สิงหาคม พ.ศ.2557 โครงการ "Deepbooks" ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง "บทเรียนสันติภาพ: เรียนรู้กระบวนการสันติภาพในประสบการณ์ความขัดแย้งร่วมสมัย" ซึ่งเป็นการถอดคำบรรยายสัมมนาจากบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสันติศึกษา โดยมี รัฐเอเชีย ทั้ง 7 แห่ง เป็นกรณีศึกษาหลัก อันได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ ไทย ปาเลสไตน์ เนปาล และศรีลังกา
ในเชิงการเมืองเปรียบเทียบ งานชิ้นนี้อาจนำพาให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ถึงลักษณะเด่นของรากเหง้าความขัดแย้ง รวมถึงจุดเด่นและจุดต่างในกระบวนการสร้างสันติภาพของหลายประเทศ เช่น การส่งเสริมบทบาทองค์กรนอกรัฐและการจัดการปกครองแบบมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง (Collaborative Governance) เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในมินดาเนาของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะการลดความรุนแรงอันเกิดจากวัฒนธรรมการแก้แค้นต่างตระกูลแบบตาต่อตาฟันต่อฟันที่เรียกกันว่า "ริโด/Rido" หรือความแตกแยกที่ร้าวลึกระหว่างชาวพุทธสิงหลกับชาวทมิฬฮินดูในศรีลังกา ที่อาจคล้ายคลึงกับความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธพม่าแท้กับพหุชาติพันธุ์ต่างศาสนาและอุดมการณ์อื่นๆ ในเมียนมาร์ โดยทั้งสองรัฐต่างตกอยู่ใต้สภาวะโกลาหลไร้ระเบียบจนทำให้กระบวนการสร้างสันติภาพ (ที่มักจะย้อนแย้งกับการสร้างรัฐสร้างชาติ) ยังมิอาจจะถูกสถาปนาขึ้นได้อย่างมั่นคง
ขณะที่ทางฟากเนปาล แม้ความขัดแย้งอาจคล้ายกับเมียนมาร์และศรีลังกา ในกรณีของการเรียกร้องการปกครองแบบสหพันธรัฐของชนส่วนน้อย หากแต่จุดหัวใจของรัฐเนปาลกลับอยู่ตรงที่ความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างกลุ่มปฏิวัตินิยมลัทธิเหมากับสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายราชสำนักที่เก่าแก่ที่สุดในโลกฮินดูหิมาลัย
สำหรับแนวทางการสร้างสันติภาพนั้น หนังสือนี้ได้ชี้ชวนให้เห็นถึงกลยุทธ์กลศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละรัฐ เช่น ทฤษฏีหน้าต่างแห่งโอกาส ที่เกิดจากการยอมเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจโดยคู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภายนอก อย่างกรณีความขัดแย้งระหว่างอาเจะห์กับรัฐบาลจาร์กาตา ซึ่งกระบวนการสันติภาพส่วนหนึ่งแล้วมาจากการช่วยเหลือขององค์กรระหว่างประเทศ ส่วนพื้นที่ชายแดนใต้ของรัฐไทย น่าติดตามต่อว่าการได้มาซึ่งสันติภาพอันเกิดจากสภาวะสุกงอมของการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนในหมู่ประชาชนที่ปฏิเสธความรุนแรง จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมเพื่อกดดันพฤติกรรมความรุนแรงของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้มากน้อยเพียงไร
แต่กระนั้น สำหรับในกรณีเมียนมาร์และศรีลังกา ที่แม้ทั้งสองรัฐจะมีกระบวนการสร้างสันติภาพที่นำไปสู่การบรรลุข้อตกลงหยุดยิงและการเจรจาทางการเมือง หากแต่ทฤษฏีการสถาปนาสันติภาพด้วยกำลัง (Peace through Strength) ยังคงมีอิทธิพลต่อการจัดการความขัดแย้งอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่ากำลังรบย่อมสามารถสะกดป้องกันการเกิดสงครามได้อย่างชะงัก ซึ่งฝ่ายที่เข้มแข็งและทรงกำลังกว่า ย่อมสามารถที่จะสร้างสันติภาพโดยอาศัยการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างราบคาบจนมิเหลือพิษสงที่จะคุกคามฐานกำลังจากส่วนกลางอีกต่อไป ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การเคลื่อนกองทหารของรัฐบาลโคลัมโบเพื่อปราบปรามกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม หรือการระดมทหารพม่าเพื่อกวาดล้างและกดดันกองทัพกะฉิ่นอิสระ จนค่อยๆ หนุนเสริมให้ส่วนกลางมีขีดอำนาจในการเจรจาต่อรองที่เหนือกว่าฝ่ายกบฏที่ถูกกดปราบ
ท้ายที่สุด ปัญหาอันแหลมคมที่ยังคงกัดกร่อนทิ่มแทงเสถียรภาพและความสงบในพื้นที่ชายขอบ คือ ความไม่ลงรอยกันระหว่างการสร้างสันติภาพ กับการสร้างรัฐ และการสร้างชาติ รวมถึงบทบาทของประชาชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความรุนแรง โดยกลุ่มคนเหล่านี้ มักถูกทำให้เป็นชายขอบในกระบวนการเจรจาอยู่เสมอ (ซึ่งมักจะจำกัดอยู่แต่ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลกับตัวแทนของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน)
นอกจากนั้น ยังพบเห็นการกำหนดดินแดนผ่านการสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันระหว่างส่วนกลางกับส่วนปฏิปักษ์ ซึ่งแต่ละฝ่าย ต่างมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับถิ่นฐานมาตุภูมิที่ขัดแย้งหรือทับซ้อนกันอย่างรุนแรง จนทำให้การปะทะขับหน่วงระหว่างแรงรวมเข้าสู่ศูนย์กลางกับแรงแยกออกจากศูนย์กลาง ยังคงเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในภูมิทัศน์การเมืองของรัฐต่างๆ ในโลกเอเชีย
ดุลยภาค ปรีชารัชช