แผนที่ฝรั่งเศส จาก Librairie Armand Colin แห่งนครปารีส ได้แสดงภูมิสัณฐานรัฐอาณานิคมอินโดจีน (France Indochine) และอาณาจักรสยามได้อย่างน่าประหลาดใจ โดยเฉพาะแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาอย่างน้ำงึม และเซบั้งไฟ หรือทะเลสาบเขมร (โตนเลสาบ) ซึ่งแสดงที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงในเขตข้างเคียง
กระนั้น สิ่งที่น่าฉงนที่สุด ได้แก่ การขานชื่อแม่น้ำสายหลักในแผ่นดินสยาม ซึ่งไม่ปรากฏใช้คำว่า 'แม่น้ำเจ้าพระยา' แต่ระบุแทนด้วยคำว่า 'แม่น้ำ' หรือ 'Me Nam' ซึ่งเป็นคำเรียกแนวแม่น้ำเจ้าพระยาตามคนสยามโบราณ
พร้อมกันนั้น แนวแม่น้ำที่กล่าวมายังทอดตัวเหยียดยาวตั้งแต่ลำแม่น้ำเจ้าพระยา (ในปัจจุบัน) ตรงปลายอ่าวไทยไปจนถึงต้นแม่น้ำน่านเขตเขาหลวงพระบางติดชายแดนลาว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักทำแผนที่ฝรั่งเศสได้ยึดเอาแม่น้ำน่านเป็นแกนกลางในการสำรวจโดยวาดแควสายรอง เช่น แม่น้ำยม หรือแควสายหลัก เช่น แม่น้ำปิง เป็นเพียงลำน้ำที่ไหลสบมายังตัวแม่น้ำ หากแต่มิได้เป็นสายเดียวหรือเป็นส่วนควบเดียวกันกับแม่น้ำเจ้าพระยา (เหมือนดั่งแม่น้ำน่าน) ซึ่งทั้งนี้คงเป็นเพราะสนามสำรวจลุ่มน้ำน่าน อาจอยู่ใกล้เส้นทางรถไฟสายเหนือหรือแนวอาณานิคมฝรั่งเศสมากที่สุด พร้อมมีการเชื่อมโยงการค้าและยุทธศาสตร์กับลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะ เมืองน่าน เมืองตรอน เมืองพิชัย และเมืองพิษณุโลก เป็นอาทิ
นอกจากนั้น ช่างวาดแผนที่ยังได้ระบุนามลำน้ำต่างๆ ในสยาม โดยใช้คำนำหน้าแตกต่างกันออกไป เช่น เรียก 'แม่น้ำมูล' ว่า 'น้ำมูล/Nam Moun' แต่เรียก 'แม่น้ำชี' ว่า 'ลำน้ำชี/Lam Nam Si' เรียก 'แม่น้ำป่าสัก' ว่า 'น้ำสัก/Nam Sak' เรียก 'แม่น้ำแม่กลอง' ว่า 'แม่กลอง/Me Klang' และเรียก 'แม่น้ำท่าจีน' ว่า 'Tachin R.' ซึ่งถือเป็นการกำหนดนามที่อาจผันแปรตามนิรุกติศาสตร์ท้องถิ่นหรือความรับรู้ของช่างสำรวจเกี่ยวกับความโดดเด่นหรือรูปสัณฐานของลำน้ำแต่ละสาย
สำหรับรายละเอียดต้นฉบับและที่มาของชุดแผนที่ โปรดดู
INDO-CHINE Française et MADAGASCAR collection de cartes murales .
Cambodge, Cochinchine,Thaïlande,Vietnam, Laos, Birmanie, Tonkin, Hanoï,Mékong, Bangkok...
Librairie Armand Colin, Paris 103 Boulevard St Michel par Paul Vidal De La Blache professeur à la faculté des Lettres de l'Université de Paris.
ดุลยภาค ปรีชารัชช