Skip to main content

 

งานศึกษาเกี่ยวกับการเมืองเอเชียอาคเนย์ นับว่ามีพลังมิใช่น้อยต่อการขยับมุมมองด้านรัฐศาสตร์ในระดับโลก เช่น หนังสือของ Benedict Anderson เรื่อง Java in a Time of Revolution (2005) ซึ่งนำประสบการณ์ปฏิวัติในอินโดนีเซียราวปี ค.ศ. 1944-46 มาเป็นกรณีศึกษาหลัก โดย Anderson มองว่า การลุกฮือของนักชาตินิยมชวา มิได้เกิดจากพลังปฏิวัติทางชนชั้น (Class Revolution) หากแต่เกิดจากการปรับยุทธศาสตร์ของกลุ่มเยาวชนหนุ่มที่สร้างแนวร่วมกับกองทัพและพรรคการเมือง จนประสบความสำเร็จในการสร้างรัฐอินโดนีเซียสมัยใหม่

ขณะที่หนังสือของ Mary Callahan เรื่อง Making Enemies: War and State Building in Burma (2003) ได้พยายามลากจุดเชื่อมโยงระหว่างสงครามกับการสร้างรัฐผ่านกรณีศึกษาของทหารพม่า ซึ่ง Callahan มองว่า การทำสงครามอย่างโชกโชนระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยได้ส่งผลให้กองทัพพม่าสามารถสร้างสมประสบการณ์จนแข็งแกร่ง กลายเป็นกระดูกสันหลังหลักในกระบวนการสร้างรัฐ

จากการร้อยเรียงผลงานของ Anderson กับ Callahan จุดที่น่าสนใจ จึงอยู่ตรงที่ว่า การปฏิวัติกับสถาบันทหาร มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างไร และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างรัฐอย่างไรได้บ้าง

ต่อข้อกรณีดังกล่าว Yoshihiro Nakanishi นักวิชาการจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ได้สร้างสมมุติฐานใหม่ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Strong Soldiers, Failed Revolution: The State and Military, 1962-88 (2013) โดยเขามองว่า ความล้มเหลวของงานปฏิวัติเพื่อสร้างรัฐสังคมนิยมใหม่ในสมัยนายพลเนวิน ได้นำไปสู่ความทนทานแข็งแกร่งของระบอบเผด็จการทหารอำนาจนิยมในพม่า (A failed revolution made a strong military regime) ซึ่งเป็นผลกระทบที่แม้นายพลเนวินเองก็อาจคาดไม่ถึงว่าจะทำให้พม่ากลายเป็นรัฐทหารที่คงทนถาวรที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในหนังสือเล่มนี้ Nakanishi ได้พุ่งจุดสนใจไปที่กลยุทธ์การแทรกเจ้าหน้าที่ทหารประจำการเพื่อเข้าไปกินตำแหน่งสำคัญในพรรครัฐบาลและในโครงสร้างบริหารราชการแผ่นดิน จนทำให้ทหารพม่ามีทักษะที่เจนจัดช่ำชองในสมรภูมิทางการเมือง แต่กระนั้น ด้วยเหตุฝืดเคืองทางเศรษฐกิจซึ่งนำมาสู่การแพร่ระบาดลุกฮือของพลังประชาชนในปี ค.ศ. 1988 ได้ทำให้ระบอบคณาธิปไตยเนวินต้องถูกโค่นล้มลงอย่างฉับพลัน

ทว่า มรดกการแทรกทหารเข้าไปอยู่ในโครงสร้างรัฐอย่างเหนียวแน่นในสมัยเนวิน กลับทำให้กองทัพพม่ามีพลังในการโต้กลับคู่ปรปักษ์จนสามารถกวาดล้างพลังประชาชนได้อย่างราบคาบ พร้อมหันมาสถาปนาระบอบทหารที่มีสมรรถนะเอกอุในการปกครองรัฐพม่าอย่างยาวนาน จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2010 (อันนำมาสู่การเลือกตั้งและการสถาปนาประชาธิปไตยใต้การบริหารของรัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดใหม่)

ฉะนั้น เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง 'การปฏิวัติ' กับ 'ชายบนหลังม้า' (Man on Horseback) จะมีความเข้มข้นโดดเด่นซักเพียงไร หนังสือของ Nakanishi อาจช่วยไขความกระจ่าง พร้อมช่วยผลักดันให้งานศึกษาเชิงประจักษ์ (Empirical Study) ของนักวิชาการด้านการเมืองเปรียบเทียบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถสร้างชุดสมมุติฐานใหม่ๆ ที่ยังประโยชน์ต่อแวดวงรัฐศาสตร์โลก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


ดุลยภาค ปรีชารัชช


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร