Skip to main content

 

ช่วงนี้ การวิเคราะห์ทิศทางพลวัตนโยบายต่างประเทศและยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ ถือเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง ซึ่งนอกจากจะสัมพันธ์กับท่าทีของรัฐเพื่อนบ้านในภูมิภาคและรัฐมหาอำนาจทางการเมืองโลกแล้ว มรดกจากประวัติศาสตร์การทูต นับว่ามีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ต่อกรณีดังกล่าว ผมได้เคยรวบรวมชุดนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงรัฐไทย ซึ่งใช้เมื่อตอนบรรยายให้กับกำลังพลประจำศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศราวๆ สองปีที่แล้ว โดยมีอยู่ทั้งหมด 8 ชุดนโยบายหลักตามแผนผังที่นำแสดงมา ซึ่งแต่ละนโยบายต่างมีรูปแบบเฉพาะ อาทิ นโยบายถ่วงดุลอำนาจที่เน้นการดึงมหาอำนาจชาติอื่นๆ  เข้ามาร่วมคานอิทธิพลถ่วงสมดุลจนมิมีชาติใดที่มีมีอิทธิพลต่อการต่างประเทศไทยมากจนเกินไป

นโยบายฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาและโลกเสรีนิยมในยุคสงครามเย็น จนนำมาสู่ความเป็นปฏิปักษ์ต่อเพื่อนบ้านอินโดจีน ซึ่งส่วนใหญ่ตกอยู่ใต้อิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์

นโยบายผ่อนปรน ซึ่งถูกใช้เมื่อรัฐโดนบีบคั้นทางยุทธศาสตร์อย่างรุนแรง จนต้องยอมผ่อนผันผลประโยชน์ต่างๆ ต่อรัฐที่ทรงกำลังอำนาจมากกว่า อาทิ การที่สยามยอมสูญอิทธิพลเหนือหัวเมืองประเทศราชในยุคที่ถูกคุกคามจากลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก

นโยบายรัฐกันชน ที่เคยถูกทางการพม่าตั้งข้อสงสัยว่ากองทัพไทยอาจมีส่วนหรือให้การสนับสนุนกองกำลังชาติพันธุ์ตามแนวพรมแดนตะวันตกเพื่อสร้างเขตกันชน

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน อาจมีสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์บางประการที่ส่งผลให้คณะผู้ปกครองรัฐไทย ตัดสินใจเลือกใช้นโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่มีลักษณะพิเศษบางอย่าง อาทิ แรงกดดันจากรัฐมหาอำนาจตะวันตกที่อาจทำให้รัฐบาลไทยหันมาเลือกใช้นโยบายถ่วงดุลอำนาจ โดยดึงจีนกับรัสเซียเข้ามาคานอิทธิพลกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

พร้อมอาจหันมาเลือกใช้นโยบายผ่อนปรนในฐานะแผนสำรอง หากถูกบีบคั้นข่มขู่จากรัฐมหาอำนาจอย่างรุนแรง โดยแบบแผนเช่นว่า อาจมีความเกี่ยวเนื่องกับการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเมืองภายใน เช่น การคลายความเข้มงวดกับพลเมืองและขั้วอำนาจบางกลุ่มเพื่อลดแรงกดดันภายนอก แต่หากคณะผู้ปกครองคิดที่จะขยายฐานอำนาจระยะยาว การปรับปรุงหลักนิยมทางทหารตลอดจนการปฏิรูประบบป้องกันประเทศเพื่อเตรียมตั้งรับภัยคุกคามจากมหาอำนาจ อาจเกิดขึ้นได้เพื่อเสริมสร้างความคงทนทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกองทัพ

แต่กระนั้น ในส่วนนโยบายต่อรัฐเพื่อนบ้านกลับค่อยๆ มีแนวโน้มที่หันเหไปสู่ความร่วมมือมากขึ้น เช่น นโยบายเผชิญหน้าทางทหารหรือการสร้างวงกันชน มิว่าจะเกิดขึ้นจากฝั่งไทยหรือฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน อาจมีระดับลดน้อยถอยลงพร้อมถูกแทนที่ด้วยนโยบายการอยู่ร่วมกันโดยสันติและนโยบายรวมกลุ่มบูรณาการใต้ประชาคมอาเซียน

จุดเปลี่ยนดังกล่าว อาจทำให้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านมีความแน่นแฟ้นชิดเชื้อกันมากขึ้น จนกลายเป็นกรอบความร่วมมือหลักทางเศรษฐกิจ พร้อมค่อยๆ แปลงสภาพเป็นเกราะคุ้มกันที่สามารถช่วยประกันความมั่นคงทางอำนาจให้กับรัฐบาลไทย (ไม่มากก็น้อย) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในและประเพณีการทูตของอาเซียนที่ยังคงให้กับสำคัญกับสายสัมพันธ์แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

ท้ายที่สุด น่าเชื่อว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ ที่มีทั้งการประสานสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและการโยกตัวเข้าหารัฐมหาอำนาจอย่างจีนกับรัสเซีย พร้อมๆ กับการปรับตัวเชิงยุทธศาสตร์เพื่อรับแรงกดดันจากโลกตะวันตกรวมถึงตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศอื่นๆ คงเป็นบทสะท้อนที่ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการทูตของรัฐบาลไทย ซึ่งมีทั้งการดำเนินนโยบายแบบรวมกลุ่มบูรณาการ ตลอดจนการดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจ หรือแม้กระทั่งการผลิตนโยบายผ่อนปรนในยามฉุกเฉิน ซึ่งย่อมแสดงออกถึงจินตภาพทางการทูตการทหารของคณะผู้ปกครอง ที่อาจจะมิค่อยมั่นคงนักในทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (แต่ก็มิใช่ว่าจะไร้ซึ่งแนวทางแก้ไขทางการทูตของฝ่ายรัฐบาลไปเสียทีเดียว)

ซึ่งหากย้อนดูกรณีศึกษาเปรียบเทียบอื่นๆ เช่น การเชื่อมโยงระหว่างลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่กับลัทธิล่าอาณานิคมในสมัยรัชกาลที่สี่ รัชกาลที่ห้า หรือ กรณีของรัฐบาลทหารพม่าที่เคยถูกคว่ำบาตรจากโลกตะวันตก จนต้องพึ่งพาจีนและรัสเซียทั้งในทางการเมืองระหว่างประเทศและความช่วยเหลือทางการทหาร อาจกลายเป็นภาพจินตนาการเชิงยุทธศาสตร์ที่เริ่มค่อยๆ ส่งผลกระทบต่อมโนทัศน์ทางการทูตและการจัดทำนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


ดุลยภาค ปรีชารัชช


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค