Skip to main content

รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง


รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง

ในแง่ปฏิบัติการยึดอำนาจ ทหารฝ่ายก่อการ เปิดฉากเคลื่อนกำลังแบบสายฟ้าแลบ (เข้าตำรับพิชัยยุทธ์สามก๊ก ตอนสุมาอี้รัฐประหารล้มคณะผู้ปกครองตระกูลโจ) โดยเปิดศึกยึดเมืองหลวงในช่วงที่ผู้นำอยู่นอกเขตอำนาจหลัก ทว่า ด้วยข้อจำกัดอย่างน้อย 4 ประการ คณะรัฐประหารกลับเผชิญปัญหาทางยุทธศาสตร์/ยุทธวิธี จนตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาล สำหรับจุดอ่อนสำคัญ ได้แก่

1. รัฐประหารครานี้ มีการทุ่มกำลังมากกว่าหนึ่งศูนย์ คือ แทนที่จะเป็นการกราดล้อมเมืองหลวงเพียงแห่งเดียว สภาวะสองนคราของรัฐตุรกี (ระหว่างศูนย์บริหารราชการที่อังการากับศูนย์เศรษฐกิจ-ประชากรที่อิสตันบูล) กลับบีบให้ผู้ก่อการต้องแบ่งกำลังเข้าชิงสองศูนย์อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ (รวมถึงเมืองสำคัญอื่นๆ ที่มีการปะทะทางทหารประปราย) ทว่า ด้วยกำลังผู้ก่อการที่มีไม่มากพอ จึงทำให้กำลังพลหมดสมรรถะในการป้องกันหรือตรึงจุดยุทธศาสตร์ระยะยาว

2. รัฐประหารครานี้ ไม่สามารถควบคุมตัวประธานาธิบดีได้ จนเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถเล็ดลอดระดมกำลังหันมาโต้กลับ ทั้งในแนวรบภาคพื้นดินที่ตัวประธานาธิบดีมิได้เดินทางออกนอกประเทศ หากแต่ยังคงปักหลักต่อสู้อยู่ทางแถบชายฝั่งอีเจียนพร้อมหวนกลับขึ้นมาบัญชาการที่กรุงอังการาได้สำเร็จ และในแนวรบออนไลน์ที่มีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่เข้าปลุกระดมมวลชน

3. กลุ่มผู้ก่อรัฐประหาร กระทำการยึดอำนาจดุจกลุ่มก่อการร้าย (มากกว่าที่จะเป็นองค์รักษ์ปกป้องบ้านเมือง) กล่าวคือ มียอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมมีการทิ้งระเบิดและใช้ยุทโธปกรณ์ภาคพื้นยิงถล่มทำลายสถานที่ราชการอยู่เป็นระยะ จนทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเปราะบาง ตึงเครียด และ ไม่เป็นมิตรกับกลุ่มผู้ก่อการ

4. คณะปฏิวัติมักประกอบด้วยนายทหารหนุ่มหรือทหารยศระดับกลางไปจนถึงระดับล่าง หาใช่การเคลื่อนกำลังจากเสียงส่วนใหญ่ของบรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพระดับสูง ฉะนั้น รัฐประหารครั้งนี้ จึงขาดผู้นำที่รวบอำนาจควบคุมการยุทธ์อย่างมีเอกภาพ กอปรกับหน่วยกองทัพบกทั้งในเขตภูมิภาคอนาโตเลียกลางและอีเจียน ล้วนแต่ภักดีต่อรัฐบาลและกลุ่มทหารอาวุโส จนกลายเป็นฐานกำลังที่หันมาตอบโต้กดปราบคณะรัฐประหาร

จากจุดอ่อนดังกล่าว ปฏิบัติการยึดอำนาจครั้งนี้ จึงมีหลายคุณลักษณะที่ฝ่าฝืนหลักพิชัยยุทธ์รัฐประหารขั้นพื้นฐานพร้อมเต็มไปด้วยสภาวะสุ่มเสี่ยงที่หันมาทิ่มแทงกัดกร่อนฝ่ายทหารผู้ก่อการจนอาจต้องหมดอิทธิพลไปจากวงการเมืองตุรกีในเร็ววัน

ส่วนในมิติการเมืองเปรียบเทียบ แม้รัฐประหารล่าสุด จะมีนักวิเคราะห์ออกมาอธิบายสาเหตุแตกต่างกันออกไป ทั้งในเรื่องความไม่พอใจของคณะผู้ก่อการเกี่ยวกับท่าทีฝักใฝ่ลัทธิอิสลามนิยมของฝ่ายรัฐบาลจนทำให้ลัทธิรัฐฆราวาส / รัฐโลกวิสัย (Secular State) ที่คณะปฏิวัติยึดถือเริ่มเสื่อมถอยคลายความนิยมลง ตลอดจนเรื่องแนวนโยบายต่างประเทศของฝ่ายรัฐบาลทั้งในมิติการก่อการร้ายและสัมพันธภาพกับรัสเซีย ซึ่งอาจสร้างทั้งสภาวะสมหวังและผิดหวังให้กับขั้วอำนาจต่างๆ ในวงการเมืองตุรกี

ทว่า ในมุมมองผู้เขียน มูลเหตุที่น่าจะฟังดูหนักแน่นและครอบคลุมที่สุด คือเรื่องระบอบการเมืองการปกครองตุรกีที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือพูดอีกแง่ การครองอำนาจของประธานาธิบดีเออร์โดกัน นับแต่ปี พ.ศ. 2557 ได้ส่งผลให้ตุรกีมีสถานะเป็นรัฐประชาธิปไตยอำนาจนิยมที่กำลังเคลื่อนตัวจากระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี (Semi-Presidential/Parliamentary System) เข้าสู่ ระบบประธานาธิบดี (Presidential System)

ความพยายามรวบอำนาจของเออร์โดกัน ได้ทำให้ตุรกีเริ่มมีลักษณะเป็นรัฐประธานาธิบดีโดยพฤตินัย (De Facto Presidential State) กล่าวคือ มีวิวัฒนาการระบอบการเมืองที่ตั้งให้ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐที่มีอำนาจสูงสุดเต็มที่ พร้อมมีอำนาจทั้งในการคัดเลือกควบคุมคณะรัฐบาลและในการปฏิบัติภารกิจบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่จำเป็นต้องไม่รับผิดชอบต่อรัฐสภาในหลายๆ กรณี ตลอดจนมีอำนาจพิเศษในการแก้วิกฤติตลอดช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน

ต่อโครงสร้างอำนาจที่แปรเปลี่ยนไป การรัฐประหารครั้งล่าสุดจึงเป็นการไหวตัวระยะสุดท้ายของกลุ่มคณะทหารที่ไม่พอใจพฤติกรรมรวบอำนาจของประธานาธิบดีเออร์โดกัน ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องอุดมการณ์ชาติและการออกนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่ขัดกับฐานคิดหรือผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ก่อการ

ทว่า แม้การพัฒนาระบอบประธานาธิบดีในตุรกี จะสร้างความหวาดระแวงให้กับฝ่ายรัฐประหาร หากแต่ก็ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประธานาธิบดีไปในตัว จนทำให้กลุ่มปฏิวัติเกิดอาการสุ่มเสี่ยงพร้อมตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในศึกแย่งชิงอำนาจครั้งล่าสุด

ฉะนั้น ในแง่การเมืองเปรียบเทียบ อาจถือได้ว่า รัฐตุรกี คือ กรณีหลักที่แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบการปกครองแบบประธานาธิบดี คือ เงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลให้ทหารออกมาปฏิวัติ

กระนั้นก็ตาม เกมยุทธศาสตร์แบบนี้ ฝ่ายปฏิบัติการเอง จำเป็นต้องคำนวณโอกาสได้เสียให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนลงมือ เพราะถือเป็นการรัฐประหารที่ถูกปลดปล่อยออกมาในช่วงที่โครงสร้างรัฐยังคงตกอยู่ใต้วงควบคุมของประธานาธิบดี (ซึ่งมีการสะสมฐานกำลังที่ทรงอานุภาพพอในการตีโต้ตอกกลับกลุ่มรัฐประหาร)

จริงๆ แล้ว หากไม่นับสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศต้นแบบของระบอบประธานาธิบดีและมีการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับสูง รัฐในเอเชียและละตินอเมริกาจำนวนมิน้อย (ที่ตกอยู่ใต้มรดกอำนาจนิยมเก่า) มักสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่ประธานาธิบดีเริ่มกระชับอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสก่อรัฐประหารมักจะมีความถี่ลดน้อยลง เพราะแกนนำเริ่มเห็นเค้าลางอันสุ่มเสี่ยงหากแผนโค่นล้มประธานาธิบดีเกิดรั่วไหลหรือถูกตีกลับจากฝ่ายตรงข้าม

ตัวอย่างใกล้ตัว คือ ช่วงสมัยประธานาธิบดีมาร์กอสของฟิลิปปินส์และซูฮาร์โตของอินโดนีเซียที่มีลักษณะเป็นเผด็จการประธานาธิบดี ซึ่งนับเป็นช่วงที่แทบไม่เห็นทหารออกมาทำรัฐประหารต่อต้านประธานาธิบดีเลย ทว่า ทั้งสอบระบอบนั้น ต่างก็ล่มสลายลงในเวลาต่อมา อันเป็นผลส่วนหนึ่งจากการรุกทะยานขึ้นมาของพลังประชาชน

ดังนั้น หากเทียบธรรมชาติการเมืองที่กำลังวิวัฒน์ไปสู่ระบอบประธานาธิบดี ก็เท่ากับว่า การทำรัฐประหารของทหารตุรกีในครั้งนี้ คือ การคำนวณที่ผิดพลาดและผิดแผลกไปจากแบบแผนการเมืองเปรียบเทียบเท่าที่เคยมีมา

ส่วนเรื่องอนาคตการเมืองตุรกีหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น คงต้องรอลุ้นว่าฝ่ายรัฐบาล พร้อมตำรวจ หน่วยข่าวกรองและกองทัพโดยรวม จะจัดการกับกลุ่มกบฏอย่างไร หรือ กลุ่มกบฏจะมีโอกาสหวนกลับมาแก้แค้นสร้างความปั่นป่วนได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน กระบวนการเคลื่อนย้ายไปสู่ระบอบประธานาธิบดีในรัฐตุรกีจะมีลักษณะโน้มเอียงไปในแนวทางใด (ระหว่างอำนาจนิยมกับประชาธิปไตย) ซึ่งหากเกิดสภาวะโยกชิดเข้าหาวิถีอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลจากความบ้าระห่ำในการกดปราบฝ่ายปฏิปักษ์หรือสภาวะหวาดระแวงของตัวประธานาธิบดีเกี่ยวกับการถูกลอบประทุษกรรม ก็อาจพอเห็นเค้าลางเลาๆ ได้ว่า ศึกใหญ่ที่ระบอบเออร์โดกันต้องเผชิญในอนาคต คงหนีไม่พ้นพลังต่อต้านที่ทรงฤทธานุภาพจากประชาชน

แต่ถ้าหากเออร์โดกัน เกิดประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบอบประธานาธิบดีบนฐานประชาธิปไตย พร้อมมีนโยบายสาธารณะที่สัมฤทธิผลและสร้างความเจริญให้ตุรกีหลายๆ ด้าน น่าเชื่อว่า กลุ่มพลังเออร์โดกัน คงสามารถบริหารประเทศได้ครบวาระและไม่มีอะไรที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับระบอบการเมืองการปกครองตุรกีในระยะเปลี่ยนผ่าน

เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดตัวแปรแทรกซ้อนที่พุ่งมาจากบริบทแวดล้อมอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ศาสนา และชาติพันธุ์วรรณา ในเขตยูเรเซีย (ยุโรป-เอเชีย) รวมถึงเรื่องมรดกประวัติศาสตร์ที่สืบทอดมาจากยุคเสื่อมของจักรวรรดิออตโตมันซึ่งมักซ่อนชนวนความขัดแย้งและคอยกัดกร่อนทิ่มแทงเสถียรภาพการเมืองตุรกีอยู่เป็นระยะ

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

หมายเหตุ : มีการปรับปรุงเนิ้อหาบางส่วนเมื่อ 22.15 น.

 

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร