Skip to main content

 

ผ่านมาแล้ว สำหรับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ณ กรุงเนปิดอว์ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2558 อันเป็นวันลงนามหยุดยิงระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์กับกองกำลังชนชาติพันธุ์ทั้ง 8 กลุ่ม ซึ่งเป็นการกรุยทางสู่สันติภาพก่อนการเลือกตั้งที่จะมีถึงในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้


ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ผมได้มีโอกาสเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศสันติภาพ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนนานาทรรศนะกับกลุ่มผู้นำการเมืองกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะ พลโทเจ้ายอดศึก ผู้นำสภากอบกู้รัฐฉาน และบรรดาชนชั้นนำไทใหญ่อื่นๆ อาทิ เจ้าหาญ ณ ยองห้วย และเจ้าคืนใส ใจเย็น

กระนั้น แม้การหยุดยิงครั้งนี้ จะเป็นปฐมบทสำคัญของการสร้างสันติภาพและการบูรณาการชาติพันธุ์ในเมียนมาร์ หากแต่ก็มีข้อพึงพิจารณาอีกหลายประการ โดยมีประเด็นหลักดังนี้

1. การหยุดยิงครานี้ ได้มีการเชิญนักการทูต สื่อมวลขนและตัวแทนองค์กรจากหลายประเทศ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ฉะนั้น รัฐบาลเมียนมาร์จึงได้รับผลดีทั้งในเชิงภาพลักษณ์และการวางกรอบพัฒนาสันติภาพ หากแต่ องค์กรชนกลุ่มน้อยที่ร่วมลงนาม ก็อาจได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลก เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันในการชลอการโจมตีทางทหารจากทางการเมียนมาร์ เช่นกัน

แต่ถึงอย่างนั้น อุปสรรคสำคัญคงอยู่ที่มุมคิดและวิถีปฏิบัติของชนชั้นนำทหารเมียนมาร์ ที่ยังเชื่อว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ด้วยการใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มปรปักษ์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอกลิ่มให้ศัตรูหมดพิษสงในการต่อกรกับส่วนกลาง ซึ่งนับเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อความขัดแย้งในบางมิติระหว่างรัฐบาลกลางที่เข้าร่วมลงนามกับชนกลุ่มน้อย กับทหารเมียนมาร์ที่ปฏิบัติการในพื้นที่ โดยเฉพาะตามกองทัพภาคต่างๆ ส่วนทางด้านชนกลุ่มน้อย ได้ปรากฏปัญหาเสียงแตกขึ้นอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะ ท่าทีที่เห็นด้วยและคัดค้านการหยุดยิงกับรัฐบาลภายในองค์กะเหรี่ยง KNU หรือ ระหว่าง 8 กลุ่มที่ร่วมลงนาม กับอีก 12 กลุ่มชาติพันธุ์ ที่ยังคงไม่ร่วมลงนามหยุดยิงในครานี้ เช่น กองกำลังสหรัฐว้า

2. หากพลิกดูประวัติศาสตร์การหยุดยิงในเมียนมาร์ นับแต่สมัยพลเอกอาวุโสตานฉ่วย ซึ่งมีการหยุดยิงกับทั้งกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ตลอดจนกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ พบว่า กลยุทธ์หยุดยิง มักมีลักษณะเป็นเกมต่อรองเวลาเพื่อให้แต่ละฝ่ายได้หยุดพักการสู้รบแล้วหันไปฟื้นฟูพละกำลังทหารหรือเตรียมการเคลื่อนไหวทางการเมืองการทูตอื่นๆ เสียมากกว่า จนเมื่อแต่ละฝ่ายมีความพร้อมอย่างเต็มอัตรา จึงค่อยหันมาสัประยุทธ์กันใหม่ ฉะนั้น วงรอบวัฏจักรการต่อสู้ อาจปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อแม้จะมีสัญญาสันติภาพเกิดขึ้นก็ตามที

3. เนื้อหาการหยุดยิงครั้งนี้หรือในอนาคต ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการพูดถึง 'ประชาธิปไตย' 'สหพันธรัฐ' และ 'การจัดการความขัดแย้งทางชาติพันธุ์' ทว่า ความรู้ความเข้าใจหรือการเข้าถึงสารัตถะในแนวคิดการเมืองดังกล่าว ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างมีการตีความที่คลาดเคลื่อนกันในหลายจุด เช่น การปรับสมดุลระหว่าง 'สหพันธรัฐรวมศูนย์' (ตามความต้องการของชนชั้นนำพม่าสายอนุรักษ์นิยม) กับ 'สหพันธรัฐที่แท้จริง' (ตามความต้องการของชนกลุ่มน้อยหลายๆ กลุ่ม) หรือ การจัดหน่วยบริหารดินแดนของรัฐชาติพันธุ์ ซึ่งแนวคิดการขยายเขตปกครองปะโอ หรือ การตั้งรัฐว้า อาจสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มพลังอำนาจในรัฐฉาน ที่มองว่า รัฐบาลเมียนมาร์อาจร่วมมือกับพหุชาติพันธุ์อื่นๆ ในการตัดทอนอาณาเขตรัฐเมืองไตบนพื้นฐานของนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง

กล่าวอย่างย่นย่อ หลังการเจรจาหยุดยิงครั้งนี้ คงมีประเด็นท้าทายอยู่อีกมากสำหรับรัฐบาลเมียนมาร์และชนชาติพันธุ์ ซึ่งสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ได้สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันอย่างเข้มข้นระหว่าง การสร้างสันติภาพให้อยู่ในกรอบสถาบันและหลักกฏหมายที่มีเสถียรภาพ กับการสร้างสันติภาพให้อยู่ในโครงสร้างอำนาจการต่อรองที่มักผันผวนรวนเรตามแต่สถานการณ์

ฉะนั้น สันติภาพ-สหพันธรัฐ และประชาธิปไตยในเมียนมาร์ในอนาคต จึงยังคงเต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบสัจนิยมและสันตินิยมระคนปนเปกันไป ซึ่งทำให้ การเมืองเมียนมาร์ มีทั้งความพยายามที่จะประนีประนอมทางการเมืองกับการใช้ความรุนแรงเข้ายุติปัญหาในเวลาเดียวกัน

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร