Skip to main content

 

หลายปีก่อน มีคนไทยจำนวนมิน้อยที่มองพม่า (เมียนมา) ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีความล้าหลังทางเศรษฐกิจ พร้อมถูกโดดเดี่ยวจากโลกตะวันตก แถมมีพัฒนาการทางการเมืองที่เชื่องช้าอันเป็นผลจากความเข้มงวดเขม็งเกลียวของระบอบเผด็จการทหาร

กระนั้นก็ตาม นับแต่การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบการเมืองลูกผสมแบบกึ่งประชาธิปไตยใต้การบริหารปกครองของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง จนถึงการคว้าชัยชนะแบบขาวสะอาดของนางอองซาน ซู จี ในการเลือกตั้งที่พึ่งผ่านมาเมื่อปลายปี ค.ศ. 2015 คงมีคนไทยอีกไม่น้อยที่เริ่มค่อยๆ หันมาใส่ใจกับความก้าวหน้าทางการเมืองของเพื่อนบ้านตะวันตกพร้อมหันกลับมามองการเมืองไทยด้วยจิตใจที่มิค่อยจะสดใสชื่นบานมากนัก

ในทางการเมืองเปรียบเทียบ แม้มรดกอำนาจนิยมและอิทธิพลกองทัพในการเมืองระดับชาติ จะยังคงเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประชาธิปไตย หากแต่ พม่าระยะเปลี่ยนผ่านใต้พลังขับเคลื่อนของนางซูจีและว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ (ซึ่งมาจากพรรค NLD) อาจแปรสัณฐานเป็นรัฐไล่กวดประชาธิปไตยซึ่งมีคุณลักษณะอย่างน้อย 6 ประการ ที่อาจสะท้อนถึงความรุ่งเรืองของพลังเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจนมีผลกระตุ้นต่อกระบวนการปฏิรูปการเมืองไทยในเชิงเปรียบเทียบ  สำหรับจุดเด่นของการเมืองพม่าทั้ง 6 ประการ ได้แก่

1. พม่า คือ ตัวแบบการพัฒนาประชาธิปไตยในรัฐโลกที่สามที่เริ่มจากการปฏิรูปโดยชนชั้นนำทหาร หากแต่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กลับทำให้เกิดการคลายตัวของระบอบเผด็จการพร้อมค่อยๆ กระตุ้นให้กลิ่นอายแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยสามารถก่อตัวขึ้นได้ในระบบการเมือง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ประชาธิปไตยในพม่ามีลักษณะเปลี่ยนผ่านจากบนลงล่าง (Top-Down Transition) หากแต่ก็เริ่มค่อยๆ ปล่อยให้การเปลี่ยนผ่านจากล่างขึ้นบน (Bottom-Up Transition) จนทำให้เกิดการคลายตัวของโครงสร้างการเมืองที่เข้มงวดอยู่บางระยะ ซึ่งทำให้ท้ายที่สุด พม่าอาจไต่ระดับไปถึงจุดสมดุลที่แนวคิดเรื่องเสรีภาพตลอดจนการแข่งขันและการมีส่วนร่วมทางการเมืองสามารถเดินทางร่วมกับแนวคิดเรื่องหน้าที่และอธิปไตย/ความมั่นคงแห่งชาติได้อย่างลงตัว

2. พม่าได้สร้างภูมิคุ้มกันรัฐประหารและการสะกดพลังปฏิวัติประชาชนที่รุนแรงผ่านการสถาปนารูปแบบรัฐบาลกึ่งทหารกึ่งพลเรือน โดยขมวดให้กองทัพกับพลเรือนสามารถแบ่งอำนาจบริหารประเทศร่วมกันแบบถูกต้องตามกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น การกันสัดส่วนร้อยละ 25 ของทหารในโครงสร้างรัฐสภาแห่งชาติ การคงให้ทหารมีบทบาทกำหนดนโยบายสาธารณะบางอย่างผ่านการควบคุมกระทรวงกลาโหม มหาดไทยและกิจการชายแดน หรือการเปิดโอกาสให้ 'National Politics' กับ 'Party Politics' สามารถรอมชอมถ่วงดุลกันได้ โดยนักการเมืองจะมีหน้าที่ในการแข่งขันส่งตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศตามวิถีประชาธิปไตย ขณะที่กองทัพยังคงทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ชาติและค้ำจุนความมั่นคงรัฐในช่วงเปลี่ยนผ่าน

3. พม่าเริ่มให้ความสำคัญกับหลักรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) ซึ่งประกอบด้วย การรับรองคุ้มครองเสรีภาพประชาชน การสร้างเสถียรภาพรัฐบาลและการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ โดยถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.2008 จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพของรัฐที่มากจนเกินไป หากแต่สังคมการเมืองพม่ายุคประชาธิปไตยเบ่งบานก็ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยแรงรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญเชิงสร้างสรรค์อยู่เป็นระยะ ซึ่งมีอยู่มิน้อยที่แสดงถึงข้อเรียกร้องให้มีการป้องกันควบคุมอำนาจรัฐพร้อมยับยั้งมิให้มีการละเมิดสิทธิประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการรวบอำนาจบริหารจัดการรัฐไว้ที่ประธานาธิบดีหรือผู้บัญชาการทหารสูงสุด

4. พม่าเริ่มมีนวัตกรรมทางการปกครองใหม่ๆ ในการจัดการความขัดแย้งและสร้างความปรองดองแบบสันติวิธี โดยเฉพาะแนวคิดสหพันธรัฐนิยม (Federalism) ซึ่งแบ่งรัฐบาลพม่าออกเป็นสองส่วน คือ รัฐบาลกลางที่กรุงเนปิดอว์กับรัฐบาลมลรัฐในรัฐชาติพันธุ์และภาคพม่าแท้อีกทั้งหมด 14 แห่ง ซึ่งสารัตถะของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ปั้นให้พม่ามีรูปการปกครองแบบกึ่งสหพันธ์ (Quasi Federation) ซึ่งแม้จะมีการรวมอำนาจบางส่วนไว้ที่ส่วนกลาง หากแต่ก็มีการกระจายอำนาจและมอบ 'Autonomy' ให้กับหน่วยบริหารส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นที่ก้าวหน้ากว้างไกลกว่ายุคทหารที่มักมีแต่การจัดการปกครองผ่านหลักเอกภาพแบบรัฐเดี่ยว

ขณะเดียวกัน การพัฒนาเปลี่ยนผ่านไปสู่สหพันธรัฐ (Federalization) ในพม่ายังอาจเชื่อมโยงสัมพันธ์กับการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย (Democratization) และการจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management) หลากหลายแง่มุม เช่น การแบ่งหน่วยดินแดน/ประชากรให้เล็กลงและละเอียดถี่ถ้วนขึ้นตามหลักสหพันธรัฐที่อาจส่งผลดีต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเข้ามากำหนดนโยบายสาธารณะของภาคประชาชนรวมถึงการระงับความขัดแย้งเชิงทรัพยากรในระดับชุมชน จนทำให้สิ่งที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) และแม้กระทั่ง ประชาธิปไตยที่แบ่งอำนาจแบบถัวเฉลี่ย (Consociational Democracy) อาจสำเร็จเป็นจริงขึ้นมาได้ในบางพื้นที่ (หากแต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกซักพักใหญ่ๆ)

5. พม่าใต้การบริหารของอองซาน ซู จี และพรรค NLD ในอนาคตอันใกล้ อาจเป็นรัฐที่มีทั้งการปฏิรูปประชาธิปไตยและการปฏิรูปธรรมาภิบาลที่น่าประทับใจ โดยเฉพาะการขจัดพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง การสร้างระบบบริหารราชการแผ่นดินที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และสภาวะพร้อมรับผิดของรัฐบาลหากเกิดความผิดพลาดในการปกครองรัฐในทางมิชอบ

ซึ่งจากแนวคิดการเมืองของนางซู จี และแรงรณรงค์การเมืองของสมาชิกพรรค NLD ซึ่งมักให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและการแข่งขันทางการเมืองที่ต้องนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลแบบใสสะอาด (Clean Government) อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ (ได้บางระดับ) ถึงความพยายามที่จะสถาปนาหลักบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและหลักบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลซึ่งอาจทำให้พม่ามีทั้งองค์ประกอบของ 'Democracy' และ 'Good Governance' ในเวลาเดียวกันซึ่งเป็นทิศทางการปฏิรูปการเมืองการปกครองที่หาได้ยากในรัฐโลกที่สามหรือรัฐส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

6. พม่า เริ่มแสดงนัยสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับการลดบทบาททหารในทางการเมือง โดยในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2015 ทหารพม่ายังคงตกอยู่ใต้อุดมการณ์กองทัพแห่งชาติที่มองบทบาททหารในฐานะวีรบุรุษผู้ค้ำจุนรัฐที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณในการปกป้องมาตุภูมิจนทำให้ทหารมีหน้าที่ทั้งป้องกันและปกครองประเทศไปในเวลาเดียวกัน

ขณะเดียวกัน แนวคิดเรื่องทหารอาชีพที่กระตุ้นให้ทหารตบเท้ากลับเข้ากรมกองและยอมรับความเหนือกว่าของพลเรือน กลับกลายเป็นของแสลงและไม่เคยมีปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมการเมืองของทหารพม่าซึ่งมักเข้าใจคำว่าทหารอาชีพ (Professional Soldier) ในความหมายของทหารรับจ้าง (Mercenary Soldier) เสียมากกว่า เพราะฉะนั้นแล้ว สำหรับทหารพม่า ดูเหมือนว่า 'Patriotic Soldier' หรือ 'Myochit Sitthar' จะมีความสำคัญต่อชาติบ้านเมืองมากกว่า 'Mercenary Soldier' หรือ 'Kyesar Sitthar'

กระนั้นก็ตาม การเทคะแนนของชาวพม่าไปที่พรรค NLD จนทำให้พรรค USDP ซึ่งมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกองทัพแพ้การเลือกตั้งอย่างย่อยยับ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ทหารพม่าเริ่มตระหนักถึงหลักความเหนือกว่าของพลเรือน (Civilian Supremacy) กอปรกับการเปิดประเทศที่นำพาให้ทหารพม่าต้องเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับชุมชนนานาชาติหรือเริ่มยอมรับการปฏิรูปหลักนิยมทางทหาร (Military Doctrine) ผ่านการเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับกองทัพจากประเทศตะวันตกมากขึ้น ก็อาจเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ค่อยๆ มีผลต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองของทหารพม่า โดยเฉพาะ การยึดมั่นในการเป็นทหารประชาธิปไตยมากกว่าทหารอนุรักษ์นิยม หรือ การเป็นนักต่อสู้สันติวิธีมากกว่านักต่อสู้สงคราม (ซึ่งแม้จะต้องใช้เวลาอีกมาก หากแต่ก็เริ่มเห็นความก้าวหน้าบางประการ)

จากการก้าวกระโดดของการทำให้เป็นประชาธิปไตยในพม่า น่าเชื่อว่า คงมีคนไทยจำนวนมิน้อยที่รู้สึกหดหู่หรืออย่างน้อยก็อยากให้การเมืองไทยมีอัตราความก้าวหน้าในระดับที่ใกล้เคียงกับพม่าบ้าง โดยคงมิเกินเลยนัก หากกล่าวว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งรัฐและสังคมไทยกลับตกอยู่ใต้วังวนแห่งความรุนแรงเปราะบางที่คอยแต่วนเวียนซ้ำซากและย่ำอยู่กับที่จนเกิดสภาวะชะงักงันในทางการเมือง

อนึ่ง การเมืองไทยยังแสดงให้เห็นถึงการขาดสมดุลเชิงโครงสร้างซึ่งไม่เคยพบเห็นการรอมชอมที่สัมฤทธิ์ผลแบบเป็นจริงเป็นจังซักครั้งระหว่างคู่ขัดแย้งขั้วตรงข้ามหรือระหว่างแนวคิดการเมืองขั้วต่างๆ  ภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดหนึ่งๆ เช่น มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหากแต่สไตล์การปกครองบ้านเมืองกลับเอนเอียงไปทาง 'Top-Down Approach' และมีลักษณะเป็น "Bad Governance” หรือ มีรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารหากแต่ก็มักประสบความล้มเหลวในการสร้างหลัก "Rule of Law” และ "Constitutionalism” ที่แท้จริง

ขณะเดียวกัน การเล่น "Party Politics” หรือ "Mass Politics"ที่หนักเกินไปของบรรดานักการเมืองและแกนนำม็อบจนทำให้กองทัพสามารถอ้าง "National Politics” เพื่อเข้ามาแทรกแซงและจัดระเบียบทางการเมือง หรือการใช้โครงสร้างแบบเอกรัฐนิยม (Unitarianism) ที่แม้แต่การกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่นในระดับพื้นฐานก็มักจะถูกทำให้สะดุดหยุดลงอยู่เป็นระยะ ก็กลับกลายเป็นลิ่มที่คอยตอกทิ่มจนทำให้รัฐไทยยังมัวแต่ผจญอยู่กับเคราะห์กรรมทางการเมืองนานาประการ ทั้งในแง่ของการสภาวะตีบตันในการจุดรอมชอมทางความคิดระหว่างกองทัพกับนักการเมือง/แกนนำม็อบและระหว่างประชาชนหัวอนุรักษ์นิยมกับประชาชนหัวก้าวหน้า รวมถึง ความล้มเหลวในการปฏิรูปประชาธิปไตยที่มีการแบ่งสรรอำนาจแบบถัวเฉลี่ยระหว่างขั้วขัดแย้งคู่ต่างๆ ในระดับที่เที่ยงธรรม

สุดท้าย อาจพอวิเคราะห์ต่อได้ว่า ผลจากสภาวะชะงักงันของการเมืองไทยที่เดินสวนทางกับการพุ่งทะยานของการเมืองพม่า อาจสร้างแรงกระเพื่อมบางประการต่อภูมิทัศน์การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย กล่าวคือ ท่ามกลางคลื่นประชาธิปไตย (Democratic Waves) ในประวัติศาสตร์โลก รัฐไทยกลับสะท้อนให้เห็นถึงกระแสคลื่นโต้กลับ (Reverse Wave) ผ่านการฟื้นคืนชีพขึ้นมาของระบอบทหารอำนาจนิยม ขณะที่พม่า กลับแสดงถึงพลังประชาชนที่ส่งสัญญาณเตือนกองทัพให้ค่อยๆ ถอนตัวกลับเข้ากรมกอง หรืออย่างน้อย ก็ต้องวิวัฒน์ตัวตนเข้าสู่ "เผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตย" (Democratically Disguised Dictatorship) มากกว่าที่จะเป็นเผด็จการอำนาจนิยมแบบเขม็งเกลียวเหมือนในอดีต

โดยจุดสนใจของภูมิทัศน์เช่นว่า คือ หากออง ซาน ซู จี และกลุ่มประชาธิปไตยเริ่มมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ในโครงสร้างการเมืองพม่าขึ้นมาจริงๆ ขณะที่ทหารพม่ากลับเริ่มผ่องถ่ายอำนาจหรือเตรียมปฏิรูปภาคทหารอย่างมีนัยสำคัญ กอปรกับ กลุ่มนิยมประชาธิปไตยหรือสื่อมวลชนไทย กลับทยอยชื่นชมหรือได้รับแรงบันดาลใจจากการเบ่งบานของประชาธิปไตยในพม่า ก็น่าขบคิดต่อว่า 'Snowball Effect' ซึ่งสัมพันธ์กับ Democratization อาจจะตีแรงกระเพื่อมหรือเหวี่ยงวงสะวิงจากพม่าเข้าไทยอย่างไม่ขาดสายและค่อนข้างหนักหน่วง (ยกเว้นแต่จะเกิดสภาวะติดขัดในการเมืองพม่าขึ้นมาจริงๆ โดยเฉพาะ ความเสี่ยงจากการถูกลอบสังหารและปัญหาสุขภาพของนางซูจี ตลอดจนความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ศาสนา และการปะทะทางการเมืองการทหารที่รุนแรงระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ  จนเปิดทางให้กองทัพกลับเข้ามาแทรกแซงการเมืองมากขึ้นเป็นระยะ)

อนึ่ง หากใครที่เชื่อเรื่องเพลงยาวพยากรณ์ว่าด้วยเรื่องกลียุคและความเสื่อมของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแม้จะต่างบริบทกับเหตุการณ์ร่วมสมัยในปัจจุบัน (หากแต่ก็สะท้อนถึงสภาวะโกลาหล ไร้ระเบียบ หรือการแตกความสามัคคีของประชาชนในบ้านเมือง) การนำภาพความตกต่ำทางการเมืองไทยไปจับกับภาพความรุ่งเรืองของรัฐพม่า ก็ทำให้อดคิดต่อไม่ได้ว่าในอนาคตหากเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศจนถึงขึ้น 'ไทยรบพม่า' หรือ 'พม่ารบไทย' อันมีปฐมชนวนจากข้อพิพาทเรื่องเขตแดน หรือความร้อนแรงของลัทธิชาตินิยมไทย/พม่าผ่านกระแสโซเชียลมีเดีย น่าเชื่อว่า เครือข่ายพันธมิตรทางการทูตของพม่าที่พุ่งสูงขึ้นอันเป็นผลจากการเปิดกว้างทางการเมืองแบบประชาธิปไตยคงจะสร้างความยากลำบากต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐไทยมิใช่น้อย

ในอีกทางหนึ่ง หากกองทัพพม่าเริ่มทุ่มเททรัพยากรไปที่ภารกิจป้องกันประเทศเพียงอย่างเดียว มากกว่าที่จะแบ่งสรรกำลังไปที่ภารกิจการเมืองเหมือนที่กองทัพไทยทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็อาจทำให้ทหารพม่าเริ่มพุ่งจุดสนใจไปที่การพัฒนาทักษะการรบกับศัตรูภายนอกมากกว่าศัตรูภายใน หรือหากการเปิดเสรีทางการเมืองแบบพอเหมาะพอควรพร้อมสร้างความเป็นธรรมต่อกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ  (ทั้งในแง่ของการพัฒนาประชาธิปไตยและสหพันธรัฐนิยม) กลับทำให้ทหารพม่าขาดภัยคุกคามที่เกิดจากการโจมตีแนวหลังโดยกลุ่มติดอาวุธที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับทัพพม่าในอดีต (หากจำเป็นต้องเปิดศึกปะทะกับรัฐเพื่อนบ้านขึ้นมาจริงๆ) คำถามที่น่าสนใจ คือ กองทัพไทยยังจะมีแสนยานุภาพในการรับมือกับกองทัพพม่า มากน้อยเพียงไร

จริงอยู่แม้ฉากทัศน์ดังว่า อาจมิน่าใส่ใจนัก หากคนไทยมิน้อย ยังเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทหารไทยกับทหารพม่า มีความที่ใกล้ชิดและเข้าใจปัญหาการเมืองในลักษณะที่คล้ายๆ กัน ทว่า จุดบอดของกองทัพไทยคือการขาดสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับอองซาน ซูจี และพรรค NLD ซึ่งถือเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ในพม่า พร้อมมีแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยที่แตกต่างจากชนชั้นนำทหารไทย ขณะเดียวกัน การขยับโยกทางการเมืองของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่หันหน้าเข้าเจรจากับทางการพม่ามากขึ้น โดยเฉพาะกับรัฐบาลใหม่ที่เชื่อมั่นในเรื่องการสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตย ก็นับเป็นแนวโน้มการเมืองที่มีผลต่อการบริหารทรัพยากรและพลังอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงที่พุ่งสูงขึ้นของรัฐพม่า ซึ่งแม้จะยังมีปัญหาอีกมากในการออกแบบพัฒนารัฐ หากแต่ความก้าวหน้าดังกล่าว กลับส่งผลให้พม่าเริ่มมีการแปรรูปเปลี่ยนสัณฐานไปสู่สภาวะของรัฐที่มีกำลังวังชาบนเวทีการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น

ครับ ตื่นเถิดชาวไทย! สำนวนสุภาษิตที่ว่า "กรุงศรีอยุธยาไม่เคยสิ้นคนดี” คงไม่เพียงพอเสียแล้วต่อการปรับตัวและรับมือกับการเติบโตรุ่งเรืองของประชาธิปไตยจากแนวรบตะวันตก

 


ด้วยความเคารพ


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค