Skip to main content

 

Martin Ira Glassner นักภูมิศาสตร์การเมืองชื่อดัง ได้แบ่งประเภทรัฐออกเป็นรูปทรงสัณฐานต่างๆ อาทิ

1. Compact State หรือ รัฐกระชับ/กะทัดรัด ซึ่งหมายถึง รัฐที่มีรูปร่างเกือบเป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยมีข่ายระยะทางที่วัดจากเขตแกนกลางไปยังขอบชายแดนตามทิศต่างๆ ในอัตราส่วนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก อาทิ เบลเยียม โปแลนด์ ซูดาน และกัมพูชา

2. Elongated State หรือ รัฐคอขวด/ยาวเรียว หมายถึง รัฐที่วัดระยะทางจากเหนือลงใต้ได้ยาวไกลกว่าระยะทางจากตะวันตกไปตะวันออกอยู่หลายเท่าตัว เช่น ชิลี ปานามา อิตาลี และเวียดนาม

3. Prorupted State หรือ รัฐกระชับผสมยาวเรียว หมายถึง รัฐที่พื้นที่ส่วนบนมีขนาดกะทัดรัดแบบรอบทิศทาง แต่ส่วนล่างกลับมีรูปทรงยาวเรียวแบบบาง เช่น ไทยและพม่า

4. Fragmented State หรือ รัฐกระจัดกระจาย ซึ่งดินแดนผืนหลักถูกสะบั้นแตกกระจายออกเป็นสองหรือหลายส่วน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

5. Perforated State หรือ รัฐล้อมรัฐ ซึ่งได้แก่ รัฐที่ผืนแผ่นดินถูกเจาะรูผ่านการผุดตัวขึ้นมาของรัฐอื่น จนทำให้ดินแดนรัฐนั้นมีลักษณะอ้อมหรือเข้าไปโอบเอาดินแดนของรัฐอื่น เช่น รัฐแอฟริกาใต้ที่มีผืนดินโอบกายาของรัฐเลโซโต และ

6. Enclaved State หรือ รัฐแทรกรัฐ ซึ่งได้แก่ ติ่งดินแดนของรัฐหนึ่ง ที่ไม่มีอาณาเขตติดกับผืนแผ่นดินใหญ่ของรัฐนั้น หากแต่กลับมีติ่งภูมิศาสตร์แทรกตัวเข้าไปอยู่ใต้วงล้อมของรัฐอื่น เช่น เขตปกครองกาลินินกราดของรัสเซียที่อยู่ใต้แนวล้อมของโปแลนด์ และลิธัวเนีย

จากการแบ่งประเภท (Typology) ของ Glassner จะพบว่ารูปสัณฐานอาจส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการพัฒนารัฐตามภูมิภาคต่างๆ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น การสะบั้นรัฐคอขวดเวียดนามออกเป็นรัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้ในยุคสงครามเย็น ซึ่งส่งผลให้เวียดนามตกอยู่ใต้การขับเคี่ยวของมหาอำนาจทางการเมืองโลกอย่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต หรือปัญหาการแผ่อำนาจปกครองจากเมืองหลวงพร้อมอุปสรรคการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของรัฐอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผลจากการกระจัดกระจายของกลุ่มดินแดนต่างๆ

ขณะที่ การสะบั้นระหว่างแผ่นดินคาบสมุทรมลายูกับเกาะบอร์เนียวตอนเหนือ ได้ช่วยกระตุ้นให้มาเลเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนานาวิกานุภาพ หรือแสนยานุภาพทางเรือเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการกระชับดินแดน ส่วน รัฐไทยกับรัฐพม่านั้น ข้อถกเถียงในทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจการค้าทั้งในส่วนของการขุดคลองไทย (คอคอดกระ) กับท่าเรือน้ำลึกทวาย คือ กรณีศึกษาที่สัมพันธ์โดยตรงกับรูปร่างรัฐที่มีลักษณะกระชับผสมคอขวด

ส่วนสัณฐานรัฐกัมพูชา ซึ่งในทางทฤษฏีภูมิศาสตร์การเมืองถือว่ามีความได้เปรียบในการพัฒนารัฐและการวางกำลังทหารป้องกันชายแดนแบบรอบทิศทาง (สืบเนื่องจาก รูปร่างที่กระชับค่อนไปทางวงกลมผสมสี่เหลี่ยมจัตุรัส) แต่ในทางประวัติศาสตร์สงคราม กัมพูชากลับถูกรุกรานจากข้าศึกอยู่หลายครา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากตำแหน่งกรุงพนมเปญที่ตั้งต่ำอยู่ใกล้ชายแดนเวียดนาม รวมถึงแนวภูมิประเทศแบบที่ราบเปิดโล่งในหลายจุด จึงทำให้ปราศจากปราการธรรมชาติเพื่อใช้รั้งตรึงตีตอบโต้ข้าศึก

ภูมิศาสตร์การเมือง (Political Geography) ว่าด้วยเรื่องรูปของรัฐ คือ แนววิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อการอธิบายความเปลี่ยนแปลงของรัฐและสังคม พร้อมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการแบ่งประเภทรัฐตามแนวทางอื่นๆ อาทิ ในทางการเมืองการปกครองที่แบ่งรัฐออกตามระบอบการเมือง (Political Regime) เช่น รัฐประชาธิปไตย รัฐอำนาจนิยม ฯลฯ หรือในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แบ่งรัฐตามขีดกำลัง เช่น รัฐมหาอำนาจ รัฐมัธยอำนาจ ฯลฯ

โดยหากนักรัฐศาสตร์ลองนำเกณฑ์ภูมิศาสตร์การเมืองเข้ามาเพิ่มมิติการวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง น่าเชื่อว่า ปัจจัยภูมิศาสตร์ที่ดูคลาสสิกและอยู่คู่กับการก่อรูปรัฐ (State Formation) มาเนิ่นนาน คงจะถูกทำให้ลื่นไหลมีสีสันขึ้นจนกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงเสน่ห์ต่อการอภิปรายรูปของรัฐได้อย่างเหมาะเจาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีรัฐอยู่มิน้อยที่ถูกจัดให้เข้าไปอยู่ในบทวิเคราะห์อันทรงพลังของระบบภูมิศาสตร์การเมืองโลก

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร