คำว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “Southeast Asia” จัดว่ามีความหมายที่หลากหลายตามแต่ความรู้ความเข้าใจของผู้สันทัดกรณีในแต่ละศาสตร์
โดยทางภูมิศาสตร์ หมายถึง ดินแดนที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียซึ่งมีสัณฐานคล้ายคลึงกับรูปสามเหลี่ยม เริ่มจากพื้นที่ทางตอนใต้ของจีนตัดตรงไปยังชายฝั่งตอนเหนือของออสเตรเลีย จากนั้นจึงเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ตอนใต้ของอินเดีย แล้วจึงวกกลับไปยังตอนใต้ของจีน จากสภาพภูมิลักษณ์ดังกล่าว อาณาบริเวณที่อยู่ภายในดินแดนสามเหลี่ยม ซึ่งประกอบด้วย เขตภาคพื้นทวีปซึ่งอยู่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก รวมถึงเขตหมู่เกาะอินโดนีเซียและหมู่เกาะฟิลิปปินส์ คือดินแดนที่เรียกโดยรวมว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางบริเวณภายในพื้นที่ดังกล่าวที่ถือว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เกาะไหหลำ ปาปัวนิวกินี ศรีลังกาและบังคลาเทศ ซึ่งในทางเขตแดนและวัฒนธรรม ถือเป็นส่วนหนึ่งของจีน ออสเตรเลีย-โอเชียเนีย และ เอเชียใต้ ตามลำดับ
สำหรับในแวดวงรัฐศาสตร์ คำว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หมายถึง พื้นที่ทางการเมืองซึ่งประกอบด้วยรัฐต่างๆ จำนวน 11 รัฐ ได้แก่ เมียนมาร์ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาราม และติมอร์ตะวันออก โดยแต่ละรัฐล้วนมีพัฒนาการทางการเมืองและรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกันออกไป อาทิ ระบอบคอมมิวนิสต์ในลาวและเวียดนาม ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ หรือแม้กระทั่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในบรูไน
ส่วนในทางการเมืองระหว่างประเทศ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ถือเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “อาเซียน (ASEAN) หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งถูกสถาปนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1967 โดยมีลักษณะเป็นการรวมกลุ่มภายในภูมิภาคซึ่งประกอบด้วยรัฐต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนทั้งสิ้น 10 รัฐ ยกเว้นติมอร์ตะวันออกซึ่งอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์และยังไม่ได้รับการตอบรับให้เป็นสมาชิกถาวรของอาเซียน
สำหรับในแวดวงเศรษฐศาสตร์และการลงทุน คำว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หมายถึง พื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ในโซนมรสุมเขตร้อน (Monsoon) และประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันหลากหลาย อาทิ ผลผลิตทางการเกษตร ป่าไม้ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและสินแร่นานาชนิด โดยอาณาบริเวณดังกล่าวมักเต็มไปด้วยรูปแบบโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะตัว อาทิ สังคมนิยมในเวียดนาม ลาวและเมียนมาร์ในช่วงสงครามเย็น หรือ ทุนนิยมในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนิเซีย และฟิลิปปินส์
ส่วนในแง่ศิลปวัฒนธรรม “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มักหมายถึงดินแดนที่อยู่ระหว่างอู่อารยธรรมอันเก่าแก่ของโลก ซึ่งได้แก่ อารยธรรมอินเดียและอารยธรรมจีน ขณะเดียวกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังจัดเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์วรรณา ยกตัวอย่างเช่น ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทในเมียนมาร์ ไทย ลาวและกัมพูชา ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในฟิลิปปินส์และติมอร์ตะวันออก ศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ในมาเลเซีย บรูไนและอินโดนิเซีย ตลอดจนความรุ่งเรืองทางอารยธรรมของเมืองพุกาม(พม่า) พระนคร(กัมพูชา) และเกาะชวา(อินโดนิเซีย) หรือแม้แต่ ความสลับซับซ้อนทางชาติพันธุ์ในพม่า อินโดนิเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นอาทิ
จากสภาวะแวดล้อมดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จัดเป็นคำที่มีความหมายหลากหลายในตัวเองซึ่งก็ขึ้นอยู่กับบริบท สภาพเงื่อนไข และการให้นิยามในแวดวงวิชาการ รวมถึงความรับรู้และความเข้าใจส่วนบุคคล
สำหรับจุดกำเนิดและพัฒนาการของคำว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” พบว่า ก่อนหน้าที่จะมีการใช้คำดังกล่าว ดินแดนแถบนี้เคยมีชื่อเรียกเป็นหน่วยภูมิศาสตร์แบบโบราณมาก่อน เช่น ชาวกรีกและโรมัน เคยเรียกขานแนวคาบสมุทรและหมู่เกาะซึ่งกั้นกลางระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ว่า “Chryse Chersonesos” ซึ่งมีปรากฏอยู่ในแผนที่โลกของปโตเลมี ส่วนชาวจีนนั้นเรียกดินแดนแถบนี้ว่า “นานยาง (Nanyang)” ขณะที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “นานโย (Nan Yo)” โดยทั้งสองคำล้วนมีความหมายอย่างเดียวกัน คือ อาณาเขตแห่งทะเลใต้ ส่วนวรรณกรรมอินเดียโบราณก็มีคำที่หมายถึงดินแดนแถบนี้เช่นกัน คือคำว่า “สุวรรณภูมิ หรือ สุวรรณทวีป (Savarnadvipa)” ซึ่งครอบคลุมอาณาบริเวณแถบพม่าตอนล่างและตอนกลางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่พ่อค้าชาวอาหรับก็เรียกขานดินแดนแถบนี้ว่า “Qumr หรือ Waq-Waq” ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่หมู่เกาะซีลีเบส (มากัสซาร์) จนถึงน่านน้ำญี่ปุ่น
ครั้นเมื่อมาถึงยุคที่มหาอำนาจตะวันตกเริ่มแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ก็เริ่มปรากฏคำเกี่ยวกับดินแดนแถบนี้เป็นจำนวนมาก อาทิ “อินเดียไกล (Further India)” ซึ่งหมายถึงดินแดนที่ไกลออกไปจากอินเดียเพียงเล็กน้อย หรือคำว่า “จีนน้อย (Little China)” ซึ่งหมายถึง ดินแดนที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีนหรือแม้กระทั่งคำว่า “อินโดจีน (Indo-China)” ก็ถูกบัญญัติขึ้นมาตามลักษณะการรับอิทธิพลทั้งจากอารยธรรมอินเดียและจีน
ต่อมาเมื่อลัทธิล่าอาณานิคมและอำนาจของชาติยุโรปเริ่มลงหลักปักฐานในดินแดนแถบนี้อย่างมั่นคง จึงเริ่มปรากฏชื่อเรียกขานอาณาบริเวณต่างๆ ตามแต่ผลประโยชน์และขอบเขตการปกครองของเจ้าอาณานิคม อาทิ “พม่าของอังกฤษ (British Burma)” “มลายูของอังกฤษ (British Malaya)” “อินโดจีนของฝรั่งเศส (French Indochina)” “หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอแลนด์ (Dutch East Indies)” และ “ฟิลิปปินส์ของสเปน (Spanish Philippines)” เป็นต้น
จนเมื่อมาถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ.1939-ค.ศ.1945) คำว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ได้เริ่มปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการโดยในช่วงเวลาดังกล่าวกองทัพญี่ปุ่นได้ยกทัพเข้ารุกรานดินแดนแถบนี้ ตลอดจนเข้ายึดครองอาณานิคมที่เคยตกอยู่ใต้อาณัติของชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยการรุกรบอย่างต่อเนื่องของกองทหารญี่ปุ่น ได้สร้างแรงบีบคั้นทางยุทธศาสตร์อย่างรุนแรง จนส่งผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรถอนกำลังออกจากดินแดนดังกล่าว แล้วหันมาสถาปนาศูนย์บัญชาการรบแห่งใหม่เพื่อควบคุมอำนวยการยุทธ์และกำหนดยุทธบริเวณในการสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่น โดยกองบัญชาการดังกล่าวมีชื่อว่า “South-East Asia Command” หรือ “กองทัพภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะลังกาและอยู่ภายใต้การนำของ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตตัน แม่ทัพสัมพันธมิตรผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับญี่ปุ่น
จากบริบทดังกล่าว คำว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้แรงบีบคั้นยุทธศาสตร์และการสัประยุทธ์ทางการทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
หลังการสิ้นสุดของสงครามมหาเอเชียบูรพา คำว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ได้ถูกนำมาปรับใช้ในแวดวงวิชาการของโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์และการเมือง ซึ่งมีปรากฏในงานวรรณกรรมของนักวิชาการหลายท่าน อาทิ หนังสือเล่มคลาสสิกเรื่อง A History of South-East Asia (ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1955) ของท่านอาจารย์ D.G.E. Hall ปรมาจารย์ชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และหนังสือเรื่อง Government and Politics of Southeast Asia (ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1959) ของท่านอาจารย์ George Mct. Kahin ปรมาจารย์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์
โดยจากหนังสือทั้งสองเล่ม เป็นที่น่าสังเกตว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในโลกทรรศน์ของชาวตะวันตกจัดว่ามีรูปแบบการสะกดที่หลากหลาย อาทิ “South-East Asia” และ “South East Asia”(เขียนแบบอังกฤษ) “Southeast Asia (เขียนแบบอเมริกัน)” ตลอดจนรูปแบบการเขียนอื่นๆ อีกมากมาย จากสภาพเงื่อนไขดังกล่าว การสะกดคำว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในสังคมของโลกตะวันตกจึงแฝงไปด้วยนัยยะและยังหาข้อสรุปที่แน่นอนตายตัวไม่ได้
สำหรับประเทศไทยนั้น คำดังกล่าว ถือเป็นศัพท์ที่พึ่งถูกบัญญัติขึ้นมาใหม่และมีรูปแบบการใช้ที่หลากหลายเช่นกัน ซึ่งมีทั้งคำว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” “เอเชียอาคเนย์” และ “อุษาคเนย์” ที่เป็นคำสมาสระหว่าง “อุษา” ที่แปลว่ารุ่งเช้า กับ “อาคเนย์” ที่แปลว่าทิศตะวันออกเฉียงใต้
จากการนำเสนอในเบื้องต้น อาจกล่าวได้ว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จัดเป็นภูมิภาคที่เติมไปด้วยมนต์เสน่ห์และคู่ควรแก่การศึกษา แม้แต่ชื่อเรียกขานก็มีการตีความและให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไป จนกล่าวได้ว่า "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" คือศัพท์พื้นฐานที่สังคมไทยควรหันมาทบทวนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่ยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีกันอย่างจริงจัง
ดุลยภาค ปรีชารัชช
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมายเหตุ: บทความนี้ตัดตอนและเรียบเรียงจาก "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา: วิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลง" โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช ตีพิมพ์ลงในวารสารศิลปศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปีที่ 11 ฉบับที่ 2, 2554)
รายการอ้างอิงเพิ่มเติม
Hall, D.G.E. (1981). A History of South-East Asia. London: Macmillan.
McCloud, D. G. (1995). Southeast Asia: Tradition and Modernity in the Contemporary World. Colorado: Westview Press.
Osborne, M. (1997). Southeast Asia: An Introductory History. Bangkok: Silkworm Books.
Reid, A. (ed.) (2003). Southeast Asian Studies: Pacific Perspectives. Program for Southeast Asian Studies Monograph Series. Temple, Arizona: Program for Southeast Asian Studies.