Skip to main content

 

ละครเรื่อง 'ข้าบดินทร์' ได้ช่วยเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์สยาม-เวียดนาม ในช่วงราชวงศ์จักรีและราชวงศ์เหงวียน (Nguyễn) เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการเริ่มเรื่องด้วยการกล่าวถึงการลี้ภัยทางการเมืองของนักต่อสู้เวียดนาม 'เหงวียน ฟุก แอ๋ง/ Nguyễn Phúc Ánh' หรือที่คนไทยรู้จักในนาม 'องเชียงสือ' พร้อมมีการกล่าวถึง การยุทธ์อันเข้มข้นยาวนาน ระหว่างสยาม-ญวน ในสมรภูมิกัมพูชา หรือที่เรียกกันว่า 'อานามสยามยุทธ' ซึ่งถือเป็นวีรกรรมอันลือเลื่องของเจ้าพระยาบดินทรเดชา แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพสยาม

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 รัฐจารีตเวียดนามประสบปัญหาการเมืองภายใน โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มอำนาจทางเหนือใต้อิทธิพลตระกูลจิ่ง (Trịnh) กับกลุ่มอำนาจทางใต้ของตระกูลเหงวียน ซึ่งแม้ขุนศึกทั้งสองตระกูลจะประกาศความจงรักภักดีต่อราชวงศ์เล (Lê) หากแต่ชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้แย่งชิงอิทธิพลกันเองจนทำให้บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย พร้อมนำไปสู่การลุกฮือของกบฏชาวนาที่เรียกว่า 'กบฏเตยเซิน (Tây Sơn)' ซึ่งได้ปลุกระดมชาวบ้านจำนวนมากให้ออกมาสู้รบกับตระกูลที่มีอำนาจทั้งสอง

เวลาต่อมา กลุ่มเตยเซินสามารถยึดเมืองไซ่ง่อน พร้อมเอาชนะอิทธิพลของตระกูลทั้งสอง จนสามารถเถลิงอำนาจขึ้นบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเวลาหนึ่ง กระนั้น องเชียงสือ ก็ได้พาลี้พลตระกูลเหงวียนส่วนหนึ่งหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์สยาม พร้อมนำกำลังของสยามและฝรั่งเศส กลับไปปราบพวกเตยเซิน จนสามารถสถาปนาตนขึ้นเป็นพระจักรพรรดิยาลอง/ซาลอง (Gia Long) และตั้งราชวงศ์เหงวียนขึ้นปกครองรัฐเวียดนามในปี ค.ศ.1802 พร้อมโยกย้ายราชธานีจากฮานอยลงมาที่เว้ ซึ่งเป็นจุดหักเหทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เวียดนามสามารถรวมกลุ่มอำนาจทางเหนือ-ใต้ให้เป็นอันหนึ่งกันเดียวกัน จนกลายมาเป็นมหาอำนาจคู่แข่งสยามในสมรภูมิลาวและกัมพูชาในเวลาต่อมา

กระนั้น ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรุงเทพและเว้ นับแต่สมัยรัชกาลที่ 1 กับพระจักรพรรดิซาลอง หรือ องเชียงสือ กลับต้องชะงักงันลงเนื่องด้วยการสู้รบที่ยาวนานเกือบ 14 ปี ในสมรภูมิกัมพูชา ซึ่งเป็นการแข่งขันถ่วงดุลอำนาจระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง โดยมีกัมพูชาเป็นรัฐกันกระทบ โดยตามความเห็นของนักวิชาการด้านเวียดนามศึกษา อย่าง มนธิรา ราโท ได้อธิบายว่าเวียดนามมีความหวาดระแวงต่อนโยบายมุ่งตะวันออก หรือ ดง เตี๋ยน (Đông Tiến) ของรัฐสยาม ที่เน้นขยายปริมณฑลอำนาจเข้าไปในดินแดนลาวและกัมพูชานับแต่สมัยพระเจ้าตากสิน ฉะนั้น ภาพของสยามในทางประวัติศาสตร์เวียดนาม จึงเปรียบเสมือนกับรัฐล่าดินแดนที่มีแสนยานุภาพคุกคามการเติบโตรุ่งเรืองของอาณาจักรญวน

ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.1833 จนถึงต้นปี ค.ศ.1847 ได้เกิดอานามสยามยุทธขึ้นในแผ่นดินกัมพูชา ซึ่งการเผชิญหน้ากันอย่างเข้มข้นได้สร้างความเสียหายทั้งไพร่พลและทรัพย์สินให้กับสยาม เวียดนาม และกัมพูชา โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพบกยกกองทัพไปตีเขมรและหัวเมืองญวนลงไปถึงเมืองไซง่อน และให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่ทัพเรือไปตีหัวเมืองเขมรและญวนตามชายฝั่งทะเล โดยไปสมทบกับกองทัพบกอีกต่อหนึ่ง

หากแต่ด้วยแสนยานุภาพที่ใกล้เคียงกันระหว่างสยามกับญวน รวมถึงสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนของเขมร จึงทำให้สงครามต้องยืดเยื้อมาถึง 14 ปี ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างไม่สามารถรบชนะอีกฝ่ายได้อย่างเด็ดขาด จนทำให้ท้ายที่สุด ต้องทำสนธิสัญญาสงบศึก โดยสยามยังคงไว้ซึ่งสิทธิในการสถาปนากษัตริย์เขมร แต่เขมรก็ยังต้องส่งเครื่องบรรณาการให้แก่ญวนทุกๆ 3 ปี


ดุลยภาค ปรีชารัชช


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร