Skip to main content

 

การประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 มีปริศนาสำคัญอยู่ที่การออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งรัฐเพื่อแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งชาติพันธุ์แบบสันติวิธี ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ "สหพันธรัฐนิยม" (Federalism) ซึ่งว่าด้วยเรื่องการเจรจาแบ่งสรรอำนาจ (Power-Sharing) ตามหน่วยปกครองระดับต่างๆ โดยเฉพาะระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐ

สนธิสัญญาปางโหลงเมื่อปี ค.ศ. 1947 ทำให้เมียนมามีลักษณะเป็น "Coming-Together Federalism" หรือเป็นสหพันธรัฐนิยมที่หน่วยดินแดนและหน่วยชาติพันธุ์ต่างๆ ตัดสินใจเข้ามารวมตัวกันเพื่อสถาปนารัฐเอกราชอิสระ จนทำให้เกิดแนวคิดจัดสรรทรัพยากรและสงวนสิทธิปกครอง (ที่ควรจะเท่าเทียมกัน) ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐ พร้อมมีการบรรจุมาตราเกี่ยวกับการแยกตัวหรือการแบ่งแยกดินแดนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1947 อย่างชัดเจน

ทว่า นับแต่ที่เมียนมาตกอยู่ใต้โครงสร้างปกครองแบบเอกรัฐ (Unitary State) หรือ เป็นรัฐเดี่ยวใต้พลังบริหารของกองทัพ โดยเฉพาะนับแต่การทำรัฐประหารของนายพลเนวินเมื่อปี ค.ศ. 1962 จนกระทั่งถึงคณะทหารชุดใหม่ที่นำโดยพลเอกอาวุโสตานฉ่วย (ซึ่งเบิกทางไปสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008) เมียนมากลับเริ่มมีลักษณะเป็นกึ่งสหพันธรัฐ (Quasi-Federation) ที่ประกอบไปด้วยรัฐบาลกลางที่เนปิดอว์กับรัฐบาลมลรัฐประจำภาคและรัฐทั้ง 14 แห่ง กระนั้น ด้วยการค่อยๆผ่อนคลายอำนาจจากระบบรัฐเดี่ยวไปสู่ระบบกึ่งรัฐรวม จึงทำให้เมียนมาระยะเปลี่ยนผ่าน มีลักษณะเป็น "Holding-Together Federalism" หรือเป็นสหพันธรัฐนิยมแบบรวมอำนาจที่พยายามตรึงหรือยึดโยงดินแดน/ชาติพันธุ์ต่างๆ ให้อยู่กับที่ พร้อมออกมาตราในรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิเสธกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนหรือการแยกรัฐออกจากสหภาพ

สิ่งนี้นี่เอง ที่เป็นปมปริศนาของการออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งรัฐเมียนมา ซึ่งท่าทีของ ผบ.สส. มินอ่องหล่ายในการประชุมปางโหลงครั้งล่าสุด ย่อมบ่งบอกได้ถึงข้อกังวลในเรื่องเอกภาพชาติและอธิปไตยสหภาพพร้อมมีการส่งสัญญาณเตือนให้กลุ่มชาติพันธุ์ลดทอนความต้องการสหพันธรัฐนิยมแบบกระจายอำนาจที่เข้มข้นลงพร้อมยอมวางอาวุธหรือโอนกำลังเข้าไปอยู่ใต้สายบังคับบัญชาของกองทัพเมียนมา ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะเด่นของระบบสหพันธรัฐแบบตรึงเข้าด้วยกัน หรือ Holding-Together Federation ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์มิน้อย กลับยังคงนึกถึงจิตวิญญาณปางโหลงซึ่งเน้นส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างหน่วยแกนกลางพม่าแท้กับหน่วยชายแดนชาติพันธุ์ พร้อมหวนคะนึงอยู่เสมอว่าหากไม่มีการเข้ามารวมตัวแบบสมัครใจของบรรดาพหุชนชาติแล้ว สหภาพเมียนมาก็ไม่มีวันถือกำเนิดขึ้นมาได้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งนับเป็นคุณลักษณะเด่นของ Coming-Together Federation หรือสหพันธรัฐแบบรวมตัวเข้าด้วยกัน

มาดูกันต่อว่าปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 จะสามารถคลายปมปริศนาว่าด้วยการสร้างรัฐ การสร้างชาติและการสร้างสันติภาพได้มากน้อยแค่ไหน จริงแล้ว หากยกอุปมาฝรั่งว่าด้วย "ปมกอร์เดียน" หรือ "Gordian Knot" ซึ่งย้อนไปไกลเมื่อ 333 ปีก่อนคริสต์ศักราช เมื่อครั้งที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเสด็จมาที่เมืองกอร์เดียม (กอร์ดิอุม) และลองแก้ปมเชือกที่เคยมีศาสดากรณ์ทำนายเอาไว้ว่า "ใครก็ตามที่สามารถแก้ปมนี้ได้ ผู้นั้นจะได้ครอบครองเอเชีย" โดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ตัดสินใจคว้าดาบขึ้นมาแล้วฟันเชือกขาดออกเป็นสองท่อนในทันที ซึ่งถือเป็นการสะบั้นปมด้วยวิธีการทหารที่รุนแรงฉับไว

ที่ผ่านมา ผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา ก็มัก "Cutting the Gordian Knot" ด้วยวิธีการแบบอเล็กซานเดอร์นี่แหละ จนสามารถแผ่อำนาจปกครองดินแดนชาติพันธุ์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนถึงการขาดความอดทนอดกลั้นต่อการคลายปมปริศนาสหพันธรัฐนิยมแบบสันติวิธี ทว่า ทุกวันนี้ กองทัพได้เริ่มปรับพฤติกรรมหันมานั่งโต๊ะเจรจาเพื่อถกปัญหาสันติภาพร่วมกับตัวแสดงอื่นๆ ซึ่งแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพยังคงถือคติชักดาบฟันปมกอร์เดียนสืบไป หากแต่ก็มีการหยุดชะงักหรือผ่อนแรงเลือกฟันเพียงบางจุด มากกว่าที่จะฟันให้ขาดสะบั้นลงในพริบตา จึงนับได้ว่า ปางโหลงศตวรรษที่ 21 คือใบเบิกทางที่อาจนำพาให้กระบวนการคลายปมกอร์เดียนดูประนีประนอมและละมุนละม่อมมากขึ้น


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร