Skip to main content

 

 

"อุษาคเนย์" คือภูมิภาคที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย โดยมีลักษณะเป็น "จุดตัด" (crossroad) หรือ "จุดนัดพบ" (meeting point) ที่รองรับการไหลเวียนของกระแสภูมิปัญญาและศิลปวิทยาการอันหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศทั้งจากอู่อารยธรรมจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นต้นรากสำคัญของวัฒนธรรมเอเชีย

จากกรณีดังกล่าว การค้นคว้าแบบแผนการเรียนรู้เกี่ยวกับอุษาคเนย์ศึกษาภายใต้กระแสทรรศน์เอเชีย จึงเป็นปฐมบทที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ศึกษาค้นคว้าและการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ของเอเชีย

สำหรับกรณีของญี่ปุ่น ได้มีการก่อตั้งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Center for Southeast Asian Studies) ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1965 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับยุคทองของอุษาคเนย์ศึกษาในโลกวิชาการสหรัฐอเมริกาที่มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภูมิภาคแห่งนี้ในราวๆ ทศวรรษ1950-1960 (ตามสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยคอร์แนลและมหาวิทยาลัยมิชิแกน)

กระนั้นก็ตาม นอกเหนือจากความเก่าแก่ที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ยุคกลางสงครามเย็นและไล่ตีคู่ขนานไปกับอุษาคเนย์ศึกษาในโลกอเมริกัน จุดเด่นของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต คือการออกวารสารทางวิชาการที่รวบรวมบทความภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่นเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อย่างครบเครื่องและรอบด้าน โดยเฉพาะ "Monographs of the Center for Southeast Asian Studies” หรือ "Kyoto Review of Southeast Asia”


อาคารเก่าแก่ในมหาวิทยาลัยเกียวโต

พร้อมกันนั้น ทางศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษายังได้ประสานและถ่ายเททรัพยากรทางวิชาการร่วมกับ "บัณฑิตวิทยาลัยแห่งเอเชียและอัฟริกันอาณาบริเวณศึกษา" หรือ “Graduate School of Asian and African Area Studies” ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเกียวโตที่จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาเอกโดยเน้นหนักใน 3 สาขาวิชา ได้แก่ โลกาภิวัฒน์ศึกษา อัฟริกันศึกษา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

จากกรณีดังกล่าวจะเห็นว่า ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับอุษาคเนย์ศึกษาในฐานะ "สหสาขาวิชา" (Interdisciplinary) และ " อาณาบริเวณ/บูรพคดี/วิเทศคดีศึกษา" (Area/Oriental/International Studies) ซึ่งมีลักษณะร้อยเรียงสหศาสตร์อย่างรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือ สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงภายในภูมิภาคผ่านรูปลักษณ์ของอาณาบริเวณหรือเขตภูมิศาสตร์วัฒนธรรมที่ถูกกำหนดตัดแบ่งออกมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งถือเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในความสนใจของญี่ปุ่นทั้งในมิติของเศรษฐกิจการค้า สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ การเมืองประชาธิปไตย และประวัติศาสตร์การทหารในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

สำหรับกรณีของจีนแผ่นดินใหญ่ (Mainland China) เป็นที่น่าสังเกตว่าการสถาปนา "สถาบันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" (Institute of Southeast Asian Studies) ณ มหาวิทยาลัยยูนนาน (Yunnan University) ในปี ค.ศ.2002 ถือเป็นผลผลิตโดยตรงที่ทำงานสอดประสานร่วมกันกับ "ยุทธศาสตร์มุ่งลงใต้" (Look South Strategy) ของรัฐบาลจีนปักกิ่งและคณะผู้ว่าการมณฑลยูนนาน ที่มุ่งหวังให้เกิดการเชื่อมโยงร้อยรัดทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างจีนตอนใต้กับเอเชียอาคเนย์ตอนบนซึ่งครอบคลุมพม่า ลาว ไทยและเวียดนาม

จากแบบแผนดังกล่าว จุดแข็งของสถาบันแห่งนี้จึงได้แก่การศึกษาวิจัย 4 ประเทศหลักในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่สัมพันธ์กับมณฑลยูนนานทั้งในบริบททางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วรรณนา ความมั่นคง เศรษฐกิจการค้า สิ่งแวดล้อมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยจะเน้นหนักทางด้านพม่าเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเห็นได้จากโครงการท่อก๊าซและท่อน้ำมันจากรัฐยะไข่ของพม่าที่พาดผ่านมายังจีนตอนใต้ รวมถึงความโดดเด่นของนักวิชาการภายในสถาบันแห่งนี้ซึ่งส่วนใหญ่มักมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคงในพม่า


มหาวิทยาลัยยูนนาน

ขณะเดียวกัน สถาบันแห่งนี้ (ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักวิเทศคดีแห่งมหาวิทยาลัยยูนนาน/School of International Studies of Yunnan University) ยังได้ทำการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงปริญญาโททางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประวัติศาสตร์โลก เศรษฐกิจโลก และชาติพันธุ์วรรณนาศึกษา ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่หลักสูตรทางด้านอุษาคเนย์ศึกษาโดยตรง หากแต่ก็มีการใช้ฐานทรัพยากรจากสถาบันฯ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ งานวิจัยและเอกสารโบราณต่างๆ เป็นคลังประกอบการค้นคว้าให้กับกลุ่มนักเรียนซึ่งส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษาที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศอาเซียนโดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเพื่อมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยยูนนาน

สำหรับในส่วนของจีนฮ่องกง ได้มีการสถาปนาศูนย์เอเชียศึกษา (Centre of Asian Studies) ในปี ค.ศ.1967 ณ มหาวิทยาลัยฮ่องกง (The University of Hong Kong) ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จุดเด่นของศูนย์การศึกษาแห่งนี้ คือ การแบ่งหน่วยทางวิชาการออกเป็น จีนศึกษา ฮ่องกงศึกษา และเอเชียตะวันออก-เอเชียใต้-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ตลอดจนมีการจัดตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (South-east Asian Studies Programme) โดยมุ่งเน้นการวิจัยค้นคว้าและจัดสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรในระยะต่อมา ได้ทำให้ศูนย์เอเชียศึกษากลายสภาพเป็นหน่วยงานใหม่ที่เรียกชื่อว่า " สถาบันฮ่องกงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" (Hong Kong Institute of Humanities and Social Sciences) พร้อมๆ กับการสลายตัวไปของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ซึ่งได้ทำให้ยุทธศาสตร์ทางวิชาการของมหาวิทยาลัยฮ่องกงปัจจุบัน มีลักษณะที่มุ่งเน้นแต่เพียงภาพรวมของภูมิภาคเอเชียในมิติทางวัฒนธรรม การแพทย์ และสิ่งแวดล้อม โดยปราศจากการค้นคว้าวิจัยทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนดั่งในอดีต


มหาวิทยาลัยฮ่องกง

กระนั้นก็ตาม ในปี ค.ศ.2001 ได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Research Centre) ขึ้นที่คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิตี้ออฟฮ่องกง (City University of Hong Kong) ซึ่งถือเป็นศูนย์วิจัยเพียงแห่งเดียวในฮ่องกงที่ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจุดแข็งของศูนย์วิจัยแห่งนี้ ได้แก่ งานค้นคว้าและงานสัมมนาทางวิชาการเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองเปรียบเทียบ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การพัฒนา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการรวบรวมคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกเกี่ยวกับการเมืองในเอเชียอาคเนย์ อาทิ ศาสตราจารย์ ดร. Mark Thompson ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองฟิลิปปินส์ และศาสตราจารย์ ดร. William Case ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองมาเลเซียและการเมืองไทย นอกจากนั้น ทางศูนย์แห่งนี้ยังได้ประสานงานกับภาควิชาเอเชียและวิเทศคดีศึกษา (Asian and International Studies) แห่งมหาวิทยาลัยซิตี้ออฟฮ่องกงเพื่อสนับสนุนฐานทรัพยากรวิชาการให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอก ที่สนใจทำงานค้นคว้าเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับในส่วนของอินเดียนั้น ได้มีการจัดตั้งภาควิชาเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (South & South East Asian Studies) ขึ้นที่มหาวิทยาลัยกัลกัตตา (University of Calcutta) ในปี ค.ศ. 1991 โดยทำการเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาโทจนถึงปริญญาเอกทางด้านเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (คล้ายคลึงกับที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์กเลย์ ของสหรัฐอเมริกา)

จุดเด่นของภาควิชาแห่งนี้ได้แก่ การมองอุษาคเนย์ในฐานะส่วนหนึ่งของอ่าวเบงกอลที่มีความเชื่อมโยงทางอารยธรรมและการค้าร่วมกับอนุชมพูทวีปซึ่งตั้งอยู่อีกฟากน้ำของน่านทะเลเบงกอล ผลจากโลกทรรศน์ดังกล่าว ได้ทำให้ยุทธศาสตร์ทางวิชาการของมหาวิทยาลัยกัลกัตตามีลักษณะมุ่งเน้นไปที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองอนุทวีป ทั้งในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์และนโยบายต่างประเทศ โดยเน้นหนักทางด้านอินเดีย บังคลาเทศ พม่าและไทย ซึ่งถือเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมความร่วมมือรอบอ่าวเบงกอล รวมถึงเป็นอาณาบริเวณที่เหล่าคณาจารย์ภายในภาควิชามีความเชี่ยวชาญและให้ความสนใจเป็นพิเศษ ดั่งเห็นได้จากศาสตราจารย์ ดร. Swapna Bhattacharyya (Chakraborti) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และภาษาพม่า และศาสตราจารย์ ดร. Lipi Ghosh ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย


บรรยากาศในห้องค้นคว้ามหาวิทยาลัยกัลกัตตา

นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยกัลกัตตาแล้ว มหาวิทยาลัยเยาว์หราล เนรูห์ (Jawaharlal Nehru University) ยังเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่มีการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา โดยมีการก่อตัวของ "ศูนย์ศึกษาเอเชียใต้-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้" (Centre for South, Central, Southeast Asian and Southwest Pacific Studies) ซึ่งถือเป็นศูนย์วิจัยค้นคว้าที่ปรากฏตัวร่วมกับศูนย์ภูมิภาคศึกษาอื่นๆ อย่างเช่น ศูนย์ยุโรปศึกษา ศูนย์เอเชียตะวันออกศึกษาและศูนย์อัฟริกันศึกษา โดยหน่วยงานวิชาการเหล่านี้จะอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารของสำนัก/วิทยาลัยวิเทศคดี หรือที่เรียกกันว่า "School of International Studies” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีศักดิ์เทียบเท่าคณะ และมีภารกิจด้านการวิจัย-การจัดเรียนการสอนเกี่ยวกับการต่างประเทศและวิเทศคดีศึกษาครอบคลุมทั้งระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก

โดยมีลักษณะตัดแบ่งออกเป็นอาณาบริเวณต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น ปริญญาเอกทางด้านอัฟริกันศึกษา ปริญญาเอกทางด้านเอเชียใต้ศึกษา และปริญญาเอกทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตกศึกษา ฯลฯ (ซึ่งในทางโครงสร้าง อาจเทียบได้กับวิทยาลัยวิเทศคดีแจ็คสัน-Jackson School of International Studies ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซีแอตเทิ้ล สหรัฐอเมริกา วิทยาลัยวิเทศคดีแห่งมหาวิทยาลัยยูนนาน ประเทศจีน หรือวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ)

จากการนำเสนอในเบื้องต้น อาจพอสรุปได้ว่า "อุษาคเนย์ศึกษา" ในโลกวิชาการ "เอเชีย" ถือเป็นประเด็นที่มีเสน่ห์และคู่ควรแก่การเรียนรู้มิใช่น้อย โดยเฉพาะการมองเอเชียอาคเนย์ผ่านเพดานทางความคิดและอัตลักษณ์แบบ "เอเชียนิยม/Asianism" และหรือ "บูรพคดีนิยม/ตะวันออกนิยม/Orientalism" ซึ่งอาจมีประเด็นวิเคราะห์ในแบบที่แตกต่างออกไปจาก "อัสดงค์คดีนิยม/ตะวันตกนิยม/Occidentalism” ที่เคยฟู่ฟ่าคึกคักกันในเวทีวิชาการของโลกตะวันตกมาเป็นเวลาช้านาน

นอกจากนั้น ปฏิสัมพันธ์ที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างอาเซียนกับดินแดนข้างเคียงอย่างเอเชียใต้หรือเอเชียตะวันออก ก็ได้ทำให้เกิดการบรรสานกลมกลืนกันทางวิชาการในรูปแบบที่ภูมิภาคต่างๆ ล้วนถูกผูกโยงร้อยเรียงกันอย่างแนบแน่นจนยากที่จะแยกออกจากกัน ลักษณาการณ์ดังกล่าว ได้ทำให้ท่วงทำนองของชุดความรู้อุษาคเนย์ศึกษาเกิดการซ้อนทับลื่นไหลและเคลื่อนคล้อยไปตามองค์ความรู้แบบเอเชียศึกษา ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยสำคัญต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของระบบภูมิภาคนิยมในศตวรรษที่ 21


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

(บทความนี้ตัดตอนมาจาก TU-CSEAS WEEKLY January 3, 2557 BE NO.2 ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนใจกิจกรรมที่น่าสนใจของศูนย์เพิ่มเติม โปรดศึกษาได้จากเพจ https://www.facebook.com/cseas.tu?fref=nf)


เอกสารอ้างอิงเพิ่มเติม

Keyes, C., Vicente, Rafael and Laurie J. Sears (eds.) (2007). Knowing Southeast Asian Subjects. Seattle: University of Washington Press.

McVey, R. (1995). Change and Continuity in Southeast Asian Studies. Journal of Southeast Asian Studies 26: 1-15.

Reynolds, C. J. and Ruth McVey. (eds.) (1998). Southeast Asian Studies: Reorientation. New York: Cornell University Southeast Asia Program.

Said, E. (1987). Orientalism. New York: Vintage Books.

Szanton, D. (ed.) (2004). The Politics of Knowledge: Area Studies and the Disciplines. Berkeley and Los Angeles: University of California Press.

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร