Skip to main content

 

 

เมื่อเอ่ยถึงเรื่องราววีรบุรุษ-วีรสตรี ในหน้าประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย-อุษาคเนย์ คอวรรณกรรมและบรรดานักเลงประวัติศาสตร์ อาจจะนึกถึงหนังสือเล่มคลาสสิก อย่าง 'บุเรงนอง (กะยอดินนรธา) กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย' และ 'พระสุพรรณกัลยา จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์' ผลงานประพันธ์ของสุเนตร ชุตินธรานนท์ หรือ 'การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช' ของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์

สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหาธรรมราชานั้น จัดว่ามีความย้อนแย้งคลุมเครือและเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในแวดวงวิชาการ ทั้งในมิติของสัมพันธภาพเชิงอำนาจระหว่างอยุธยา-พิษณุโลก-หงสาวดี (ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงฐานะรัฐชาติของไทย-พม่า) รวมถึงการฉายภาพตัวแทนของพระมหาธรรมราชา ซึ่งอาจมีลักษณะลักลั่นระหว่างวีรชนกับผู้ร้ายในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ต่อข้อกรณีดังกล่าว หนังสือเรื่อง 'ภาพตัวแทนของพระมหาธรรมราชาในวรรณกรรมไทย' ของวันชนะ ทองคำเภา กัลยาณมิตรและอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2554) อาจไขข้อข้องใจให้กับท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะการเปิดแนววิเคราะห์ใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองที่โลดแล่นอยู่ในโลกวรรณกรรมไทย-อุษาคเนย์

จากบทพรรณนาหนังสือที่รวบรวมโดยศูนย์หนังสือจุฬา ได้กล่าวยกย่องงานประพันธ์ของวันชนะ โดยมีรายละเอียดดังนี้

"สมเด็จพระมหาธรรมราชาเป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริง และมีบทบาทสำคัญในการเมืองกรุงศรีอยุธยา วรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 หลายเรื่องได้นำเสนอตัวละครสมเด็จพระมหาธรรมราชาให้แตกต่างกันออกไปอย่างหลากหลาย ถึงขั้นว่าบทบาทตอนเดียวกันของพระองค์ถูกนำเสนอให้เป็นบทบาทของผู้ร้ายในวรรณกรรมเรื่องหนึ่ง แต่กลับได้รับการนำเสนอให้เป็นวีรบุรุษในวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่ง"

"งานวิจัยเรื่องนี้ประยุกต์ทฤษฎีและความรู้จากสหสาขามาอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้แก่ทฤษฎีวรรณกรรม ทฤษฎีประวัติศาสตร์ ทฤษฎีวัฒนธรรม และทฤษฎีรัฐศาสตร์ การประยุกต์ใช้ทฤษฎีจากหลากหลายสาขาวิชาทำให้ได้ผลการวิจัยที่มิใช่คำตอบที่ได้แต่เพียงในระดับของวิธีการสร้างงานวรรณกรรม แต่ครอบคลุมลึกซึ้งถึงบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมของงานประพันธ์ด้วย"

"งานวิจัยเรื่องนี้ จึงพิสูจน์ให้เห็นว่าวรรณคดีไม่ใช่งานศิลปะที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างอิสระแต่เป็นประดิษฐการทางวัฒนธรรมที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสังคมและชาติอันเป็นการเปิดประเด็นให้มีการศึกษาวรรณคดีด้วยองค์ความรู้อื่นๆ เพิ่มขึ้น นอกจากองค์ความรู้ด้านวรรณคดีซึ่งสามารถตอบคำถามของการวิจัยได้เพียงประเด็นเรื่องกลวิธีทางวรรณศิลป์แต่เพียงประเด็นเดียว"

นอกจากนั้น เอกสารจุฬาสัมพันธ์ ปีที่ 52 ฉบับที่ 20 วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2552 ยังได้กล่าวถึงงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของวันชนะ ก่อนที่จะตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเรื่องพระมหาธรรมราชาเล่มดังกล่าว โดยกล่าวเอาไว้ว่า

"....กลวิธีการเล่าเรื่องเป็นเครื่องมือที่ใช้นำเสนอตัวละครสมเด็จพระมหาธรรมราชาในวรรณกรรมแต่ละเรื่อง ให้แตกต่างกัน นับตั้งแต่การสร้างโครงเรื่องเพื่อนำเสนอแก่นเรื่อง กลวิธีการสร้างตัวละคร การเลือกใช้ ผู้เล่าและมุมมองของการเล่าเรื่องที่ต่างกันไป จนถึงการใช้ฉากในฐานะพื้นที่ของการเล่าเรื่อง นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยภายนอกตัวบทวรรณกรรมทางด้าน การเมือง สังคม และวัฒนธรรมได้เข้ามากำกับภาพตัวแทนของสมเด็จพระมหาธรรมราชาในวรรณกรรมแต่ละเรื่องให้แตกต่างกัน ไปด้วย ได้แก่ วาทกรรมชาตินิยม มโนทัศน์เรื่องวีรบุรุษ องค์ความรู้และทรรศนะต่อชนชาติพม่า วาทกรรมการเมืองในวิกฤตการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 วาทกรรมประวัติศาสตร์กระแสรอง และมโนทัศน์เรื่องพ่อของแผ่นดิน"

"ข้อค้นพบดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ภาพของสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ปรากฏในวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ไทยที่นำมาศึกษานั้น ไม่ใช่ภาพสะท้อนที่เที่ยงตรงของสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ แต่กลับถูกสร้างขึ้นด้วยกลวิธีทาง การประพันธ์ที่ซับซ้อน ในมิติทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ข้อค้นพบดังกล่าวช่วยยืนยันว่าการศึกษา วรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์นั้นไม่อาจทำให้สมบูรณ์ได้ด้วยการใช้ตัวบทเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ควร ศึกษาอย่างรอบด้านโดยพิจารณาถึงมิติทางการประพันธ์และบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมของยุคสมัยที่ประพันธ์ด้วย"

จากบทพรรณนาที่นำแสดงมา จึงหวังว่า ผลงานของ อ.วันชนะ ทองคำเภา คงจะช่วยไขข้อข้องใจให้คนไทยได้หันมาทบทวนซึมซับตัวตนของพระมหาธรรมราชาแบบทะลุหลังม่านหมอก พร้อมเข้าใจกระบวนการประดิษฐ์ภาพตัวแทนของพระมหาธรรมราชา ที่ได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากสภาวะแวดล้อมในแต่ละยุคสมัย

แนะนำด้วยความปิติยินดี

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร