Skip to main content

 

บทความนี้มีเป้าหมายหลักในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์อุยกูร์ผ่านบริบทเอเชียกลาง (Central Asia) โดยมองว่าเขตปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์ใต้ร่มอธิปไตยจีน มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนความเชื่อมโยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับเอเชียกลาง ซึ่งมีสถานะเป็นภูมิภาคหัวใจแห่งยูเรเซีย (Eurasian Heartland) พร้อมส่งผลกระทบต่อการขับเคี่ยวเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจทางการเมืองโลก

ในมิติภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ แผ่นดินเอเชียกลางมักประกอบด้วย ภูมิประเทศแบบเทือกเขาสูง ทะเลทราย และทุ่งหญ้าเสตปป์ (Steppe) พร้อมเป็นจุดเชื่อมต่อทางอารยธรรมระหว่างยุโรปกับเอเซีย (ยูเรเซีย: Eurasia) ตลอดจนเป็นจุดเชื่อมโยงทางศาสนาระหว่างพุทธมหายาน คริสต์ออร์โธดอก และโลกอิสลาม โดยดินแดนดังกล่าวเคยเป็นศูนย์กลางการค้าภาคพื้นทวีป ผ่านเส้นทางสายไหม (Silk Road) และเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักที่กองทัพตาตาร์ของจักรวรรดิมองโกล ใช้เป็นฐานพิชิตตะวันออกกลาง รัสเซีย และยุโรปตะวันออก

การปรากฏตัวของเส้นทางการค้าในอดีต ซึ่งเริ่มจากเมืองฉางอันของจีน ตัดผ่านเอเซียกลางเข้าสู่ยุโรป และลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่งผลให้เมืองโบราณตอนกลางยูเรเซีย กลายเป็นจุดขนถ่ายสินค้าทางบกและการเคลื่อนทัพของมหาอำนาจยุคโบราณ เช่น การเคลื่อนกำลังของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาเซโดเนียเพื่อยึดครองแคว้นแบคเทรีย (Bactria-อัฟกานิสถานปัจจุบัน) หรือความรุ่งเรืองของเมืองซามาร์กาน (Samarghan-อุซเบกิสถาน) ในฐานะชุมทางสายไหมที่เชื่อมโยงจีนและตะวันออกกลางเข้ากับหัวเมืองทะเลสาบแคสเปียน และทุ่งหญ้าเสตปป์แห่งจักรวรรดิมัสโกวี (Muscowy-รัสเซียยุคโบราณ)

ขณะเดียวกัน ดินแดนซินเจียงอุยกูร์ที่ตั้งอยู่ตรงปลายตะวันออกของเอเชียกลาง ยังมีความสำคัญต่อทฤษฎีภูมิรัฐศาสตร์โลก เมื่อแมคคินเดอร์ (Mackinder) ได้กำหนดให้แผ่นดินตอนกลางของยูเรเซียมีฐานะเป็นจุดหัวใจทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบอย่างล้ำลึกต่อแบบแผนการครองความเป็นจ้าว (Hegemony) โดยชาติใดก็ตามที่สามารถแผ่อิทธิพลเหนือยุโรปตะวันออก จะสามารถครอบครองดินแดนหัวใจยูเรเซีย พร้อมพุ่งทะยานเข้าสู่ตำแหน่งเอกอัครอภิมหาอำนาจการเมืองโลก ซึ่งทฤษฏีดินแดนหัวใจ (Heartland) ของแมคคินเดอร์ จัดเป็นแผนความคิดทางการยุทธ์ที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมการแข่งขันแย่งชิงอำนาจทางการเมืองการทหารระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น

นอกจากนั้น หลังการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลในบริเวณแอ่งต่ำรอบทะเลสาบแคสเปียน (Caspian Lowland) รวมถึงการพัฒนาทางหลวงสายเอเชียจากแนวเส้นทางสายไหมในอดีต ได้ทำให้เอเชียกลางแปลงสภาพเป็นจุดวาบไฟระหว่างประเทศที่มหาอำนาจการเมืองโลก อย่าง สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย และสหภาพยุโรปต่างพยายามแข่งขันแผ่อิทธิพลเข้าครอบงำ โดยเฉพาะการลงทุนกิจการกลั่นน้ำมัน และความมั่นคงพลังงาน จนทำให้เขตซินเกียงอุยกูร์มีความสัมพันธ์แวดล้อมกับรัฐเอเชียกลางอื่นๆ อาทิ คาซัคสถาน และเติร์กเมนิสถาน ในฐานะจุดหัวใจของเครือข่ายพลังงานโลก

สำหรับท่าทีของสหรัฐอเมริกาในสมรภูมิเอเชียกลาง การวางกำลังทหารในอัฟกานิสถานได้เอื้อประโยชน์ต่อการสร้างฐานกระโจนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Springboard) เพื่อแผ่อิทธิพลเหนือทาจิกิสถาน คีร์กิซสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน โดยเห็นได้จากการซ้อมรบและการขยายกำลังบางส่วนของสหรัฐ บนดินแดนทั้งสี่ประเทศเพื่อใช้ขยายแนวร่วมกดดันรัสเซีย อิหร่าน และ จีน

อนึ่ง การเพิ่มจำนวนค่ายทหารตามเส้นทางถนนเอเชียของสหรัฐ ยังทำให้สหรัฐสามารถถ่วงดุลได้ดีกับจีนที่ใช้ซินเจียงอุยกูร์เป็นปากทางส่งออกสินค้าเข้าสู่ตลาดเอเชียกลางและยุโรป ฉะนั้น การแผ่อำนาจเหนือรัฐที่ตั้งประชิดพรมแดนตะวันตกของจีน จึงถือเป็นการผลิตยุทธการตีตรอกจีนของฝ่ายสหรัฐ

ขณะเดียวกัน ซินเจียงและรัฐเอเชียกลางยังมีนัยสำคัญต่อการเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยของสหรัฐ โดยสภาวะแวดล้อมพื้นฐานของ เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน หรือซินเจียงของจีน จัดเป็นเขตยากจนและประสบปัญหาพัฒนาการทางการเมืองที่มักได้รับมรดกจากทั้งหลักจารีตอิสลาม ลัทธิคอมมิวนิสตร์และวัฒนธรรมการปกครองรวมศูนย์ของชนชั้นนำทุ่งหญ้าเสตปป์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเห็นว่าเป็นภารกิจสำคัญของสหรัฐในการเผยแพร่ประชาธิปไตย ทุนนิยม และสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นฐานในการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ควบคู่กับไปกับการพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาคดังกล่าว

ในอีกมุมหนึ่ง โครงสร้างการเมืองของซินเจียงและรัฐเอเชียกลาง ยังเกิดจากการผสมผสานระหว่างระบอบอิสลามสายกลางตามแบบตุรกี เช่น กลุ่มรัฐเชื้อสายเติร์ก ในอุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน กับระบอบอิสลามแบบสาธารณรัฐตามหลักนิกายชีอะห์ของอิหร่าน เช่น ดินแดนตอนใต้ของเติร์กเมนิสถาน โดยสหรัฐฯ ได้พยายามสนับสนุนการปกครองแบบตุรกี และผลักดันการปกครองแบบอิหร่านออกไป ฉะนั้น การประสานท่าทีร่วมกับตุรกีซึ่งเป็นรัฐที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการเมืองอิสลามในเอเชียกลางและซินเกียง จึงเป็นหลักปฏิบัติทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ

ส่วนท่าทีของจีนและรัสเซีย อาจกล่าวได้ว่าแม้จีนจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรัสเซียในเอเซียกลาง เช่น การแข่งขันแผ่อิทธิพลเหนือกลุ่มนักธุรกิจและแหล่งสัมปทานน้ำมัน ทว่า ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนได้ส่งผลให้จีนกลายเป็นพันธมิตรสำคัญที่มีผลต่อความอยู่รอดของรัสเซียในการถ่วงดุลกับสหรัฐฯ

การดำเนินนโยบายมองไปทางตะวันตกของจีน โดยใช้มณฑลซินเจียงอุยกูร์เป็นฐานขยายอำนาจทำให้ภาพเคลื่อนไหวของเส้นทางสายไหมในอดีตกลับมาปรากฏอีกครั้ง โดยจีนได้ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อท่อก๊าซและแนวถนนสายเอเซียระหว่างยุโรป ผ่านดินแดนยูเรเซียตอนกลาง เข้าสู่เอเซียตะวันออก และมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้น ผลประโยชน์ทางการค้าและยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลตามประเพณีของรัสเซีย จึงทำให้ทั้งจีนและรัสเซีย มีแนวนโยบายต่างประเทศที่พร้อมจะร่วมมือกันบางส่วนทั้งในเรื่องเครือข่ายพลังงาน ความมั่นคง และการผนึกกำลังถ่วงดุลกับสหรัฐอเมริกา

ในอีกทางหนึ่ง ทางการจีนและชนเชื้อสายฮั่นมักหวาดระแวงองค์กรแบ่งแยกดินแดนซินเจียงและชนเชื้อสายเติร์ก ซึ่งมีทั้งคนพื้นถิ่นและผู้อพยพภายนอกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตปกครองซินเจียงมากขึ้น โดยหากกลุ่มปฏิปักษ์ต่อปักกิ่ง ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐเอกราชอิสระซินเจียง อาจส่งผลร้ายต่ออำนาจจีนหลายประการ ทั้งในแง่ขนาดเนื้อที่และคลังทรัพยากรมหาศาลในซินเจียงที่จีนต้องสูญเสีย หรือผลกระเทือนอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นการกระด้างกระเดื่องของดินแดนทิเบต ฮ่องกง และมองโกเลียใน ตลอดจนปัญหาการรวมไต้หวันในอนาคต

นอกจากนั้น ประเด็นซินเจียงอุยกูร์ยังเกี่ยวพันกับการเข้ามามีอิทธิพลของตุรกีและเติร์กเมนิสถานผ่านเครือข่ายประชาชนเชื้อสายเติร์ก และตัวแบบการปกครองของตุรกีซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักเคลื่อนไหวซินเจียงบางส่วน โดยสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างตุรกีกับสหรัฐอเมริกาในกรอบนาโต้ อาจส่งเสริมให้สหรัฐฯ สามารถเข้ามาแผ่อิทธิพลโลดแล่นคุกคามชายแดนตะวันตกรอบนอกของจีน ซึ่งถือเป็นจุดชายขอบที่ไกลจากอำนาจปักกิ่ง รวมถึงเป็นแดนนอกทางประวัติศาสตร์ที่มีรากฐานประเพณีสัมพันธ์กับวัฒนธรรมเอเชียกลางและแตกต่างจากอารยธรรมเผ่าฮั่นอย่างสิ้นเชิง เพราะนั้น เขตซินเจียงอุยกูร์จึงมีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของจีนอย่างล้ำลึก

จากบทวิเคราะห์ที่นำแสดงมา การมองปัญหาอุยกูร์ผ่านบริบทเอเชียกลางและมหายุทธศาสตร์โลก (Global Grand Strategy) อาจช่วยฉายภาพความซับซ้อนของซินเจียงที่พัวพันอยู่กับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจได้ลึกซึ้งขึ้น โดยเฉพาะการขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งขนาดใหญ่ในปมปัญหาอุยกูร์


ดุลยภาค ปรีชารัชช


หนังสืออ่านประกอบเพิ่มเติม :

Akiner, Shirin. The Caspian: Politics, Energy and Security. London: Routledge, 2004.
Allworth, Edward A. Central Asia: A Historical Overview. Durham: Duke University Press, 1994.
Cohen, Ariel. Eurasia in Balance: The Us and the Regional Power Shift. Ashgate Publishing, Ltd., 2005.
Cummings, Sally N. Oil, Transition and Security in Central Asia. London: Routledge, 2003.
Grundy-Warr, Carl. Eurasia. London: Routledge, 1994.
Whitfield, Susan. The Silk Road: Trade, Travel, War and Faith. London: Serindia Publications, Inc., 2004.
 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร