Skip to main content

 

ประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายอารยธรรมระหว่างอินเดีย-สยาม ถือเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมาช้านาน โดยมีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และเทวสถานเก่าแก่ในนครรัฐจารีตสยามเป็นประจักษ์พยาน กระนั้น การผ่องถ่ายวัฒนธรรมภารตะ-อุษาคเนย์ มักจะวางจุดสนใจทางวิชาการไปที่เขตรัฐชายฝั่งรอบอ่าวเบงกอลตามประเพณีการค้าทางทะเลในโลกโบราณ ดังเห็นได้จากสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐทมิฬตอนใต้กับกลุ่มบ้านเมืองในเขตแหลมทอง จนทำให้ภาพการถ่ายโอนวัฒนธรรมระหว่างรัฐฮินดูตอนเหนือกับรัฐสุวรรณภูมิขาดหายไป

ขณะเดียวกัน การวิเคราะห์ชุมชนภารตะในแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักมุ่งเน้นไปที่กระบวนการภารตภิวัฒน์ (Indianization) ในยุคจารีต ตามชุดความรู้ของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ซึ่งส่งผลให้ภาพปฏิสัมพันธ์อินเดีย-อุษาคเนย์-สยาม ในประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม มีลักษณะพร่ามัวและมิพอเพียงต่อการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ภารตวิทยาในสังคมไทย

จากข้อจำกัดดังกล่าว การวิเคราะห์รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐฮินดูพื้นทวีปหิมาลัย พร้อมเป็นแหล่งส่งออกชาวอินเดียอพยพเข้ามายังแผ่นดินสยามในยุคอาณานิคม จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยในบทความนี้จะแบ่งการนำเสนอออกเป็นสองประเด็น คือ 1. ภาพรวมพื้นฐานเกี่ยวกับรัฐอุตตรประเทศ และ 2. การอพยพของชาวอุตตรประเทศสู่สังคมไทยในยุคอาณานิคม

อุตตรประเทศ: ดินแดนหัวใจแห่งอารยธรรมภารตะ

คำว่า "อุตตรประเทศ" (Uttar Pradesh) คือชื่อของรัฐและเขตการปกครองที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของประเทศอินเดีย โดยลักษณะภูมิประเทศอันเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำคงคาและยมุนา ผสมผสานกับแนวเทือกเขาหิมาลัยที่ตั้งตระหง่าน ส่งผลให้อุตตรประเทศกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงของประเทศอินเดีย

ขณะเดียวกัน ประติมากรรมทางภูมิศาสตร์และความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินก็ส่งผลให้อุตตรประเทศกลายเป็นดินแดนหัวใจแห่งการรังสรรค์ทางศิลปะ ตลอดจนเป็นต้นรากทางอารยธรรมของชาวฮินดูยุคโบราณ สังเกตได้จากการแพร่กระจายของศิลปะแบบคันธาระ มถุรา อมราวดี คุปตะ และปาละ-เสนะ ในเขตแว่นแคว้นอุตตรประเทศ ประกอบกับการขยายตัวทางการเมืองและการทหารของรัฐฮินดูยุคจารีต ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์กาศี และราชวงศ์คุปตะ ก็ล้วนมีขอบข่ายปริมณฑลแห่งอำนาจครอบคลุมอินเดียตอนเหนือในเขตลุ่มแม่น้ำคงคาและยมุนา

นอกจากนี้ อุตตรประเทศยังเป็นที่ตั้งของเมืองพาราณสี ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าสามพันปี และเป็นต้นกำเนิดของประเพณีลอยศพและชำระบาปในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงเป็นศูนย์กลางการจาริกแสวงบุญของชาวฮินดูจากทั่วทุกสารทิศ

ดินแดนอุตตรประเทศยังได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางของไวษณพนิกาย ลัทธิฮินดูที่นับถือพระวิษณุ หรือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด เห็นได้จากเมืองโบราณที่สัมพันธ์กับภาคอวตารของพระวิษณุ อาทิ เมืองอโยธยา ศูนย์อำนาจการปกครองของท้าวทศรถ กษัตริย์แห่งสุริยวงศ์ และสถานที่พระราชสมภพของพระราม ร่างอวตารภาคที่เจ็ดของพระวิษณุ และวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหากาพย์รามายณะ เมืองลัคเนา ซึ่งเคยได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองของพระลักษณ์ พระอนุชาของพระราม และทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศในยุคปัจจุบัน

ส่วนเมืองหัสดินปุระ ราชธานีของกษัตริย์ศานตนุแห่งจันทวงศ์ ถือเป็นจุดกำเนิดของเหล่าเจ้าชายตระกูลปาณฑพ และเการพ ในมหากาพย์มหาภารตะ ขณะที่เมืองมถุรา นอกจากจะเคยเป็นบ่อเกิดของศิลปะแบบมถุราที่แพร่กระจายในเขตอินเดียภาคเหนือแล้ว ยังเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระกฤษณะ ร่างอวตารภาคที่แปดของพระวิษณุ และมหาบุรุษผู้ขับรถศึกให้พระอรชุนในมหากาพย์มหาภารตะ

จากบริบทดังกล่าว รัฐอุตตรประเทศจึงเป็นอู่อารยธรรมอันเก่าแก่ของโลกฮินดู ทั้งในแง่ของปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม การขยายปริมณฑลทางการเมือง และความรุ่งเรืองของวรรณคดีโบราณ นอกจากนี้ ดินแดนของรัฐอุตตรประเทศยังมีส่วนสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาและโลกอิสลาม เนื่องจากเป็นที่ตั้งของเมืองสารนาถ และป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่แสดงปฐมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมืองอักรา ศูนย์อำนาจของจักรวรรดิโมกุลอันทรงพลานุภาพ และที่ตั้งของสุสานทัชมาฮาล- อนุสรณ์แห่งความรัก หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

ดังนั้น อุตตรประเทศจึงเป็นดินแดนหัวใจที่ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการก่อรูปของอารยธรรมฮินดู รวมถึงมีส่วนคาบเกี่ยวกับการขยายตัวของอิทธิพลพระพุทธศาสนาในแผ่นดินอุษาคเนย์ และกระบวนการผ่องถ่ายอารยธรรมอิสลามในชมพูทวีป

การเคลื่อนย้ายประชากรอุตตรประเทศเข้าสู่แดนสยามในยุคอาณานิคม

ในกระบวนการผนวกอาณานิคมชมพูทวีป กองทัพบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้ยาตราทัพเข้ายึดเมืองท่ากัลกัตตา (Calcutta) หลังประสบชัยชนะสงครามที่ตำบลปรัสซี (Battle of Plassey) เมื่อปี พ.ศ.2300 โดยการครอบครองเมืองกัลกัตตาซึ่งตั้งอยู่ริมปากแม่น้ำฮูกลี (Hugli) อันเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำคงคา นอกจากจะทำให้อังกฤษสามารถควบคุมการค้าในรัฐเบงกอลได้สะดวกแล้ว ยังส่งผลให้อำนาจการปกครองของอังกฤษแผ่อิทธิพลเข้าปกคลุมหัวเมืองต่างๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำคงคาแถบรัฐอุตตรประเทศ

ต่อมา รัฐบาลอังกฤษได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการปกครองอินเดียฉบับปี พ.ศ.2316 เพื่อเพิ่มอำนาจของรัฐบาลในการควบคุมพฤติกรรมของบริษัทอินเดียตะวันออก ตลอดจนแต่งตั้งนายวอร์เรน เฮสติงส์ (Warren Hastings) ขึ้นเป็นข้าหลวงใหญ่อังกฤษคนแรกประจำอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.2317

การเปลี่ยนแปลงนโยบายของอังกฤษส่งผลให้เมืองท่าชายฝั่งทะเลและหัวเมืองตอนในแถบรัฐอุตตรประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษแบบเต็มตัว ครั้นต่อมา บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้ว่าจ้างชาวพื้นเมืองอินเดียมาฝึกเป็นทหารตามแบบตะวันตก เรียกว่า ทหารซีปอย (Sepoys) เพื่อรักษาความปลอดภัยและพิทักษ์ผลประโยชน์ทางการค้าให้บริษัท แต่นโยบายดังกล่าวกลับส่งผลกระทบเชิงลบต่ออังกฤษ เนื่องจากกำลังพลบางส่วนของทหารซีปอยล้วนมาจากพราหมณ์และชนชั้นสูงในเขตอุตตรประเทศ ทหารเหล่านี้เคยชินต่อการมีสิทธิพิเศษตามระบบวรรณะ และหวาดระแวงต่อพฤติกรรมของอังกฤษที่นำเอาวัฒนธรรมตะวันตกและคริสต์ศาสนาเข้ามาครอบงำวัฒนธรรมฮินดู

นอกจากนี้ พวกพราหมณ์อุตตรประเทศที่สูญเสียผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายของอังกฤษ อาทิ การอนุญาตให้บาทหลวงบางรูปแสดงอาการเหยียดหยามศาสนาฮินดู และการประกาศเวนคืนที่ดินซึ่งเคยอยู่ในการครอบครองของวรรณะพราหมณ์ ยังได้คอยยุยงให้กลุ่มทหารซีปอยแข็งข้อต่อต้านอำนาจการปกครองของอังกฤษ จนในที่สุด การก่อกบฏได้เริ่มปะทุขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2400-2402

เหตุการณ์ส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นในรัฐอุตตรประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองมีรุต และลัคเนา แต่แล้วอังกฤษก็ประสบความสำเร็จในการนำอินเดียกลับคืนสู่สภาวะปกติ โดยผลของการปราบกบฏซีปอยทำให้อังกฤษประกาศยกเลิกการปกครองของบริษัทอินเดียตะวันออก และโอนหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งหมดมาเป็นของรัฐบาลกลางและรัฐสภา พร้อมหันมาจ้างพวกแขกสิกข์ แขกปาธาน และพวกนักรบกูรข่าจากเนปาลเข้ามาเป็นทหารประจำการแทน

ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชนชั้นสูงในอุตตรประเทศเริ่มร่วมมือกับชาวฮินดูกลุ่มต่างๆ จัดตั้งขบวนการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดจนเริ่มเกิดการอพยพของชาวฮินดูอุตตรประเทศไปยังดินแดนต่างๆ อาทิ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อปลุกระดมลัทธิชาตินิยมและสร้างฐานที่มั่นในการปลดแอกอินเดียออกจากอาณานิคมอังกฤษ

ขณะเดียวกัน พราหมณ์อุตตรประเทศที่เคยรับราชการเป็นทหารซีปอยก็ปรับเปลี่ยนบทบาทและแปลงสภาพเป็นกองกำลังกู้เอกราช รวมถึงเดินทางออกจากอินเดียเพื่อประกอบอาชีพเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในบริษัทต่างประเทศ สืบเนื่องจากลักษณะร่างกายที่กำยำและสูงใหญ่ ผสมผสานกับประสบการณ์จากการเป็นทหารซีปอย ทำให้บริษัทเอกชนในประเทศต่างๆ นิยมว่าจ้างแขกอุตตรประเทศเข้ามาพิทักษ์ทรัพย์สินและรักษาความปลอดภัย

การอพยพของชาวอุตตรประเทศเข้าสู่สยามนั้น จัดว่ามีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับขบวนการชาตินิยมและการแสวงหาที่ทำกินในต่างแดน อันเป็นผลมาจากสภาวะข้าวยากหมากแพงและปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรในอินเดีย

ชาวอุตตรประเทศส่วนใหญ่มักมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นศูนย์อำนาจที่ปลอดจากอิทธิพลของอังกฤษ เมื่อเทียบกับกรุงย่างกุ้งของพม่า หรือสิงคโปร์ในคาบสมุทรมลายู

การอพยพของแขกอุตตรประเทศมีลักษณะปะปนมากับแขกฮินดูกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเบงกอล ทมิฬ สิกข์ และราชปุต ซึ่งเริ่มไม่พอใจการปกครองที่เข้มงวดของรัฐบาลอังกฤษ

สำหรับเส้นทางการอพยพของแขกฮินดูเข้าสู่เขตกรุงเทพมหานครสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่ เส้นทางอพยพทางทะเลผ่านหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ตัดเข้าสู่สิงคโปร์ มะละกา มาเลเซีย จากนั้นเดินทางโดยรถไฟเข้าสู่ภาคใต้ของไทยและกรุงเทพมหานคร

ส่วนเส้นทางสายที่สองเป็นการอพยพทางบก เริ่มจากอินเดียเข้าสู่จิตตะกอง (Chittagong) ในบังคลาเทศ จากนั้นจึงเดินทางเข้าสู่ประเทศพม่าและภาคเหนือของไทย แล้วจึงลงใต้เข้าสู่กรุงเทพฯ

สำหรับจุดเด่นของชาวฮินดูจากอุตตรประเทศในกรุงเทพ ส่วนใหญ่มักประกอบด้วยประชากรอพยพมาจากเมืองลัคเนา อโยธยา และพาราณสี โดยมีอาชีพส่งหนังสือพิมพ์ ขายนมวัว และพนักงานรักษาความปลอดภัยในบริษัทต่างประเทศ อาทิ บริษัทอีสต์เอเชียติก (East Asiatic Company) นอกจากนั้น แขกอุตตรประเทศยังนิยมนับถือพระวิษณุ โดยมีการจัดตั้งชุมชนในเขตสาทรและยานนาวา ตลอดจนจัดสร้างวัดวิษณุ เมื่อปี พ.ศ.2458 เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวอินเดียเหนือในเขตกรุงเทพมหานคร

ในระยะเริ่มแรก แขกอุตตรประเทศมักพำนักอาศัยอยู่ร่วมกับกับแขกทมิฬแถววัดพระศรีมหาอุมาเทวีหรือวัดแขก ขณะที่บางส่วนกระจัดกระจายอยู่ตามบ้านพักของบริษัทต่างประเทศแถบสาทรและยานนาวา

ต่อมา การตั้งถิ่นฐานของชาวอุตตรประเทศแถวถนนสีลมได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความแตกต่างระหว่างไวษณพนิกายของชาวอินเดียเหนือกับไศวนิกายและศักตินิกายของชาวอินเดียใต้ ส่งผลให้ชาวฮินดูอุตตรประเทศตัดสินใจสร้างเทวาลัยวัดวิษณุบริเวณยานนาวา เพื่อเป็นศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรม ตลอดจนลดปัญหาความแออัดของประชากรบริเวณวัดแขก

หลังจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2490 การตั้งถิ่นฐานของชาวอุตตรประเทศและชุมชนฮินดูกลุ่มอื่นๆ ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องจากยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูต การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ รวมถึงการอพยพเข้ามาค้าขายและศึกษาเล่าเรียนของชาวฮินดูตามคำเชื้อเชิญของญาติพี่น้องในเมืองไทย

กล่าวโดยสรุป อุตตรประเทศ คือ กระดานสะท้อนทางวัฒนธรรมที่ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสายสัมพันธ์สยาม-ภารตะ โดยเฉพาะ การตั้งรกรากของชุมชนอุตตรประเทศในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งสะท้อนภาพชุมชนไวษณพนิกายที่มีต้นรากจากชุมชนพราหมณ์และทหารซีปอยในเขตอินเดียเหนือ โดยการตั้งประชาคมในเมืองหลวงสยามนับแต่ยุคอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน อาจช่วยไขประเด็นทางด้านพหุวัฒนธรรมที่มาพร้อมกับประวัติศาสตร์การทูตและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ได้อย่างคมชัดและกว้างไกลมากขึ้น


ดุลยภาค ปรีชารัชช

บทความนี้ ปรับปรุงและตัดตอนจาก ดุลยภาค ปรีชารัชช. พลิกปูมวัดวิษณุ: ศูนย์กลางชุมชนชาวอุตตรประเทศในกรุงเทพมหานคร. วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 34 ฉบับที่ 4 ตุลาคม – ธันวาคม 2551.

 


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร