเขตสิบสองปันนา

นอกจากนั้น การหาระดับความเข้มข้นของสมาพันธรัฐโดยนำกลุ่มรัฐไทใหญ่-ไทขืน-ไทลื้อ-ไทยวน ทั้งทางแถบหัวเมืองเชียงตุง ล้านนา ล้านช้าง และสิบสองปันนา เข้ามาเปรียบเทียบกัน พร้อมขยับแนวมองไปสู่เครือข่ายนครรัฐท้องถิ่นระดับโลกอื่นๆ เช่น สมาพันธรัฐเดลอส (Delian League) ซึ่งเป็นการรวมตัวแบบหลวมๆ เพื่อรับศึกเปอร์เซียของกรุงเอเธนส์และนครรัฐทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรกรีก ก็อาจเป็นเทคนิคที่ช่วยเผยให้เห็นถึงภาพภูมิทัศน์สงครามเชียงตุงผ่านแนววิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบได้อย่างลุ่มลึกและรอบด้านมากขึ้น

ท้ายที่สุด คงหวังว่า ศึกเชียงตุง คงจะเป็นแบบเรียนอันทรงคุณค่าสำหรับผู้ที่สนใจใฝ่รู้ทางด้านรัฐศาสตร์ ยุทธศาสตร์และประวัติศาสตร์สงคราม โดยการยุทธ์ที่เมืองเชียงตุง อาจมิได้มีแต่เพียงคุณประโยชน์ในเรื่องการวิเคราะห์เชิงทฤษฏีหรือการขุดค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หากแต่มรดกตกทอดของการรณรงค์สงครามในครั้งนี้ ยังส่งผ่านมาถึงระบบความคิดและแนวทางการกำหนดนโยบายป้องกันประเทศของนักยุทธศาสตร์ในเวลาต่อมา

ดังเห็นได้จาก การหวนกลับมายึดครองเชียงตุงของกองทัพพายัพในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พร้อมสร้างเขตปกครองใหม่ที่เรียกว่า "สหรัฐไทยเดิม” หรือการจัดโครงสร้างกำลังรบของกองทัพภาคที่สามของไทยที่สร้างสายบังคับบัญชาอันเหนียวแน่นผ่านการก่อตัวของค่ายทหารเป็นจำนวนมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และน่าน เพื่อสร้างกลไกการควบคุมดินแดนล้านนาที่ทรงพลังมากกว่าในอดีต พร้อมเคยมีแผนวิสัยทัศน์สงครามที่มุ่งเปิดปฏิบัติการทหารที่รุกรบเข้าไปในพื้นที่ข้าศึกซึ่งกินลึกไปถึงเมืองท่าขี้เหล็กและเมืองเชียงตุง

ขณะที่ทางฟากพม่านั้น เชียงตุง ณ ปัจจุบัน คือ ที่ตั้งของกองทัพภาคสามเหลี่ยมซึ่งเป็นดินแดนหัวใจสำหรับการรักษาความสงบตรงพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำสาละวิน โดยอดีตแม่ทัพพม่าผู้เคยนั่งบัญชาการเมืองเชียงตุง ได้แก่ นายพลเต็งเซ่ง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเมียนมาร์

ส่วนทางฟากกลุ่มนักปฏิวัติการเมืองของชนชาติพันธุ์ไทใหญ่ อย่างเช่น กลุ่มสภากอบกู้รัฐฉานของพลโทเจ้ายอดศึก เชียงตุงคือเมืองในอุดมการณ์ที่เคยถูกหมายมั่นให้เป็นศูนย์อำนาจแห่งใหม่หลังการฟื้นฟูรัฐฉานออกจากอำนาจพม่า โดยแม้ฝั่งขบวนการกู้ชาติไทใหญ่จะหันมาเจรจาสงบศึกกับทางการพม่าในปัจจุบัน ทว่าภาพการเข้าเมืองเชียงตุงเพื่อพบปะประชาชนของเจ้ายอดศึกเมื่อราวๆ หนึ่งปีที่ผ่าน ก็คงบ่งบอกถึงนัยยะสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเมืองเชียงตุง ได้ไม่มากก็น้อย

ฉะนั้นแล้ว การผ่าบทวิเคราะห์ว่าด้วยศึกเชียงตุง ย่อมสร้างผลประโยชน์อย่างล้ำลึกต่อการสะกดรอยวิถีการเมืองและความมั่นคงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามเสาหลักที่มีผลต่อวิวัฒนาการประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้


ดุลยภาค ปรีชารัชช
อุษาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


แหล่งอ้างอิง

เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพ: อัมรินทร์พริ้นติ้ง, 2538.

สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพ: อมรินร์พริ้นติ้ง, 2538.

John Sterling Forssen Smith. The Chiang Tung Wars: War and Politics in Mid-19th Century Siam and Burma. Bangkok: Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University, 2013.

Robert Lieber. Theory and World Politics. Cambridge, Mass: Winthrop, 1972.

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร