Skip to main content

 

 

ใต้ภารกิจการเยือนประเทศกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 30-31 ตุลาคม 2557 ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยว อาจมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงทางทหาร โดยมีจุดที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ในเชิงภูมิหลังของผู้นำ ประยุทธ์มีประสบการณ์คลุกคลีอยู่กับสนามชายแดนกัมพูชาผ่านขุมอำนาจบูรพาพยัคฆ์และสายรบในส่วนของค่ายพรหมโยธีและกองกำลังบูรพา รวมถึงได้เห็นพฤติกรรมระหว่างประเทศของกัมพูชาทั้งในส่วนของความร่วมมือนับแต่ยุคเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าหรือความขัดแย้ง โดยเฉพาะการพัฒนากำลังรบของกัมพูชาเพื่อเผชิญหน้ากับทหารไทยในกรณีปราสาทพระวิหาร ฉะนั้น ในสายตาของประยุทธ์ กัมพูชาจึงเป็นรัฐที่มีคุณลักษณะทั้งมิตรและศัตรู รวมถึงเป็นรัฐที่มีความยอกย้อนในเชิงการทูตระหว่างประเทศ

ส่วนทางฟากฮุนเซ็นนั้น แม้จะเป็นผู้นำที่เจนจัดทางการทูตและมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับตระกูลชินวัตร แต่เขาก็ได้จับตามองการขึ้นสู่อำนาจของประยุทธ์มานานพอสมควร โดยเฉพาะฐานอำนาจการเมืองของประยุทธ์ที่เติบโตมาจากสนามชายแดนกัมพูชา ซึ่งทำให้ประยุทธ์กลายเป็นตัวแปรที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชายแดนของสมเด็จฮุนเซ็น ขณะเดียวกัน การรบกับทหารไทยที่ศึกปราสาทพระวิหาร พร้อมการพัฒนาจรวดขีปนาวุธของกองทัพไทย (เมื่อครั้งพลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.) ซึ่งมีวิถีการยิงที่ไกลกว่าจรวด BM 21 ของกองทัพกัมพูชา บวกกับความหวาดระแวงของผู้นำทหารไทยเกี่ยวกับการตั้งคลังยุทธศาสตร์ของกองทัพเขมรที่เกาะกง ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในอนาคตอันใกล้

2. ในเชิงการเมืองและการต่างประเทศ สิ่งที่เรียกกันว่า "Factional Politics" หรือการเมืองที่เต็มไปด้วยการแบ่งค่ายของกลุ่มขั้วอำนาจ ได้กลายมาเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประดิษฐ์นโยบายต่างประเทศของกัมพูชาที่มีต่อไทย นับแต่ยุคสังคมราษฏ์นิยมของเจ้าสีหนุ (เมื่อช่วงทศวรรษ 1950) จวบจนปัจจุบัน โดยโครงข่ายอำนาจที่เต็มไปด้วยกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มพลังสังคมจำนวนมาก ได้ทำให้กัมพูชามักผลิตนโยบายต่างประเทศที่เต็มไปด้วยความพลิ้วไหวพลิกแพลงทางการทูต หรืออาจเป็นการแสดงท่าทีต่อฝ่ายไทยผ่านตัวแสดงทางการทูตอันซับซ้อน ซึ่งแม้ฮุนเซ็นจะมีอำนาจเกือบเบ็ดเสร็จในการผลิตนโยบาย หากแต่การแตกขั้วของมุ้งการเมืองในพรรค CPP (Cambodian People's Party) รวมถึงบทบาทระหว่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้นของนายสมรังสี และภาคประชาสังคมกัมพูชา ก็ช่วยตอกย้ำให้เห็นว่ามิติความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา อาจมิได้มีแต่เพียงการประชุมระหว่างประยุทธ์กับฮุนเซ็นเพียงอย่างเดียว แต่อาจครอบคลุมไปถึงกลุ่มอำนาจและตัวแสดงที่มิใช่รัฐในหลากหลายองค์กร

กระนั้น จุดที่น่าขบคิด คือ โครงสร้างการเมืองไทยปัจจุบัน ที่กลับค่อยๆ วิวัฒนาการไปสู่สิ่งที่เรียกกันว่า 'Factional Politics' ซึ่งคงมิต่างอะไรนักหากนำไปเทียบกับกัมพูชา ทั้งในส่วนของการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง และขบวนการชาตินิยม-ประชานิยมหลากสีสัน ฉะนั้น การบรรจบกันของการเมืองแบบพหุค่ายของรัฐไทยและกัมพูชา จึงอาจทำให้เกิดการเพิ่มขนาดกิจกรรมทางการทูต (ทั้งในแบบทางการและไม่เป็นทางการ) ของกลุ่มสังคมการเมืองต่างๆ จนท้ายที่สุด การจัดทำนโยบายต่างประเทศหรือการพัฒนาความร่วมมือชายแดน อาจมีลักษณะคลุมเครือพร่ามัวอันเป็นผลจากการเข้ามาโลดแล่นของตัวแสดงทางการเมืองอันหลากหลาย

3. ในมิติเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ รัฐบาลฮุนเซ็นได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาสี่เหลี่ยม หรือ 'จัตุโกณ' ซึ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน ความเท่าเทียม และประสิทธิภาพของรัฐบาล พร้อมวางให้ภูมิภาคกัมพูชาตะวันตก อย่าง บันเตียเมียนเจย พระตะบอง และไพลิน กลายเป็นฐานเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม ที่เชื่อมโยงกับจังหวัดฝั่งไทยอย่างสระแก้ว จันทบุรี ตราด โดยเสถียรภาพของอำนาจฮุนเซ็น ย่อมขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการดำเนินยุทธศาสตร์จัตุโกณ ที่ส่วนหนึ่งถูกวางให้เชื่อมโยงกับไทยในทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์อย่างแน่นแฟ้น ส่วนทางฟากนายกประยุทธ์เองนั้น การครองอำนาจที่มั่นคงของ คสช. ส่วนหนึ่งอาจขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายเออีซีและการพัฒนาเศรษฐกิจตรงชายแดนกัมพูชา ซึ่งทำให้ ท้ายที่สุดทั้งประยุทธ์และฮุนเซ็น อาจต้องหันมาพึ่งพากันในบางระดับเพื่อพยุงความสัมพันธ์และรักษาฐานอำนาจให้มั่นคงสืบไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจอาจอยู่ตรงที่อิทธิพลของจีนและสหรัฐที่มีต่อความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เช่น การแผ่อำนาจลงใต้ของจีนโดยมีไทย-พม่า-กัมพูชา เป็นฐานยุทธศาสตร์สำคัญ ขณะที่สหรัฐ การริเริ่มพัฒนากรอบความร่วมมือในเขตแม่น้ำโขงตอนล่างอย่างกัมพูชา-เวียดนาม ก็นับเป็นฐานกระโจนที่ส่งผลกระทบต่อดุลอำนาจในอินโดจีน รวมถึงทิศทางการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยและกัมพูชา ขณะเดียวกัน แม้ไทย-จีน-กัมพูชา จะเริ่มมีการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน หากแต่การแข่งขันเชิงการตลาด เช่น การส่งออกสินค้าจีนเพื่อแข่งขันกับสินค้าไทยในกัมพูชา อาจกลายเป็นประเด็นท้าทายที่มีนัยสำคัญต่อการกระชับความร่วมมือแบบพหุภาคี

ท้ายที่สุด อาจกล่าวได้ว่า แม้ภารกิจนายกประยุทธ์เยือนกัมพูชา จะกลายเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากแต่ฉากทัศน์ข้างหน้าอาจเต็มไปด้วยความเปราะบางทางการเมืองความมั่นคงที่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวางสมดุลของกลุ่มอำนาจ คสช. ระหว่างยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศกับยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยสนามชายแดนกัมพูชาถือเป็นจุดท้าทายที่คอยทดสอบว่าชนชั้นนำทหารไทย-กัมพูชา จะสลัดทิ้งความหวาดระแวงในอดีตเพื่อหันมาสถาปนาความร่วมมือกันอย่างจริงใจได้มากน้อยเพียงไร

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

ปล. ภารกิจของนายกประยุทธ์ที่ต้องเข้าเฝ้าพระบาทนโรดมสีหมุนี พร้อมเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว ณ กรุงพนมเปญ คงจะช่วยสะท้อนภาพการทูตเชิงวัฒนธรรม ที่ชี้ชวนให้คณะผู้นำไทยได้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันของสถาปัตยกรรม คำราชาศัพท์ หรือภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเรียมเกร์ (รามเกียรติ์) ซึ่งทำให้ทั้งไทยและเขมร เป็นเพื่อนบ้านที่มิสามารถแยกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

แต่กระนั้น ประสบการณ์ที่ขมขื่นของคนกัมพูชาในอดีต ก็เป็นเรื่องที่ คสช. ต้องพึงระวังและศึกษาข้อมูลเชิงลึกให้ถ้วนทั่ว เช่น ประวัติศาสตร์การทรมานแรงงานเขมรทั้งโดยคณะผู้ปกครองภายใน อย่าง รัฐบาลเขมรแดง หรือ คณะผู้ปกครองต่างชาติ อย่างเวียดนาม ซึ่งคงมิใช่เรื่องแปลก ที่ความทรงจำอันเลวร้ายเช่นนี้ จะมีผลต่อความรู้สึกและพฤติกรรมตื่นข่าวลือของกลุ่มแรงงานเขมรในไทย (เกี่ยวกับการถูกกวาดล้างจัดระเบียบจาก คสช) จนทำให้คนเขมรแอบหลบหนีเดินทางกลับประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นปัจจัยเชิงจิตวิทยาที่มีผลต่อการเจรจาเรื่องการจัดระเบียบแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาในปัจจุบัน

หมายเหตุ: บทความนี้ ผู้เขียนของดที่จะกล่าวถึงประเด็นเรื่องข้อพิพาทเขตแดน เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดในการเขียน รวมถึงเป็นประเด็นถกเถียงที่มีความซับซ้อนและมีผู้เชี่ยวชาญกล่าวไว้แล้วเป็นจำนวนมาก

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค